“เซราฟิม โทโดรอฟ” คู่ปรับ “สมรักษ์” นักมวยคนท้ายสุดผู้ยัดเยียดความปราชัยให้ “ฟลอยด์” กับ “ฝันร้าย” ที่ “แอตแลนต้า”

คนมองหนัง

หลังชนะน็อก “คอเนอร์ แม็กเกรเกอร์” “ฟลอยด์ เมย์เวตเธอร์ จูเนียร์” วัย 40 ปี ก็ขึ้นแท่นเป็นสุดยอดนักมวยสากลอาชีพ ผู้มีประวัติการชกสวยหรูชนะรวด 50 ไฟต์ ทำลายสถิติเดิมของ “ร็อกกี้ มาร์เซียโน” ที่ชนะรวด 49 ไฟต์ ตลอดการชกอาชีพ

ความพ่ายแพ้บนสังเวียนหนล่าสุดของเมย์เวตเธอร์ต้องย้อนไปถึงสมัยที่เขาชกมวยสากลสมัครเล่น ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่แอตแลนต้าปี 1996

เมื่อเมย์เวตเธอร์ซึ่งขึ้นชกในพิกัดเฟเธอร์เวต แพ้คะแนนแก่ “เซราฟิม โทโดรอฟ” นักมวยทีมชาติบัลแกเรีย ไป 9-10 หมัด ในรอบรองชนะเลิศ

ส่งผลให้เขาคว้าได้เพียงเหรียญทองแดง ส่วนโทโดรอฟเข้าไปชิงชนะเลิศกับ “สมรักษ์ คำสิงห์”

บทสรุปสุดท้ายเป็นอย่างที่หลายคนทราบกันดี คือ สมรักษ์ได้รับการชูมือ จนสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาไทยรายแรกผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครอง

ส่วนโทโดรอฟก็กลายเป็นพระรองตามระเบียบ

สองปีก่อน ในช่วงที่เมย์เวตเธอร์กำลังจะเปิดศึกซูเปอร์ไฟต์กับ “แมนนี่ ปาเกียว” สื่อมวลชนบางสำนักได้หันไปสนใจขีวิตปัจจุบันของโทโดรอฟ

รายงานข่าวที่สำรวจประเด็นนี้ได้ลึกที่สุด คือ สกู๊ปของ “แซม บอร์เดน” แห่งเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เมื่อปี 2015 ซึ่งไม่เพียงแต่จะฉายภาพให้เห็นถึงชีวิตอันอับจนโชคชะตาของยอดมวยบัลแกเรีย จนสวนทางกับความรุ่งโรจน์ของเมย์เวตเธอร์เท่านั้น

หากบอร์เดนยังสามารถชักจูงให้โทโดรอฟเปิดใจย้อนรำลึกถึง “บาดแผลเก่าเก็บ” ที่เกิดขึ้นในกีฬาโอลิมปิกปี 1996 ซึ่งอาจเป็น “เรื่องจริง” หรือเป็นสิ่งที่เจ้าตัวทึกทักคาดเดาไปเองก็ได้

โทโดรอฟในวัยเกือบ 50 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองพาซาร์ดชิก เมืองที่ยากจนที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศบัลแกเรีย บ้านของอดีตเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก คือ ห้องพักชั้นล่างสุดในแฟลตแห่งหนึ่ง

ที่นั่น โทโดรอฟอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกชาย และลูกสะใภ้ (ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ในปี 2015) นักกีฬาที่เคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติผู้นี้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญจำนวน 435 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

อดีตนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติบัลแกเรียยังจำไฟต์การชกระหว่างเขากับฟลอยด์ได้เป็นอย่างดี

ครั้งนั้น เขาคือนักชกมากประสบการณ์วัย 27 ปี ซึ่งเอาชนะเมย์เวตเธอร์ มวยดาวรุ่งวัย 19 ปี ไปได้อย่างฉิวเฉียด 10-9 คะแนน (ตามระบบการนับคะแนนเป็นจำนวนหมัดแบบเดิม)

