ศีลธรรมใหม่ : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

แปล morality ว่า”ศีลธรรม” ผมคิดว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะคำว่า “ศีลธรรม” อันเป็นคำที่เพิ่งบัญญัติใช้ไม่นานมานี้ (คือหลัง ร.5 ลงมา) ยังผูกติดกับพุทธศาสนา บางท่านอธิบายว่าศีลธรรมคือศีล+ธรรมตามความหมายของพุทธศาสนาด้วยซ้ำ แต่ morality ไม่เกี่ยวกับศาสนา แม้ว่าอาจยอมรับคุณค่าบางอย่างที่ศาสนาบัญญัติไว้ด้วยก็ตาม morality หมายถึงสำนึกของมนุษย์ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก และผิด-ถูกเพราะอะไร ดังนั้น ย่อมเห็นได้ว่าในแต่ละสังคม และแต่ละยุคสมัย สำนึกเช่นนี้ย่อมไม่อยู่คงที่ แต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ที่เคยสำนึกว่าถูก ในภายหลังก็อาจเห็นว่าผิด หรือที่เคยสำนึกว่าผิด มาภายหลังก็อาจเห็นว่าถูกก็ได้

ในยุโรปสมัยกลาง การทรมานผู้อื่นให้เปลี่ยนความเชื่อมาเป็นคริสเตียน ถือว่าถูก แต่ปัจจุบันเห็นว่าผิดไปแล้ว หรือการหย่าเคยถือว่าผิด (เท่ากับมีชู้) ปัจจุบันก็ถือว่าถูกหรือไม่ผิดไม่ถูกไปแล้ว

แม้กระนั้น ผมก็ขอใช้คำว่า “ศีลธรรม” ให้หมายถึง morality ต่อไป อย่างน้อยก็เพราะมันพิมพ์ง่ายดี ไม่ต้องคอยเปลี่ยนแป้นพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และผมก็ไม่มีความสามารถจะบัญญัติศัพท์ที่น่าพอใจได้ด้วย

เพราะไปผูกไว้กับศาสนา เราจึงไม่มีสำนึกศีลธรรมที่อยู่นอกแดนพุทธศาสนาแบบไทย เช่น เราไม่ค่อยคิดถึงความยุติธรรม แต่จำกัดสำนึกนี้ให้เหลือเพียงยุติต้องตาม “ธรรม” ซึ่งคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เสรีภาพก็ไม่เป็นส่วนหนึ่งของศีลธรรมไทย นอกจากความหลุดพ้นขั้นสูงสุดคือหลุดพ้นจากตัวเอง เสมอภาพก็ไม่มี เพราะแต่ละคนย่อมมีคุณสมบัติที่จะบรรลุธรรมไม่เท่ากัน แล้วแต่จะเป็นบัวประเภทไหน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โอ้โฮคำนี้กลิ่นเนยยังคลุ้งตลบอยู่เลยนะครับ คนไทยไม่ได้คิดว่าความเป็นมนุษย์คือคุณสมบัติที่ทุกคนมีเหมือนกัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่างหาก ที่คนทุกคนมีร่วมกันกับสัตว์ มนุษย์มีศักดิ์ศรีเพราะเรียนรู้ธรรมจนบรรลุพระนิพพานได้ต่างหาก สัตว์และเทวดาทำไม่ได้ แต่มนุษย์ก็มีที่เป็นเวไนยสัตว์และอเวไนยสัตว์ ซึ่งไม่ได้มีศักดิ์ศรีมากไปกว่าสัตว์หรือเทวดาเลย

ลองนึกไปเถิดครับ ประเด็นทางศีลธรรมของคนในโลกสมัยใหม่ทั้งหลายซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนา ไม่ค่อยเป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่คนไทยส่วนใหญ่เลย เพราะล้วนเป็นประเด็นนอกแดนของพุทธศาสนาแบบไทยทั้งสิ้น

