‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’ จากการศึกษาของปราชญ์ล้านนารูปสำคัญ ‘พระครูอดุลสีลกิตติ์’ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง’

จากการศึกษาของปราชญ์ล้านนารูปสำคัญ

‘พระครูอดุลสีลกิตติ์’

 

หลังจากที่สัปดาห์ก่อนได้เปิดประเด็นเรื่อง “นายคาร์ล บ็อค” ใช้เล่ห์เหลี่ยมโยกย้ายเอาพระพุทธรูปสำริดขนาดเขื่องไม่ต่ำกว่า 5 องค์จากเมืองฝางไปไว้ที่ยุโรปแล้วนั้น

สัปดาห์นี้ขอเริ่มต้นกระบวนการศึกษาเรื่อง “พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง” ผ่านผลงานการค้นคว้าเรียบเรียงของ “ปราชญ์ล้านนา” รูปสำคัญคือ “พระครูอดุลสีลกิตติ์” เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ และเจ้าคณะตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พระครูอดุลสีลกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ เจ้าคณะตำบลหายยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองฝาง

ส่วนสัปดาห์หน้า จะเป็นมุมมองของดิฉันที่มีต่อ “พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง” ในลำดับถัดไป

พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ประพัฒน์ ฐานวุฑฺโฒ นามสกุลเดิม บุญชุ่ม) เป็นชาวเมืองฝางโดยกำเนิด ท่านเกิดที่หมู่ 3 ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2497 ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 12 ปี ณ วัดศรีมงคล กระทั่งอายุ 20 ย่าง 21 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเจดีย์งาม โดยมีพระครูโสภณเจติยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาพระครูอดุลสีลกิตติ์ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ คือวัดหัวฝาย (2514) วัดหมื่นสาร (2515-2528) และวัดธาตุคำ (2528-ปัจจุบัน) ตามลำดับ ทว่า ด้วยจิตวิญญาณของนักการศึกษา ผู้ใฝ่รู้ ทำให้ท่านไม่เคยทิ้งข้อสงสัยที่มีต่อ “พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง” เลย

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “ทำไมพระพุทธรูปสกุลช่างนี้ จึงมีความแตกต่างไปจากพระพุทธรูปล้านนากระแสหลักที่เรียกว่า พระ (เชียงแสน) สิงห์ 1-3 อย่างเห็นได้ชัด?”

 

พระพุทธรูปศิลปะลุ่มแม่น้ำฝาง

จากหนังสือ “60 ปีวัดศรีถ้อย” ที่ท่านพระครูอดุลสีลกิตติ์ได้เรียบเรียงเรื่อง “พระพุทธรูปศิลปะลุ่มแม่น้ำฝาง” ไว้ ตีพิมพ์เมื่อปี 2561 ตั้งแต่หน้า 33-43 ท่านได้ทำการศึกษา วิเคราะห์แบ่งกลุ่มพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางไว้เบื้องต้นหลากหลายรูปแบบ โดยจำแนกหมวดหมู่ตามลักษณะฐานของพระพุทธรูปเป็นหลัก

หนังสือ 60 ปีวัดศรีถ้อย ด้านในมีบทความเรื่อง “พระพุทธรูปลุ่มแม่น้ำฝาง”

ก่อนที่จะเจาะลึกถึงเรื่องหมวดหมู่ของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง ว่าในมุมมองของท่านพระครูอดุลสีลกิตติ์ใช้เกณฑ์การแบ่งอย่างไรนั้น

เบื้องแรกนี้ขอหยิบยกประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการก่อเกิดเมืองฝางที่ท่านพระครูอดุลสีลกิตติ์ได้นำเสนอแบบสังเขป มาให้อ่านกันก่อน

โดยเนื้อหาส่วนนี้อยู่ในหน้าที่ 33-34 ซึ่งดิฉันขอหยิบยกมาทั้งหมดโดยมิได้ตัดทอนหรือเพิ่มเติมบทวิเคราะห์ใดๆ ดังนี้