ในขณะที่แฟนมวยอเมริกันต่างพากันคลางแคลงใจต่อผลการตัดสินของคณะกรรมการที่กดคะแนนให้โทโดรอฟเอาชนะเมย์เวตเธอร์

ความสัมพันธ์ระหว่างโทโดรอฟกับฟลอยด์กลับไม่ได้ร้าวฉาน

หลังพูดคุยกับเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ไม่นาน โทโดรอฟเปิดอกกับ ทอม สวีตแมน และ อเล็กซ์ โธมัส แห่งซีเอ็นเอ็น ว่าเขารู้สึกยินดีกับทุกความสำเร็จที่ฟลอยด์ได้รับ เพราะทั้งหมดนั้นเกิดจากการเคี่ยวกรำตนเองอย่างหนักของยอดนักชกชาวอเมริกันผู้นี้

ทางด้านฟลอยด์เองก็ไม่ได้ติดกับอยู่ในภาพอดีตเมื่อครั้งเขาปราชัยต่อนักชกบัลแกเรียเช่นกัน เจ้าตัวเคยระบุก่อนจะขึ้นชกกับปาเกียวว่า ความพ่ายแพ้ในกีฬาโอลิมปิกทำให้เขาต้องมุ่งมั่นทำงานหนักยิ่งขึ้น จนนำมาสู่ความสำเร็จระดับประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

แล้วใครกันคือคนที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด ต่อกรณีการตกรอบของเมย์เวตเธอร์ (และการชวดเหรียญทองโอลิมปิกของโทโดรอฟ)?

21 ปีก่อน แฟนมวยอเมริกันเชื่อว่า “เอมิล เจตเชฟ” ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการผู้ตัดสินนานาชาติของสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (ไอบ้า) คือ ผู้อยู่เบื้องหลังที่ดลบันดาลให้โทโดรอฟเอาชนะเมย์เวตเธอร์ไปอย่างค้านสายตา

น่าแปลกที่โทโดรอฟไม่ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวโดยสิ้นเชิง เขาบอกกับเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ว่ามันเป็นไปได้ที่เจตเชฟ คนชาติเดียวกัน จะ “เล่นกล” บางอย่างจริง

ที่สำคัญกว่านั้น คือ โทโดรอฟดันเชื่อว่า “การเล่นแร่แปรธาตุ” ครั้งแล้วครั้งเล่าของเจตเชฟ ได้ส่งผลให้ตัวเขาเองต้องพลาดเหรียญทองโอลิมปิกอย่างน่าเจ็บใจในเวลาต่อมา

โทโดรอฟย้อนรำลึกความหลังว่าก่อนหน้าการขึ้นชกไฟต์ชิงชนะเลิศแอตแลนต้าเกมส์ไม่นาน เจตเชฟได้เดินเข้ามาในห้องแต่งตัวของเขา และพูดย้ำว่าถ้าโทโดรอฟอยากได้เหรียญทอง เขาจะต้องเอาชนะน็อกนักชกไทยอย่างสมรักษ์ให้ได้

นั่นคือพฤติกรรมสุดแปลกประหลาดของเจตเชฟ ที่โทโดรอฟไม่เคยพบเจอมาก่อน

“ทำไมเขาถึงเข้ามาบอกผมแบบนั้น? ผมเคยเอาชนะคะแนนนักชกไทยคนนี้มาแล้วแบบขาดลอย ในทัวร์นาเมนต์ปรีโอลิมปิก แถมเจตเชฟยังรู้ดีว่าผมเป็นมวยเทคนิคแพรวพราว และไม่ได้หมัดหนักแบบ ไมก์ ไทสัน คำพูดของเขามันจึงส่อนัยชัดเจน จริงๆ แล้ว เขาต้องการจะสื่อสารกับผมว่า “เอ็งกำลังจะต้องขึ้นไปแพ้ว่ะ””

