คำ ผกา : ประชาธิปไตยอันสุกปลั่ง

คำ ผกา

สังคมที่มีคนแบบ จอห์น ล็อก มองเตสกิเออ หรือ ต็อกเกอร์วิล กว่าจะตกผลึกมานั่งคุยกันว่า เฮ้ย ความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “รัฐ” ควรจะสัมพันธ์กันแบบไหน ใครคือเจ้าของอำนาจ พระเจ้าที่มีอำนาจผ่านศาสนจักรนั้นจะอยู่ตรงไหนของสมการว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ หรือแม้กระทั่งต้องมานั่งถามกันว่า การที่มนุษย์คนหนึ่งจะกลายเป็นพลเมืองของรัฐนั้นมันต้องกอปรไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง

กว่าจะได้คำตอบที่เป็นฉันทามติกันก็เถียงกันจนสร้างสกุลปรัชญาการเมืองได้ตั้งหลายสำนัก ก็ฆ่ากัน ทำสงครามกันไปไม่รู้กี่ครั้ง

ไม่นับว่านักปรัชญาที่ถกเถียงกันเรื่อง “พลเมือง” ในยุคต้นๆ ก็ไม่เห็นหัวผู้หญิงด้วยซ้ำ จึงไม่เคยนับผู้หญิงเป็นพลเมือง ไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง

ในดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตย (เกิดและวิวัฒน์ต่อเนื่อง) กว่าหลักการของประชาธิปไตยจะตกผลึกก็ใช้เวลานับร้อยปี

ตกผลึกในที่นี้คือตกผลึกในหลักการใหญ่ที่ว่า ประชาชนคือเจ้าของอำนาจ รัฐคือประชาชน ชาติคือประชาชน และบริหารอำนาจด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจ ถ่วงดุลกันสามฝ่ายคือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ

ในอีกหลายร้อยปีต่อมา ประชาธิปไตยก็วิวัฒน์ต่อไปไม่หยุดยั้ง

บ้างเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐธรรมนูญนิยม บ้างเป็นประชาธิปไตยแบบตุลาการภิวัฒน์ (เพื่อคานอำนาจรัฐบาลเสียงมาก ในประเทศที่ปัญหาว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมต่อ “คนกลุ่มน้อย”)

แต่จะวิวัฒน์ไปพิสดารแค่ไหนก็ทิ้งหลักการที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยไม่ได้ นั่นคือ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ใช้อำนาจผ่าน “ผู้แทน” ที่ตนเองเลือก

คำว่า ผู้แทนราษฎร เป็นคำที่สื่อได้ตรงความหมายชัดเจน จะชัดมากขึ้นหากเปลี่ยนใหม่เป็น “ผู้แทนประชาชน”

ในภาษาไทย เราเรียกผู้แทนประชาชนที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภาว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ก็ถือว่าเป็นคำเรียกที่มีความหมายชัดเจนที่สุดเท่าที่เราจะมีได้

คําว่า “สภาผู้แทนราษฎร” จึงเป็นสภาที่ทรงเกียรติ มันทรงเกียรติ ไม่ใช่เพราะตึกรัฐสภามันโอ่อ่า ไม่ใช่เพราะเงินเดือนแพง แต่มันทรงเกียรติเพราะมันเป็นสภาของ “ราษฎร” ราษฎรคือคนที่มีเกียรติในฐานะเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจ คนที่เป็น ส.ส. จึงเป็นคนที่มีเกียรติมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เพราะเป็นคนที่ประชาชนหรือราษฎรวางใจ เชื่อใจให้มาทำหน้าที่แทนตนเอง

เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดว่า นักการเมืองเลว ส.ส. สวะ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่กลายเป็นภาพพจน์ของ “นักการเมือง” เราต้องไม่ลืมว่าเรากำลังด่า “ตัวเอง” เพราะคนเหล่านั้นคือคนที่เราเลือก

