การทูต ‘ลู่ตามลม’ ของไทย ในมุมมองของ ‘เตช บุนนาค’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

การทูต ‘ลู่ตามลม’ ของไทย

ในมุมมองของ ‘เตช บุนนาค’

 

ศิลปะการทูตไทยมีความพิเศษแตกต่างไปจากชาติอื่นอย่างไร?

การทูตไทยในโลกดิจิตอลวันนี้ต้องปรับตัวอย่างไร?

จริงหรือที่มีคนเรียกการทูตไทยว่าเป็นเหมือนต้นไผ่ คือ “ลู่ตามลม” ไปได้เสมออย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “bamboo diplomacy”?

หรือความจริงการทูตไทยเป็นลักษณะ “balancing act” (การรักษาดุลถ่วง)

จุดแข็งและจุดอ่อนของการทูตไทยมีอะไรบ้าง?

คำถามทั้งหมดนี้ได้รับคำตอบที่ลุ่มลึกและเต็มไปด้วยอารมณ์ขันจากคุณเตช บุนนาค ผู้เป็นนักการทูตมืออาชีพมาตลอดชีวิตในหนังสือชื่อ “Thai Diplomacy : In Conversation with Tej Bunnag” ที่ผมอ่านแล้ววางไม่ลง

ผมรู้จักกับ ดร.เตช บุนนาค มากว่า 50 ปี ตั้งแต่คุณเตชเป็นเจ้าหน้าที่วัยรุ่นของกรมสารนิเทศของกระทรวงการต่างประเทศ และผมเป็นนักข่าวเด็กๆ ที่ไปเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวกระทรวงบัวแก้ว

คุณเตชเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ, อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อดีตเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ รวมถึงกรุงวอชิงตันและปักกิ่ง

ท่านเป็นนักการทูตและนักวิชาการที่มีพื้นภูมิในฐานะนักประวัติศาสตร์

วันนี้ คุณเตชทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสภากาชาดไทย

คุณเตชเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงานเบื้องหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับจีนที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ของการเมืองระหว่างประเทศของไทยเราที่มีความสำคัญยิ่ง

ที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย

บทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ (ไม่แน่ใจว่าจะมีฉบับแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่เมื่อไหร่)

ผู้สัมภาษณ์และทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการคือคุณอนุสนธิ์ ชินวรรโณ อดีตเอกอัครราชทูตและผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ หรือ International Studies Center (ISC) ของกระทรวงการต่างประเทศ

ศูนย์ ISC นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย

โดยเฉพาะการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาด้านการต่างประเทศในมิติต่างๆ และสร้างความเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ ด้านการต่างประเทศ

เพื่อขยายเครือข่ายให้กับการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองสถานการณ์โลกได้อย่างทันท่วงที

คุณอนุสนธิ์เขียนไว้ในคำนำว่าที่ขอสัมภาษณ์คุณเตชเป็นภาษาอังกฤษนั้นเป็นเพราะไม่แน่ใจว่าหากสนทนาเป็นภาษาไทยและเวลาต่อมาต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะไม่สามารถหาคำที่บ่งบอกถึงความหมายที่แท้จริงได้

แต่ผมเชื่อว่าอย่างไรเสีย ในท้ายที่สุดก็คงต้องมีการแปลเป็นภาษาไทยเพราะเนื้อหาสาระและเบื้องหน้าเบื้องหลังของประสบการณ์ของคุณเตชให้ความรู้และวิธีคิดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ที่สำคัญคือประเด็นว่า “การทูตไทย” คืออะไรก็ชวนให้คิดตามและต่อยอดได้อย่างหลากหลายมิติ

อีกทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคุณเตชในการถามตอบก็เป็นประโยชน์ต่อนักการทูตรุ่นต่อๆ มาของไทย

และยังเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้คนไทยทั่วไปที่ได้อ่านเข้าใจอดีตและปัจจุบันของการทูตไทย

อันจะนำไปสู่การวางทิศทางของการทูตไทยในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตอนหนึ่งของบทสนทนาว่าด้วย “การทูตไทย” คืออะไรจริงๆ สะท้อนถึงความหมายและนิยามของคำนี้ได้อย่างน่าติดตาม

ถาม : ในความเห็นของท่านลักษณะของการทูตไทยเป็นอย่างไร?

ตอบ : ถ้าใช้คำเดียวก็คือ “ยืดหยุ่น” (flexibility)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในฐานะที่เป็น “ประเทศมีพลังขนาดเล็ก” (small power) เราไม่สามารถที่ยึดถือความเห็นที่แข็งทื่อ (rigid) ต่อปัญหาของโลก

ตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามเข้าร่วมประชุมใหญ่แห่งแวร์ซายส์ (Congress of Versailles) และถูกจัดอยู่ในประเภท “ประเทศที่มีผลประโยชน์ระดับจำกัด” (Power with limited interests)

ดังนั้น ไทยจึงต้องมีความยืดหยุ่นในการติดต่อไปมาหาสู่กับโลก

นี่คือลักษณะของการทูตไทยตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 หรือที่เรียกกันว่า “สมัยใหม่”

คุณเตชบอกว่าคำหลักๆ (key words) ที่ใช้อธิบายการทูตไทยคำแรกคือ “flexibility” อันหมายถึงความยืดหยุ่น

อีกคำหนึ่งที่ถือเป็นคำอธิบายที่มีความหมายกลางๆ ที่สุดคือ “national interest” หรือ “ผลประโยชน์ของชาติ”

กระนั้น คำนี้ก็ยังมีความหมายที่คลุมเครือและกว้างอยู่ดี

เพราะเอาเข้าจริงๆ ทุกประเทศไม่ว่าเล็กว่าใหญ่ก็ย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นหลักอยู่แล้ว

แน่นอนว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐย่อมมีมุมมองว่าด้วยผลประโยชน์ของตนที่แตกต่างไปจากประเทศเล็กๆ เช่นประเทศไทย

แล้วผลประโยชน์แท้จริงของชาติเราล่ะ?

