หมู่บ้านพุทธ รุ่งเรืองที่เมืองตราด เจ้าคุณประกอบ “ลงพื้นที่ ชื่นชม” กิจกรรม “ผลงานชาวบ้านท่าโสม”

หมู่บ้านพุทธ รุ่งเรืองที่เมืองตราด

เจ้าคุณประกอบ “ลงพื้นที่ ชื่นชม”

กิจกรรม “ผลงานชาวบ้านท่าโสม”

พลันที่ประธานและคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำหนกลาง ลงพื้นที่ จังหวัดตราด ภาพคมชัดที่สัมผัสได้ถึงความเป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ที่ยิ่งใหญ่บนพื้นที่ 2,819 ตารางกิโลเมตร

คนตราดมีความใกล้ชิดกับเพื่อนบ้าน เฉกเช่น ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ไปมาหาสู่เยี่ยงบ้านพี่เมืองน้อง รวมถึงการสนองสัมพันธ์กับคนจันทบุรี

ที่สำคัญวันนี้ ตราด นับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค้าขายกันมาตั้งแต่คราในช่วงปลายอยุธยา ด้วยความที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯมากนัก ห่างกันเพียง 315 กม. ระบบการขนส่งจึงรวดเร็วทันใจ เพราะถนนทุกสายล้วนแข็งแรงมั่นคง ถาวรวัตถุจึงเกิดขึ้นมากมายในจังหวัดนี้

เมื่อคณะกรรมการมาถึงจังหวัดตราด เป้าหมายสำคัญอยู่ที่ตำบลท่าโสม ตำบลนี้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ธรรมชาติงดงาม เดิมเป็นป่ากว้าง พื้นที่บางส่วนติดทะเล มีป่าไม้หนาแน่น

การไปท่าโสมในอดีต สมัยก่อนต้องใช้เรือเป็นพาหนะ หรือต้องเดินด้วยเท้า มีชาวบ้านตั้งถิ่นฐานอยู่น้อยมาก จวบจนในปี พ.ศ.2530 มีการตัดถนนลาดยางผ่านตำบล

ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้นมาก ตำบลท่าโสมได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 ปัจจุบันเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลชั้น 5

ความโดดเด่นของท่าโสม มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีภูเขาบ้างเล็กน้อย พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำในแม่น้ำเวฬุ ในการประกอบอาชีพประมงชายฝั่งและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ท่าโสมอยู่ติดกับ ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง ต.บางปิด อ.แหลมงอบ ต.คลองใหญ่ ต.วังกระแจะ อ.เมือง และแม่น้ำเวฬุ ที่สำคัญคนส่วนใหญ่ของท่าโสม มีอาชีพทำสวน เลี้ยงหอยนางรม กุ้งกุลาดำ หอยแครง

จากนั้น เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เวลา 13.00 น. ที่วัดท่าโสม ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด พระพรหมกวี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำหนกลาง เจ้าคณะภาค 13 เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร กทม. พร้อมด้วยคณะกรรมการ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศราราม พระมหาศาสนมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ กทม. พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน อนุกรรมการขับเคลื่อนศีล 5 หนกลาง เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ลงพื้นที่พบกับญาติโยมพุทธศาสนิกชน บนศาลาการเปรียญวัดท่าโสม

เวลา 13.30 คณะกรรมการตรวจประเมินโครงการ ลงพื้นที่จัดกิจกรรม นำบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระสวดมนต์ อาราธนาศีล ให้ศีล

เจ้าคณะจังหวัดตราด เจ้าคณะอำเภอ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดตราด เข้าถวายสักการะ

ประธานคณะกรรมการ มอบทุนสนับสนุนโครงการ เจ้าคณะจังหวัดตราด รับมอบ และกล่าวถวายการต้อนรับประธานกรรมการ และคณะกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวถวายรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการ สร้างความ

ปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คณะกรรมการรับฟังการนำเสนอข้อมูลกลุ่มสัจจะออมทรัพย์

