คุยกับ ‘อาจารย์อนุชาติ’ ดราม่าหลักสูตร ‘สาธิต มธ.’ เมื่อผู้มีอำนาจหวั่นบิดเบือนประวัติศาสตร์ สะท้อนชัด ขังการศึกษาไทยไม่ให้พัฒนา/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

คุยกับ ‘อาจารย์อนุชาติ’

ดราม่าหลักสูตร ‘สาธิต มธ.’

เมื่อผู้มีอำนาจหวั่นบิดเบือนประวัติศาสตร์

สะท้อนชัด ขังการศึกษาไทยไม่ให้พัฒนา

 

ดราม่าที่ไม่น่าจะเกิดก็เกิด เมื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจตราดูหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยความเป็นห่วง กลัวว่าอาจจะมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน

เท้าความย้อนไปถึงต้นสายปลายเหตุ เกิดขึ้นภายหลังที่ ‘รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี’ อดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าได้เชิญ ‘ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล’ ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่ ม.วิสคอนซิน แมดิสัน มาเยี่ยมชมห้องเรียน ดูการสอน และเล่าสรุปรายงานการศึกษา ‘แนวทางการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์’ ให้กับทีมครูโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา

ผนวกรวมกับบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.อนุชาติ บนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ mappa ที่นำคำพูดจากบทสัมภาษณ์บางช่วงบางตอนมาเผยแพร่ อาทิ

“เราไม่ใส่เครื่องแบบ ไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม ไม่มีวิชาลูกเสือ เนตรนารี ไม่สอนวิชาพระพุทธศาสนา ไม่ให้เด็กมายืนเคารพธงชาติตอนเช้า ไม่มีสวดมนต์ตอนเช้า แต่เรามีคำตอบในการอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่า เราจะใช้อะไรมาเป็นกติกาในการสร้างความเป็นระเบียบวินัยของเด็ก”

“หลายวิชาเราสลัดทิ้ง เช่น วิชาลูกเสือ เนตรนารีก็เปลี่ยนเป็นวิชาอยู่รอดปลอดภัย รื้อเนื้อใหม่หมด เรียนทำไมเงื่อน ปม หรือแบกธง ก็เปลี่ยนเป็นซ้อมหนีไฟ เวลาไฟไหม้ดับไฟเป็นมั้ย ปฐมพยาบาลให้เป็น ว่ายน้ำก็ไม่มุ่งกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ แต่เอาพัฒนาการด้านร่างกายก่อน ครูพละต้องตอบโจทย์ว่า ถ้าเด็กตกน้ำ ต้องรอด เอาแค่นี้ ไม่ต้องมาผีเสื้อกับผม”

ก่อนจะมีนักวิชาการอิสระชื่อดัง นำโพสต์ดังกล่าวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยตั้งคำถามระบุว่าเป็น “การศึกษาหรือล้างสมอง” พร้อมส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจให้ตรวจสอบ

 

ขณะที่ทางโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อสาธารณชน ยืนยันว่าทางโรงเรียนสอนเด็กให้รู้จักคิด เคารพความหลากหลาย โดยชี้แจงและทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง โดยโรงเรียนร่วมทำงานกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมเยาวชนสำหรับการเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลกที่พร้อมใช้วิจารณญาณในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน

2. โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนบนฐานความรู้ที่ทันสมัย ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น และมีความเหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียน นอกจากวิชาสาระหลัก โรงเรียนยังได้จัดให้มีการสอนในวิชาต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชารู้ทันการเงิน วิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสี่ยง วิชาผู้ประกอบการ วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา) เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง

3. โรงเรียนมีเป้าหมายในการบ่มเพาะเยาวชน ให้เป็นผู้มีจิตสำนึกพลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นพลเมืองโลกที่ยึดโยงกับบริบทของสังคมไทย มีทักษะและสมรรถนะแห่งอนาคต รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการกำกับตนเอง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานเป็นทีม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณลักษณะดังกล่าว

ในตอนท้าย แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนตระหนักดีว่า การบุกเบิกสร้างการเปลี่ยนแปลงไปเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจตนารมณ์ในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป”

 

เรื่องนี้ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างหนัก และชื่นชมการบริหารจัดการของสาธิตธรรมศาสตร์ ที่สอดรับไปกับวิวัฒนาการยุคสมัยใหม่ จนทำให้คนยุคเก่า ที่อยู่กับชุดความคิดเก่าๆ รับไม่ได้

เรื่องนี้ ‘รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี’ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง’ ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น

“ระบบการศึกษาของบ้านเรามีปัญหาค่อนข้างเยอะอย่างที่ทราบกันดี อันนี้จึงเป็นหน้าที่หลัก ถ้าเป็นภาษาที่ใช้กันในปัจจุบันก็คือเป็น sand box คือโรงเรียนมีหน้าที่ทดลอง ลองผิดลองถูก อะไรที่ดีก็พัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น อะไรที่คิดว่าเป็นปัญหาก็ต้องรื้อถอนหรือปรับให้มันดี”

