‘ช่อ พรรณิการ์’ ฟันธง! ‘รัสเซีย’ จะแพ้แน่ๆ ในสงคราม ‘ยูเครน’ | เปลี่ยนผ่าน

ไม่เพียงแต่จะมีสถานะเป็น “นักการเมือง” แต่หลายคนทราบดีว่า “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” นั้นจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทสาขาการเมืองโลก จากแอลเอสอี หรือวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน

นอกจากนั้น เธอยังเคยทำงานเป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี

จึงไม่แปลกอะไรที่รายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางช่องยูทูบมติชนทีวี จะชวนช่อ พรรณิการ์ มาวิเคราะห์สถานการณ์ร้อนจากปมปัญหา “รัสเซีย-ยูเครน”

อย่างไรก็ตาม คำถามเริ่มต้นที่เราชวนช่อสนทนา กลับเป็นเรื่องจุดยืนครึ่งๆ กลางๆ ของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระดับโลกดังกล่าว

อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร อ้างอิงคำบอกเล่าที่เธอได้ยินมาจาก “เพื่อนพี่น้อง” ข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งล้วนยืนยันว่า ในระดับผู้ปฏิบัติงานนั้น แทบทุกคนเห็นตรงกันว่าประเทศไทยต้องแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ทว่า ท่าทีเช่นนั้นกลับถูกสกัดกั้นจากผู้นำรัฐบาล ซึ่งได้รับคำแนะนำอีกชุดจากบุคคลที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ

ช่อ พรรณิการ์ ระบุว่า ในโลกยุคปัจจุบัน กลยุทธ์การทูตแบบ “Siamese Talk” ที่แสดงออกผ่านการไม่ประณามรัสเซียหรือการไม่เข้าข้างฝ่ายใดอย่างชัดเจน นั้นมิได้ทำให้เรามีที่ยืนอันมั่นคงปลอดภัยในประชาคมนานาชาติ

ขณะเดียวกัน ไทยก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ด้วยการเอาอกเอาใจมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่วิถีทางที่ถูกต้องที่สุดก็คือ ประเทศขนาดเล็ก-กลางอย่างประเทศไทย ต้องเอา “ระเบียบโลก” มาคุ้มครองตนเอง ซึ่ง “ระเบียบโลก” จะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ ก็ต่อเมื่อทุกประเทศยืนยันหลักการและกฎกติการ่วมกันว่าประเทศใหญ่ไม่ควรเคลื่อนทัพเข้ารุกรานประเทศเล็ก

สุดท้าย จึงเป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมายที่ทางการไทยจะร่วมโหวตประณามรัสเซียในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งนั่นก็คือท่าที-จุดยืนที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศส่วนใหญ่พยายามผลักดันมาตลอดนั่นเอง

ตามมุมมองของกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า การพยายามวางตน “เป็นกลาง” ของรัฐบาลไทยในช่วงแรกๆ นั้น อาจมีเหตุผลเบื้องหลังใหญ่ๆ แอบแฝงอยู่

“พล.อ.ประยุทธ์มีความใฝ่ฝันที่หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินมาว่า มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้นำเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ แล้วก็ความใฝ่ฝันอันสูงสุดอย่างหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คืออยากนั่งตรงกลางมีปูตินอยู่ข้างซ้าย ไบเดนอยู่ข้างขวา เป็นโซ่ข้อกลาง สมานรอยร้าวระหว่างสองมหาอำนาจ

“ฟังดูเป็นเรื่องตลกมากว่า เอ๊ะ! เธอเป็นใคร เธอถึงจะมาทำบทบาทนี้ได้? เธอมีความสำเร็จทางการทูตใดหรือที่จะมีเครดิตพอที่จะนั่งตรงกลางระหว่างปูตินกับไบเดน? หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นความฝันเพ้อเจ้อลมแล้งใดๆ ก็ตาม แต่ดิฉันคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความคิดนี้อยู่ในหัว

“แล้วก็เลยทำให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่พยายามจะรักษาความเป็นกลาง ไม่ประณามรัสเซีย เพราะว่าหวังผลระยะยาวว่าในการประชุมเอเปคจะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ต้องถามดิฉันต่อว่ามันทำได้ไหม? ก็อย่างที่บอกไป ค่อนข้างจะลมแล้งอยู่ในระดับที่สูงมาก

“แต่ว่าถ้าทำได้จริงก็ดี ทำได้จริงมันก็จะเป็นเกียรติภูมิกับประเทศไทย ที่สามารถเป็นโซ่ข้อกลางสมานรอยร้าวระหว่างสองมหาอำนาจได้ ที่จะมาจับมือกันในที่ประชุมเอเปคที่เราเป็นเจ้าภาพ

