คัมภีร์กุรอานว่าด้วยการสืบพันธุ์ (จบ)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

คัมภีร์กุรอานว่าด้วยการสืบพันธุ์ (จบ)

 

3.วิวัฒนาการของลูกอ่อนภายในมดลูก

การบรรยายของคัมภีร์กุรอานถึงขั้นตอนต่างๆ ในพัฒนาการของลูกอ่อนในครรภ์นั้นตรงกับสิ่งที่เรารู้กันในปัจจุบันนี้อย่างแท้จริง และคัมภีร์กุรอานมิได้มีถ้อยคำสักคำเดียวที่เปิดทางให้แก่คำติเตียนจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้เลย

หลังจากเป็น “สิ่งที่เกาะอยู่” แล้วคัมภีร์กุรอานก็บอกเราว่าลูกอ่อนในครรภ์นั้นจะผ่านไปถึงขั้นตอนที่เป็น “เนื้อที่ถูกเคี้ยว” ครั้นแล้วก็จะมีเนื้อเยื่อของกระดูกเกิดขึ้นและห่อหุ้มอยู่ในเนื้อ (นิยามมาจากคำอีกคำหนึ่งซึ่งหมายถึง “เนื้อที่คงอยู่อย่างบริบูรณ์”)

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 23 โองการที่ 14 : “เราได้ทำให้สิ่งที่เกาะอยู่กลายเป็นก้อนเนื้อที่เคี้ยวแล้ว และเราทำให้เนื้อที่เคี้ยวแล้วนั้นเป็นกระดูก และเราห่อหุ้มกระดูกด้วยเนื้อที่คงอยู่อย่างบริบูรณ์”

คำว่า “เนื้อที่เคี้ยวแล้ว” นั้นเป็นคำแปลของคำว่ามัดฺคะ ส่วนคำว่า “เนื้อที่คงอยู่บริบูรณ์” นั้นคือลัคมะ จำเป็นจะต้องเน้นให้เห็นความแตกต่างของสองคำนี้ ในตอนแรกลูกอ่อนในครรภ์นั้นเป็นก้อนเล็กๆ ในขั้นตอนหนึ่งแห่งพัฒนาการของมัน ถ้าดูด้วยตาเปล่ามันจะดูเหมือนกับเนื้อที่เคี้ยวแล้ว โครงสร้างของกระดูกเกิดขึ้นภายในก้อนนี้ในสิ่งที่เรียกว่าเซลล์เนื้อเยื่อ

กระดูกที่เกิดขึ้นถูกห่อหุ้มด้วยกล้ามเนื้อคือดำ ลัคมะ นั่นเอง

 

เป็นที่รู้กันว่าในระหว่างพัฒนาการของลูกอ่อนในครรภ์ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นคนคนหนึ่งบางส่วนดูไม่มีสัดส่วน ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือกลับมีสัดมีส่วน

นี่แหละคือความหมายของคำว่า มุกัลป์ลัก ซึ่งหมายถึง “ถูกทำให้มีรูปร่างได้สัดส่วน” ซึ่งถูกใช้ในซูเราะฮ์ (บท) ที่ 22 โองการที่ 5 เพื่อบรรยายถึงปรากฏการณ์นี้

“เราได้สร้าง…ให้เป็นบางสิ่งที่เกาะอยู่…ให้เป็นก้อนเนื้อที่ได้สัดส่วนและไม่ได้สัดส่วน”

คัมภีร์กุรอานยังได้บรรยายถึงการปรากฏของประสาททั้งห้าและเครื่องในไส้พุงด้วย

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 32 โองการที่ 9 : “(พระผู้เป็นเจ้า) ทรงกำหนดโสตประสาทและจักษุประสาทและเครื่องในให้แก่พวกเจ้า” และได้กล่าวถึงการสร้างอวัยวะเพศด้วย

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 53 โองการที่ 45-46 : “(พระผู้เป็นเจ้า) ทรงสร้างสองเพศให้เป็นคู่ คือเพศชายและเพศหญิงจากจำนวนเล็กน้อย (ของน้ำอสุจิ) เมื่อมันถูกหลั่งออกมา”

การสร้างอวัยวะเพศนั้นถูกกล่าวถึงใน 2 ซูเราะฮ์ (บท) คือ

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 35 โองการที่ 11 : “พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างพวกเจ้าขึ้นจากผงธุลี แล้วก็จากหยดอสุจิ ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงทำให้พวกเจ้าเป็นคู่ๆ (คือเพศชายและเพศหญิง)”

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 75 โองการที่ 39 : “และ (พระผู้เป็นเจ้า) ทำให้เขาเป็นคู่คือชายและหญิง”

