สานสัมพันธ์ ‘ศาลเจ้าที่’ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

สานสัมพันธ์ ‘ศาลเจ้าที่’

 

เจ้าที่คือใคร เจ้าที่คือสิ่งเดียวกับพระภูมิหรือไม่ ถ้าเลิกไหว้แล้วจะเอาศาลออกจากบ้านไปได้ไหม ศาลเจ้าที่เก่าแล้วจะต้องซ่อมไหม เจ้าที่มีจริงรึเปล่า ฯลฯ

นี่คือคำถามจำนวนหนึ่งจากผู้เรียนคอร์ส “สานสัมพันธ์ศาลเจ้าที่” ซึ่งผมและถิงชู มิตรสหายศิลปินนักปั้นเซรามิกสอนด้วยกัน ณ วัชรสิทธา

ผมเห็นหลายสิ่งน่าสนใจเลยอยากมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่านครับ

คอร์สนี้ถูกออกแบบเป็นสองวัน วันแรกเป็นเรื่องข้อมูลความรู้และการแลกเปลี่ยนซึ่งมีผมเป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนอีกวัน ผู้เรียนจะได้ออกแบบ “ศาลเจ้าที่” ในแบบของตนเองด้วยเซรามิก แล้วไปปั้นที่สตูดิโอถิงชู

ไอเดียนี้ที่จริงผมไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มหรอกครับ แต่วิจักขณ์ พานิช เพื่อนรัก เห็นว่าเรื่องเจ้าที่เจ้าทางเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมันเคยเป็นความสัมพันธ์โดยตรงที่มนุษย์มีกับธรรมชาติ

แต่ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนไป พิธีกรรมหรืออะไรที่เกี่ยวกับเจ้าที่เจ้าทางก็ซับซ้อนขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้ผู้ชำนาญการ จากความสัมพันธ์ง่ายๆ ของมนุษย์กับพื้นที่ ก็มีมิติเรื่องความกลัวและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

ดังนั้น ทำอย่างไรเราจะกลับไปสู่ความเรียบง่ายในความสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยตรง ด้วยความนอบน้อม โดยไม่ต้องกังวลหรือกลัว

ผมชอบใจมากที่ในชั้นเรียนนี้ มีผู้คนที่เข้ามาด้วยประสบการณ์หลากหลาย บางคนไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับศาลพระภูมิเก่าในพื้นที่

บางท่านรู้สึกว่าตนเองควรเข้าไปจัดการเรื่องพระภูมิในบ้าน แต่ก็รู้สึกไม่มั่นใจ บางท่านเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเรื่องนี้โดยตรงแต่อยากเข้าใจมากขึ้น

และที่สนุกสุดคือมีท่านหนึ่งออกตัวเลยว่าไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเชื่อมากๆ จึงอยากมาทำความเข้าใจความเชื่อของคนอื่นโดยใจเปิดกว้าง

ผมจึงเริ่มต้นการเรียนด้วยคำถามแรกว่า พระภูมิเจ้าที่คือใคร?

 

จากความเข้าใจของผมเอง เราอาจพูดถึงเรื่องนี้ในสองมิติ อย่างแรกมิติทางโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ กับมิติจิตวิญญาณและธรรมชาติ

ในแง่โบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ ผมเข้าใจว่า มนุษย์สมัยโบราณรู้จักการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองแบบ คือพื้นที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่สาธารณ์มานานแล้ว

ตัวพื้นที่ที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็อาจเพราะมีลักษณะบางอย่างที่ชวนให้อัศจรรย์ใจหรือรู้สึกถึงความ “ศักดิ์สิทธิ์” เช่น บริเวณถ้ำ ยอดเขา แม่น้ำใหญ่ หินใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแต่แรกคงเป็นการนับถือธรรมชาติโดยตรง แล้วจึงมาครุ่นคิดคำนึงในแง่เทพเจ้าที่มีตัวมีตนทีหลัง

ต่อมาเมื่อมีการอยู่ร่วมเป็นเผ่า ก็มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับหัวหน้าเผ่าหรือบรรพชนขึ้นมาในชุมชน เช่น อาจเป็นที่ฝังศพของหัวหน้าเผ่าซึ่งนับถือกันเป็นแม่มดหมอผีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ พอฝังแล้วก็ทำกองหินหรือเนินเป็นสัญลักษณ์ ผมเข้าใจว่า นี่คือที่มาของดอนปู่ตาหรือเนินดินสำคัญของชุมชนซึ่งจะค่อยๆ กลายเป็นศาลเจ้าที่ของหมู่บ้านนั้นๆ

