คำ ผกา | ละครไทยน้ำเน่า หรือความเป็นไทยที่เน่า

คำ ผกา

สารภาพว่าไม่ได้ติดตามประเด็นการถกเถียง (สมัยนี้เรียกว่าดราม่า) เรื่องคนไทยทำไมไม่ดูละคร/หนัง/ซีรีส์ ที่ทำโดยคนไทย

ส่วนคนไทยก็บอกว่าเหตุที่เลิกดูหนัง ละครไทย เพราะละครไทย หนังไทย ไม่พัฒนา พล็อตเก่าๆ ตอกย้ำอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่แบบเดิม ยังมีตัวอิจฉา นางร้าย ยังมีฉากพระเอกข่มขืนนางเอก ล้าหลังเป็นที่สุด

ส่วนทางทีมผู้จัด ผู้สร้าง คนเขียนบท ผู้กำกับหนัง ละคร ก็บอกว่า รัฐบาลจะส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ แต่ไม่เคยมีเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง อยากขายชอฟต์เพาเวอร์แบบเกาหลี แต่เคยสนับสนุนเงินงบประมาณแบบที่รัฐบาลเกาหลีสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงเขาบ้างหรือเปล่า

อีกประการหนึ่งคือ มีคนพยายามทำหนังละคร ซีรีส์ดีๆ ไม่น้ำเน่าออกมา ซึ่งกว่าจะฝ่าฟันอุปสรรค กว่าจะโน้มน้าวใจนายทุนให้ควักเงินทำ หรือบางคนก็ขายบ้าน ขายรถมาทำ เพราะอยากทำงาน “ดีๆ” แต่ทำออกมาแล้วขาดทุน ไม่มีคนดู

คนไทยที่เรียกร้องกันนักว่าเลิกทำได้แล้ว ละครน้ำเน่า พอเขาทำน้ำดีออกมาจริงๆ ก็ไม่เห็นไปช่วยกันดู ไม่ช่วยกันอุดหนุน

สุดท้ายทุกคนก็ต้องไปทำงานที่ถูกใจตลาด

และสุดท้าย คนทำหนัง ทำละครก็โดนด่าอีกว่าย่ำอยู่ที่เดิม

ทางฝ่ายผู้บริโภคก็บอกว่า ทำออกมาไม่ดี ไม่สนุก จะให้ผู้บริโภคฝืนใจไปดูเพราะอยากทำการกุศล แค่อยากอุดหนุน ให้กำลังใจกัน มันก็ใช่เรื่อง!

แม้จะไม่ได้ติดตามจริงจัง แต่คิดว่าประเด็นการถกเถียงมีอยู่ประมาณนี้ ซึ่งสำหรับฉันคิดว่ายังมีความคลาดเคลื่อนบางอย่างในการมองอุตสาหกรรมหนัง ซีรีส์ ละครไทย

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า “น้ำเน่า” ที่อยู่ในนวนิยาย หนัง ละครไทยนั้นไม่ได้เป็นอะไรที่เกี่ยวกับความเป็น “ไทย” และเกี่ยวข้องกับความเป็นไทยน้อยมาก

พล็อตน้ำเน่า มีคนดี มีตัวอิจฉา มีนางเอกแสนดี มีนางร้ายแสนเซ็กซี่ มีแม่ผัวใจร้าย การมีฉากตบ-จูบ รวมไปถึงฉากข่มขืนนางเอก (แต่จริงๆ แล้วทั้งคู่รักกัน) เพื่อนำไปสู่ใบอนุญาตแต่งงาน เป็นพล็อตที่เรียกว่า “โรแมนซ์” เป็นสำนักหนึ่งของวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 ยาวมาถึงศตวรรษที่ 20

เป็นพล็อตหลักของนวนิยายที่ไทยที่ “ก๊อบปี้” นิยายต่างประเทศมาตลอดศตวรรษ

ต่างกันแค่มีโรแมนว์ตลาดบนกับโรแมนซ์ฮาร์ดคอร์ ประเภทบรรยายบทพิศวาสแบบอีกนิดเดียวก็เป็นหนังโป๊ เร้าใจสุด

