ขอแสดงความนับถือ ประจำวันที่ 11-17 กุมภาพันธ์ 2565 ฉบับที่ 2165

 

ขอแสดงความนับถือ

 

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ วางแผงคาบเกี่ยว “วันแห่งความรัก”–14 กุมภาพันธ์

บรรยากาศทั่วไปไม่ใคร่หวานชื่นสักเท่าไหร่

โรคระบาดยังส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม

ยิ่งมองไปในสภา รัฐบาลตอนนี้

คำว่า “รัก” ยิ่งดูจะเหือดแห้ง

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลาง “ความไม่หวาน” ดังกล่าว

“มติชนสุดสัปดาห์” ก็ใช่จะไร้รัก (ฮา)

ยังมีของขวัญแห่งความรักมอบให้ผู้อ่านได้ชื่นใจบ้าง

 

พลิกไปที่หน้า 70 และหน้า 71

ด้านหนึ่ง จะพบคอลัมน์ “หลังเลนส์ในดงลึก” ของ “ปริญญากร วรวรรณ” ที่คุ้นเคยกันดี

คุ้นเคยกับ “ภาพ” และ “เรื่อง” ของ “ชีวิต” ในป่า ทั้งสัตว์ และคน

พร้อมกับได้เห็น “พัฒนาการ” จากภาพและเรื่องของ “ปริญญากร” มาโดยตลอด

เมื่อปลายปีที่แล้ว (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2564) ปริญญากรได้แย้มๆ ผ่านข้อเขียนและภาพ ไว้ว่า

“…ผมไม่แน่ใจนักว่า เริ่มต้นการถ่ายรูป แบบ ‘ไม่ชัด’ และ ‘มืด’ ตั้งแต่ตอนไหน

อาจตั้งแต่วันที่ผมพบว่า “เห็น” สัตว์ป่าจริงๆ เมื่อละสายตาจากช่องมองภาพ

เริ่มการมองพวกมันด้วยสายตาที่ผ่านหัวใจ

รูปไม่ชัด

สัตว์ตัวนิดเดียว

มืด

…ผมอธิบายถึง ‘ความไม่ชัด’ ของรูปบ้าง แต่คงไม่ชัดเจนนักว่า ทำไม

หากใช้คำพูดหรูๆ คงพูดได้ว่า เพราะความแจ่มชัดมันอยู่ข้างใน

ภาพสัตว์ป่า ในวันที่แหล่งอาศัยยังคงถูกคุกคาม ปัญหาที่พวกมันกำลังเผชิญ ดูคล้ายกับว่าถูกบังคับให้เหลือเพียงถนนเส้นเล็กๆ เส้นเดียวให้เดิน

ความเป็นชีวิตของพวกมัน ถูกมองเห็นเป็นแค่ภาพอันพร่าเลือน

พร่าเลือน และจะ ‘เลือนหาย’ ไปในเวลาไม่นาน…”

นั่นเป็นสิ่งที่ช่างภาพ “ในป่า” อย่างปริญญากร วรวรรณ สื่อถึงความไม่ชัดและมืดให้เราได้สัมผัส

 

เคียงข้างกัน จะพบกับคอลัมน์ใหม่ “เอกภาพ”

“เอก” คือชื่อเล่นของ “พิชัย แก้ววิชิต”

ชายผู้มีเลข 4 นำหน้า

อาชีพวินมอเตอร์ไซค์เบอร์ 3 แห่งราชเทวี

เป็นคนพะเยา แต่มาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 8 ขวบ

อาศัยห้องเช่าเล็กๆ ห้องเดียวในสลัม มีทั้งพ่อ แม่ และน้องๆ อีก 2 คน รวม 5 ชีวิต

ดิ้นรนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่รับจ้างเข็นผลไม้ในตลาดมหานาค

จนมาจบที่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างกว่ายี่สิบปี

 

ระหว่างวิ่ง “วิน” เอกใช้เวลาว่างเรียน กศน. จนจบมัธยมปลาย และเลือกเรียนต่อด้านการถ่ายภาพ การล้างฟิล์ม จากวิทยาลัยสารพัดช่าง ก่อนไปเรียนต่อคณะมนุษยศาสตร์จนจบปริญญาตรี

หวังหลุดพ้นวินมอเตอร์ไซค์เสียที

แต่การเริ่มงานใหม่ในช่วงอายุมากและไม่มีประสบการณ์ ต้องแลกกับเงินเดือนขั้นต่ำ ไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว

จึงต้องวิ่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเหมือนเดิม

เมื่อไปไหนไม่ได้

“เอก” ก็เริ่มหาพื้นที่ให้ตัวเองได้ผ่อนคลายบ้าง

นั่นคือจุดเริ่มต้นการถ่ายภาพของเขา

เริ่มต้นด้วยโทรศัพท์มือถือ ก่อนตัดสินใจซื้อกล้อง โดยนำรถจักรยานยนต์คู่กายไปจำนำ

เมื่อได้กล้องมาแล้ว ก็ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถเดินทางไปถ่ายภาพวิวสวยๆ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตกได้ เนื่องจากต้องหากินอยู่ในเมืองหลวง

เขาจึงเลือกเป็น “ช่างภาพเมือง” ถ่ายภาพกรุงเทพฯ ในมุมมองของตนเอง

โดยมองผ่านศิลปะพื้นฐานง่ายๆ เส้น แสง เงา รูปร่าง สี

แต่ที่สุดความง่ายนั้น ได้กลายเป็นสไตล์ของตนเองในที่สุด

 

รูปแรกที่ถ่ายลงอินสตาแกรม คือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ปรากฏว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาแสดงความคิดเห็นและชื่นชมภาพถ่าย

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งชีวิตการเป็นช่างภาพ

“เวลาผมถอดเสื้อวินแล้วไปถือกล้องเดินถ่ายรูป ผมรู้สึกเหมือนว่าเราอยู่กับตัวเอง ผมตามหาตัวตนนี้มานานแล้ว อีกโลกหนึ่งเราพยายามดูแลครอบครัวให้อยู่รอด และตัวเราก็มาอยู่อีกโลกหนึ่ง มันเป็นโลกที่ประกอบไปด้วยเส้น แสง เงา รูปร่าง รูปทรง”

ในที่สุดภาพถ่ายของ “เอก” เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ

แกลเลอรีหลายแห่งเปิดให้งานของเขาได้แสดง

ทำให้เอก-พิชิต แก้ววิชิต กลายเป็นช่างภาพเมือง ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

และวันนี้ เขามีคอลัมน์ “เอกภาพ” ในมติชนสุดสัปดาห์

เป็นช่างภาพ “เมือง” ที่ให้มุมมองลึกซึ้งเคียงคู่กับช่างภาพ “ป่า” ปริญญากร วรวรรณ

นี่เป็นของขวัญแห่งความรัก ที่มติชนสุดสัปดาห์ขอมอบให้ผู้อ่าน