‘ตลาดนัด’ ราษฎร์วิถีของสามัญชน ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2480/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘ตลาดนัด’

ราษฎร์วิถีของสามัญชน

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2480

 

“งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งเตือนใจให้เราชาวสยามมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติของเราอันเป็นเหตุให้ก่อเกิดกำลังใจที่จะรักษาคุ้มครองความเป็นเอกราชซึ่งเป็นหลักอันสำคัญในประเทศสยามของเรา”

(สงวน โภโต, 2480)

ประชาชนจับจ่ายซื้อของจากตลาดนัด งานฉลองรัฐธรรมนูญ ไม่ทราบปี เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร

จุลประวัติศาสตร์ (Microhistory) เป็นการศึกษาที่เน้นหนักในประเด็นหรือพื้นที่ขนาดเล็กที่ถูกลืมเลือนไปจากประวัติศาสตร์ เข้าใจในประเด็นนั้นเพื่อเข้าใจหรือสะท้อนถึงสิ่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นความพยายามเข้าใจจิตสำนึกแห่งยุคสมัยของผู้คนในอดีตเพื่อที่จะเข้าใจคนอื่นและตัวเราในปัจจุบัน (ชาติชาย มุกสง, 2553-2554, 48-62)

อันเห็นตัวอย่างได้จาก Mona Ozouf (1988) เป็นนักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่บุกเบิกการศึกษางานเฉลิมฉลองการปฏิวัติที่เกิดขึ้นทันทีภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 อันเป็นการฉลองตัวแห่งชาติแบบใหม่ที่มีผลต่อกระแสความเชื่อที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมของพลเมืองฝรั่งเศสใหม่ขึ้น

ทั้งนี้ หากนำแนวทางข้างต้นเป็นกรอบในการศึกษางานฉลองรัฐธรรมนูญของไทยที่เกิดขึ้นทันทีภายหลังการปฏิวัติ 2475 จวบจนถึง 2484 ที่สงครามโลกระเบิดขึ้น ย่อมสามารถแสวงหาความหมาย และตีความบทบาทของงานฉลองรัฐธรรมนูญทีมีต่อชีวิตของผู้คนภายหลังการปฏิวัติในช่วงราว 1 ทศวรรษ ที่ก่อให้เกิดกระแสความเชื่อ สำนึกและวัฒนธรรมของพลเมืองไทยแบบใหม่ อันเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ กิจกรรมใหม่ กำเนิดสัญลักษณ์ใหม่ คุณค่าใหม่ การมีชีวิตสาธารณะ การเกิดตัวตนแบบใหม่ รวมถึงความสุข ความรื่นเริง รวมทั้งความทรงจำของผู้คนร่วมสมัยด้วย

ดังนั้น การศึกษางานฉลองรัฐธรรมนูญของไทยครั้งนี้จึงเป็นความพยายามคืนเสียง คืนพื้นที่ คืนความหมายของสิ่ง ประเด็น หรือสำนึกของผู้คนในอดีตที่ถูกมองข้ามหรือเคยถูกประเมินว่าไม่มีความสำคัญ ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยเหตุที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญเป็นองค์ประธานของระบอบที่เป็นบ่อเกิดสถาบันการเมืองต่างๆ อันแตกต่างจากการปกครองแบบเดิมที่ยึดถือตัวบุคคลเป็นศูนย์กลางของการปกครอง ดังนั้น งานฉลองรัฐธรรมนูญ คืองานฉลองให้กับระบอบการปกครองที่ยกย่องประชาชนเป็นใหญ่ รวมทั้งการยอมรับวิถีชีวิตของผู้คนธรรมดาทั่วไปให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมระดับชาติในครั้งนั้นด้วย

ทั้งนี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2480 มีงานฉลอง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-12 ธันวาคม โดยมีผู้สำเร็จราชการฯ ร่วมเปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญวันแรกที่สวนสราญรมย์

ด้วยเหตุที่งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นพื้นที่แห่งความรื่นเริง ผ่อนคลายสำหรับพลเมือง จึงมีมหรสพแทบทุกชนิด โดยศูนย์กลางของงานคือ รัฐธรรมนูญที่เป็นมิ่งขวัญ ที่วางอยู่บนพานใหญ่ ตระหง่านเด่นชัดใจกลางท้องสนามหลวง อันเป็นกุศโลบายทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญ

ดังเยาวรุ่นคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า รัฐธรรมนูญ “ได้ให้ความเจริญแก่เราชาวสยามพร้อมทั้งไตรภพ คือ อิสรภาพ เสรีภาพและสมภาพโดยทั่วกัน” (สงวน โภโต, 2480)

องค์ประธานและสัญลักษณ์ใหม่ตั้งกลางสนามหลวง และร้านกรมศิลป์ ปี 2480 เครดิตภาพ : ชาตรี ประกิตนนทการ

การแสดงสมรรถภาพของพลเมืองใหม่

งานฉลองในครั้งนั้น มีกิจกรรมแข่งขันกีฬาต่างๆ ทั้งกีฬาทางบกและทางน้ำ กีฬาบนบก เช่น เตะตะกร้อวงใหญ่ ตะกร้อข้ามข่าย ที่ท้องสนามหลวง ส่วนกีฬาทางน้ำ เช่น การแข่งเรือ การแข่งว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นการแสดงสมรรถภาพของพลเมืองให้ประจักษ์

นักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งที่เที่ยวชมงานบันทึกไว้ว่า “ทั้งสองฝั่งแม่น้ำดูจะคับคั่งไปด้วยหมู่มหาชนที่คอยชมกีฬาทางน้ำ เสียงปรบมือ และไชโย! ดังสนั่นหวั่นไหวภายหลังฝ่ายของตนเป็นฝ่ายชนะในการแข่งขัน ดูช่างเป็นที่ยินดีและปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะว่ากีฬาเหล่านี้ ประเทศเราไม่ค่อยจะมีการแสดงกันบ่อยนัก” เขาเห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้การกีฬาและสุขภาพของประชาชนจะแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เป็นการฝึกฝนให้พลเมืองมีร่างกายที่แข็งแรงต่อไป (สงวน โภโต, 2480)