ส่วนนักเขียนที่เอาใจตลาดบนหน่อยก็แค่เกลาภาษาให้โป๊น้อยหน่อย แต่ความเร้าใจทางดราม่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรืออาจทำเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ แกล้งๆ ใส่ข้อมูล ความรู้ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือทำเป็นใส่กลิ่นอายของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไปนิดหน่อย

แต่โครงเรื่องหลักยังคงเป็นเรื่องโรแมนซ์หรือน้ำเน่าอยู่

ในปัจจุบันโครงเรื่องโรแมนซ์เช่นนี้เรายังเห็นในหนัง ในละคร ในซีรีส์ของหลายประเทศ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แตกต่างตรงที่แต่ละประเทศ “พัฒนา” สำนักโรแมนซ์ให้มีกลิ่นอายของตัวเอง

เช่น หนัง ละครอินเดีย ในยุคหนึ่ง soap opera ที่ออกอากาศยามบ่าย เป็นละครสำหรับคุณแม่บ้านดูกันทั่วโลก

สำหรับฉัน ละครน้ำเน่าไทยก็จัดอยู่ในกลุ่ม soap opera อันนี้

ส่วน soap opera ที่เป็นนวัตกรรมของไทยโมเดิร์นอันต่อยอดมาจากลิเกก็น่าจะเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ไม่ต่างกลุ่มหนังจีนกำลังภายใน หรือเรื่องราวฮ่องเต้ ฮองเฮา ต่างๆ อันมาพร้อมกับคอสตูมวิจิตรพิสดาร ตรงตามพีเรียดทางประวัติศาสตร์จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่เน้นความตระการตาเป็นหลัก

ฉันไม่ได้บอกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ หนังไทย ละครไทย ซีรีส์ไทย ไม่ต้องพัฒนา แค่คิดว่าการวิจารณ์โดยแยกแยะสำนักหรือสายสกุลทางงานศิลปะจะช่วยให้ทั้งเราผู้บริโภค ผู้วิจารณ์ และผู้ผลิตงานนี้ในอุตสาหกรรม ไม่หลงทางมากนัก

นั่นคือ ก่อนที่เราจะวิจารณ์ว่า หนังไทย ละครไทย เท่ากับความน้ำเน่า เราควรแยกอย่างน้อยว่ามันมีหนัง ละครที่อยู่ในสำนัก soap opera, romance, melodrama

ส่วนที่จากไปจากนี้ มันคือสำนัก realistic และ/หรือจะทำหนังอาร์ด ก็ค่อยแยกออกไปอีกประเภทหนึ่ง

ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนไวยากรณ์คนละชุด และแน่นอนในฐานะผู้บริโภค เราจะไม่เอามาตรฐานของ realistic ไปตัดสินหนัง/ละคร ที่จงใจจะให้เป็นโรแมนซ์ เวอร์วังอลังการขนตาตัวอิจฉายาวหนึ่งเมตรตลอดเรื่อง และมีบทรักโง่ๆ ไม่สมจริงตลอดเวลา

เช่นล่าสุด ฉันดูซีรีส์เรื่องเอมิลีอินปารีส ที่ดูแล้วก็ต้องบอกว่านี่มัน “ลิเก” ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างเสื้อผ้าของทุกตัวละคร รวมทั้งฉาก วิว ทิวทัศน์ ไม่นับการทำงานที่สุดแสนจะไม่สมจริง แต่ทั้งหมดนี้เราก็เอ็นจอยมันในฐานะลิเก เอ็นจอยเสื้อผ้าบ้าๆ บอๆ ของทุกตัวละคร แล้วก็ขำๆ ไป

แต่ถามว่า แล้วจุดที่จะพัฒนาไม่ย่ำอยู่กับที่จะอยู่ที่ตรงไหน

สำหรับฉันก็คือ ถ้าเราจะเอาดีทางเมโลดราม่า ลิเก โรแมนซ์ เราก็ต้องซื่อสัตย์กับ “สำนัก” ศิลปะที่เรากำลังทำ แล้วทำให้สุดทาง