“เราอยากจะทำหลักสูตรที่ดีที่สุดเท่าที่คนไทยจะทำได้ เพื่อตอบโจทย์ในอนาคตของคนไทย เราพูดกันเล่นๆ ว่า ทำไมประเทศไทย เวลาจะพูดถึงโรงเรียนที่ดีต้องเป็นโรงเรียนนานาชาติ เรามีโรงเรียนของคนไทยที่มีคุณภาพระดับสากลได้ไหม”

“ถามว่าแล้วเราจะทำโรงเรียนที่ตอบโจทย์นี้ได้อย่างไร ก็ต้องมาดูว่าปัญหาหลักของระบบการศึกษามันคืออะไร ทำไมเด็กไปโรงเรียนแล้วมีความทุกข์ ไม่อยากเรียน ผมใช้คำที่พูดบ่อยๆ ว่าการศึกษาเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน คุณครูที่สอนหนังสืออยู่ก็มีความทุกข์ ผู้บริหาร ผอ.โรงเรียนก็มีความทุกข์ ผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไปอีกขยับขึ้นมาถึงกระทรวง ทุกคนมีความทุกข์ รัฐมนตรีก็มีความทุกข์นะครับ ผู้ปกครองยิ่งทุกข์หนัก”

“ในอดีตที่ผ่านมา ระบบการศึกษามันอาจจะออกแบบไว้สำหรับคนเบบี้บูมเมอร์ Gen-X, Gen-Y แปลว่าวิธีการเรียนรู้ของเด็กในยุคนี้เขาเปลี่ยนไปแล้ว ในฐานะคนที่จะทำสถาบันการศึกษา ก็ต้องปรับตัวให้ได้ เพื่อจะตอบสนองกับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก เข้าใจเด็ก ซึ่งมันอาจจะไม่ถูกกับขนบเก่าๆ”

 

เมื่อถามถึงแรงต้านในสังคม ที่คนบางกลุ่มอาจจะเห็นต่างกับสิ่งที่สาธิตธรรมศาสตร์กำลังทำ ‘รศ.ดร.อนุชาติ’ มองว่าเป็นเรื่องปกติ ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงจะมีแรงต่อต้านเกิดขึ้นเสมอ

“สังคมวงใหญ่ถามว่ามันเร็วเกินไปหรือเปล่า ก็อยากจะบอกว่าสิ่งที่เรากำลังทำถึงแม้จะเป็นมุมเล็กๆ มันช้าไปด้วยซ้ำสำหรับสังคมบ้านเรา ถ้าถอยไปอีกสัก 20 ปี ถ้าเราทำก็จะดีมาก อย่าลืมว่าตอนนี้ประชากรของเราลดลงอย่างมโหฬาร เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดใหม่ลดลงตลอดเวลา เด็กรุ่นนี้กำลังกลายเป็นผู้ใหญ่ เป็นอนาคต รุ่นพวกเราก็จะเริ่มสูญสลายไปตามวัฏจักร ทีนี้ถามว่าแล้วเราจะให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมามีคุณภาพแบบไหน การเรียนที่มันล้มเหลวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผลักเด็กให้หลุดออกไปจากระบบอีกจำนวนมหาศาล”

“ฉะนั้น ในมุมของผมในฐานะที่ทำเรื่องการศึกษา เราไม่อยากจะสูญเสียเด็กสักคนเดียว ในทางกลับกัน เรามีความจำเป็นเร่งด่วนทุกภาคส่วนในสังคม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องจับมือและร่วมกันสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพขึ้นมา”

 

‘รศ.ดร.อนุชาติ’ ยังได้เผยถึงปรากฏการณ์ ‘นักเรียนเลว’ ที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา ว่าคือเสียงสะท้อนความโกรธที่อยู่ข้างในของเด็กต่อระบบการศึกษาไทย

“ระบบการศึกษาไปปิดกั้นพื้นที่ของเขา ไปโรงเรียนแล้วไม่มีความสุข ไปโรงเรียนแล้วต้องเจอกับคำถามซึ่งเขารับไม่ได้ ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากความประสงค์ร้ายจากคุณครู แต่ระบบทั้งหมดมันบอกให้เราทำแบบนี้ เราคุ้นชินว่าอันนี้คือความถูกต้องแบบของเรา แต่ว่าไม่ถูกต้องในแบบของเด็ก เด็กเขาจึงมีวิธีการตอบสนองต่อโลกภายนอกที่แตกต่างกับพวกเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเลว”

“อยากให้ถอยมาดูถึงสาเหตุหรือรากของปัญหาใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องมีหน้าที่ให้อภัยเด็ก แล้วฟังเขาเยอะๆ เปิดใจให้เขา เราถึงจะได้ยินเสียงเขา ถ้าเราไปติว่าเขาสาดสีแปลว่าเด็กเลว ผลักเขาออกไป เราจะไม่ได้ยินสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่อยู่ในใจเด็ก”

ดราม่าหลักสูตรของสาธิตธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่สะท้อนภาพชัดเจนว่าผู้มีอำนาจในบ้านเรา ยังคงหวาดกลัวระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม โดยเอาแต่ยัดเยียดชุดความคิดที่เก่าคร่ำครึ และขังการศึกษาไทยไม่ให้พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น