ธรรมดาของศีลธรรมทางศาสนา มักเป็นเรื่องผิด-ถูกตายตัวในเกือบทุกศาสนา พระพุทธศาสนาเสียอีกที่บอกว่าต้องพิจารณาเจตนา และสภาพแวดล้อมของการกระทำด้วย จึงจะวินิจฉัยผิด-ถูกได้ ผมไม่ทราบว่าทำไมครูพุทธในเมืองไทยจึงไม่สอนเรื่องนี้ แต่ตราผิดตราถูกกันโดยไม่ต้องใช้ปัญญาเลย การเรียนศีลธรรมในเมืองไทยจึงเหลือแต่การท่องจำ

อันที่จริง ถึงไม่มีศาสนา มนุษย์ก็มีสำนึกทางศีลธรรมบางด้านอยู่แล้ว เช่น ความรัก, ความเมตตากรุณา และมารยาททางสังคมบางอย่าง สัญชาตญาณทางศีลธรรมเหล่านี้มีความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น หาอาหาร ดังนั้น ไม่แต่คนเท่านั้น นักจิตวิทยาสัตว์พบว่า สัตว์ก็มีสัญชาตญาณทางศีลธรรมเหมือนกัน แม้แต่มดก็ทำอะไรเพื่อประโยชน์ของมดตัวอื่นด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยของตัวเอง ที่จะได้รับความดูแลเอาใจใส่ในยามจำเป็นเหมือนกัน

และด้วยเหตุดังนั้น ในทุกสังคมและทุกศาสนา จึงมีศีลธรรมบางอย่างที่อาจพบได้เหมือนๆ กัน เช่น ให้คุณค่าแก่ปัญญาหรือความรู้ ความกล้าหาญหรือการเสียสละ, ความมีมนุษยธรรมต่อกัน, ความอดทน, การหลุดพ้นหรืออะไรที่เป็นโลกุตระ เป็นต้น

ฉะนั้น โดยไม่ต้องมีรัฐเลย มนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ และว่าที่จริงตลอดประวัติศาสตร์ มนุษย์มีชีวิตอยู่โดยไม่มีรัฐมากกว่าอยู่ภายใต้รัฐเป็นเวลายาวนานกว่าหลายร้อยเท่า แต่ก็ยอมรับนะครับว่า ถึงอยู่ได้ ก็อยู่อย่างไม่ค่อยมีความสุขนัก เพราะสงครามระหว่างเผ่าหรือระหว่างกลุ่มเพื่อแย่งชิงทรัพยากรกันเกิดขึ้นบ่อยมาก อีกทั้งความสามารถที่จะทำอะไรร่วมกันก็จำกัดเฉพาะเรื่องปากท้อง และในกลุ่มเดียวกัน จึงไม่สามารถทำอะไรที่ใหญ่พอจะประกันความมั่นคงในชีวิตได้มากนัก

(เช่น เก็บอาหารป่ามาใส่ยุ้งฉางไว้ ยิ่งทำให้น่าปล้นแก่เผ่าอื่นมากขึ้นไปอีก เก็บได้เท่าไรยัดใส่ท้องไว้ ย่อมปลอดภัยกว่าด้วยประการทั้งปวง)

ดังนั้น ผมจึงอยากพูดว่า โดยพื้นฐานแล้ว ศีลธรรมเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีรัฐหรือศาสนาเลย มนุษย์ก็มีสำนึกทางศีลธรรมอยู่แล้ว อย่างน้อยก็เพื่อการดำรงชีวิต เพียงแต่ว่าสำนึกทางศีลธรรมที่มีโดยธรรมชาตินี้ไม่เพียงพอ เมื่อเราต้องเข้ามาอยู่ในกลุ่มหรือสังคมที่ใหญ่โตสลับซับซ้อนขึ้น เพราะความจำเป็นที่เราต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นกลับน้อยลง เช่น ขโมยมือถือของคนอื่นมาใช้ ก็ไม่ต้องกลัวว่าเจ้าของจะตามเจอ ก็เชียงใหม่มันใหญ่และมีคนอยู่มากเกินกว่าจะตามเจอได้นี่ครับ