จุดที่แม่น้ำฝางบรรจบกับแม่น้ำกก เรียก “สบฝาง” อยู่ในอำเภอแม่อาย

“แม่น้ำฝางเป็นสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงที่ราบลุ่มน้ำฝาง มีต้นกำเนิดอยู่ที่ดอยบุกป่าแฝกห้วยขุนฝางและห้วยยางในเขตอำเภอไชยปราการ ติดต่ออำเภอพร้าว ได้ไหลขึ้นมาทางทิศเหนือเป็นแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำฝาง ซึ่งแม่น้ำฝางมีความยาว 70 กิโลเมตร ไหลผ่าน 3 อำเภอ คือ ไชยปราการ ฝาง แม่อาย ไปบรรจบกับแม่น้ำกกที่ตำบลท่าตอนอำเภอแม่อาย เรียกบริเวณนั้นว่าสบฝาง

สมัยก่อนเมืองต่างๆ ในที่ราบลุ่มแม่น้ำฝางมีหลายเมือง และคงเจริญรุ่งเรืองในด้านพุทธศาสนามาก เพราะปรากฏว่ามีการค้นพบวัดร้างเป็นจำนวนหลายร้อยวัด และค้นพบพระพุทธรูปขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่และน้อยหลายพันองค์ ได้ถูกนำเอาไปจากฝางไปก็มี ยังคงค้างตามบ้านเรือน วัดวาอารามในเขตสามอำเภอคือ ฝาง แม่อาย ไชยปราการ ซึ่งแต่ก่อนเป็นอำเภอเดียวกันก็มี

ภาพประกอบตัวอย่างการแบ่งกลุ่มพระพุทธรูปสกุลช่างฝางตามลักษณะฐาน จากการศึกษาของพระครูอดุลสีลกิตติ์

เมื่อเมืองฝางถูกทิ้งร้างอย่างถาวรไปประมาณ 69 ปี เมืองฝางรกร้างมาถึงประมาณ พ.ศ.2416 จึงได้มีเจ้าตระกูลเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าคณะล่าสัตว์มาพบและสร้างค่ายพักอยู่เป็นเวลานาน เก็บได้ทั้งงาช้าง เขาสัตว์ ล่าเสือและกวางได้หลายตัว และค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุหลายอย่าง

พบกำแพงเมืองเก่า ซากปรักหักพังของเจดีย์ วัด วิหาร ร่องรอยของคุ้ม วังกษัตริย์ พระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้งชำรุดและสมบูรณ์ก็มีอยู่ไม่น้อย จึงนำกลับเชียงใหม่แล้วนำขึ้นถวายเจ้านครเชียงใหม่ให้ทรงทราบ จึงได้สอดส่องตำนานดู ก็ทราบว่าเป็นเมืองฝาง จึงให้คนสนิททั้งสองพาไพร่พลไปแผ้วถางที่ทางตั้งเมืองขึ้นใหม่

คนเก่าเล่าว่าเมื่อแรก “พระยาสุริโยยศ” มาตั้งเมืองฝางครั้งแรก มีหมู่บ้านเพียงแห่งเดียวคือบ้านห้วยงู (นอก) ประมาณสิบกว่าหลังคาเท่านั้น การมาตั้งเมืองฝางครั้งนี้ต้องใช้เวลานานหลายปีจึงมีราษฎร จากสารภี หางดง สันป่าตอง จอมทอง สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง แม่ริม แม่แตง จากรัฐฉานพวกไทใหญ่อพยพมาตั้งรกราก เมืองฝางจึงเจริญมาจนทุกวันนี้

เมื่อวัดวาอารามรกร้าง พวกที่อพยพมาอยู่ใหม่ก็ได้ทำการฟื้นฟูวัดร้างเก่าบ้าง สร้างใหม่โดยนำพระพุทธรูปเก่าจากวัดร้างมาไว้ในวัดที่สร้างใหม่บ้าง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสกุลช่างฝาง มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างเชียงแสน เชียงใหม่ และลาว

