รำลึกพินอคคิโอ (1) / การ์ตูนที่รัก : นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
Disney’s Pinocchio

การ์ตูนที่รัก

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

รำลึกพินอคคิโอ (1)

 

หนังการ์ตูน Pinocchio ของดิสนีย์ออกฉายเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 1940 คือไม่กี่เดือนหลังจากที่เยอรมนีบุกโปแลนด์ (1 กันยายน 1939) และอีกเกือบสองปีก่อนที่ญี่ปุ่นจะโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (7 ธันวาคม 1941)

สร้างจากงานเขียนอิตาลีของ Carlo Collodi (นามปากกาของ Carlo Lorenzini 1826-1890) ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอนๆ ตั้งแต่ปี 1880 และรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1883

เป็นหนังการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องที่ 2 ของดิสนีย์ (เรื่องแรกคือ Snow White and the Seven Dwarfs ปี 1937 ย้ำ ต้องมี “และคนแคระทั้งเจ็ด” ต่อท้ายเสมอ)

พินอคคิโอนี้ถูกจัดเป็นหนึ่งในหนังการ์ตูนดีที่สุดในโลกตลอดกาล ด้วยทุนสร้างที่แพงมหาศาลเวลานั้นคือ 2,600,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดทุนมากมายเพราะสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ตลาดของดิสนีย์ในต่างประเทศหายไปร้อยละ 45 ของทั้งหมด ประเมินว่าดิสนีย์เสียหายไปประมาณหนึ่งล้านดอลลาร์ทำให้สถานะการเงินของบริษัทคับขันในเวลาต่อมา

ทุนสร้างสูงขึ้นเพราะเทคโนโลยี่ใหม่คือ multiplane camera ดิสนีย์ใช้กล้องถ่ายหลายระนาบที่สามารถดึงรูปเข้าออกและเปลี่ยนมุมได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน การเปลี่ยนมุมแนวนอนเป็นส่วนที่ทำได้ยากกว่าแต่ให้ภาพมุมกว้างที่น่ามหัศจรรย์

ลำพังฉากเปิดเรื่องที่กล้องแพนจากมุมสูงมาที่หมู่บ้านลงไปหาจิมินี่คริกเก็ตไม่กี่วินาทีใช้เงินไป 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ฝ่ายบัญชีขอดิสนีย์ไม่ใช้งานกล้องหลายระนาบนี้มากจนเกินไปในฉากต่อๆ มา

 

ในแง่คำวิจารณ์หนังได้รับคำชื่นชมล้นหลามทั้งเนื้อเรื่องและเทคนิคการสร้าง มีนักวิจารณ์เพียงไม่กี่คนวิพากษ์ดิสนีย์ที่ดัดแปลงเรื่องดั้งเดิมไปมากพอสมควร แต่หลายคนให้ความเห็นว่าการดัดแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องดีเพราะเรื่องเดิมยืดยาว หม่นหมอง และน่าสยองขวัญมากเกินไปสำหรับเด็ก

ข้อแตกต่างสำคัญเกิดจากความจำเป็น หนังสือของกอลโลดีเขียนเป็นตอนๆ กินเวลานานปีมากกว่า

ขณะที่ดิสนีย์สร้างการ์ตูนที่ต้องจบในชั่วโมงครึ่ง (ความยาวของหนังรวมเครดิตคือ 88 นาที) แน่นอนว่าลักษณะการเล่าเรื่องจำเป็นต้องต่างกัน บทหนังที่ดีย่อมรวบประเด็นหลากหลายให้กลมกลืนจากต้นจนจบ

เช่น ในหนังสือมิได้บอกว่าจิ้งหรีดเป็นอะไร ในขณะที่ดิสนีย์บอกชัดเจนว่าเขาเป็น conscience ซึ่งก็แปลยากอีก เป็นจิตสำนึกหรือมโนธรรมกันแน่

ในตอนต้นศตวรรษที่ 20 เด็กมิได้มีสิ่งที่เรียกว่าเพศวิถี ความก้าวร้าว ความเกลียดชัง หรือความริษยา พูดง่ายๆ ว่าเด็กไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ สภาวะทางอารมณ์มากมายที่หลั่งไหลเข้าสู่ตัวพินอคคิโอผ่านทางตัวละครต่างๆ ตามหนังสือของกอลโลดีเป็นสภาวะทางอารมณ์ของผู้ใหญ่มิใช่ของเด็ก