แน่นอน คำที่เป็นหัวใจของเรื่องก็คือ “ความอยู่รอด” (survival)

นั่นย่อมหมายถึงการอยู่รอดในฐานะที่เป็นชาติที่อิสระ

มีเศรษฐกิจที่มีตลาดเปิดและสังคมที่เสรีและเปิดกว้าง

“ผมเชื่อว่านี่คือเป้าหมายของการทูตไทยตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน”

 

ถาม : นักวิชาการบางคนมองว่าการทูตไทยเป็น “การทูตแบบต้นไผ่” เพราะมีความยืดหยุ่น

ท่านใช้คำว่า “ยืดหยุ่น” ท่านคิดว่าคำนี้ใช้อธิบายการทูตไทยที่ถูกต้องแม่นยำแค่ไหน? หรือการทูตไทยดูจะเหมือน “ความพยายามทรงตัว” (balancing act)?

(หรือถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็คือการพยายามประคองตัวไม่ให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป)

คุณเตชตอบว่า

การทูตก็มาพร้อมกับคำว่า “ลู่ตามลม” (bending with the wind)

คุณเตชย้อนความให้ฟังว่ามีเรื่องเล่าว่า ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ เคยกล่าวไว้ในการพูดคุยเกี่ยวกับคุณลักษณะของ “การทูตไทย” ว่า

“คนมักพูดว่าคนไทยลู่ไปตามลม แต่มันมากกว่านั้น คนไทยลู่ก่อนลมจะมาเสียอีก”

คุณเตชเล่าแบบขำๆ… บอกว่าท่านไม่รู้ว่าเรื่องที่เล่าต่อกันมานั้นเป็นเรื่องจริงแค่ไหน

อาจจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาสนุกๆ ก็ได้

“แต่ผมจำได้ว่าผู้ใหญ่บางท่านในกระทรวงของเราค่อนข้างหงุดหงิดกับประโยคนี้เพราะอาจจะตีความว่าเป็นคำอุปมาที่ค่อนข้างดูแคลนไทย…”

คุณเตชกลับเห็นต่าง

“เมื่อผมได้ยินเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันเป็นคำชมที่ยอดเยี่ยมมาก!”

คุณเตชเสริมว่า

“เพราะเท่ากับเป็นการบอกว่าการทูตไทยนั้นไม่ได้เพียงแค่โอนไปตามลม หากแต่มองเห็นว่าลมจะพัดไปทางไหน และโอนไปในทิศทางที่ก่อนลมจะไปถึง…”

คุณเตชบอกต่อว่าหนึ่งในผู้อาวุโสของไทยเรา – ซึ่งไม่เอ่ยนาม – ได้เคยพูดบ่อยๆ ว่าการทูตไทย “ไม่มีกระดูกสันหลัง”

“ผมไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่มีโอกาสได้คุย (กับคนที่พูดอย่างนี้) ต่อหน้า…” คุณเตชบอก

และอธิบายว่า “ผมว่ากระดูกสันหลังมันน่าสนใจนะ มันเป็นส่วนหนึ่งของกายวิภาคของมนุษย์ที่ประกอบด้วยกระดูกจำนวนมาก ไม่ใช่แค่กระดูกใหญ่เพียงชิ้นเดียวเหมือนหน้าแข้ง…”

คุณเตชบอกว่ากระดูกสันหลังประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ ที่ล็อกเข้าด้วยกัน สามารถงอไปข้างหน้า ข้างหลัง ซ้าย และขวา จึงเป็นชิ้นส่วนที่ยืดหยุ่นมากของสรีระมนุษย์ ไม่เหมือนหน้าแข้งถ้าโดนของแข็งกระแทกก็จะหักได้

“เนื้อแท้ของการทูตไทยคือมีความยืดหยุ่นและสามารถไปได้หลายทิศทาง นั่นคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า “การทูตไม้ไผ่” คุณเตชยืนยัน

และเสริมว่าท่านเห็นด้วยกับเรื่องเล่าขานที่อ้างลี กวน ยู ที่บอกว่า

การทูตไทยลู่ก่อนลมมา ไม่ใช่เพียงลู่ไปตามลม

คุณเตชบอกว่าความแตกต่างระหว่าง “ลู่ก่อน…” กับ “ลู่ตาม” มีความสำคัญมาก

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การทูตที่ดีต้องเป็นเชิงรุก (pro-active) และไม่ใช่การตอบสนองด้วยการตั้งรับ (reactive) เฉยๆ

“คุณต้องดูว่าลมไปทางไหนเพื่อรักษาความปลอดภัยและรักษาตัวให้อยู่รอดในโลกที่อันตรายและยากลำบาก” คุณเตชยืนยัน

(สัปดาห์หน้า : การทูตไทยขึ้นอยู่กับระบบหรือตัวบุคคล?)