เล่นใหญ่ก็ต้องใหญ่ให้ถึงที่สุด และสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างคือ “รายละเอียด” ความงามของประณีต ของโปรดักชั่น

ขึ้นชื่อว่า งานละเอียด จะทำน้ำเน่าก็ต้องทำแบบงานละเอียด ไม่ใช่งานเผา ไม่ใช่งานมักง่าย

หรือยกตัวอย่างเรื่องเดิมคือ เอมิลีอินปารีส ที่ทำน้ำเน่าบนภาพเหมารวมของอเมริกัน vs ฝรั่งเศส จากนั้นเก็บบทสนทนาในโลกปัจจุบันว่าด้วยความ pc แบบอเมริกัน กับความลุ่มลึกแบบฝรั่งเศส และทั้งหมดนี้ต้องระวังไม่ให้ดูพยายามจะ interllectual จนเกินไปด้วย

ดังนั้น ถ้ามจะถามว่า หนัง ซีรีส์ ละครน้ำเน่าไทย หากทำได้ “ละเอียด” แบบนี้ ก็ถือว่าพัฒนาและประสบความสำเร็จ

สําหรับกุญแจแห่งการพัฒนาคือรู้ว่าตัวเองทำงานในสำนัก “น้ำเน่า” อยู่นะ แล้วต้องไม่มีปมด้อย ต้องชัดเจนในความน้ำเน่าของตนเอง แล้วทำมันอย่างภาคภูมิใจ และอาจจะภาคภูมิใจจนถึงขั้นล้อเลียนความน้ำเน่า หรือเล่นใหญ่กับความน้ำเน่าของตัวเองได้ หรือไม่ก็จงใจขายความเลอะเทอะๆ แบบ “ไทยๆ” ไปเลย

ทว่าทั้งหมดนี้ต้องทำไปบนความรู้เท่าทัน และไม่มีปมด้อยในตัวเองเป็นเบื้องแรก

ส่วนใครอยากทำสาย realistic ก็อาจจะเป็นแนวใหม่สักหน่อยของไทย แต่ถ้าทำได้ ได้สนุก หรือจะทำเป็น realistic ผสมดราม่า ก็อาจจะติดตลาดง่ายกว่า

สำหรับฉัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาละคร หนัง และซีรีส์ของไทย ไม่ใช่ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือแม้แต่การขาดแคลนเงินทุน ไม่ใช่ภาวะไร้ฝีมือ

เผลอๆ สิ่งที่เป็นอุปสรรคหนักที่สุดคือ การรับเงินจากแหล่งทุนของรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรส่งเสริมสื่อ เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีแนวโน้มที่อยากจะผลิตงาน “โฆษณาชวนเชื่อ” ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

มีแนวโน้มจะมอบทุนให้กับนักเขียนบท ที่ส่งเสริมคุณค่าความเป็นไทยตาม “เรื่องเล่าฉบับราชการ” ในทุกมิติ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ชนบทในอุดมคติ ศาสนาพุทธที่แสนงามและลึกซึ้ง ปีศาจทุนนิยม ไสยศาสตร์มอมเมา และความเป็นเมือง คุณค่าของครอบครัวในอุดมคติ ฯลฯ

นอกจากคุณค่าความเป็นไทยกระแสหลักที่ถูกทำให้กลายเป็นบรรทัดฐาน “คุณภาพ” ของหนัง ละคร ซีรีส์ไทย ประโยคสำเร็จรูปที่เราอ่านเจอบ่อยๆ ในแบบเรียน ในโอวาท ในวรรณกรรมที่มักได้ “รางวัล” หรือพล็อตสุดเชยในหนังโฆษณาประกันชีวิตที่ชอบเล่นกับประเด็นความรักอันไร้ขีดจำกัดของพ่อหรือแม่ ความกตัญญูของลูก ความมีน้ำใจของคนจนที่มีให้คนจน ความชั่วและเห็นแก่ตัวของนักการเมือง

เหล่านี้ต่างหากที่ทำให้หนัง ละคร ซีรีส์ไทย ไม่น่าสนใจ และตื้นเขินเหลือทน ไม่ใช่เพราะมันเป็นพล็อตน้ำเน่า

