สมหมาย ปาริจฉัตต์ : พิมพ์เขียวการศึกษา ดีต้องมาก่อน (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลังฟังนักวิชาการไทยทำงานระดับโลก ถ่ายทอดเรื่องราวการจัดการศึกษาของต่างประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย บราซิล สหรัฐ เป็นกรณีศึกษาจบลง

เวทีออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ต วันที่สองต่อด้วย นางสุธี อารีพงศ์ ผอ.สำนักการศึกษา เทศบาลนครภูเก็ต เล่าภาพรวมการจัดการศึกษาของเทศบาล

ข้อความ วิสัยทัศน์การศึกษาภูเก็ต เวอร์ชั่นใหม่ สั้นกระชับ ฉายขึ้นจอหน้าเวทีเป็นกรอบนำแนวทางความคิด

“การศึกษาเพื่อสัมมาชีพและชุมชน วิชาการดี นันทนาการเด่น เน้นการสร้างทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยบริหารจัดการร่วมกับภาคีเครือข่าย”

“เป้าหมาย ตัวชี้วัดของเรามุ่งที่ความเป็นคนดี ดีต้องมาก่อน” ผอ.สำนักการศึกษาย้ำ

“จากนั้นค่อยเก่ง เก่งวิชาการก็ไม่ใช่แค่ตามหลักสูตรเท่านั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ใช่รอ ONET อย่างเดียว ต้องสร้างเครื่องมือวัด รวมไปถึงการคิด วิเคราะห์ อ่านเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์และความเป็นเลิศเฉพาะวิชาชีพ ดนตรี กีฬา ศิลปะ นันทนาการ”

“ต้องไปสู่สัมมาชีพ มีอาชีพ ไม่เป็นขยะสังคม ครูไม่ใช่สอนเพื่อให้เรียนต่ออย่างเดียว แต่มองธงออกอนาคตนักเรียนจะเป็นอะไร”

“นอกจากในระบบโรงเรียนแล้ว ต้องช่วยคนที่หลุดออกไปให้กลับมาสู่การศึกษาเพิ่มเติม ศึกษานอกระบบ ให้ตัวเอง ชุมชน ท้องถิ่น มีความสุขทั้งในโรงเรียน ชุมชน และชีวิตสังคม” เธอตบท้าย

 

เวทีต่อด้วยการแนะนำกระบวนการจัดทำแผนและนำเสนอตัวอย่างแผนและยุทธศาสตร์การศึกษาท้องถิ่น โดย พัฒนพงศ์ สุขมะดัน นักวิชาการ สสค.

ก่อนเปิดเวทีให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มโรงเรียน ทั้ง 8 คือ โรงเรียนเทศบาลวัดขจรรังสรรค์ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต โรงเรียนอนุบาลเทศบาลภูเก็ต โรงเรียนเทศบาลพิบูลย์สวัสดี และ กลุ่มการเรียนการสอนนอกระบบและตามอัธยาศัย ระดมความคิดเพื่อออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษา 2560-2563 เริ่มจากการพัฒนาข้อมูลที่เป็นจริง

แต่ละกลุ่มเล่าถึงสิ่งที่ทำมา อัตลักษณ์ของแต่ละโรงเรียน ความคิด และความฝันที่อยากไปให้ถึง

ครูธรากร เหล็กกล้า อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา นักการศึกษาระดับแถวหน้าของภูเก็ตคนหนึ่ง คณะทำงานปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 กลุ่มทักษะอาชีพและการมีงานทำ ปัจจุบันเป็นวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ รับเชิญไปร่วมประเมิน นิเทศน์ติดตาม การศึกษาหลายระดับ เป็นตัวแทนของกลุ่มปฐมวัย อนุบาลเทศบาลภูเก็ต สะท้อนคิดตรงไปตรงมา เฉียบคมเหมือนเมื่อครั้งยังบริหารโรงเรียน

“วิธีคิดโดยเริ่มที่สร้างฐานข้อมูลอย่างที่เรากำลังเดินไปนี้เป็นทิศทางที่ถูก แต่ต้องเป็นสากลเชื่อมโยง บูรณาการกันได้ ที่ผ่านมาโรงเรียนพัฒนาด้านต่างๆ บนความใจดีของนายก รองนายก ยังขาด Data Base ที่สะท้อนตัวตนเราจริงๆ ต้องมีกระบวนการเป็นระบบ ไม่ใช่นึกเอา โรงเรียน ผู้บริหารต้องตอบได้ เราบริหารระบบไหน เป้าหมายอยู่ที่ไหน มีกราฟแสดงชัดว่าจะจัดการศึกษาไปทางไหน”

“ครูสอนเด็กได้ 3.5 แต่ครูไม่เข้าใจเรื่องสถิติ ไม่มีฐานข้อมูลรองรับ หรือมีถึงระดับมาตรฐานขั้นต่ำของการศึกษาพื้นฐานหรือยัง จากนั้นค่อยเติมเต็ม ขยายไปสู่การจัดการศึกษาตามความต้องการของแต่ละบุคคล โรงเรียนระดมทรัพยากรเองเพราะเทศบาลทำไม่ได้หมด”

