เพื่อครองโลก : 2) จาก Chimerica สู่สงครามเย็นครั้งที่สอง/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

เพื่อครองโลก

: 2) จาก Chimerica สู่สงครามเย็นครั้งที่สอง

 

คําศัพท์ประดิษฐ์ว่า “Chimerica” ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อันยึดติดแนบแน่นแทบว่าจะเป็นแฝดอินจันหนึ่งเดียวกันระหว่างจีนกับอเมริกาในบทความวิชาการของ Niall Ferguson นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เขียนร่วมกับ Moritz Schularick นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเสรีเบอร์ลิน เมื่อปี ค.ศ.2007 เรื่อง “‘Chimerica’ and the global asset market boom”, International Finance 10(3), 215-239.

จากนั้น Chimerica ก็กลายเป็นคำยอดฮิตติดปากและถูกผลิตซ้ำในแวดวงสื่อมวลชน ธุรกิจการเงิน และเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว

การ์ตูนใน The Wall Street Journal ล้อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาที่เปลี่ยนไปเมื่อปี 2007 & 2018

ในบทความดังกล่าวและชิ้นอื่นๆ ต่อมา เฟอร์กูสันกับชูลาริคอธิบายความหมายนัยของ Chimerica ว่าเขาใคร่ขอให้ผู้อ่าน “อย่าได้คิดถึงสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นสองประเทศต่างหากจาก กัน หากคิดถึงมันเป็นประเทศเดียวคือ Chimerica… อันเป็นประเทศที่มาของความเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกราว 60% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา” พวกเขาบรรยายบุคลิกลักษณะของประเทศ Chimerica นี้ว่า :

“ชาวชิเมริกันตะวันตกมั่งคั่งและเสพสุข ส่วนชาวชิเมริกันตะวันออกยากจนข้นแค้นกว่ามาก (ถึงขนาดที่ว่าต่อให้ปรับค่าตัวเลขบนพื้นฐานอำนาจซื้อเปรียบเทียบแล้ว รายได้ต่อหัวของชาวชิเมริกันตะวันออกก็ตกราว 16% ของรายได้ต่อหัวในชิเมริกาตะวันตกแค่นั้นเอง) ทว่าชิเมริกาทั้งสองซีกเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน ชาวชิเมริกันตะวันตกเชี่ยวชาญการบริหารธุรกิจ การตลาดและการเงิน ส่วนชาวชิเมริกันตะวันออกชำนาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมและหัตถอุตสาหกรรม ชาวชิเมริกันตะวันตกผู้ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่ายมักมากอยากมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกผลิตขึ้นขนานใหญ่ในซีกตะวันออกอย่างไม่รู้จักอิ่มจักพอ พวกเขาไม่เก็บออมรายได้ของตัวไว้แม้สักแดงเดียว แถมยังดีอกดีใจที่จะเอาบ้านหรูของตัวไปวางค้ำประกันเงินกู้อีก ส่วนชาวชิเมริกันตะวันออกผู้ขี้เหนียวอดออมก็ยังชีพอยู่อย่างรอบคอบและเจียมตัว พวกเขายินดีมากกว่าที่จะสู้อดออมรายได้ของตัวเองไว้หนึ่งในสามแล้วเอาไปปล่อยกู้ให้ชาวชิเมริกันตะวันตกไปใช้จับจ่ายหาซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามนิสัย และจะได้ช่วยให้ชาวชิเมริกันตะวันออกได้มีงานทำต่อไปอีกต่างหาก” (Ferguson & Schularick, “Chimerical? Think again”, The Wall Street Journal, 5 February 2007, p. A17)

สรุปได้ว่าในความสัมพันธ์แบบ Chimerica นั้น ซีกตะวันออกหรือจีนส่งออกและเก็บออม ส่วนซีกตะวันตกหรืออเมริกานำเข้าและใช้จ่ายเหมือนแบ่งฐานะบทบาทกันเป็นกำลังหลักด้าน supply & demand ของเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลกนั่นเอง

ดังนั้น ถึงแม้ Chimerica จะเป็นหน่วยเดียวกันทางเศรษฐกิจ หากมิใช่หน่วยเดียวกันทางการเงิน เพราะจีนก็ยังใช้เงินสกุลหยวน ส่วนสหรัฐใช้เงินสกุลดอลลาร์ แต่ “ขนาดขอบเขตของธุรกรรมทางการเงินระหว่างสองซีกเทียบได้กับกระแสไหลเวียน…ภายในรัฐเดียวกันมากกว่าระหว่างสองรัฐ”

ชิเมริกาในฐานะตัวแบบเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลก https://www.fullertonmarkets.com/blog/currency-wars

ทว่าในหลายปีหลังนี้ เมื่อดูเหมือนจีนจะค่อยขยับเผยอตนขึ้นเป็นมหาอำนาจที่มุ่งพลิกเปลี่ยนดุลอำนาจเดิมโดยคุกคามฐานะเป็นใหญ่ที่สุดและค่านิยมของอเมริกามากขึ้นทุกที ไนแอล เฟอร์กูสัน ก็เริ่มเปลี่ยนใจและเห็นว่า Chimerica กลายเป็นแค่ความเพ้อฝัน และพอประธานาธิบดีทรัมป์หันมาแซงก์ชั่นจีนทางการค้าขนานใหญ่ เฟอร์กูสันก็ประกาศในปี ค.ศ.2019 ว่า “สงครามเย็นครั้งที่สอง” กำลังมาถึง (https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3160263/chimerica-revisited-why-us-and-china-should-forge-new-symbiotic)