และฉันก็ต้องพูดเป็นครั้งที่ห้าล้านว่า ราษฎรหรือประชาชนอย่างเรา หากเลือก “ผู้แทน” ผิด ดันไปได้แบบกะหลั่วๆ ก็ไม่มีอะไรยากเลย เลยด่ามันเยอะๆ พอครบสี่ปี ก็เลือกใหม่ ไม่เลือกคนเดิม

แต่ถ้าได้กะหลั่วหน้าเดิมกลับมา เพราะ “เสียงข้างมาก” เขาเลือกมา เราก็ต้องอดทนในฐานะเสียงข้างน้อย

ทีนี้จะมาโวยวายว่า โอ๊ย เลือกตั้งกี่ทีๆ “คนดี” ของชั้นก็แพ้ ไม่เอาละ ล้มการเลือกตั้งดีกว่า ไม่ต้องมีกันหรอกประชาธิปไตย อยู่กับ “คนดีมีความสามารถ” ที่เขาคัดสรรกันขึ้นมาเองในนามของสมัชชา สภาปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่จะคิดหาคำศัพท์มาเรียกกันให้ฟังดูเพราะ – อือม – จะเอาอย่างนั้นก็ได้

แต่ขอถามด้วยสมการง่ายๆ ว่า ระหว่าง

ก. อำนาจเป็นของประชาชน แต่อาจได้ผู้แทนไม่ถูกใจ แต่มีโอกาสเลือกใหม่เสมอ แม้โอกาสชนะน้อย แต่อำนาจยังเป็นของเรา กับ

ข. อำนาจพ้นมือเราไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ ทั้งดีและไม่ดี เราไม่รู้ว่าใครคือคนรับผิดชอบ (บอกตัวเองว่า พอทุกอย่างเข้าที่ เขาก็คืนอำนาจให้ประชาชน หรืออย่างน้อยเขาสัญญาว่าเขาจะคืน)

ในขณะนี้ดูเหมือนว่า สังคมไทยเราได้เลือกข้อ ข. ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเราได้ยินยอม (จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็แล้วแต่) ให้การเมืองแบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้ล้มลงหมดลมหายใจไปต่อหน้าต่อตา

และขณะนี้เราก็ได้แต่นั่งกะพริบตาปริบๆ รอการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น

และฉันมั่นใจว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า อยู่อย่างนี้ก็ดีจะตาย ไม่ต้องมีหรอกการเลือกตั้ง เดี๋ยวก็วุ่นวาย ไม่มีการเลือกตั้งในทุกระดับมาสามปีแล้วบ้านเมืองสงบราบคาบ เรียบร้อย ไร้การเหิมเกริมของพวกป่วนเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ไม่มีใครมาประท้วงปิดถนน

โอ๊ย ชอบๆๆๆ

ปรากฏการณ์เช่นนี้ เพื่อนต่างชาติของฉันหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “แปลกมาก”

ในประเทศที่เคยมีประชาธิปไตยเต็มใบ เคยมีการเลือกตั้งต่อเนื่อง มีการกระจายอำนาจที่ถือว่าดีวันดีคืน ไม่มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก ไม่ได้ปิดประเทศเหมือนเกาหลีเหนือ ไม่น่าเชื่อว่า การลุกขึ้นต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะสามารถทำได้และได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการ “ทำความดี”

ฉันคิดว่าเราแทบจะนับเอาสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้เลย ถ้ามีคนถามว่า เอกลักษณ์ไทยคืออะไร เราควรตอบว่า รังเกียจการเลือกตั้ง รังเกียจนักการเมือง ชอบให้บ้านเมืองปกครองโดย “คนดีมีธรรมะ”

คนไทยที่ฉันรู้จักจำนวนไม่น้อย ไม่ได้เห็นว่าหลักการประชาธิปไตยคือการแบ่งแยกอำนาจเพื่อถ่วงดุลกันและกัน ภายใต้หลักการประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ

แต่คนไทยไปหมกมุ่นเรื่อง

การเมืองต้องใสสะอาดปราศจากคอร์รัปชั่น

นักการเมืองต้องเป็นคนดี เสียสละมาทำงานเพื่อบ้านเมือง

การเมืองต้องไม่มีการโกง การคอร์รัปชั่นเลยแม้แต่บาทเดียว

นักการเมืองต้องใจซื่อมือสะอาด

ใช่ ทั้งหมดนี้ไม่ผิด และถ้ามันเกิดขึ้นได้จริงก็จะดีมาก

ดังเช่นที่เรานั่งชื่นชมดัชนีความโปร่งใสของประเทศต่างๆ

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความย้อนแย้งของคนไทยที่บ้าคลั่งเรื่องการเมืองใสสะอาดและปราศจากคอร์รัปชั่น เฝ้าอิจฉาประเทศที่ดัชนีคอร์รัปชั่นต่ำ ความโปร่งใสสูง ทว่า พวกเขาไม่เคยเชื่อมโยงความโปร่งใสกับกลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ระดับเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพในการแสดงความเห็นของพลเมือง และระดับความเข้มข้นของประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย

พวกเขาไม่อิ๊ ไม่อ๊ะ ไม่เอ๊ะ กันเลยหรือว่า ประเทศที่คอร์รัปชั่นต่ำล้วนแต่มีประชาธิปไตยเข้มข้นทั้งนั้น

ตรงกันข้าม พวกเขาก็ยังหลับตาภาวนา เชื่อเป็นวรรคเป็นเวรว่า – คอร์รัปชั่นหมดไปเพราะได้คนดีปกครองบ้านเมือง

ปัญหาความล้มเหลวของการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยน่าจะเกิดจากการที่คนไทยหมกมุ่นกับปัญหาการคอร์รัปชั่นมากเกินไป

และเข้าใจผิดว่าการเมืองเป็นของความใสสะอาด

เปล่าเลย การเมืองเป็นเรื่องการช่วงชิงผลประโยชน์ อำนาจ ทรัพยากรของมนุษย์ในสังคมๆ หนึ่ง ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ไม่ใช่เทวดา ย่อมมีอคติ ความโลภ ความใคร่ ตัณหา

ใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวพันกับมนุษย์นับล้านๆ คน มันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะใสสะอาด ปราศจากราคี

แต่ในบรรดาระบบการเมืองทั้งหมด ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รับประกันว่า “ความชั่ว” จะถูกบริหารให้เกิดขึ้นได้ยากกว่าระบบอื่น (จากการถ่วงดุลอำนาจ และกลไกการตรวจสอบของมัน) แต่ไม่ได้แปลว่า มันจะไม่ชั่ว มันจะไม่คอร์รัปต์ แต่มันคอร์รัปต์จะเกิดขึ้นในลักษณะที่มีการ “คาน” กันตลอดเวลา การคอร์รัปต์นั้นจึงมีขีดจำกัด

ตรงกันข้าม ระบบอื่นๆ เช่น เผด็จการ ฯลฯ เป็นระบบที่ปราศจากการตรวจสอบและห้ามตรวจสอบ และยากที่จะมีใครกล้าทะลึ่งไปตรวจสอบ ดังนั้น มันจึงเป็นระบบที่ความโลภ ตัณหา และสารพัดโลกียะของมนุษย์ทำงานไปอย่างปราศจากการควบคุม และการคอร์รัปต์ที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นอย่างเป็นอินฟินีตี้ ไร้ขีดจำกัดปราศจากการทัดทาน ถ่วงดุล ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น

จะออกจากกับดักนี้ได้อย่างไร ฉันคิดว่าคนไทยต้องพารานอยด์กับคำว่า โกงกิน หรือคอร์รัปชั่นให้น้อยลง เลิกคิดว่า จุดสุดยอดของการเมืองไทย ประเทศไทยคือสร้างสังคมที่ปราศจากคนโกง

แต่ควรมาโฟกัสว่า ทำอย่างไรจะสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและหยั่งรากลึกลงในสังคมให้ได้