 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าคำกล่าวทั้งหลายในคัมภีร์กุรอานนั้นจะต้องเอาไปเปรียบเทียบกับแนวความคิดที่ถูกสถาปนาขึ้นอย่างมั่นคง ในปัจจุบันนี้ความสอดคล้องต้องกันระหว่างทั้งสองนั้นมีอยู่อย่างชัดเจนมาก

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่จะต้องเปรียบเทียบโองการเหล่านั้นกับความเชื่อทั่วๆ ไปในเรื่องนี้ที่มีอยู่ในสมัยที่คัมภีร์กุรอานถูกเปิดเผยมาด้วยเพื่อจะได้ทราบว่าในสมัยนั้นผู้คนมีทรรศนะต่อปัญหาเหล่านี้ห่างไกลจากที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์กุรอานอย่างไร

จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าพวกเขาจะไม่สามารถตีความคัมภีร์กุรอานได้เหมือนอย่างที่เราทำได้ทุกวันนี้เพราะว่าเราได้รับความช่วยเหลือจากข้อมูลที่ความรู้สมัยใหม่ให้แก่เรา อันที่จริงนั้นผู้คนมีทรรศนะที่แจ่มแจ้งขึ้นเล็กน้อยในเรื่องนี้ก็ในตอนศตวรรษที่ 19 เท่านั้นเอง

ตลอดสมัยกลางมีคำสอนจำนวนมากเกิดขึ้นโดยนิยายปรัมปราและการเดาเอาเองซึ่งไม่มีพื้นฐาน คำสอนเหล่านั้นคงอยู่หลายศตวรรษหลังจากช่วงเวลานั้น

ขั้นตอนที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งกำเนิดวิทยาก็คือคำกล่าวของฮาร์เวย์ (Harvey) เมื่อปี 1651 ที่ว่า “ชีวิตทุกชีวิตย่อมเริ่มต้นมาจากไข่” อย่างไรก็ตาม ในสมัยนี้เมื่อวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งจะกำลังเริ่มได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวง (ในเรื่องที่กำลังกล่าวถึงนี้) จากการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้น ผู้คนก็ยังพูดกันถึงบทบาทของไข่และสเปิร์มมาโตซูน

บัฟฟอน (Buffon) นักธรรมชาตินิยมผู้ยิ่งใหญ่คือคนหนึ่งของบรรดาผู้ที่นิยมทฤษฎีไข่นี้ แต่บอนเนต (Bonnet) สนับสนุนทฤษฎีของเมล็ดที่ถูก “อัดไว้รวมกัน” นั่นคือถือว่าไข่ของอีฟผู้เป็นมารดาของมนุษยชาตินั้นมีเมล็ดพันธุ์ของมนุษยชาติทั้งหลายบรรจุอยู่ ถูกอัดรวมกันไว้ภายในเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ข้อสมมติฐานนี้เป็นที่นิยมกันในศตวรรษที่ 18

ก่อนหน้าสมัยของเรากว่าพันปีมาแล้วในตอนที่คำสอนที่เป็นไปตามอำเภอใจยังคงมีอยู่อย่างมากนั้น มนุษย์มีความรู้ในเรื่องคัมภีร์กุรอานแล้ว คำกล่าวที่มีอยู่ในนั้นมีความจริงซึ่งกล่าวออกมาในคำที่ง่ายๆ ที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ซึ่งกว่ามนุษย์จะค้นพบได้ก็ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี

 

คัมภีร์กุรอานกับการศึกษาเรื่องเพศ

ยุคของเราเชื่อว่าคนเราได้ทำการค้นพบมากมายหลายอย่างในสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งหมด และคิดว่าได้สร้างของใหม่ๆ ขึ้นเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเพศ อีกทั้งความรู้ในข้อเท็จจริงของชีวิตซึ่งถูกเปิดให้แก่คนหนุ่มสาวก็ถูกถือว่าเป็นความสำเร็จของโลกสมัยใหม่ ศตวรรษก่อนๆ นั้นถือกันว่ามีความคลุมเครือในจุดนี้และมีคนมากมายที่พูดกันว่าศาสนาเป็นต้นเหตุโดยไม่ได้บอกว่าศาสนาไหน

อย่างไรก็ตาม คำบอกเล่าที่กล่าวมาข้างบนนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเมื่อพันสี่ร้อยปีมาแล้วปัญหาทางทฤษฎีในเรื่องการสืบพันธุ์ของมนุษย์นั้นถูกนำมาสู่ความสนใจของมนุษย์แล้ว มนุษย์สนใจใฝ่หาคำตอบในเรื่องนี้เท่าที่จะทำได้ทั้งๆ ที่ยังขาดข้อมูลทางด้านกายวิภาคศาสตร์และสรีรศาสตร์อยู่ เราควรจะจำไว้ด้วยว่าถ้าจะให้เข้าใจในสิ่งใดก็จำเป็นจะต้องใช้ภาษาง่ายๆ ที่เหมาะกับระดับความเข้าใจของบรรดาผู้ที่ฟังคำสอนนั้นๆ ด้วย

