เศรษฐกิจ/ปมเหมืองทองอัครา เผือกร้อนในมือรัฐบาล เมื่อคู่ต่อสู้ทวงถามความยุติธรรม ลุ้นชัยชนะท่ามกลางความมืดมิด!!!

เศรษฐกิจ

ปมเหมืองทองอัครา เผือกร้อนในมือรัฐบาล

เมื่อคู่ต่อสู้ทวงถามความยุติธรรม ลุ้นชัยชนะท่ามกลางความมืดมิด!!!

ปมร้อน!!!

กรณีเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก

ซึ่งมีบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ กำลังเดินเกมกดดันไทยผ่านกระแสข่าวการนำเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟตา)

ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลไทยมีคำสั่งปิดเหมืองทองคำโดยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า บริษัทคือสาเหตุของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและรอบพื้นที่เหมือง

ทำให้หลายฝ่ายเฝ้าติดตามว่าเกมนี้ไทยจะพลาดท่าเสียที ซ้ำรอยกรณีค่าโง่ทางด่วนหรือไม่

โดยคำสั่งหลักของรัฐบาลมาจากการตัดสินใจใช้ ม.44 เรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยสั่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตร และใบอนุญาตทุกประเภท ยุติการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

และให้เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อย

พร้อมสั่งตั้งคณะทำงาน 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 ประเด็น คือ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ

และเมื่อแล้วเสร็จให้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ

ความหมายคือ หากผลการตรวจสอบชี้ชัดว่า บริษัทอัคราฯ ไม่ผิด ก็มีสิทธิกลับมาเปิดดำเนินการได้…

แต่ในมุมของเอกชน การถูกปิดเหมืองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จนถึงปัจจุบัน คือความเสียหาย กระทบรายได้ กระทบการจ้างงาน และหากถูกปิดตายไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกในช่วง 10 ปีที่เหลือของอายุประทานบัตร จะกลายเป็นความเสียหายมหาศาลทันที บวกลบตัวเลขคร่าวๆ จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาทที่บริษัทอัคราฯ เรียกร้องรัฐบาลไทย

อย่างไรก็ตาม แม้เกมนี้จะมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็น แต่รัฐบาลเลือกที่จะชี้แจงเพียงว่า อยู่ในขั้นตอนการเจรจาให้ได้ข้อยุติ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้บริหารอนุญาโตตุลาการโลกที่มักสร้างความเจ็บช้ำให้ไทยเสมอ

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า “ผมขออนุญาตไม่บอกรายละเอียดเพราะเป็นประโยชน์ขนาดใหญ่ของประเทศชาติ เราไม่ได้กำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ หากไปขีดเส้นให้ตัวเอง จะกลายเป็นทำให้กระบวนการของการเจรจาลำบาก แต่ยืนยันว่าเราทุกคนทำเพื่อชาติ รักชาติ เหมือนคนที่เคยว่าเรา”

เช่นเดียวกับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเจรจา โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าคณะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันอีกครั้งว่าไทยไม่ได้แพ้ และยังไม่มีการชำระเงิน 30,000 ล้านบาทตามที่เคยมีข่าว

อยากให้รอผลการเจรจาก่อน

ขณะที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่า “กรณีของบริษัทอัคราฯ รัฐบาล และ คสช. ดำเนินการเพราะมีการเรียกร้องจากประชาชน จึงจำเป็นต้องสั่งให้หยุดการทำงานเพื่อให้มีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนว่ามีผลอะไรหรือไม่

ซึ่งการใช้มาตรา 44 ในประเทศนี้ ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ผมทำได้หมด ส่วนกฎหมาย อนุญาโตตุลาการ กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องสู้คดีกันไป แต่เมื่อผมใช้มาตรา 44 ผมไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะคุ้มครองผม แต่ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องของต่างชาติด้วย แยกแยะหน่อยผมทำเพื่อใคร การนำคดีมาเทียบกันแบบนี้เท่ากับไม่ให้ความเป็นธรรมกับผมเลย”

ซึ่งเกมที่รัฐบาลกำลังเดินอยู่ ข้อมูลเชิงลึกค่อนข้างมั่นใจว่าไทยไม่แพ้ เพียงแต่เป็นเกมของทนาย 2 ฝ่าย ที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอัคราฯ เองก็ไม่เปิดเผย