ยํ้าว่าละคร หนัง ซีรีส์น้ำเน่า ไม่จำเป็นต้องตื้นเขิน การข่มขืนนางเอกของพระเอก สามารถถูกเล่า ถูกตีความในบริบทใหม่ ไวยากรณ์ใหม่ ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องพยายามฉลาด แต่แค่นำเสนอปมขัดแย้งในตัวเองของตัวละครอย่างที่มนุษย์ควรจะมี

สำหรับฉัน สิ่งที่ขาดหายไปในละคร หนัง ซีรีส์ไทย คือเลือดเนื้อของความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความไม่ลงรอยในตัวเอง

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจพัฒนาขึ้นมาได้ในชั่วข้ามคืนเพียงเพราะเราตั้งเป้าหมายว่า พรุ่งนี้ฉันจะทำละครที่แสนจะเต็มไปด้วยความซับซ้อน สับสนของมนุษย์

แต่มันจะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ไม่มี “เรื่องเล่ากระแสหลัก” ครอบงำจิตสำนึกของเราอยู่เรื่องเดียว มันคือผลผลิตของสังคมที่ไม่มีปมด้อยในความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งฉันเรียกสิ่งนี้ว่า identity crisis

แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่มี identity crisis เป็น identity หรือเป็นเอกลักษณ์ เราคือชาติที่ตกเป็นอาณานิคมแต่หลอกตัวเองว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร

เราเป็นประเทศที่พูดภาษาสากลไม่ค่อยได้แต่หลอกตัวเองว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่

เราหลอกตัวเองว่า ท่ามกลางความเหลวแหลกของประเทศไทยเรามีอาหารที่ไทยที่อร่อยเหลือเกิน ลึกๆ เรารู้ว่าเราช่างไร้ค่า ไม่มีหน้าไม่มีตา ไม่มีอะไรน่าภูมิใจทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เราก็ยิ่งสร้างปมเด่นปลอมๆ มากร่างมาอวด หรือกลบเกลื่อนจุดด้อยของตัวเอง

และกลายเป็นคนขี้โม้ในบางครั้ง

สําหรับฉัน วิกฤตเอกลักษณ์ที่เราไม่มี self esteem อันเกิดจากเราไม่กล้ายอมรับตัวเราอย่างที่เราเป็น

เช่น ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงว่าเราเป็นชาติเกิดใหม่ ไม่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานอะไร

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

เราเป็นชาติที่อุดมไปด้วยเผด็จการ การรัฐประหาร ความอ่อนเปลี้ยทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คือส่วนหนึ่งของความเป็นไทย ซึ่งการยอมรับความเหลวแหลกของตนเอง ไม่ได้แปลว่าเราต้องดูถูกตัวเองเสมอไป แต่มันจะทำให้การเขียน “วรรณกรรม” และการเล่าเรื่องต่างๆ ของเราผ่านหนัง ละคร ซีรีส์ น่าสนใจขึ้น และออกจากขนบของบทสนทนาเดิม คุณค่าเก่าที่ตรึงจินตนาการของเราไว้ใน narrative เดิมๆ ตลอดเวลา

ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับน้ำเน่าหรือไม่น้ำเน่า และงานที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นงานอาร์ตๆ ดูยากๆ เสมอไป

และในอีกส่วนหนึ่ง เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีประชาธิปไตย ระบอบอำนาจนิยมจบลง อำนาจในการเซ็นเซอร์ ปิดกั้นเสรีภาพในการพูด คิด อ่าน เขียน จบลงเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ สิ่งแวดล้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการสร้าง หนัง ละคร ซีรีส์ และงานศิลปะแขนงต่างๆก็จะได้รับอนุญาตให้เติบโต เปลี่ยนแปลง โดยไม่จำเป็นต้องมีใครไปเจ้ากี้เจ้าการบอกว่างานที่ดีต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับซอฟต์เพาเวอร์คือเสรีภาพ และนั่นเป็นสิ่งเดียวที่เราต้องการจากรัฐบาล