สถาบันสองอย่างเข้ามาผดุงสัญชาตญาณทางศีลธรรมไว้ ศาสนาเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างสำนึกใหม่ๆ ขึ้นด้วย รัฐซึ่งมีอำนาจในเชิงบังคับสูง เข้ามาบังคับให้ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐเชื่อว่าเป็นสำนึกทางศีลธรรมที่ทุกคนต้องมี แล้วทั้งสองสถาบันนี้ก็เพิ่มพูนอำนาจของตนขึ้นไปตามลำดับ จนในที่สุดก็ผูกขาดสำนึกทางศีลธรรมไปเสียเลย

แต่ในโลกตะวันตกและอีกหลายแห่งทั่วโลก อำนาจในการควบคุมสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนของสองสถาบันนี้ลดลง แม้ความสำคัญของศีลธรรมไม่ได้ลดลงไปในสังคมเหล่านั้น ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผู้คนกลับสำนึกว่าเพราะศีลธรรมต่างหาก ไม่ใช่รัฐหรือองค์กรศาสนา สังคมจึงดำรงอยู่ได้ รัฐและศาสนาเองก็ยอมรับว่า เอาเข้าจริง ทั้งสองสถาบันหาได้มีอำนาจพอจะควบคุมความประพฤติของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์จริง สำนึกทางศีลธรรมต่างหากที่ทำให้คนไม่ฆ่ากัน, ปล้นสะดมกัน, เอาแต่ได้ถ่ายเดียว, หรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมอื่นๆ และด้วยเหตุดังนั้น กฎหมายบ้านเมืองและคำสอนของศาสนาจึงต้องสอดคล้องกับสำนึกเหล่านี้ด้วย

“กฎหมายและศีลธรรมอันดี” ไม่ได้ลอยลงมาจากสวรรค์ แต่มาจากสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนซึ่งแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐและศาสนาไม่ยอมคล้อยตามสำนึกทางศีลธรรมของผู้คน พวกเขาก็เลิกฟังกฎหมายและคำสอนของนักบวช ยิ่งทำให้รัฐและศาสนาเสื่อมหนักเข้าไปอีก

เมื่อศีลธรรมถูกปลดปล่อยจากศาสนาและรัฐ ศีลธรรมไปสถิตอยู่ที่ไหน? ตอบอย่างกว้างๆ ก็คือสถิตอยู่ที่สังคมสิครับ ศีลธรรมใหม่ๆ ของชาวโลกทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากการถกเถียง, ต่อสู้ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง, ผลักดัน และเคลื่อนไหวโดยประชาชนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งนั้น กว่าผู้หญิงจะได้รับการยอมรับว่าเท่าเทียมกับผู้ชาย ก็ต้องเดินขบวน, ออกสื่อ, โต้แย้ง, ประท้วง, เปลี่ยนกฎระเบียบของกิจการสาธารณะต่างๆ, ศึกษาค้นคว้าและอธิบาย ฯลฯ กันมาตั้งแต่ครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ แม้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็กลายเป็นประเด็นทางศีลธรรมที่ทุกคน แม้แต่ “ชายผยองเพศ” (male chauvinists) ก็ต้องระมัดระวังคำพูดและการกระทำต่อสาธารณะของตนเอง

สิทธิที่เท่าเทียมของพลเมืองยิ่งมีประวัติการต่อสู้ผลักดันที่ยาวนานกว่านั้นเสียอีก ถึงไม่เห็นผลมากนัก แต่ก็ใช้เป็นข้ออ้างทางศีลธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ และก็ถูกใช้โดยทุกฝ่ายในปัจจุบันเป็นปรกติ ไม่เว้นแม้แต่คณะทหารยึดอำนาจที่ได้รับการสนับสนุนจากนายทุน