ข้อพิจารณามิได้ถูกละเลยไว้อย่างเงียบๆ ในคัมภีร์กุรอานมีรายละเอียดมากมายในเรื่องชีวิตด้านที่เป็นจริงโดยทั่วๆ ไปอยู่ รวมทั้งวิธีที่มนุษย์ควรปฏิบัติในชีวิตของเขาหลายๆ สถานการณ์ ชีวิตในด้านกามารมณ์ของเขาก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น

มีโองการจากคัมภีร์กุรอานอยู่สองโองการที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศซึ่งบรรยายไว้ในคำพูดที่รวมเอาความจำเป็นในความถูกต้องเข้ากับความสุภาพดีงาม อย่างไรก็ดี เมื่อได้อ่านคำแปลและคำอธิบายแล้ว เราก็จะรู้สึกสะดุดใจในความแตกต่างกันระหว่างสองโองการ ซึ่งในที่นี้จะขอนำคำแปลของนายแพทย์ อา.เค. จิโรด์ (A.K. Giraud) อดีตศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์เบรุต มานำเสนอดังต่อไปนี้

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 86 โองการที่ 6-7 : “(มนุษย์) ถูกสร้างขึ้นด้วยของเหลวอย่างหนึ่งซึ่งถูกหลั่งออกมา มันออกมา (ดังเป็นผลของ) การร่วมกันของบริเวณเครื่องเพศของชายกับบริเวณเครื่องเพศของหญิง”

นี่เป็นคำแปลที่ปรากฏว่าน่าพอใจที่สุด แตกต่างจากคำแปลที่นักแปลชาวอังกฤษและฝรั่งเศสมักจะให้ไว้ คือ “(มนุษย์) ถูกสร้างขึ้นด้วยของเหลวชนิดหนึ่งซึ่งถูกหลั่งออกมาจากระหว่างแนวกระดูกสันหลังและกระดูกหน้าอก” นี่ดูเหมือนเป็นการตีความมากกว่าคำแปล ยากที่จะเข้าใจได้

พฤติกรรมของชายในความสัมพันธ์อันสนิทชิดเชื้อกับภรรยาของเขาถูกกล่าวไว้อย่างชัดเจน

มีข้อความเกี่ยวกับระยะเวลาของการมีประจำเดือนกล่าวไว้ในซูเราะฮ์ (บท) ที่ 2 โองการที่ 222-223 “พวกเขา (บรรดาผู้ไม่ศรัทธา) ถามเจ้าเกี่ยวกับโลหิตระดูจงกล่าวว่า : นี่เป็นสิ่งให้โทษ จงอย่าเข้าใกล้หญิงในระหว่างที่มีโลหิตระดูและจงอย่าเข้าหาพวกนางจนกว่าพวกนางจะสะอาด เมื่อพวกนางชำระตนเองให้สะอาดแล้วจงไปหาพวกนางเถิด เหมือนดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสั่งเจ้า”

“แน่แท้ พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรดผู้สำนึกผิดและทรงโปรดผู้ชำระตนให้สะอาดบริสุทธิ์”

“ภริยาของพวกเจ้าคือที่ไถหว่านของพวกเจ้า ดังนั้น จงมายังการไถหว่านของพวกเจ้าตามที่พวกเจ้าประสงค์เถิด จงทำ (การกระทำที่ดีบางอย่าง) สำหรับดวงวิญญาณของพวกเจ้าไว้ล่วงหน้า”

ตอนต้นของข้อความนี้มีความหมายชัดเจนมาก คือสั่งห้ามผู้ชายมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน ส่วนตอนที่สองบรรยายถึงกระบวนการไถพื้นที่ซึ่งชาวนาจะทำก่อนที่จะหว่านเมล็ดพืชที่จะปลูกลงไปและทำให้เกิดพืชต้นใหม่ขึ้น เพราะฉะนั้นจากภาพพจน์นี้จึงเท่ากับเน้นในทางอ้อมถึงความสำคัญที่จะต้องจำไว้ในใจว่าความมุ่งหมายสูงสุดของการมีความสัมพันธ์ทางเพศก็คือการสืบพันธุ์นั่นเอง คำแปลวลีสุดท้ายเป็นของ อาร์. บลาแชร์ บรรจุคำสั่งซึ่งดูเหมือนจะกล่าวถึงการกระทำขั้นต้นก่อนจะมีเพศสัมพันธ์

