แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม [เช็กสต๊อกหนังสือ]

แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม สำนักพิมพ์มติชน บุญพิสิฐ ศรีหงส์ เขียน ฉลอง สุนทรวาณิชย์ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คำนำเสนอ จำนวน 349 หน้า ราคา 320 บาท

ต้องยอมรับว่า ในประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ผ่านๆ มา เรื่องราวความเคลื่อนไหวอันโดดเด่นของกลุ่มปัญญาชนคนสามัญในช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคจารีตและยุคสมัยใหม่ มักถูกกดทับปิดกั้น หรือไม่ก็ถูกรัฐลดทอนปรับเปลี่ยนแต่งเติมให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้ไม่ประสงค์ดี ถึงขั้นมีจิตวิปลาสไปเลยก็มี เพียงเพราะพวกเขาถูกมองว่าใช้พื้นที่ในสื่อสิ่งพิมพ์อันเป็นนวัตกรรมใหม่ในสมัยนั้นนำเสนอแนวคิดแบบตะวันตกที่แหวกขนบ ท้าทายความชอบธรรมตามจารีตเดิมที่ดำรงอยู่มาช้านาน

แต่ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานการศึกษาทางวิชาการจากหลักฐานใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้รวมถึงผลงานของพวกเขาก็มีมากขึ้น ซึ่งในบรรดาปัญญาชนเหล่านี้ ก.ศ.ร.กุหลาบ ศิษย์เก่ายุโรปรุ่นแรกๆ นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าแห่ง “สยามออบเซอร์เวอร์” เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นในฐานะนักเขียน นักวิจารณ์สังคมและการเมืองสยามในหลายด้านจนถูกจับส่งโรงพยาบาลโรคจิตเพราะ “เสียจริต” ได้ดึงดูดให้นักวิชาการรุ่นหลังๆ เข้ามาศึกษา ซึ่งก็ได้ช่วยคืนความชอบธรรมและฟื้นสถานะทางประวัติศาสตร์ให้เขา ที่สำคัญทำให้ค้นพบงานเขียนที่ถูกเก็บซ่อนเร้นมานาน

ผลงานของบุญพิสิฐเล่มนี้ จึงไม่เพียงบอกเล่าประวัติชีวิตของ ก.ศ.ร.กุหลาบในแง่มุมที่ไม่เคยเปิดเผย แต่ยังมีส่วนสำคัญที่ชี้ว่าข้อกล่าวหาว่าท่านผู้นี้เป็นนัก “กุ” หรือปลอมแปลงประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง ทั้งยังนำชิ้นงานจำนวนมากที่ไม่เป็นที่รู้จักมาเผยแพร่

หนังสือเริ่มด้วยการกล่าวถึงความทรงจำของบุคคลร่วมสมัยที่มีต่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ เช่น ส.ธรรมยศ, เครก เจ.เรโนลด์ส, ชัยอนันต์ สมุทวณิช, มนันยา ธนะภูมิ, เอนก นาวิกมูล และ ธงชัย วินิจจะกูล จากนั้นเข้าสู่ปมการวิเคราะห์ประวัติ ก.ศ.ร.กุหลาบและงานเขียน ทั้งที่ตีพิมพ์ในสยามประเภทและรวมเล่มเผยแพร่ ที่ทำให้เราอาจต้องตีความประวัติศาสตร์บางช่วงกันใหม่

เรื่องเล่าชุด “พ่อเฒ่ากับลูกเขย” สำนักพิมพ์ทางอีศาน ชัด การชนะ เขียน จำนวน 127 หน้า ราคา 150 บาท

“ไอ้ห่า หมาตัวไหนมันตดวะ จะตดก็ไม่บอก! บ้า! ไม่รู้จักไปตดข้างบน ไอ้บ้าเอ๊ย สันดานไม่ดี ตดใส่กันแบบนี้ ก็ไม่ขุดแม่มันหรอก บ่อน้ำนี่”

พ่อตาได้ฟังลูกเขยด่า เทียบกับหมูกับหมา ทั้งๆ ที่แกก็ไม่ได้ตด แถมพาลหาเรื่องจะไม่ขุดบ่ออีก ก็เลยพูดกับลูกเขยเบาๆ ว่า

“ไอ้ทิดเอ้ย…ในบ่อนี้ก็มีแต่มึงกับกูเพียงสองคน ถ้ามึงไม่ได้ตด ก็ให้กูตดซะ อย่าด่ากันถึงขั้นเทียบกับหมูกับหมาเลย!”