ยังมีศีลธรรมอีกมากที่เกิดจากสังคมเช่นนี้ จาระไนกันไม่หมด

แต่ก่อนคนชอบพูดกันว่า คนโบราณมีศีลธรรมมากกว่าคนสมัยนี้ แต่หากมองการเกิดและดำรงอยู่ของศีลธรรมใหม่ๆ ในโลกทุกวันนี้ ผมคิดว่าไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่ผู้คนเอาใจใส่กับศีลธรรมยิ่งกว่ายุคปัจจุบัน

ผู้ที่คิดว่าศีลธรรมเสื่อมในปัจจุบัน ก็เพราะเห็นว่า คนปัจจุบันไม่ค่อยเชื่อฟังศีลธรรมที่เป็นบัญญัติของรัฐและศาสนาเสียแล้ว ไม่ได้เข้าใจว่า แหล่งกำเนิดศีลธรรมในโลกปัจจุบันอยู่ที่สังคมเอง ไม่ได้อยู่ที่สถาบันโบราณทั้งสองอีกแล้ว

ศีลธรรมนอกรัฐและนอกศาสนาเหล่านี้มาจากการเลือกครับ ผู้คนต้องเลือกเองว่า สำนึก, พฤติกรรม, ท่าที ฯลฯ อย่างไหนจึง “ถูก” หรือ “ดี” ในสถานการณ์หนึ่งๆ แก่ตนเอง, แก่คนอื่นร่วมสังคมหรือร่วมโลก, แก่สิ่งแวดล้อม, แก่เสรีภาพ, แก่สันติภาพ ฯลฯ หรืออะไรอื่นๆ ที่ตนเห็นว่าสำคัญ

ด้วยเหตุดังนั้น ศีลธรรมใหม่ของโลกปัจจุบันจึงเป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงกันด้วยเหตุผลและข้อมูลความรู้ เพราะจะประสบความสำเร็จจนกลายเป็นสำนึกของผู้คนได้ ก็ต้องทำให้คนอื่นคิดว่าทางเลือกเช่นนี้ “ถูก” หรือ “ดี” อย่างเดียวกัน การเลือกจึงเป็นหัวใจสำคัญของศีลธรรมปัจจุบัน เพราะไม่มีอาญาสิทธิ์ใดๆ จะประทานกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมลงมายังสำนึกของผู้คนอีกแล้ว

ผมทราบดีว่า มีผู้คนอีกมากปัจจุบันไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมที่ให้กำเนิดศีลธรรมใหม่ๆ เพราะศาสนาและรัฐยังผูกขาดศีลธรรมอยู่เป็นส่วนใหญ่ สังคมที่เป็นแหล่งกำเนิดของศีลธรรมใหม่ได้จริง จำกัดอยู่แต่เพียงในยุโรปตะวันตก, สหรัฐ และญี่ปุ่นเท่านั้น แม้กระนั้น ส่วนที่เหลือของโลกก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศีลธรรมใหม่ที่สังคมตะวันตกผลิตขึ้นในสองสามทาง

หนึ่ง แม้สังคมที่เหลือไม่ได้ผลิตศีลธรรมใหม่เอง แต่ก็ยอมรับศีลธรรมใหม่ที่สังคมภายนอกผลิตขึ้นอย่างช้าๆ แต่เพิ่มขึ้นตลอด ขอให้สังเกตว่า โดยไม่ถอยกลับด้วยหากไม่เจอการปราบปรามอย่างรุนแรง คงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างคนไทย ซึ่งเห็นได้ชัดอยู่แล้ว แต่ในอัฟกานิสถานมีข่าวเร็วๆ นี้ว่า ผู้หญิงรวมกลุ่มกันในการยืนยันสิทธิมีงานทำ ศาลอินเดียเพิ่งตัดสินเร็วๆ นี้เหมือนกันว่า การหย่าเมียตามธรรมเนียมมุสลิมด้วยการลั่นวาจาสามครั้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมายอินเดีย ผมอยากสะกิดให้เห็นด้วยว่า ศีลธรรมใหม่ที่แฝงอยู่เบื้องหลังคำพิพากษาอันนี้คือสิทธิการเลือก ไม่ใช่สิทธิของฝ่ายหญิงฝ่ายเดียวนะครับ แต่ฝ่ายชายก็ถูกบังคับให้เลือกเหมือนกัน เพราะกระบวนการซับซ้อนและยาวนานกว่าการลั่นวาจาสามครั้ง จึงต้องมีเหตุผลและข้อเท็จจริงในการตัดสินใจเลือกของตนเอง

