ฉัตรสุมาลย์ : ศัพท์พระ

เวลาที่สอนชาวต่างประเทศ ประเด็นหนึ่งที่ปรากฏชัดคือความแตกต่างในการใช้ภาษา ทำให้เป็นที่มาของการทำความเข้าใจว่า ประเทศไทยนั้น แม้ไม่มีระบบวรรณะ (caste) เหมือนชาวอินเดีย แต่อย่างหนึ่งที่มีคือ โดยการพิจารณาจากภาษาไทยมีชั้นค่ะ (class) ในการใช้ภาษา เรามีอย่างน้อยที่สุด 3 ชั้น คือชั้นสามัญชน ชั้นพระ และชั้นกษัตริย์

คำว่า กิน สามัญชนใช้ พอเป็นพระ ว่า ฉัน พอเป็นเจ้า ว่า เสวย เป็นต้น

ราชาศัพท์ เป็นกลุ่มคำที่ใช้กับเจ้านายนั้น เปลี่ยนทั้งประธาน กิริยา และกรรมของประโยคทีเดียว

และชนชั้นเจ้านายชั้นสูงที่ต้องใช้ราชาศัพท์เช่นนี้ ก็เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยมาก ถึงมากที่สุด

โอกาสที่ชนชั้นสามัญจะได้ใช้คำราชาศัพท์จึงมีน้อยมาก ถึงมากที่สุด

แต่พอเป็นพระต้องรู้ราชาศัพท์ทันที เพราะต้องพูดถึงเรื่องราวของเจ้านาย

ในพุทธศาสนาเจ้านายที่สำคัญคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นเจ้าชาย บริบททั้งหมดที่จะพูดถึงพระองค์ท่านจึงต้องเป็นราชาศัพท์ทั้งสิ้น

ชีวิตของพระภิกษุ ภิกษุณีอาจจะไม่ได้สัมผัสกับเจ้านายที่เป็นมนุษย์เดินดินจริงๆ แต่เรื่องที่ต้องศึกษาเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องใช้ราชาศัพท์ทั้งสิ้น

ตรงนี้เองที่เป็นความยากลำบากของผู้ที่เข้ามาในแวดวงพระสงฆ์ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้น

 

หลังสวดมนต์เย็นแล้ว ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี พระภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี ต้องเวียนกันฝึกเทศน์ ปัญหาเรื่องภาษาราชาศัพท์จึงปรากฏชัดเจนว่า พระมีปัญหามาก นอกจากต้องเรียนภาษาบาลีแล้ว ยังต้องใช้ราชาศัพท์ให้ถูกต้องด้วย

คำทั่วๆ ไปที่ใช้กันผิดบ่อยๆ คือคำว่าอนุญาต ในไลน์ และเฟซบุ๊ก บ่อยครั้งที่เขียนว่า อนุญาต อนุญาตแปลว่ายินยอม ไม่ใช่ญาติ ในความหมายว่าญาติพี่น้องค่ะ

ลองจำประโยคว่า “ถ้าไม่มีญาติมารับ ไม่อนุญาตให้ไป” จะได้ไม่สับสน

คำว่า สงค์ สงส์ และสงฆ์ ที่ใช้กันมั่วๆ อยู่

อานิสงส์ แปลว่า ผล เช่น อานิสงส์จากการทำทานจะทำให้เราไม่อดอยาก ใช้ ส์

อุตตราสงค์ แปลว่า จีวรผืนที่ใช้ครอง ใช้ห่ม คือ จีวร ใช้ ค์

สงฆ์ หมายถึงพระที่มีจำนวนสี่รูปขึ้นไป คำนี้ใช้ ฆ์

บางครั้งนักข่าวต้องการพูดว่าพระภิกษุ แต่ไปเขียนว่า พระสงฆ์ คำนี้ผิดบ่อยๆ นักข่าวอาจจะต้องเข้าหลักสูตรพิเศษสัก 2 ชั่วโมง พระภิกษุ ใช้เป็นเอกพจน์ พระภิกษุ 2-3 รูป ถ้าใช้พระภิกษุสงฆ์ หมายถึง 4 รูป หรือมากกว่า

อีกคำหนึ่งที่เห็นใช้ผิดบ่อยๆ คือคำว่า บิณฑบาต มักเขียนเป็นบิณฑบาตร มีหลักการจำในประโยคนี้ค่ะ

“พระถือบาตรไปบิณฑบาต”

บาตร ในคำว่า บิณฑบาต มาจากภาษาบาลีว่า ปาต แปลว่า ตก บิณฑ มาจากคำว่า ปิณฑ เช่น พุ่มทรงข้าวปิณฑ์ ปิณฑ แปลว่า ก้อนข้าว ปาต แปลว่า ตก คือ ก้อนข้าวตกลงในบาตร

พอมีหลักการจำโดยเข้าใจในความหมายก็จะไม่ผิดอีก

 

พระภิกษุท่านเรียกตัวเองว่า “อาตมา”

ตอนที่ท่านธัมมนันทาออกบวชใหม่ๆ ก็เรียกตัวเองว่า “อาตมา” โดนชาวบ้านด่าเยอะ ว่า ทำตัวเทียมพระ ท่านก็ว่า ก็ท่านเป็นพระจริงๆ นะ