“อย่างเด็กอยากเรียนต่อสถาปัตย์ โรงเรียนต้องไปบริหารจัดการ ลงทุนโดยเทศบาลกับทางโรงเรียน เช่น เทศบาลลง 10,000 โรงเรียนอีกล่ะรวมเป็นเท่าไหร่ฐานข้อมูลเป็นตัวบ่งชี้ชัด จริงๆ เราเดินไปแล้วถึงระดับ 2 แต่ไปต่อ 3 ไม่ได้เพราะฐานข้อมูลไม่สมบูรณ์”

“ผู้บริหารยกย่องครู ครูเก่ง ขยัน มีไหม ไปถามครู ผู้บริหารแย่หมด เพราะไม่มีข้อมูลบอกชัด เทศบาลยกระดับกระบวนการบริหารที่เป็นสากล ให้โรงเรียนบริหารแบบมืออาชีพ ไม่มีข้อจำกัด เป็นหน้าที่ของเราต้องแก้ปัญหา” ครูปิดท้าย

 

จากนั้นตัวแทนทุกกลุ่มโรงเรียนเรียงลำดับ เล่าบทสรุปจากผลประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันแรก นายกเทศมนตรีฟังไปจดบันทึกไปตลอด

รศ.สมจิตต์ สุธารงกูร อดีตผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานการอาชีวศึกษา ผอ.สถาบันอาชีวศึกษาภูเก็ต หลังเกษียณปี 2549 ถูกชวนมาร่วมทีมเป็นรองนายกเทศมนตรีฝ่ายการศึกษา นั่งสังเกตการณ์ร่วมอยู่ตลอดเช่นกัน

“ภาพที่เราจะทำงานเริ่มชัดขึ้น ต้องการเห็นคนดีในสังคม มีจริยธรรม คุณธรรม มีอัตลักษณ์ เอื้ออาทร กตัญญู” นายกสมใจสะท้อนคิดเป็นคำตอบให้เวที

“มองความเก่งเกิดจากการให้โอกาส เด็กมาจากครอบครัวยากจน นี่คือความเป็นจริง การประกันโอกาสทางการศึกษา ต้องเรียนจบ มีโอกาสมีงานทำตามความต้องการตลาด การแข่งขันภายใต้บริบทท้องถิ่น แต่มีความเป็นตัวตนของเรา”

“ที่ผ่านมาเห็นความตั้งใจของคนภูเก็ต การส่งเสริมพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล เราทำมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงวันนี้ ข้อมูลสารสนเทศเป็นประโยชน์มาก ทำให้ทุกฝ่ายรับผิดชอบร่วมกัน เด็กจบ ป.6 ต้องได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 แน่นอน”

“ขณะนี้ประกันการอ่านออกเขียนได้ เด็ก ป.1 การเฝ้าระวังเด็กที่หลุดออกจากระบบโรงเรียน ประถม 3% มัธยม 4% จากปัญหาเศรษฐกิจ สุขภาพ ฐานข้อมูลเด็กถนัดวิชาการ กี่เปอร์เซ็นต์ ดนตรี กีฬา กี่เปอร์เซ็นต์ ได้ตามเกณฑ์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สูงกว่ามาตรฐานชาติ เราต้องเติมเต็มอะไร อัตราครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 11 แต่ยังกระจุกในบางโรงเรียน”

“การมีส่วนร่วม ทบทวนภาพอนาคตของเทศบาลนครภูเก็ตและโรงเรียนในกลุ่มของท่าน ใครจะเป็นผู้มีส่วนสำคัญทำให้ภาพนั้นเป็นจริงได้ หากกันตัวช่วย อาทิ สสค. ธนาคารโลก ออกไป”

 

“ครู กรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ประกอบการ องค์กรศาสนา กลไก ระบบฐานข้อมูล แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด ใครคือผู้รับประโยชน์ ผู้มีส่วนได้เสีย ภาคียุทธศาสตร์ ภาคีหลักแต่ละภาคีควรมีบทบาทอย่างไร ถึงจะเป็นไปตามขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงบทบาท 5 ขั้น”

เธอยกประเด็นให้ผู้ร่วมเวทีคิดเพื่อหาคำตอบ ที่ อ.วิสา จรัลชวนะเพท ผอ.โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว พูดเรื่อง Smart Student และ Service Mind ทำอย่างไรถึงจะเป็นจริง

ครูวิสาชี้ว่า เงื่อนไขปัจจัยอยู่ที่กระบวนการจัดการเรียนการสอน อยู่ที่ตัวคุณครู ต้องเปลี่ยนวิธีสอน เอา PBL มาช่วย

ครับ สาระการแลกเปลี่ยนมุมมอง ยังดำเนินต่อไปด้วยความคึกคักยิ่ง สมาชิกแต่ละกลุ่มรวมทั้งตัวแทนนักเรียนไม่ยอมลุกถอยไปไหนเหมือนกัน