จากเนินดินเปล่าๆ ต่อมาก็มีการสร้างบ้านของผีหรือมิ่งขวัญไว้บนเนิน กลายเป็นศาลผีหรืออารักษ์หมู่บ้าน การมีที่บรรจุศพหรือมีบ้านของวิญญาณนี่น่าสนใจ

ผมเคยเห็นว่ายังมีบางหมู่บ้านในอีสาน ที่บรรจุกระดูกผู้ตายไว้ในบ้านเล็กๆ คล้ายศาลา ไม่ได้ใส่โกศใส่บัวอย่างที่เห็นตามวัด

ต่อเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว จึงค่อยมีการทำบัวทำโกศใส่กระดูก หรือบรรจุไว้ที่กำแพงวัดอย่างที่เราเห็นกันอยู่เจนตา

นอกจากนี้ บางครั้งแม้ไม่มีเนินดิน แต่ชาวบ้านเชื่อว่ามีผีมีพลังธรรมชาติอยู่ที่ใด เช่น ที่ฝายกั้นน้ำหรือต้นไม้ใหญ่ในป่า ก็ทำศาลเล็กๆ ง่ายๆ ขึ้นมาอย่างที่เรียกว่า ศาลเพียงตา เซ่นไหว้แล้วก็แล้วกันไป

 

ผมคิดว่านี่คือศาลเจ้าที่เจ้าที่เก่าสุดของเราล่ะครับ คือเริ่มต้นจากการสร้างบ้านให้ผี ไม่ว่าจะเป็นผีบรรพชนคนตายหรือผีธรรมชาติ

นอกจากนี้ ผมยังเคยได้ยินคำอธิบายว่า ผีบ้านผีเรือนที่จริงก็คือผีบรรพชนของเจ้าบ้านนั่นแหละ ตายแล้วขวัญหรือผีก็ยังอยู่ในบ้านไม่ไปไหน คอยดูแลลูกหลานสืบไป

ดังนั้น แต่เดิมศาลเจ้าที่ ก็คือศาลผีซึ่งเป็นของ “ชุมชน” ไม่ใช่ของบ้านใครบ้านมัน ถ้าจะมีบ้านใครบ้านมันบ้าง ก็หมายถึงผีบรรพชนของสายตระกูลนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งก็ยังมีเซนส์ของความเป็นชุมชนในสายตระกูลอยู่ดี ไม่ได้แยกกันมีทุกบ้าน

ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาและพราหมณ์เข้ามาแล้ว ชนชั้นของผีซึ่งไม่ได้ซับซ้อนก็ถูกจับเข้าในระบบเทพเจ้าอย่างแขก เกิดมี “พระภูมิ” ขึ้นมาเป็นเทวดาเจ้าที่เจ้าทาง อ้างอิงไปถึงตำนานเจ้ากรุงพาลีของพราหมณ์เขา ว่าเป็นหัวหน้าหรือบิดาของพระภูมิประจำสถานที่ต่างๆ สถานะภาพเทียบเท่ากับรุกขเทวดาอย่างพุทธ

ผมพยายามค้นตำราอินเดียก็ไม่ปรากฏพบตำนานเรื่องพระภูมิเช่นที่ว่า เพราะแม้ชื่อ “ภูมิ” จะเป็นภาษาแขก แต่ก็หมายถึงแผ่นดินเท่านั้นเองหรือไม่ก็หมายถึงแม่ธรณี ซึ่งหมายถึงแผ่นดินโลก ไม่ใช่เทพของพื้นที่เฉพาะ

ปกติคนฮินดูจะเรียกเจ้าที่เจ้าทางว่า “เกษตรปาล” ซึ่งมักเป็นเทพเจ้าดุร้ายอย่างไภรวะ

ดังนั้น พระภูมิคือผีไทยที่ถูกจับบวชให้เป็นแขก และผมเข้าใจว่าเป็นผีในวัฒนธรรมภาคกลาง เมื่อมีพระภูมิขึ้นมาแล้ว จึงมีการจัดลำดับให้ผีบ้านผีเรือนหรือตายายต่ำกว่าพระภูมิ ตามวิธีคิดที่แบ่งให้เทวดาสูงกว่าผี กลายเป็นว่าปัจจุบันหลายบ้านต้องทำสองศาลในที่เดียว ทั้งๆ ที่คือผีเจ้าที่ทั้งคู่ ซึ่งไม่เคยแยกกันมาในความเชื่อเดิม