เพราะเมื่อไปนอยด์กับคำว่านักการเมืองโกง การเลือกตั้งทำให้คนเลวเข้ามาบริหารบ้านเมือง

นอยด์กับเรื่องนี้มากทีไร เราก็จะเผลอไปล้มการเลือกตั้ง ล้มประชาธิปไตยทุกที แล้วกว่าจะกอบกู้การเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ กว่าการเลือกตั้งจะปฏิรูปตัวเองจนเข้าที่ กว่าประชาชนจะตระหนักว่าเสียงของตัวเองมีความหมาย ก็ใช้เวลายี่สิบสามสิบปี แล้วยี่สิบสามสิบปีนี้ – ที่ไม่มีประชาธิปไตย

การคอร์รัปชั่นอย่างไร้อำนาจคัดค้าน ถ่วงดุล คอร์รัปต์ แบบอินฟินีตี้ ไร้ขีดจำกัด ก็ทำลายโอกาสของประเทศชาติ ทำลายศักยภาพของมนุษย์ในสังคมนั้นๆ จนแทบไม่เหลือมันสมองติดไว้ในรอยหยัก กว่าจะรู้ตัวว่า เออ…เราคือมนุษย์ที่คิดและกำหนดอนาคต ชะตากรรมของตัวเราเองได้ ผ่านการเลือกตัวแทนของเราไปบริหารบ้านเมือง

กว่าจะคิดได้ก็เกือบสายเกินไป เผลอๆ อาจจะสิ้นอายุขัยไปเสียก่อน

การนอยด์และหมกมุ่นกับปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ไม่สนใจว่ายังมี “ประชาธิปไตย” ในสังคมหรือเปล่า เหมือนคนที่มัวแต่ปัดหยากไย่แต่ไม่สนใจเรื่องปลวกขึ้นบ้าน

เผลออีกที อ้าว ไม่ต้องปัดหยากไย่แล้ว เพราะบ้านหายไปทั้งหลัง

สิ่งที่คนไทยต้องทำความเข้าใจกันใหม่คือ เราต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยมันดี มันสะอาด มันปราศจากการโกง

แต่เราต้องการประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยให้เราประชาชน ประชาชนได้เป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองตนเอง ในการเลือกชะตากรรมของเราเอง เราต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะมันปลอดการโกง แต่เพราะมันไม่อนุญาตให้ใครมีอำนาจในการโกงได้โดยไม่หมดวาระ

เราต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยให้นักการเมืองที่ดี แต่เราต้องการประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนเลวๆ มาแข่งขันทำ “ประโยชน์” ให้กับ “ฐานเสียง” ของเขา

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องการ “เสียสละ” แต่เป็นเรื่องของการแข่งขันเพื่อจะได้เป็น “ตัวแทน” ของเจ้าของอำนาจโดยมีเดิมพันเป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ที่ต้องไปคัดง้าง หักล้าง ช่วงชิงกัน ที่สำคัญ ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่มีพลวัตในตัวของมันเอง ผันแปรตามคุณภาพของ “เจ้าของอำนาจ”

ประชาธิปไตยมีคอร์รัปชั่น แม้แต่ประเทศที่ดีที่สุด เจริญที่สุด ประชาธิปไตยแข็งแกร่งที่สุด การคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้เป็นศูนย์ (โลกที่ปราศจากการคอร์รัปชั่นน่าจะเป็นโลกพระศรีอาริย์) แต่ให้เลือกระหว่างปราบคอร์รัปชั่นจนไม่มีประชาธิปไตย กับการรักษาหลักการและระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ – เราจะเลือกอะไร?

เลือกจะอยู่บ้านที่มีหยากไย่ หรือเลือกอยู่แบบไม่มีบ้านและไม่มีหยากไย่ เราจะเลือกอะไร?

ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืนและสุกปลั่งในชั่วข้ามวัน เพียงแต่ว่า เราอย่าไปทุบหลักการมันทิ้งก่อนที่มันจะสุกปลั่งเท่านั้น

หรือมันจะสายไปเสียแล้ว?