พระพุทธรูปส่วนมากจะมีหน้าตักตั้งแต่ 2 นิ้วถึง 50 นิ้ว มีอายุการสร้างอยู่ในระหว่าง พ.ศ.1800-2200 หลังจากนั้นมาไม่ค่อยพบจารึกการสร้างที่ฐานพระอีก คงเป็นเพราะเปลี่ยนผู้ครองเมืองบ่อย มีศึกสงครามยืดเยื้อ ช่างถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เมืองร้าง

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นแห่งพระฝาง

1. พระพักตร์ยาวรูปไข่

2. มีไรพระศกเป็นขอบเกศา

3. เม็ดพระศกละเอียดเหมือนหนามขนุน

4. พระหัตถ์เรียวยาวไม่เสมอกัน

5. พระศอยาว

6. มีฐานแบบต่างๆ ดังนั้น ได้นำเอาภาพพระพุทธรูปฝางซึ่งขออนุญาตเจ้าอาวาสหลายวัดถ่าย นำมาลงประกอบให้ดู

พระสกุลช่างเมืองฝาง รูปแบบที่พระครูอดุลสีลกิตติ์ระบุว่ามีลักษณะผสมของศิลปะลาวล้านช้าง ในวัดเจดีย์งาม เนื่องจากทำชายสบงชั้นล่างบานงอนม้วนเป็นก้านขดแบบศิลปะล้านช้าง

จากนั้น พระครูอดุลสีลกิตติ์ได้จำแนกรูปแบบพระสกุลช่างเมืองฝางตามลักษณะฐานไว้เป็น 9 กลุ่ม แต่ละกลุ่มนำเสนอตัวอย่างจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง โดยไม่ระบุที่มาของวัด

ก. ฐานสูงเกลี้ยง (ตัวอย่าง 7 องค์)

ข. ฐานสูงมีลวดลาย (ตัวอย่าง 3 องค์)

ค. ฐานสูงหลายชั้นมีบัวคว่ำหงายรองรับพร้อมกลีบเกสรบัว (ตัวอย่างมากถึง 27 องค์)

ง. ฐานสูงหลายชั้นเกลี้ยงไม่มีบัว (ตัวอย่าง 6 องค์)

จ. ฐานเขียงต่ำ (ตัวอย่าง 8 องค์)

ฉ. ฐานมีปล่องกุญแจ (หมายเหตุ ศัพท์ทางโบราณคดีเรียก ช่องเมฆ/ช่องลูกฟัก ตัวอย่าง 6 องค์)

ช. ฐานสำเภา (ตัวอย่างเพียงองค์เดียว)

ซ. ฐานพระยืน (ตัวอย่าง 4 องค์)

ฌ. ฐานพระนอน (ตัวอย่างเพียงองค์เดียว)

ที่วัดพระบาทอุดมสิน มีพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางขนาดใหญ่ราว 10 องค์ หลายองค์มีจารึกที่ฐาน

นอกจากจำแนกกลุ่มพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางตามความแตกต่างของฐานรูปแบบต่างๆ แล้ว

ท่านพระครูอดุลสีลกิตติ์ยังได้ตั้งข้อสังเกตเป็นบทส่งท้ายอีกด้วยว่า ยังมีพระสกุลช่างฝางที่เป็นศิลปะผสมอีก 4 กลุ่ม

ได้แก่ 1.พระฝางผสมเชียงแสน 2.พระฝางผสมลพบุรี (กลุ่มนี้คงมีไม่มากนัก) 3.พระฝางผสมเชียงใหม่ 4.พระฝางผสมลาว (ล้านช้าง)

บทความเรื่อง “พระพุทธรูปศิลปะลุ่มแม่น้ำฝาง” ของพระครูอดุลสีลกิตติ์ พรรณนาจบแต่เพียงเท่านี้

ทว่า องค์ความรู้ที่ดิฉันและคณะนักวิชาการได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงของวัดมากกว่า 10 แห่งในเขตอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยรับความเมตตาจากท่านพระครูอดุลสีลกิตติ์ พาชมพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางชิ้นสำคัญตามวัดต่างๆ นั้นยังไม่จบ (ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ)

โปรดติดตามต่อฉบับหน้า