คำว่า “อาตมา” เป็นผู้หญิงค่ะ

พระภิกษุควรใช้ว่า “อาตมะ” เสียงสั้น

แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีพระภิกษุณี พระภิกษุท่านใช้ว่า “อาตมา” ก็ไม่มีคนทัก เลยกลายเป็นความชอบธรรม แต่พระที่ท่านรู้หลักภาษาท่านก็จะใช้ถูกต้อง เวลาแปลหนังสืองานพระนิพนธ์ขององค์ทะไลลามะ ผู้เขียนจะใช้ว่า “อาตมภาพ” เสมอ

ในคัมภีร์นั้น จะเรียกพระภิกษุณีว่า “อัยเย” แต่ปรากฏว่าที่อินเดียปัจจุบัน พระภิกษุที่นั่น ท่านว่าน่ารำคาญ เพราะไปพ้องกับเสียงฮินดี ที่ใช้เรียกว่า “มานี่”

พระภิกษุสงฆ์ในไทย ใช้ภาษาไทย เช่นเรียกกันว่า หลวงพ่อ หลวงพี่ เมื่อเกิดภิกษุณีขึ้น ก็เรียกกันว่า หลวงแม่ หลวงพี่เหมือนกัน เป็นการอนุเคราะห์ให้เข้ากับวัฒนธรรมถิ่น ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย

ตอนที่ท่านธัมมนันทาบวชใหม่ๆ คนงานที่ส่งแผ่นกระเบื้องปูพื้น ตอนที่มาส่งของ ก็ถามหาหลวงพ่อ เข้ามาในวัดก็ต้องถามหาหลวงพ่อนั่นแหละ เพราะโดยทั่วไปงานก่อสร้างก็ต้องหลวงพ่อเป็นคนสั่งการ

ท่านธัมมนันทาก็ออกไปรับของ ตอนนั้น ยังไม่เป็นสมาชิกสังฆะ ยังไม่มีพระลูกวัด ท่านก็ทักทายคนส่งของว่า ที่เรียกท่านว่า หลวงพ่อ ว่าเป็น หลวงแม่

คนงานรับปากว่า

“ครับ หลวงพ่อ” ตกลงต้องเป็นหลวงพ่อไปก่อนจนกว่าชาวบ้านจะคุ้น ที่โรงพยาบาล คุณหมอบางคนก็เรียกท่านว่า หลวงพ่อ ทั้งที่รู้ว่าเป็นภิกษุณี

ภิกษุณีบางสำนักก็จะเคร่งครัดยึดตามพระไตรปิฎก เรียกตัวเองว่า อัยเย แต่จะให้พระภิกษุเรียกภิกษุณีว่า “น้องหญิง” ตามพระไตรปิฎก ในวัฒนธรรมบ้านเราจะฟังเป็นลิเกไปไหม

แต่พระภิกษุท่านก็ถามว่า แล้วจะให้เรียกว่าอะไร ก็เรียนท่านไปว่า ท่านพูดเหมือนกับที่ท่านพูดกับพระด้วยกันนั่นแหละ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่โยม เพราะถ้าเรียกโยม แสดงว่าไม่เคารพในความเป็นพระของท่าน

ลองนึกกลับกันง่ายๆ ว่า ภิกษุณีเรียกพระภิกษุว่าโยมได้ไหม ก็ประมาณนั้น

เราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับเป็นคนละเรื่องกัน ภิกษุณีก็ได้รับการบวช ได้ทำสังฆกรรม โดยมีพระภิกษุสงฆ์ยอมรับ

อันนี้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจการเคารพซึ่งกันและกันตามสิทธิที่มีในรัฐธรรมนูญ ฉบับล่าสุด 2560 อยู่ในมาตรา 27

 

เมื่อเมืองไทยไม่มีภิกษุณีสงฆ์มาเป็นเวลานาน ผู้หญิงจึงถูกกันออกไปจากพื้นที่วัด กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะของผู้ชาย

เมื่อเกิดภิกษุณีขึ้น จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เข้าวัดมากขึ้น มีความมักคุ้นกับพระมากขึ้น จึงต้องกลับมาสู่หัวเรื่องที่ขึ้นไว้ คือศัพท์พระ

ปรากฏว่า การเรียนบาลีส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของพระภิกษุ การใช้ราชาศัพท์ซึ่งจะมาจากการศึกษาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าก็เป็นเรื่องของพระภิกษุอีก ตกลงทั้งสองเรื่องเป็นพื้นที่ของพระภิกษุ

ท่านธัมมนันทาท่านโชคดีที่ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนราชินีบน การใช้ราชาศัพท์จึงเป็นความคุ้นเคย เมื่อมาสู่ความเป็นพระ ท่านก็สามารถใช้ราชาศัพท์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่ใช่กับผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษาที่จะคุ้นเคยกับการเข้าเจ้าเข้านาย

ผู้หญิงไทยที่บวช จึงต้องสร้างความมักคุ้นกับภาษาทั้งสองชั้น คือภาษาพระ และราชาศัพท์ ซึ่งเป็นภาษาของเจ้า

พระภิกษุที่ท่านบวชแล้ว ไม่ปรับเข้าสู่โหมดของการใช้ราชาศัพท์และศัพท์พระก็มีนะ

ก็ หลวงพ่อคูณ ไง

กูว่ายังงี้ มึงจะว่ายังไง

ซื่อ ตรง เข้าใจได้ดี

แต่ตราบเท่าที่ยังไม่มีบารมีอย่างท่าน เราก็เรียนการใช้ภาษาให้ถูกต้องทั้งศัพท์พระ และศัพท์เจ้านาย

ผู้เขียนเคยคิดว่า หากต้องพูดกับเจ้านาย เราพูดเป็นภาษาอังกฤษดีที่สุด ไอ กับ ยู นั่นแหละ