“แต่ว่าจะเกิดขึ้นได้แบบนั้น ผู้นำประเทศและประเทศนั้นต้องมีบารมี-ศักยภาพ มีความสามารถ มีความสำเร็จในทางการทูตที่เป็นที่ยอมรับ พอที่จะทำให้สองผู้นำมหาอำนาจสามารถที่จะมานั่งร่วมโต๊ะเดียวกันได้ ทั้งที่มีปัญหาขัดแย้ง ยิ่งเกิดสงครามยูเครนก็ยิ่งขัดแย้งกันรุนแรง

“ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องเป็นประเทศใหญ่ หลายๆ ครั้ง ผู้นำที่ทำหน้าที่แบบนี้เป็นผู้นำประเทศเล็กๆ มัลดีฟส์อะไรแบบนี้ก็เคยทำ แต่เขาต้องมีสติปัญญาและความสามารถที่จะทำ ซึ่งดิฉันยังมองไม่เห็นในตัว พล.อ.ประยุทธ์”

เมื่อให้วิเคราะห์วิกฤตการณ์ “รัสเซีย-ยูเครน” ช่อฟันธงด้วยความมั่นใจว่า อย่างไรเสีย เหตุการณ์ต้องจบลงตรงความพ่ายแพ้ของฝ่ายรัสเซีย

บัณฑิต-มหาบัณฑิตด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเริ่มอธิบายความว่า แม้ที่ผ่านมา รัสเซียจะเคยประสบชัยชนะในการรุกรานดินแดนอื่นๆ มาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากบรรดาผู้ถูกรุกรานต่างยอมแพ้โดยง่ายดาย

แต่ในหนนี้ ผู้ถูกรุกรานอย่างยูเครนกลับกล้าสู้และต่อสู้โดยดี เมื่อประธานาธิบดี “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” นั้นมีความสามารถอย่างสูงในการทำสงครามสื่อและดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยา ทั้งยังพยายามออกมากดดันให้ชาติตะวันตก “ร่วมสู้” ไปกับยูเครน

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นว่ารัสเซียต้องเสียเวลาและกำลังเงินในการทำสงครามมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ ขณะที่หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกก็จำเป็นต้องแสดงท่าทีสนับสนุนประเทศยูเครน

แม้สถานการณ์ความขัดแย้งอาจไม่บานปลายกลายเป็นสงครามโลก แต่ปรากฏการณ์ต่อเนื่องที่น่าจับตาในมุมมองของช่อ พรรณิการ์ ก็คือเรื่องที่ชาติตะวันตกพร้อมใจกันดำเนินนโยบาย “คว่ำบาตรทางการเงิน” กับรัสเซีย ซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรงกว่าการ “คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ” ทั่วๆ ไป

การ “คว่ำบาตรทางการเงิน” หมายถึง การทุบค่าเงินรูเบิล รวมทั้งการที่สวิตเซอร์แลนด์ยอมโอนอ่อนตามอียู ในการอายัดทรัพย์สินของรัฐบาล ผู้นำประเทศ ตลอดจนเครือข่ายชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของประเทศรัสเซีย ที่ถูกนำมาฝากไว้ใน “ดินแดนสวรรค์และเคยเป็นกลาง” แห่งนี้

“ช่อเชื่อว่าจะช้าหรือจะเร็ว รัสเซียจะเป็นฝ่ายแพ้ ทีนี้จะแพ้แบบแพ้ราบคาบ แพ้เละ ระดับที่ปูตินต้องกลับไปตายรังที่เครมลิน แล้วถูกรัฐประหารหรือว่าต้องพ้นจากตำแหน่งไปไหม? หรือว่าจะเป็นการแพ้แบบจำกัด คือเจราจากับยูเครน หยวนๆ กันได้ ยึดไว้สักเมืองสองเมือง แล้วก็ถอนทัพกลับ อันนี้ก็ต้องดูกัน

“แต่ว่าก็ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ว่าอย่างไรนานาชาติคงจะไม่ปล่อยให้รัสเซียสามารถยึดครองยูเครนได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าสงครามน่าจะยืดเยื้อ เพราะว่าปูตินมาถึงขนาดนี้ จะถอยก็ต้องถอยอย่างมีเชิง คงถอยกราวรูดแบบว่ากลับไปนอนแพ้ภัยตัวเองตายรัง ก็น่าจะไม่ใช่วิสัยของปูตินเช่นเดียวกัน”

นี่คือบทสรุปของ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” ที่ประเมินว่าชาติตะวันตกและมหาอำนาจสำคัญๆ จะร่วมมือกันรักษา “ระเบียบโลกปัจจุบัน” เอาไว้ ด้วยการขัดขวางไม่ให้รัสเซียได้รับชัยชนะในยูเครน