พระภูมิจึงอยู่ปราสาทราชวังหรูหรา สวมมงกุฎชฎาไหว้ด้วยคำบาลี แต่ยังเซ่นด้วยของที่ไม่อยู่ในขนบพราหมณ์สันสกฤต เช่น หัวหมู ไก่ต้ม ส่วนผีตายายอยู่ศาลเตี้ยกว่าแต่ก็เซ่นสรวงด้วยของอย่างเดียวกัน

ที่สำคัญ จากเดิมมีเจ้าที่ของชุมชนโดยรวม เกิดเป็นพระภูมิของบ้านใครบ้านมัน เพราะสังคมเปลี่ยนไป พระภูมิก็ดูแลในขอบเขตรั้วบ้านเท่านั้น และมีหน้าตาเหมือนๆ กันไปหมด

ส่วนทางจีน แม้จะมีความคล้ายคลึงกันในแง่เป็นเทพเจ้าของชุมชน แต่จุดต่างอย่างสำคัญคือ วัฒนธรรมจีน มักเชื่อมโยงกับบุคคลจริงๆ ในประวัติศาสตร์กับเทพเจ้า พระภูมิเจ้าที่จึงมาจากตัวบุคคลจริงๆ ด้วย เช่น ท่านเตียเม่งเต็กหรือฮกเต็กเจี่ยสีนซึ่งนิยมนับถือโดยแพร่หลาย และเต่กี้จู้หรือตี่จู่เอี๊ยะก็ดังที่ผมเคยได้เขียนไว้แล้ว

 

ปัจจุบัน เริ่มมีการออกแบบศาลพระภูมิให้โมเดิร์นขึ้น เพื่อสอดรับกับตัวอาคารที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงาม ศาลพระภูมิจึงมีหน้าตาเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ภายใต้ระบบทุนนิยม เช่นเดียวกับวัตถุมงคลหรือสินค้าความเชื่ออื่นๆ

ผู้เรียนในชั้นเรียนนี้ ส่วนใหญ่เมื่อตระหนักว่า พระภูมิเจ้าที่โดยเฉพาะด้านรูปแบบมีความเปลี่ยนแปลงตลอดมา ก็เริ่มเบาใจ เริ่มเห็นได้ว่า นี่คือสิ่งสร้างทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับสิ่งอื่น เราจึงมีสิทธิที่จะออกแบบพระภูมิของตัวเองได้

ตัววัฒนธรรมในทางหนึ่งถูกใช้เพื่อช่วยห่อหุ้มความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ช่วยธำรงรักษามาสู่ยุคสมัยปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน วัฒนธรรมที่ยาวนานก็อาจบดบังสาระสำคัญที่เรียบง่ายหรือความหมายพื้นฐานไปได้

ผมจึงชวนกลับมาทำความเข้าใจพระภูมิในมิติทางจิตวิญญาณที่เรียบง่ายขึ้น กล่าวคือ คนโบราณ ใช้สัมผัสหรือการหยั่งรู้เอง (intuition) เพื่อเข้าสัมพันธ์กับพลังงานของพื้นที่ หรือจุดพลังงานในพื้นที่ (power spot)

ธรรมชาตินั้นมีพลังและความศักดิ์สิทธิ์ของเขาเอง แบบเดียวกับที่เรารับรู้พลังของขุนเขาหรือสายลม มนุษย์เพียงแค่ต้องเปิดใจเพื่อสานสัมพันธ์กับพลังนั้น ไม่มีถูกหรือผิด เพราะเป็นเรื่องของแต่ละคน

ทว่า เรามาไกลเกินไป เราใช้ความคิดและวัฒนธรรมของเรามากจนลืมใช้ความรู้สึกหรือจิตใต้สำนึก ทั้งหมดนี้จึงกลับไปเริ่มต้นด้วยการภาวนา เพื่อกลับไปสู่เนื้อตัวและศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ เพื่อที่เราจะไม่เอา “ความคิด” เข้าไปตัดสิน “ประสบการณ์”

จากนั้น เราชวนกันละทิ้งมิติทางวัฒนธรรมอำนาจ ซึ่งขับเน้นความกลัวออกไปแล้ว แต่ละคนจะเข้าสัมพันธ์กับพื้นที่ในแบบของตัวเอง ด้วยความสดใหม่ กล้าหาญ

ผมคิดว่านี่คือการเข้าสัมพันธ์กับ “เจ้าที่” ในความหมายที่พื้นฐานและง่ายที่สุด

มาถึงขั้นนี้ เจ้าที่จะมีจริงหรือไม่จริงก็ไม่ใช่ปัญหาอีกแล้ว

แต่เราจะโน้มเข้าสู่โลกด้วยความนอบน้อม •