ประธานคณะกรรมการ ให้โอวาทแก่คณะสงฆ์จังหวัดตราด และผู้ร่วมพิธีคณะกรรมการตรวจประเมินโครงการและหมู่บ้านต้นแบบ จากเอกสาร สมุดรายงานคณะกรรมการออกเยี่ยมชมนิทรรศการของหมู่บ้านรักษาศีล 5 ของชุมชนหมู่บ้านท่าโสม ชมนิทรรศการของหมู่บ้านรักษาศีล 5 ทั้ง 6 อำเภอ นำคณะกรรมการออกเยี่ยมชม บ้าน โรงเรียนต้นแบบยังสถานที่จริง

พระบุรเขตธรรมคณี (บังคม ป.ธ.5) เจ้าคณะจังหวัดตราด วัดบางปรือ อำเภอเมืองตราด กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 ของจังหวัดตราด ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงในปัจจุบันซึ่งเป็นระยะที่ 3 ของโครงการ เป็นระยะที่มีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆในสังคม โดยคณะสงฆ์มีบทบาทเป็นอย่างมากในการดำเนินโครงการ ร่วมกับหน่วยงานราชการ สถานศึกษา ภาคเอกชน หมู่บ้าน ชุมชน

จังหวัดตราด ใช้แนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมงานของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ซึ่งเป็นหน่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับตำบล ที่มีอยู่ทุกตำบลในจังหวัด โดยได้เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักศีล 5 มาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตามแนวทางของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เน้นด้านศีลธรรม วัฒนธรรม สุขภาพอนามัย สัมมาชีพ ความสันติสุข รวมถึงด้านศึกษาสงเคราะห์ สาธารณะสงเคราะห์ ด้านกตัญญูกตเวทิตาธรรม สามัคคี

ธรรม โดยได้มอบหมายจังหวัด หน่วยงานราชการ สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปขับเคลื่อนโครงการเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวนี้ ให้สำเร็จลุล่วงสืบต่อไป

นายประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เผยว่า ที่ผ่านมาจังหวัดตราด ได้ทำการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินการ การสร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนักในกิจกรรม ดำเนินการรณรงค์สร้างความเข้าใจหลักศีล 5 กับการดำรงชีวิตและความสำคัญของการนำแนวปฏิบัติศีล 5 ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม การประชาสัมพันธ์เชิญชวน พุทธศาสนิกชน ทุกเพศทุกวัย สมัครเป็นสมาชิก ครอบครัว และหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในรูปแบบที่หลากหลาย ตามวาระและโอกาสต่างๆ มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU หรือ ฉันทามติร่วมกันในการร่วมกันขับเคลื่อน โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมือง ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล มีการจัดทำทะเบียนสมาชิกโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยวัดทุกวัดเป็นฐานปฏิบัติการ รับสมัครสมาชิกโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 แก่พุทธศาสนิกชนที่อยู่ในเขตบริการของวัด หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุน และเป็นกลไกในการ ขับเคลื่อนโครงการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประจำท้องที่รณรงค์เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนในหมู่บ้าน ตำบล สมัครเป็นสมาชิกครอบครัวรักษาศีล 5

ภาคส่วนราชการ สถานศึกษา รณรงค์เชิญชวนให้บุคลากรในสังกัด สมัครเป็นสมาชิกครอบครัวหน่วยงานรักษาศีล 5 กรอกข้อมูลสมาชิกหมู่บ้านรักษาศีล 5 ลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ www.sila5.com มีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ไปสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อให้ทุกภาคส่วน

เข้ามามีส่วนร่วม อาทิ โครงการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ ในรัชกาลที่ 9 ในทุกอำเภอ โครงการสวดพระพุทธมนต์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยดำเนินการในทุกอำเภอ โครงการเจริญพระพุทธมนต์ตามมติมหาเถรสมาคม อำเภอละ 1 วัดในทุกวันพระ โครงการพระสงฆ์สอนศีลธรรม หลักปฏิบัติศีล 5 ในสถานศึกษา โครงการศีล 5 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ทั้งภายในจังหวัดและภายนอกจังหวัด รวมถึงการช่วยเหลือศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆที่ประสบอุบัติภัย โครงการเยี่ยมเยือนผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและผู้ป่วยติดเตียง โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ประชารัฐร่วมใจ เป็นต้น

จากการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 หรือโครงการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ไปสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ขณะนี้จังหวัดตราด มีสมาชิกหมู่บ้านครอบครัวประชาชนเข้าร่วมโครงการในภาพรวมของจังหวัด เป็นจำนวนมาก มีผลผลิตของหมู่บ้านชุมชน ของสมาชิกหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ต่อสายตาสาธารณชนในวัดท่าโสมแห่งนี้แล้ว

พระครูวิมลโสมนันท์ เจ้าอาวาสวัดท่าโสม เปิดเผยว่า สำหรับวัดท่าโสมแห่งนี้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านท่าโสม ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ของตำบลท่าโสม ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2405 เดิมชื่อวัดศรีษะปาราม ต่อมาตั้งชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อว่า วัดท่าโสม โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสี เมื่อปี พ.ศ.2505 ทั้งนี้ วัดท่าโสม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดตราด แห่งที่ 10 ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเริ่ม

เข้ามาในบริเวณวัดก็จะมองเห็นพระพุทธรูปยืนปางประทานพร ตั้งโดดเด่นเป็นสง่า โดยภายในวัดมีพระคู่บ้านคู่เมือง คือ พระพุทธรูปหยก ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถหลังใหม่ ศิลปะแบบพม่าทรงเครื่องจักรพรรดิ ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนชาวท่าโสมให้ความเคารพนับถือมาก นับเป็นพระพุทธรูปหยกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก สร้างขึ้นจากหยกที่นำมาจากเมืองจีน มีความงดงามหาดูหาชมได้ยากยิ่ง นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังมี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีความวิจิดรงดงาม

พระครูวิมลโสมนันท์ เจ้าอาวาสวัดท่าโสม เล่าต่ออีกว่า องค์พระแกะสลักจากหยกก้อนใหญ่ ฝีมือช่างจากพม่า นำมาประดิษฐานเมื่อปี พ.ศ.2542 นอกจากนั้นยังมีญาติโยมผู้ศรัทธาพากันนำพระพุทธรูปหยกขาว หยกเขียว และพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์อื่นๆ มาประดิษฐานในอุโบสถของวัดอีกหลายองค์ นอกจากนี้แล้วภายในวัดยังมีศาลาร้อยปี มีลักษณะเป็นกุฎิโบราณ ในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็น ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ต.ท่าโสม ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ แหล่งศึกษาดูงาน และพิพิธภัณฑ์ โดยได้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆของทางวัดและชาวบ้านที่ช่วยกันบริจาค มาแสดงไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นใหม่ได้ชมกัน อาทิ เครื่องทองเหลืองและถ้วยชามจีน ซึ่งในสมัยนั้นมีพ่อค้าชาวจีนเดินทางมาขึ้นเทียบท่าค้าขายที่ จ.ตราด และได้นำภาชนะต่างๆใส่อาหารมาถวายพระสงฆ์

สำหรับรูปปั้นของพระสงฆ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน คือ “ท่านก๋ง” ท่านก๋งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในเขต อ.เขาสมิง จ.ตราด ในอดีตท่านรับกิจนิมนต์ไปที่ จ.จันทบุรี และที่อื่นๆในภาคตะวันออก ท่านเห็นเขาปลูกไม้ยืนต้น เช่น สวนผลไม้ต่างๆ แล้ว

ร่ำรวยมีฐานะดีกัน ท่านก็มามองดูชาวตราดในสมัยก่อนซึ่งปลูกกันแต่พืชล้มลุก เช่น พืชผักสวนครัว ราคาขายก็ไม่กี่สตางค์ ท่านจึงนำเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ โดยเฉพาะสับปะรดและยางพาราเข้ามาเพาะยัง จ.ตราด แล้วก็แจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านญาติโยม แล้วท่านก็บอกกับชาวบ้านญาติโยมว่า “ถ้าอยากรวยต้องทำงานหลายๆ อย่าง หลายๆ อาชีพ”

ส่วนชั้นล่างของศูนย์บูรณาการนั้น เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวนา ได้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ สำหรับชาวนาไว้ เช่น ครกตำข้าว บันไดสำหรับฟาดข้าว และอูด คล้ายเกวียนแต่มีล้อตันไว้นวดข้าว เป็นต้น

………………………………….