แต่ดิสนีย์ได้รวบประเด็นนี้เข้ามาได้อย่างกลมกลืน

พินอคคิโอของดิสนีย์กำลังสู้กับตัวเองอย่างชัดเจนในขณะที่ปิน็อกกีโอ (สะกดตามสำนวนแปลของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ พ.ศ.2540) ในหนังสือของกอลโลดีเป็นความบริสุทธิ์ของเด็กที่กำลังต่อสู้กับศัตรูรอบด้านอย่างแท้จริง

ในหนังสือ เพราะเป็นช่วงต้นศตวรรษอีกนั่นเองที่ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเร่งเครื่องจักรเต็มสตีม อิตาลีต้องการแรงงานทางเศรษฐกิจจำนวนมากและกอลโลดีเป็นหนึ่งในคนที่เชื่อมากเรื่องการศึกษา ในหนังสือของเขาจึงย้ำเรื่องปิน็อกกีโอต้องไปโรงเรียนหลายครั้งเพื่อเป็นเด็กดี มีความรู้ และมีอนาคตที่ดี โดยที่เด็กดีต้องเชื่อฟังพ่อแม่มิใช่เนรคุณทำหัวใจพ่อแหลกสลายเหมือนที่ปิน็อกกีโอทำ ปิน็อกกีโอในหนังสือเกิดมาบริสุทธิ์แค่ต้องไปเติมให้เต็ม

ต่างจากดิสนีย์ นางฟ้าสีน้ำเงินปรากฏตัวตั้งแต่แรกเพื่อบอกให้หุ่นไม้พิน็อคชำระตัวเอง พิสูจน์ตัวเองว่า “กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และไม่เห็นแก่ตัว” แม้ว่าวิธีการจะเหมือนกันนั่นคือไปโรงเรียน

 

เพื่อให้เห็นความซับซ้อนของการถ่ายทำและเงินทุนที่ดิสนีย์ลงไป ชวนดูฉากที่พิน็อคถูกจับขังในกรงนกบนกองเกวียนของสตรอมโบลี เริ่มจากดวงจันทร์ทางช่องหน้าต่างที่ระยะไกลสุด วิวทิวทัศน์ด้านนอก ขอบหน้าต่างที่เคลื่อนไป ระนาบหลังของกรงนกที่กวัดแกว่ง ร่างพิน็อคที่กระเด็นกระดอน ระนาบด้านหน้าของกรงนกที่เคลื่อนไหว ตุ๊กตาตัวอื่นๆ ที่เป็นฟอร์กราวด์ จากนั้นมีแสงเรืองจากนางฟ้าสีน้ำเงินที่สาดส่องเข้ามาทุกพื้นที่

จะเห็นว่ากล้องมัลติเพลนทำงานได้หลายระนาบมากทั้งแนวตั้งและแนวนอน แม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของพิน็อคเองก็มิได้เป็นเพียงเพราะการเคลื่อนที่ของล้อเกวียน แต่เป็นไปตามแรงดึงดูดโลกอีกด้วย!

ความเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ของดิสนีย์หลอนทีมงานอะนิเมเตอร์ของเขาเสมอๆ งานสร้างพิน็อคนี้ไม่เพียงหลอนทีมอะนิเมเตอร์แต่หลอนฝ่ายบัญชีมากเพราะเขาสั่งทำใหม่หลายครั้ง มีบทสัมภาษณ์นักเขียนการ์ตูนที่ระบุว่าคำพูดที่ทุกคนหวาดหวั่นที่สุดคือเมื่อเขากล่าวชื่นชมผลงานของใครบางคนว่าดีมาก “…แต่”

ที่น่ากลัวที่สุดคือคำว่า “แต่” นี้เอง บางทีดิสนีย์ไม่เคยบอกว่าที่ไม่ดีคืออะไร เขาแค่ต้องการที่ดีกว่าเดิม นักเขียนหมดแรงเมื่อถูกสั่งให้ทำใหม่และต้องรวมพลังกายใจทำใหม่อีกครั้งหนึ่งจนกว่าจะถูกใจเขา “นี่แหละที่ผมต้องการ” ในที่สุด

หนังฟุบในปีแรกก็จริงแต่ทำเงินมากทุกครั้งในปีถัดๆ มาและสร้างรายได้คืนแก่ดิสนีย์มากมายในภายหลัง ไม่เพียงเท่านั้นมีคำถามที่อาจจะอาจหาญชาญชัยและระคายเคืองบางคนอยู่มากว่าถ้าไม่มีดิสนีย์ วันนี้ยังมีคนอ่านหนังสือเล่มนี้ของกอลโลดีอยู่หรือ

ข้อเขียนนี้เก็บความจากหนังสือ Walt Disney’s Animated Characters ของ John Grant สำนักพิมพ์ Hyperion นิวยอร์ก 1998 •

 

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Pinocchio ได้ที่นี่