อย่างไรก็ตาม กรณีของอัคราฯ น่าจะสะท้อนบทบาทของกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ระบบราชการอ่อนแอ บทบาทของ กพร. เน้นการตั้งรับมากกว่ารุก ตามแก้ปัญหาม็อบต้านเหมือง เพราะชุมชนตื่นตัวตามยุคสมัย หรือกระทั่งตามแก้ปัญหาม็อบหนุนเหมืองแร่ เพราะเชื่อว่าหากปล่อยให้มีการปลุกปั่นของบางกลุ่มก็จะทำให้ชุมชนส่วนใหญ่เสียประโยชน์

นอกจากนี้ ยังโดนครอบงำของกลุ่มทุน การเมือง ตลอดจนกฎหมายที่รับรู้แล้วน่าตกใจ เพราะพระราชบัญญัติแร่ที่ใช้กำกับเหมืองทั่วประเทศ มีอายุอานามปาไปถึง 40 ปี บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2510

กระทั่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 อุตสาหกรรมแร่ยุคใหม่ก็เริ่มขึ้น เพราะ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ปี 2560 มีการบังคับใช้แล้ว

ช่วงที่ผ่านมาข่าวคราวการประกอบกิจการเหมืองแร่มักมีกระแสลบ อาทิ กรณีเหมืองหินส่งผลกระทบทางเสียง ฝุ่นควันต่อชุมชน กรณีเหมืองเหล็กมีการลักลอบขุดเพราะแร่ประเภทนี้มีกรรมวิธีดำเนินการไม่ซับซ้อน และกรณีที่น่าห่วงมากที่สุด คือ เหมืองทองคำชาตรี ของบริษัทอัคราฯ ที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลไทยอยู่

หลายฝ่ายจึงเริ่มมีความหวังว่า กฎหมายฉบับใหม่อาจมีส่วนช่วยให้ไทยได้เปรียบในการต่อสู้กับอัคราฯ และเป็นการวางระบบการทำเหมืองของประเทศที่ยั่งยืน ไร้ปัญหาตามมาอีก

โดยรายละเอียดการปรับปรุงกฎหมาย กพร. ได้มีการปรับปรุงกฎหมายแร่ ที่มี 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยแร่หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 รวมเป็นฉบับเดียว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่และมีการปรับการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ให้เป็นไปอย่างมีระบบ มีการปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่รัฐจะเรียกเก็บตามกฎหมายแร่ให้สูงขึ้น ขั้นสูงสุดอยู่ที่ 1,000 เท่าจากอัตราตามกฎหมายปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ภายใต้กฎหมายยังจัดทำยุทธศาสตร์แร่เศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ หินอุตสาหกรรม ควอตซ์ โพแทช เหล็ก และทองคำ โดยจะกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ หาพื้นที่ทำเหมือง ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องมีอุปสรรค เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่ช่วงแรกเอกชนมีการร้องเรียนว่า ประทานบัตรที่ขอเข้ามาตั้งแต่ พ.ร.บ.แร่ 2510 บังคับใช้ยังไม่ได้รับอนุญาต จึงกังวลว่าหากเข้าสู่กฎหมายใหม่จะทำให้เขาเหล่านั้นต้องนับหนึ่งใหม่หรือไม่ โดยระบุตัวเลขของประทานบัตรที่คั่งค้างอยู่หลักร้อยใบ เฉพาะที่รอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเซ็นอนุมัติก็ประมาณ 40 คำขอแล้ว

แต่เมื่อถึงวันที่ 29 สิงหาคม ทุกอย่างก็ราบรื่น 40 คำขอได้รับอนุมัติเกือบทั้งหมด ยกเว้นรายที่องค์ประกอบไม่สมบูรณ์ ส่วนที่เหลือที่คำขอเข้ามา กพร. แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งคณะทำงานร่วมกับเอกชน ในการพิจารณาอนุมัติในช่วงเปลี่ยนผ่าน

เป็นความแฮปปี้แค่เปลาะหนึ่ง แต่ยังมีปมอัคราฯ ที่ใหญ่และสำคัญต่อคนไทย ที่รัฐบาลต้องฉลาดในการต่อสู้ที่จะเดินเกมและเป็นเรื่องที่พลาดไม่ได้!!!