แม้จะพาดพิงและเจ็บปวดกับความพ่ายแพ้ต่อสมรักษ์ ทว่า โทโดรอฟก็ไม่ได้กล่าวปรักปรำนักมวยเหรียญทองโอลิมปิกชาวไทย เป้าโจมตีของเขาคือเพื่อนร่วมชาติอย่างเจตเชฟมากกว่า

อย่างไรก็ดี ความพ่ายแพ้ของโทโดรอฟอาจไม่ได้มาจากเจทเชฟเพียงปัจจัยเดียว เพราะนักชกชาวบัลแกเรียรายนี้ยังถือเป็น “นักกีฬาเสเพลบอย” คนหนึ่ง

ก่อนหน้าแอตแลนต้าเกมส์ โทโดรอฟมีเกียรติประวัติยาวเหยียด ทั้งดีกรีแชมป์มวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลกสามสมัย และแชมป์ยุโรปสองสมัย เขาปราบคู่แข่งฝีมือดีๆ มานักต่อนัก ด้วยลีลาการชกที่พลิ้วไหวงดงาม

“ผมโคตรจะเก่งเลย ผมเป็นนักสู้ที่มีลีลาการชกสวยงามดึงดูดใจแฟนมวย เมื่อขึ้นไปบนเวที คุณต้องมีความเป็นศิลปิน และผมก็คือนักมวยที่เป็นศิลปินบนสังเวียนการต่อสู้” โทโดรอฟกล่าวกับเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส

จุดเด่นของโทโดรอฟอยู่ที่ฟุตเวิร์กอันแคล่วคล่อง แต่จุดอ่อนสำคัญของเขากลับอยู่ที่วินัยและความมุ่งมั่น โทโดรอฟหลงใหลในสตรีเพศและบรั่นดีผลไม้ อันเป็นสุราพื้นเมืองของประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน

กระทั่งโค้ชคู่บุญที่ปลุกปั้นโทโดรอฟมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ก็ยังรับมือกับความไร้วินัยของเขาได้อย่างยากลำบาก

ครั้งหนึ่ง โค้ชเคยล็อกประตูขังโทโดรอฟไว้ในห้องพักไม่ให้ออกไปเที่ยวเตร่ แต่เมื่อโค้ชย้อนกลับมา นักชกเพลย์บอยผู้นี้ก็กระโดดหายตัวไปทางหน้าต่างเสียแล้ว ก่อนจะพบโทโดรอฟในเวลาต่อมา ขณะเขากำลังคลุกคลีอยู่กับบรรดานักกีฬาหญิงที่พักอยู่อีกชั้น

นอกจากนั้น โทโดรอฟยอมรับว่าเขาใช้เวลาฟิตซ้อมแค่สามสัปดาห์ ก่อนจะเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 1996 แถมระหว่างทัวร์นาเมนต์ เขายังแอบออกมาดื่มสังสรรค์กับเพื่อนๆ อยู่เสมอเมื่อมีเวลาว่าง

นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ยอดนักมวยบัลแกเรียเอาชนะนักชกวัย 19 ปี (ในขณะนั้น) อย่างเมย์เวตเธอร์ชนิดหืดจับ ก่อนจะพ่ายแพ้แก่นักชกไทยอย่างสมรักษ์ในรอบชิงชนิดขัดใจเจ้าตัว

โอลิมปิกที่แอตแลนต้ายังก่อร่างสร้างอดีตอันกวนใจโทโดรอฟอยู่อีกหนึ่งเรื่อง

หลังการชกรอบสี่คนสุดท้าย ที่โทโดรอฟเฉือนเอาชนะเมย์เวตเธอร์ไปได้ ทั้งคู่ต้องเข้าไปตรวจโด๊ปตามกติกา

ในห้องตรวจโด๊ปนั่นเอง จู่ๆ ก็มีผู้ชายสามคนเดินเข้ามาหาโทโดรอฟ สองคนเป็นโปรโมเตอร์มวยสากลอาชีพชาวอเมริกัน อีกคนเป็นล่ามแปลภาษา

โปรโมเตอร์คู่นั้นประทับใจในสไตล์การชกของนักมวยทีมชาติบัลแกเรีย และต้องการชักชวนเขาให้เซ็นสัญญาเป็นนักมวยสากลอาชีพที่สหรัฐ