นี่คือที่มาของอิทธิพลทางที่สอง นั่นคือไม่ใช่แต่เนื้อหาของศีลธรรมใหม่แพร่หลายเข้ามาเท่านั้น แต่ที่แฝงอยู่เบื้องหลังโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คือกระบวนการให้กำเนิดศีลธรรมใหม่ก็ติดเข้ามากับเนื้อหาด้วย

ทางที่สามก็คือ อาญาสิทธิ์ของรัฐและศาสนาลดลงในทุกสังคม หรืออย่างน้อยก็สั่นคลอนไปมาก แม้ว่า “อาฮก” ซึ่งเป็นคริสเตียนอาจพ่ายแพ้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีจาการ์ตา แต่คนมุสลิมที่ยังเลือกเขาก็มีจำนวนมหึมา ทั้งๆ ที่องค์กรศาสนาร่วมมือกับพรรคการเมืองในการสกัดกั้นเขาด้วยประเด็นทางศาสนาก็ตาม คนพม่าที่ไม่เห็นด้วยกับพระวีระธูมีจำนวนมากทีเดียวตามทัศนะของเอ็นจีโอต่างชาติที่ทำงานในพม่า ส่วนหนึ่งของอาญาสิทธิ์ที่ลดลงของสถาบันศาสนาก็เพราะศาสนาเข้ามาใช้อำนาจทางศีลธรรมในแดนที่คนจำนวนมากถือว่าอยู่นอกขอบเขตของศาสนา นั่นแปลว่าศาสนากำลังถูกจำกัดพื้นที่ให้แคบลง (อันเป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่เคยเกิดในยุโรปในศตวรรษที่ 19-20)

กลับมาสู่เมืองไทยของ คสช. แม้ว่าศีลธรรมใหม่ทั้งหลายที่แพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเมือง, เสรีภาพ, ความสัมพันธ์ระหว่างเพศและทางเพศที่ผ่อนคลายลง, สิทธิสตรี ฯลฯ ล้วนมีกำเนิดในสังคมอื่นทั้งสิ้น แต่ความแพร่หลายที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขของผู้คนที่หันมาสมาทานศีลธรรมใหม่เหล่านี้ (เพราะนับไม่ได้ คุณหญิงคุณนายที่ออกมาประณามพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่น นอกจากแต่งกายเปิ๊ดสะก๊าดแล้ว ยังมักชอบออกมาแสดงบทบาทนำทางสังคมและการเมือง ซึ่งเท่ากับยอมรับลัทธิสตรีนิยมระดับใดระดับหนึ่ง อาจโดยไม่รู้ตัว) แต่อยู่ที่ในกระบวนการถกเถียงให้เหตุผลเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านก็ตาม ได้ทำให้ศีลธรรมใหม่เหล่านี้ถูกให้ความหมายใหม่และความสัมพันธ์ใหม่ในวัฒนธรรมไทย ผมขอยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ของ คุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ซึ่งใช้ข้อมูลและเหตุผลในการทะลุทะลวงความกลวงเปล่าของศีลธรรมที่รัฐแวนการทำให้ศีลธรรมใหม่กลายเป็นไทย อันเป็นกระบวนการที่มีการต่อรองกันอย่างสูงในสังคมไทยเวลานี้ละศาสนาพยายามบัญญัติขึ้น หนังสือดีเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีเสียด้วย ก็เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบ

เหตุดังนั้น ศีลธรรมใหม่จะมีกำเนิดในสังคมอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากับ กระบวนการที่รับเข้ามา ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากการรับวัฒนธรรมตะวันตกที่ผ่านมาในอดีต เพราะนั่นเป็นการเลือกของชนชั้นนำ ไม่มีกระบวนการต่อรองของสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการสถาปนาอำนาจของศีลธรรมใหม่ในสังคมไทย ศาสนาและรัฐมีอำนาจทางศีลธรรมน้อยลงไปเรื่อยๆ ซ้ำความรู้จริงเกี่ยวกับศีลธรรมตามประเพณีของไทยในศาสนาและรัฐก็น้อยลงด้วย ยิ่งทำให้กระบวนการเสื่อมอำนาจทางศีลธรรมของศาสนาและรัฐดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เมื่ออำนาจในทางปฏิบัติน้อยลง ศาสนาและรัฐก็ยิ่งหมกมุ่นกับการสร้างอำนาจทางทฤษฎีหรือทางกฎหมายให้แข็งแกร่ง

ในระยะอย่างนี้แหละครับ ที่ศีลธรรมใหม่ถูกทำให้เป็นธุรกิจของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นคนจากสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะในระยะแรกศีลธรรมที่นำออกเร่ขายคือศีลธรรมสุขภาพ แต่คนกลุ่มนี้ตัดสินใจมาแต่แรกแล้วว่า ตลาดสำคัญของตนคือสถาบันทางศีลธรรมตามประเพณีได้แก่ศาสนาและรัฐ จึงแทนที่จะนำประเด็นมาสู่การถกเถียงโต้แย้งในสังคม ตลอดจนเปิดให้สังคมเข้ามาร่วมบัญญัติศีลธรรมใหม่ กลับใช้การเคลื่อนไหวทางสังคมที่พวกตนสร้างขึ้นหรือร่วมเป็นเครือข่าย ผลักดันให้รัฐรับซื้อศีลธรรมสุขภาพใหม่เหล่านี้ไปเป็นโครงการของรัฐ ได้ทั้งงบประมาณมหาศาลและอำนาจจากกฎหมาย และสถาปนาศีลธรรมสุขภาพใหม่นี้ขึ้นด้วยอำนาจรัฐ และเงินสาธารณะ

พระที่ติดบุหรี่ก็ต้องสึก เพราะกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในวัด

ตรงกันข้ามกับการเปิดให้โต้แย้งถกเถียงอย่างเสรี เพื่อการสนับสนุนและการคัดค้านกันด้วยข้อมูลและเหตุผล ธุรกิจศีลธรรมใหม่ใช้อำนาจรัฐเพื่อ “เบลอ” ไม่แต่ “เบลอ” บุหรี่และสุราเท่านั้น แต่ “เบลอ” แหล่งข้อมูลอื่น, “เบลอ” ความเห็นอื่น และ “เบลอ” ทางเลือกอื่น เมื่อธุรกิจต้องเกาะกับรัฐอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่ธุรกิจศีลธรรมใหม่ย่อมสนับสนุนให้รัฐคุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้เผด็จการทหาร เพราะมีสัญญาณที่ส่อให้เห็นชัดว่า ขืนปล่อยให้มีเลือกตั้งต่อไป ในที่สุดสังคมกลับจะเป็นฝ่ายคุมรัฐเสียเอง ธุรกิจของตนซึ่งไม่ได้วางรากฐานไว้กับสังคมก็จะสั่นคลอนไปด้วย

กลายเป็นแบบอย่างให้ธุรกิจศีลธรรมใหม่อีกหลายเรื่องทำตาม ขณะนี้มีดำริจากกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ที่จะเร่ขายศีลธรรมใหม่แก่รัฐและศาสนามากขึ้น หากทำได้สำเร็จเด็ดขาดในทุกเรื่อง ศีลธรรมใหม่ในสังคมไทยก็จะกลายเป็นบัญญัติของศาสนาและรัฐเหมือนเดิม เราจะมีเสรีภาพในขอบเขตที่รัฐและศาสนาสั่งให้มี ผู้หญิงบรรลุนิพพานธรรมได้ แต่ห้ามบวช เราจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่าที่จะไม่ทำให้จีดีพีหดตัว ฯลฯ