ควรบันทึกด้วยว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยในสมัยประชาธิปไตยครั้งคณะราษฎรนั้น โดยมีสโมสรคณะราษฎร์เป็นผู้รับผิดชอบจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญทุกปีจวบสงครามโลกระเบิดขึ้น ต่อมา ด้วยเหตุที่มีหน่วยงานราชการ ห้างร้าน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี คณะกรรมการจัดงานจึงเห็นว่า สวนสราญรมย์มีพื้นที่คับแคบไม่เพียงพอ จึงย้ายสถานที่จัดงานไปยังสวนอัมพร ลานพระบรมรูป และเขาดินวนา

(ทรงพันธุ์ บุนนาค, 2507, 62)

แม่ค้าขายผักผลไม้ในตลาดนัด งานฉลองรัฐธรรมนูญ สวนสราญรมย์ เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร

ตลาดนัด

ชีวิตประจำวันของสามัญชนในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

แม้นตลาดนัดจะเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นมานานควบคู่กับวิถีชีวิตของผู้คนมานาน แต่ตลาดนัดมิใช่กิจกรรมที่ถูกนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองของชนชั้นสูงที่มุ่งแสดงความสูงส่งดังเช่นในระบอบเก่า

หากแต่งานฉลองรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยนั้นดำเนินไปในทางตรงข้าม

ด้วยเหตุที่งานฉลองรัฐธรรมนูญเปิดให้พื้นที่ในชีวิตประจำวันของสามัญชนทั่วไปอันเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้สามารถเข้ามาสู่พื้นที่งานเฉลิมฉลองระดับชาติได้

ดังเห็นจากภาพคนขายของหาบเร่เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานอย่างไม่เป็นทางการของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในภาพยนตร์ที่บันทึกงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2476 ที่มีภาพหาบเร่ขายอาหารในบริเวณงาน

ต่อมาคณะกรรมการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2478 ลงประกาศให้พ่อค้าแม่ค้ามาเช่าแผงค้าที่จะเข้ามาขายของในเขตสวนสราญรมย์ตั้งแต่ปี 2478 ในอัตราราคา 10, 25 และ 50 สตางค์ตามแต่ขนาดพื้นที่

นับแต่นั้นเป็นต้นมา การติดตลาดนัดในงานฉลองรัฐธรรมนูญและรอบๆ บริเวณงานที่รัฐบาลจัดเป็นที่นิยมมากขึ้น จวบจนญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 อันทำให้งานฉลองรัฐธรรมนูญในปีนั้นต้องยุติลงอย่างฉับพลัน

อย่างไรก็ตาม ช่วงสงครามโลกก่อให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนหาซื้อของได้ยาก รัฐบาลจอมพล ป.จึงจัดให้มีตลาดนัดส่งเสริมอาชีพกสิกรรมและเกษตรกรรม จัดขึ้นที่ศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ ต่อมาตลาดนัดนี้จึงค่อยๆ ได้รับนิยมขึ้น มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น

ภายหลังสงครามโลกจบสิ้น แม้นงานฉลองรัฐธรรมนูญถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้งในปี 2490 อีกครั้ง ภายใต้บรรยากาศอนุรักษนิยม (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2563, 236-237) ผนวกกับเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น เมื่อจอมพล ป.กลับเข้าสู่อำนาจได้สั่งการให้เปิดตลาดนัดสนามหลวงเมื่อ 2491 และยังให้เปิดตลาดนัดขึ้นแทบทุกจังหวัดเพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

ปีต่อมาทางการต้องใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อสร้างพระเมรุมาศของในหลวงอานันทฯ ตลาดนัดจึงย้ายไปอยู่ในสวนสราญรมย์ ปรากฏว่าตลาดนัดยิ่งได้รับความนิยมสูงมาก

ดังคนร่วมสมัยเคยเล่าไว้ถึงความนิยมตลาดนัดครั้งนั้นว่า ในช่วงหลังสงครามโลก เขาเคยช่วยครอบครัวขายสินค้าที่ตลาดนัดสวนสราญรมย์ ต่อมากลายเป็นตลาดนัดทุกวันเสาร์อาทิตย์ว่า ขายเพียง 2 วันมีรายได้ดีกว่าขายที่บ้านทั้งสัปดาห์ (อาณัติ อาภาภิรม, 2556, 42)

ต่อมาในปี 2500 ตลาดนัดถูกย้ายจากสวนสราญรมย์ออกมายังนอกรั้ว แถบคลองหลอด เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศร้องเรียนเทศบาลถึงความเดือดร้อน ผู้ค้าได้ปลูกเพิงสร้างแคร่เป็นภาพไม่งดงาม ในที่สุด สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงให้ย้ายตลาดนัดนี้กลับไปยังสนามหลวงตามเดิมในปี 2501 (silpa-mag.com, 8 สิงหาคม 2564)

จะเห็นได้ว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญได้ผนวกตลาดนัดอันเป็นวิถีชีวิตของสามัญชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต่อมา ตลาดนัดจากงานฉลองรัฐธรรมนูญได้พัฒนาเป็นตลาดนัดสวนสราญรมย์และตลาดนัดสนามหลวงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวกรุงในช่วงเวลานั้น

บรรยากาศตลาดนัดในสวนสราญรมย์ งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งหนึ่ง เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร
ตลาดนัดในสวนอัมพร ช่วงต้นทศวรรษ 2480