โทโดรอฟบอกปัดการเซ็นสัญญาฉบับดังกล่าวอย่างรวดเร็ว นักชกผู้อับโชคบอกเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนั้นกับซีเอ็นเอ็นว่าเขาปฏิเสธการเทิร์นโปร เพราะมั่นใจว่าในอีกสองวันข้างหน้า ตนเองจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก แล้วกลับบ้านเกิดอย่างยิ่งใหญ่

ที่น่าเจ็บปวดกว่า คือ พอถูกปฏิเสธจากโทโดรอฟ สองโปรโมเตอร์ก็เดินไปเจรจากับเมย์เวตเธอร์ต่อ นั่นเป็นจุดออกสตาร์ตของนักมวยเหรียญทองแดงชาวอเมริกัน ซึ่งจะกลายเป็นตำนานนักชกอาชีพผู้ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

หลังคว้าได้เพียงเหรียญเงินโอลิมปิก โทโดรอฟฆ่าเวลาสองวันในระหว่างรอขึ้นเครื่องบินกลับบัลแกเรีย ด้วยการดวดเหล้าตลอดเวลา

เขาพยายามจะหวนกลับมายิ่งใหญ่บนเวทีมวยสากลสมัครเล่นในปี 1997 เมื่อสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นตุรกีติดต่อทาบทามให้โทโดรอฟโอนสัญชาติ และเข้าแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกในนามทีมชาติตุรกี

แรงจูงใจของสหพันธ์มวยตุรกีไม่อู้ฟู่เท่ากับข้อเสนอของโปรโมเตอร์มวยอาชีพชาวอเมริกัน แต่ผลตอบแทนมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าคว้าเหรียญทองเวิลด์คัพ ก็สามารถจูงใจโทโดรอฟได้อยู่

เขาตอบตกลงที่จะโอนสัญชาติ แต่ทุกอย่างพลันพังทลายลง เมื่อ เอมิล เจตเชฟ (รายเดิม) เรียกร้องให้ทางตุรกีจ่ายเงินเพิ่มอีกก้อนหนึ่งจำนวน 3 แสนเหรียญสหรัฐ เป็นค่าโอนสัญชาติ (ของโทโดรอฟ) ให้แก่สหพันธ์มวยบัลแกเรีย

โทโดรอฟตอบโต้สถานการณ์ดังกล่าวด้วยการตัดสินใจอำลาวงการมวยสากลสมัครเล่น

ต่อมา โทโดรอฟขึ้นชกมวยสากลอาชีพอีกไม่ถึงสิบไฟต์ (และไม่ได้รับความสำเร็จยิ่งใหญ่ใดๆ) เขาเคยทำงานเป็นพนักงานขับรถ, พนักงานร้านขายของชำ และคนงานในโรงงานผลิตไส้กรอก แต่สุดท้าย ก็ไม่มีงานประจำแน่นอน

โทโดรอฟเผยว่าเคยมีผู้ทรงอิทธิพลแถวแหล่งเสื่อมโทรมใกล้ที่พัก ชักชวนเขาให้ไปทำงานใน “ธุรกิจใต้ดิน” แต่เขาปฏิเสธ

หลายครั้งโทโดรอฟมักครุ่นคิดว่าถ้าเมื่อปี 1996 เขาแพ้เมย์เวตเธอร์ตั้งแต่รอบรองชนะเลิศในกีฬาโอลิมปิกไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด เขาก็อาจมุ่งมั่นชกมวยสากลสมัครเล่นต่อไป เพื่อคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้สักวันหนึ่ง

นอกจากนี้ เขายังไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ตนเองได้ละทิ้งโอกาสในการขุดทองที่อเมริกาไปใช่หรือไม่? และตนเองถูก “เล่นกล” ในไฟต์ชิงชนะเลิศที่แอตแลนต้า (อย่างที่เจ้าตัวเชื่อ) จริงหรือเปล่า?