กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา เร่งบิ๊กร็อก 2 กระตุ้นแอคทีฟเลินนิ่ง รับเปิดเทอม นำร่อง 102 สถานศึกษา ใช้โมเดลเรียนรู้ โรงเรียน – ชุมชน อัพความรู้ด้านเกษตรกรรมวิถีพอเพียง

กรุงเทพฯ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชูโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” หนุนพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้จากการใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เป็นฐาน (PBL) พร้อมเชื่อมโยงกับอารยธรรมในท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ตอกย้ำเป้าหมายของกิจกรรมปฏิรูปการศึกษาในการพัฒนาบิ๊กร็อกที่ 2 การจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ หรือการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่ง รับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ ได้นำร่องโครงการดังกล่าวในสถานศึกษาจำนวน 102 แห่ง เพื่อค้นหาแนวทางที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพก่อนจะขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต โดยมีเป้าหมายการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตเป็น “อารยเยาวชนไทย” ที่มีทักษะทั้งด้านปัญญาและจิตใจเป็นพลังสำคัญของชาติ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า โครงการอารยเกษตรสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตเป็น “อารยเยาวชนไทย” ที่มีทักษะด้านวิชาการความรู้ มีจิตใจใฝ่คุณธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้และสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ พร้อมนำแนวคิด “การใช้ปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้ง” (Problem-Based Learning: PBL) มาประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยอาศัยความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นในการค้นหาอารยธรรมในพื้นที่ที่มีมาแต่ดั้งเดิม สู่การสร้างกระบวนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ อาทิ 1.หลักสูตรผู้ประกอบการอารยเกษตร สร้างทักษะการเป็นเจ้าของกิจการให้สามารถสร้างอาชีพและรายได้ด้วยตนเอง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการว่างงานในภาวะปัจจุบัน 2. หลักสูตรปฏิบัติการอารยเกษตร เปิดวิชาที่ผู้เรียนสนใจขึ้นมาใหม่เพื่อนำไปต่อยอดเป็นทักษะอาชีพ

ดร.วิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า โครงการดังกล่าวมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของบริบทสังคมและโลกได้ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้รูปแบบเดิมที่เน้นการเรียนการสอนจากเนื้อหาในตำราไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 หรือ บิ๊กร็อกที่ 2 ที่กำลังเร่งดำเนินการขยายผลไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้เรียนได้เผชิญหน้ากับปัญหาด้วยตนเอง ได้ฝึกทักษะในหลายมิติจากการเรียนรู้ในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจและประสบการณ์จริงให้กับผู้เรียน โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญคือผู้เรียนและชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ทั้งนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง ระยะที่ 1 จำนวน 102 โรงเรียน

โดยล่าสุดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการอารยเกษตรฯ เครือข่ายอารยลุ่มน้ำลี้ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ลำพูน เขต 2 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน เพื่อศึกษาตัวอย่างแนวทางพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่ถูกปรับให้เข้ากับบริบทของชุมชนและอารยธรรมท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่า “สิ่งสำคัญก่อนที่จะขยายผลต่อยอดไปยังสถานศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ จำเป็นต้องสร้างโมเดลต้นแบบที่ชัดเจน โดยตัวแปรที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา คณะครู นักเรียนและผู้ปกครอง ต้องเกิดความรู้ความเข้าใจในบริบทและอารยธรรมของพื้นที่ของตนเอง เพื่อที่จะเชื่อมโยงศักยภาพในพื้นที่กับกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนได้ จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันของเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างเยาวชนให้เติบโตไปเป็นพลังของชาติ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยเฉพาะการสนับสนุนของศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ที่เป็นพลังสำคัญอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการปฏิรูปการศึกษา” ดร.วิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022  ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22