พลังชล-พลังเฮ้ง/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

พลังชล-พลังเฮ้ง

 

ปรากฏการณ์ทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรีนั้นน่าสนใจ

เจ้าของพื้นที่เดิมคือตระกูลคุณปลื้มที่เรียกกันว่าบ้านใหญ่ ก่อวิวาทะแบบสร้างดาวคนละดวงกับ “นักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรง” อย่าง “สุชาติ ชมกลิ่น”

จากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “พลังชล” ถึงวันนี้ “สุชาติ ชมกลิ่น” แยกมาสร้าง “พลังเฮ้ง” ขยายฐานหัวคะแนนให้เป็นของตัวเอง เพราะเกิดความข้องใจในสัญญาลูกผู้ชายหลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งจะว่าไปก็คือความไม่พอใจกับการต้องยอมจำนนต่อสภาวะ “กินน้ำใต้ศอก” ทั้งที่ทุ่มเทจนประสบผลสำรวจในเขตที่ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบควบคุมคะแนนเสียง

เมื่อดิ้นรนด้วยตัวเองสู่ความสำเร็จ ที่ตามมากับการต้องสู้นั้นนำมาซึ่งภาระที่จะต้องรับผิดชอบในการวางเครือข่าย ที่สุดนำสู่ความหวาดระแวง และก่อความขัดแย้งกับเจ้าของเครือข่ายเดิม

กระทั่งมีแนวโน้มที่จะเดินร่วมทางกันได้ยาก

ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจยิ่ง เป็นพัฒนาการของระบอบการเมืองแบบ “บ้านใหญ่” ที่สะท้อนว่าวันหนึ่งโอกาสที่จะเกิด “บ้านใหม่” มาประชันขันแข็งบารมีได้เสมอ หากไม่เคลียร์ให้เกิดความเป็นธรรมในระดับรับได้ที่จะอยู่ร่วมกัน

 

“นิด้าโพล” ทำสำรวจเรื่องนี้ เจาะจงถามเฉพาะคนชลบุรี

เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับวิวาทะนี้ ร้อยละ 26.56 เห็นว่าเพราะกลุ่นสนธยา คุณปลื้ม ต้องการรักษาฐานการเมืองในจังหวัดชลบุรี, ร้อยละ 24.98 เห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดกันนิดหน่อย, ร้อยละ 22.46 เห็นว่ากลุ่มสุชาติต้องการขยายฐานการเมืองในจังหวัดชบบุรี, ร้อยละ 16.16 เห็นว่ากลุ่มสนธยาไม่พอใจความเคลื่อนไหวของกลุ่มสุชาติ, ร้อยละ 10.62 เห็นว่ากลุ่มสุชาติไม่พอใจความเคลื่อนไหวของกลุ่มสนธยา, ร้อยละ 8.39 คิดว่าจะเปิดโอกาาสให้กลุ่มหรือพรรคการเมืองอื่นแทรกเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งหน้า, ร้อยละ 6.99 เห็นว่ากลุ่มสนธยากำลังสูญเสียฐานการเมืองในจังหวัดชลบุรี, ร้อยละ 2.98 คิดว่ากลุ่มสุชาติไม่มีทางขขยายฐารการเมืองได้มากกว่านี้

ความน่าสนใจอยู่ที่เมื่อถามว่า สนับสนุนฝ่ายใดในศึกวิวาทะครั้งนี้ มีถึงร้อยละ 36.72 ตอบว่าไม่สนับสนุนฝ่ายใด, ร้อยละ 28.89 สนับสนุนฝ่ายสนธยา, ร้อยละ 24.98 สนับสนุนทั้ง 2 กลุ่ม, ร้อยละ 5.87 สนับสนุนกลุ่มสุชาติ

สะท้อนจากคำตอบนี้ ย่อมประเมินได้ว่าแม้น้ำเสียงที่เอนเอียงไปในฝั่งของ “กลุ่มพลังเฮ้ง” จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดอยู่ แต่ที่กล้าแสดงออกแบบเปิดหน้ายังมีให้เห็นไม่มากนัก ส่วนใหญ่แสดงท่าทีเป็นกลางๆ ไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ฝ่าย หรือเห็นด้วยทั้ง 2 ข้างมากกว่า

นั่นหมายถึงอิทธิพลของบ้านใหญ่ยังมีมากกว่าที่จะทำให้ผู้คนไม่กล้าแสดงออกแบบชัดเจนมากนัก

 

แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ติดตามการเมืองชลบุรีใกล้ชิดลงไปเห็นความเคลื่อนไหวในพื้นที่ อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้งนี้ไม่ธรรมดา

“ซุ้มพลังเฮ้ง” ขยายเครือข่ายครอบคลุมผู้กว้างขวางในแต่ละท้องถิ่นอย่างถึงลูกถึงคน

ตำแหน่ง “ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน” กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ พร้อมๆ กับสร้างวาทกรรม “คนกันเอง” ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับจังหวัดที่ให้คุณค่ากับ “น้ำใจ” คำว่า “พวกกัน” ที่เอามาเป็นคำเน้นนั้น มีความหมายถึงมิตรภาพแบบที่ “คนเมืองชล” รู้จักกันดี

ทำนอง “อย่างอื่นไม่สำคัญกว่าพวกกัน”

เมื่อฝ่ายหนึ่งวางตัวเป็นเจ้านาย เป็นพี่ใหญ่ เป็นเจ้าของบ้าน

แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสนอตัวเองมาในนาม “พวกกัน” หมายถึงพร้อมจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกันทุกอย่าง เป็นมิตรภาพแบบ “เพื่อน”

การเมืองเลือกตั้งครั้งหน้า “ชลบุรี” จึงเป็นสนามที่คนทั้งประเทศต้องจับตา

ด้วยโอกาสผันแปรในความเป็น “เจ้าถิ่น” มีโอกาสเกิดขึ้นไม่น้อย