ข้อความมากมายที่ยกมาอ้างไว้ข้างบนนี้ซึ่งเกี่ยวกับลำดับการเปลี่ยนรูปของลูกอ่อนในครรภ์นั้นทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า มนุษย์ถูกถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่บรรยายไว้นับตั้งแต่การเป็น “สิ่งที่เกาะอยู่” ความนับถือในความเป็นมนุษย์แต่ละคนถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ ในคัมภีร์กุรอาน จึงนับว่าเป็นการประณามการทำแท้งโดยเจตนาไปด้วย

ในปัจจุบันทัศนคติเช่นนี้มีอยู่ในศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวทุกศาสนา

 

อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กันได้ในตอนกลางคืนระหว่างถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน โองการที่เกี่ยวกับเดือนเราะมะฎอนมีดังต่อไปนี้

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 2 โองการที่ 187 : “เป็นที่อนุญาตแก่พวกเจ้าในคืนแห่งการถือศีลอดให้ทำลายความบริสุทธิ์กับภรรยาของพวกเจ้าได้ พวกนางคือภูษาอาภรณ์สำหรับพวกเจ้าและพวกเจ้าคือภูษาอาภรณ์สำหรับพวกนาง ดังนั้น จงสมสู่กับพวกนางและแสวงหาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าบัญญัติไว้สำหรับพวกเจ้าเถิด”

ตรงข้ามกับข้อกำหนดนี้ ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ไปทำฮัจญ์ในนครมักกะฮ์ตลอดเวลาที่ทำฮัจญ์

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 2 โองการที่ 197 : “สำหรับผู้ที่กำลังทำหน้าที่ของการทำฮัจญ์ในเวลาของมัน ย่อมไม่มีการเกี้ยวพาและไม่มีการล่วงสิทธิ์”

ข้อห้ามนี้เป็นแบบปฏิบัติ รวมทั้งกิจการอื่นๆ อีกด้วย เช่น การล่าสัตว์ การหาปลา ฯลฯ

เรื่องโลหิตระดูได้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์กุรอานอีกในตอนที่เกี่ยวกับการหย่าขาด พระคัมภีร์มีโองการต่อไปนี้

ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 65 โองการที่ 4 : “สำหรับเหล่าภริยาของพวกเจ้าผู้ซึ่งหมดหวังในโลหิตระดู ถ้าพวกเจ้าสงสัยในเรื่องพวกนาง ระยะเวลาสำหรับรอคอยจะเป็นสามเดือน สำหรับพวกนางที่ไม่เคยมีโลหิตระดูและผู้ที่ตั้งครรภ์ระยะเวลาของพวกนางจะมีจนกระทั่งพวกนางได้วางภาระของพวกนางลงแล้ว”

ระยะเวลารอคอยที่กล่าวไว้ในที่นี้ก็คือเวลาระหว่างการประกาศการหย่าขาดกับเวลาที่มันเริ่มมีผล บรรดาผู้หญิงที่ถูกกล่าวถึงว่า “ผู้ซึ่งหมดหวังในโลหิตระดู” ก็คือผู้ที่หมดโลหิตระดูแล้วโดยถาวร กำหนดเวลาให้พวกนางเป็นเวลาสามเดือน เมื่อครบกำหนดนี้แล้ว หญิงที่หย่าขาดซึ่งหมดโลหิตระดูแล้วอาจแต่งงานใหม่ได้

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีระดูต้องรอระยะการมีครรภ์ไว้ก่อน สำหรับหญิงมีครรภ์นั้นการหย่าจะมีผลก็ต่อเมื่อเด็กเกิดมาแล้วเท่านั้น

กฎเกณฑ์เหล่านี้ถูกต้องคล้องจองกับข้อมูลทางสรีรศาสตร์อย่างสมบูรณ์เลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้นเราอาจพบข้อกำหนดทางกฎหมายที่สุขุมรอบคอบในตำราต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการเป็นหม้ายซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์กุรอานเช่นเดียวกัน

ดังนั้น คำกล่าวทางทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์และคำสอนที่ปฏิบัติได้จริงๆ ในเรื่องชีวิตทางเพศของคู่ผัวตัวเมีย จึงมิได้ขัดแย้งและไม่อาจนับได้ว่าตรงกันข้ามกับข้อมูลที่เราได้มาจากความรู้สมัยใหม่หรือตรงข้ามกับสิ่งใดๆ ที่สามารถเอามาจากความรู้สมัยใหม่อย่างมีเหตุผลได้