ในความเห็นของอัลเฟรด แม็กคอย นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง To Govern the Globe (ค.ศ.2021) ความแตกต่างระหว่างสงครามเย็นครั้งแรก ระหว่างค่ายทุนนิยมเสรีนำโดยอเมริกากับค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต กับสงครามเย็นครั้งที่สองก็คือ ในครั้งนี้ สองอภิมหาอำนาจโลกที่เผชิญหน้ากันนั้นอยู่ในสถานะพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจ (economic interdependence https://www.democracynow.org/2021/11/16/us_china_meet_in_virtual_summit)

กล่าวคือ นับแต่ปี ค.ศ.2001 เป็นต้นมา จีนได้บูรณาการเศรษฐกิจของตนเข้ากับสายโซ่อุปทานของอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจสองประเทศเชื่อมติดเป็นคู่แฝดอินจันและกลายเป็นแหล่งที่มาถึง 40% ของการค้าโลก

ในสภาพเช่นนี้ ในอนาคตอันใกล้ไม่มีทางที่จะถอดประกอบผ่าแยกแฝด Chimerica ออกจากกันทางเศรษฐกิจได้ จีนยังคงต้องพี่งพาการส่งออกไปสหรัฐอยู่ เพราะการค้ากับสหรัฐเป็นแหล่งที่มาหลักของเงินตราต่างประเทศสำรองมหาศาลถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของจีน (ตัวเลขปี ค.ศ.2014) ในทางกลับกัน เศรษฐกิจเพื่อการบริโภคของสหรัฐก็บูรณาการเข้ากับโรงงานทั้งหลายของจีนเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายจึงต้องพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจ ต่างจากอเมริกากับโซเวียตในสมัยสงครามเย็นครั้งแรก

แต่ในด้านกลับ ทั้งสองประเทศก็ประชันขันแข่งกันอย่างจริงจังในด้านต่างๆ ด้วย

จีนมุ่งหวังที่จะแซงหน้าสหรัฐให้ได้ในทางเศรษฐกิจ ตามการคาดคำนวณของ PricewaterhouseCoopers ซึ่งเป็นบริษัทบัญชีระหว่างประเทศนั้น ถึงปลายทศวรรษที่ 2020 นี้ เศรษฐกิจจีนก็จะใหญ่โตกว่าเศรษฐกิจสหรัฐอย่างน้อย 50% ซึ่งนั่นจะทำให้จีนมีอำนาจคัดง้างทางเศรษฐกิจมหาศาล จนแม็กคอยคาดว่ามันน่าจะพอเพียงให้จีนแตกหักทางเศรษฐกิจกับอเมริกาแล้วก็ยังอยู่รอดได้ ค่าที่จีนได้แพร่ขยายอิทธิพลควบคุมทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)

ฉะนั้น ในทางเศรษฐกิจ แม็กคอยประเมินว่าจีนกำลังข้ามพ้นอเมริกาแล้วในปัจจุบัน ในแง่ของมูลค่าจริงบนฐานอำนาจซื้อเปรียบเทียบระหว่างเงินสกุลหยวนกับเงินสกุลดอลลาร์ เศรษฐกิจจีนตอนนี้อาจจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐแล้วด้วยซ้ำไป!

อาศัยพลังอำนาจทางเศรษฐกิจดังกล่าว จีนย่อมสามารถขยายแสนยานุภาพของตนได้ในหลายด้าน อาทิ ด้านขีปนาวุธซึ่งจีนนำหน้าสหรัฐไปแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ จีนยังกำลังสร้างเสริมกองทัพเรือของตนเพื่อผลักดันสหรัฐฯสุดกำลังให้พ้นออกไปจากเขตที่จีนเรียกว่า “สายโซ่หมู่เกาะสายแรก” (the first island chain) หรือที่สหรัฐเรียกว่า the Pacific literal ซึ่งหมายถึงแถบหมู่เกาะนอกชายฝั่งทวีปเอเชียจากญี่ปุ่น ผ่านโอกินาวา ไต้หวัน เหยียดลงไปถึงออสเตรเลีย เพื่อให้สหรัฐหลุดออกไปอยู่ตรงกึ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วจีนจะได้ผ่ากลางแบ่งครึ่งเขตอิทธิพลนาวีในมหาสมุทรแปซิฟิกกับสหรัฐเสียใหม่นั่นเอง

แม็กคอยประเมินว่าบัดนี้กองทัพเรือจีนกำลังใกล้ถึงขีดสมรรถนะที่จะทำตามยุทธศาสตร์นี้ได้แล้ว

(ต่อสัปดาห์หน้า)

แผนที่สายโซ่หมู่เกาะสายแรก & สายที่สอง ในยุทธศาสตร์นาวีของจีน https://www.geopoliticalmonitor.com/