นี่แค่ตัดตอนมาเป็นตัวอย่างจาก 30 เรื่องในเล่ม ที่ใครได้อ่านก็ต้องม่วนซื่นโฮแซว เช่นที่แฟนๆ ของ “ชัด การชนะ” ติดอกติดใจมาแล้ว เมื่อครั้งตามอ่านเป็นตอนๆ ในนิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน”

“มุข” ของแต่ละเรื่องยังคงเน้นที่จิตวิญญาณ ฮีต คอง ประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ทุกด้านอันสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวอีสาน ในท่วงทำนองบันเทิงเริงใจ สนุกขำขัน

สำนวนที่แต่งใหม่ในเล่มนี้ยังรักษาปรัชญาชีวิตแบบขนบโบราณ ซึ่งแม้ในความเป็นจริง “พ่อเฒ่า” ย่อมมีพลังเหนือกว่าหรือเป็นต่อ “ลูกเขย” อยู่แล้ว แต่ในเล่มนี้พ่อเฒ่าจะแพ้ทางลูกเขยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผู้เขียนเพียงต้องการสื่อให้กำลังใจผู้ด้อยทั้งหลายว่าแม้ไม่มีทางสู้ ขอโอกาสชนะบ้างก็ยังดี

ด้วยบุคลิกและลีลาเฉพาะตัวของผู้เขียนที่เกิดมามีชีวิตและเชี่ยวชาญการพูด การเขียน เรื่องประเภทนี้ชนิดหาตัวจับยาก คงสร้างความสุขสบายใจให้ผู้อ่านในสภาวการณ์เช่นปัจจุบันได้บ้าง

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก แม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการในสงครามอานามสยามยุทธ์ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ เขียน จำนวน 327 หน้า ราคา 240 บาท

ในการกล่าวถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เรื่องราวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไม่สู้จะมีใครค้นคว้าลงลึกในรายละเอียดมากนัก โดยมักจะมีความคลุมเครือขัดแย้งกันหลายประการ โดยเฉพาะประวัติชีวิตในช่วงแรกๆ ก่อนที่จะได้ชื่อว่าเป็น “ขุนพลแก้ว” ประจำองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะเป็นทั้งสมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการที่ใกล้ชิด ถึงขั้นที่รัชกาลที่ 3 ตรัสเรียกว่า “พี่บดินทร์”

แม่ทัพใหญ่ผู้นี้คือผู้มีบทบาทสำคัญในการปราบทั้งเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ทั้งถืออาญาสิทธิ์ในสงครามอานามสยามยุทธ์ ที่ทำสงครามกว่า 15 ปี ในกัมพูชาจนสามารถขับไล่กองทัพเรือเวียดนามออกไปจากกัมพูชาได้สำเร็จ แล้วปราบดาภิเษกสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) เป็นกษัตริย์ ทำให้กัมพูชามีฐานะเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ดังเช่นที่เป็นมาในสมัยรัชกาลที่ 1

ดังนั้น เพื่อตรวจสอบและเรียบเรียงประวัติให้ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น สายสกุลสิงหเสนีจึงได้มอบหมายให้ผู้เขียนตรวจสอบและเรียบเรียงประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขึ้นใหม่ เพื่อให้มีความถูกต้องสมบูรณ์และเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของท่านผู้นี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ถนนสู่เอกราช นากาแลนด์ ดินแดนที่โลกลืม สำนักพิมพ์ยิปซี อัคนี มูลเมฆ เขียน จำนวน 286 หน้า ราคา 230 บาท

“นากาแลนด์ แม้จะเป็นรัฐเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัย แต่ก็มีอัตลักษณ์และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ยาวนาน และแม้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองลับแลที่เข้าถึงได้ยาก แต่ก็เป็นที่สนใจของโลกภายนอก ค่าที่ยังดำรงจารีตและรักษาบรรพวัฒนธรรมไว้ได้”

“ชาวนากาเป็นนักสู้โดยวัฒนธรรมและสายเลือด ได้ชื่อว่าเป็น “ชาวสปาร์ตันและโลกตะวันออก” พวกเขาต่อต้านผู้รุกรานอย่างทรหด ศัตรูของชาวนากาล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ที่โค่นล้มได้ยาก นับตั้งแต่กองทหารของจักรวรรดิอังกฤษ กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และกองกำลังของสหภาพอินเดีย ทั้งหมดเพื่อปลดปล่อยดินแดนของตนให้เป็นเอกราช ขบวนการต่อสู้อันไม่รู้เลิกรายังดำเนินติดต่อกันมานับศตวรรษกระทั่งถึงทุกวันนี้”

นั่นคือ ความประทับใจของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสไปเยือนดินแดนอันงดงามแห่งนี้สองครั้งในฐานะสื่อมวลชน จนกลั่นออกมาเป็นงานเขียนเพื่อตอบแทนมิตรภาพของผู้คน ความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ที่สำคัญคือความกล้าหาญของนักปฏิวัตินากาที่ต่อสู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งเพื่อหวังเปิดบังตาให้โลกแห่งเสรีภาพภายนอกได้รับรู้ว่ายังมีชนชาติหนึ่งที่ยังคงถูกกระทำด้วยความโหดร้าย

สาระหลักในเล่ม นอกจากให้ข้อมูลพื้นฐานให้เรารู้จักชาวนากาแล้ว ได้เล่าถึงสงครามที่พวกเขาต้องเผชิญตั้งแต่รบกับพม่ามาอังกฤษจนก่อเกิดขบถนากายุคแรก มาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ก่อกำเนิดขบวนการชาตินิยมนากา การละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพอินเดีย การเจรจาเสรีภาพภายใต้สถานการณ์ใหม่ และบทสรุปอุปสรรคบนเส้นทางสันติภาพ

คํา คม คิด

“หากฉันไม่มีอารมณ์ขัน ฉันคงฆ่าตัวตายไปนานแล้ว”

มหาตมะ คานธี