คำ ผกา | ส่องสมการการเลือกตั้ง ศัตรูของศัตรูคือมิตร ?

คำ ผกา

ถ้าการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพรและสงขลา คือการแข่งขันระหว่างพลังประชารัฐ กับประชาธิปปัตย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอุดมการณ์การเมืองแบบ “อนุรักษนิยม” (ในบริบทแบบไทย) ทั้งคู่

คือ ไม่รังเกียจการรัฐประหาร และสนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา (แม้มีรอยปริร้าวในพลังประชารัฐ แต่ในการปราศรัยหาเสียงของธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่สนับสนุนประยุทธ์)

และผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ค่อนข้างน่าสนใจคือ ประชาธิปปัตย์สามารถชนะพลังประชารัฐได้

ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า ครั้งที่แล้วประชาธิปัตย์เสียที่นั่งให้พลังประชารัฐ อาจเป็นเพราะอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุนประยุทธ์ ไม่เอาสืบทอดอำนาจ

จุดนี้อาจไม่ถูกใจชาว กปปส. ส่วนหนึ่งจึงหันไปเทคะแนนให้พลังประชารัฐ

หรือทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากทั้งสองเขตที่สงขลาและชุมพร เป็นพื้นที่ ปชป.ครองเสียง และทำงานในพื้นที่ ลงหลักปักฐานมายาวนาน ส่วนพรรคกล้าและพรรคก้าวไกล เป็นเพียงตัวประกอบ

แต่การเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ จตุจักร ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นน่าสนใจมาก ในแง่ที่เจ้าของที่นั่งเดิม คือพลังประชารัฐ และเหตุที่ต้องถูกทำให้พ้นจากการเป็น ส.ส. ก็อาจจะบอกว่า “ถูกการเมืองเล่นงาน” ก็ยังได้

ในแง่นี้ หากสิระ เจนจาคะ เป็น ส.ส.ที่ชาวบ้านรักมากจริงๆ น่าจะเป็นโอกาสให้ได้คะแนนสงสารสูง และคะแนนสงสารนั้นน่าจะถูกถ่ายโอนมาที่แคนดิเดตของพลังประชารัฐ นั่นคือภรรยาของสิระ คือ สรัลรัศมิ์

ส่วนแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยคือ สุรชาติ เทียนทอง ที่เคยเป็น ส.ส.เขตนี้ และแพ้การเลือกตั้งในครั้งที่แล้วแบบที่ได้ส่งเรื่องร้องเรียนเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการนับคะแนน และแพ้ไปเพียงสองพันกว่าคะแนนเท่านั้น และสุรชาติได้ชื่อว่าเป็นแคนดิเดตของพรรคที่ขึ้นชื่อเรื่องการลงพื้นที่สม่ำเสมอ แม้ไม่ได้เป็น ส.ส.

มันน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อ ปชป.ไม่ลง – และไม่อาจฟันธงว่า การไม่ลงของ ปชป.นั้น เป็นการหลีกทางให้พรรคกล้า หรือเป็นมารยาทในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ จึงจะไม่ลงแข่ง

ดังนั้น สีสันที่เกิดขึ้นคือ แคนดิเดตของพรรคกล้าคือ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งไม่ได้มาตัวเปล่า แต่เป็นอดีต ส.ส.เขตจตุจักรมาก่อน ลงพื้นที่มา 17 ปีเท่าๆ กับสุรชาติ

สุดท้ายคือ พรรคก้าวไกลที่ตัดสินใจคนหน้าใหม่อย่างเพชร กรุณพล ลงมาเป็นแคนดิดเดต

การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ สะท้อนการเมืองภาพใหญ่ที่เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ในเมืองไทยมาร่วมทศวรรษนับตั้งแต่มีรัฐประหารปี 2549 อย่างไรบ้าง?

เรามาเริ่มสำรวจที่ทางอุดมการณ์ของแต่ละพรรคและแคนดิเดตแต่ละคนดู

พรรคพลังประชารัฐ แน่นอนว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับไม้ต่อจากรัฐบาล คสช. ภายใต้กติกาการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ภายใต้การทำงานร่วมกันของ ประยุทธ์ ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ส.ว. 250 คน

และเมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นว่า ประยุทธ์ทำงานกับข้าราชการเป็นหลัก ส่วนประวิตรมีบทบาทเป็นมือประสานสิบทิศกับนักการเมืองมุ้ง/กลุ่มต่างๆ เพราะเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งก็เป็นไฟต์บังคับ ที่ต้องลงมาแข่งในสนามของ “ผู้แทนราษฎร” ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ

ดังนั้น งานนี้จึงต้องพึ่งมือเก๋าอย่างธรรมนัส ทำงาน “การเมือง” ให้

ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การ crash ระหว่างฝ่าย “ยึดอำนาจ” กับ “ฝ่ายการเมือง” ก็ต้องเกิดขึ้น เพราะฝ่ายการเมืองมีโจทย์ที่ต้องชนะการเลือกตั้ง ส่วนนายกฯ ที่ตนเองสนับสนุน กลับขยันทำลายคะแนนนิยมของพรรคเหลือเกิน

ที่ทางอุดมการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ คือ เป็นพรรคที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบที่จำเป็นต้องอาศัยเสียงของนักการเมืองมาพยุง และขณะนี้กำลังมีปัญหาภายในพรรค

พรรคเพื่อไทย ที่ทางอุดมการณ์คือ ประชาธิปไตยถูกกระทำ หรือเป็นเหยื่อของการรัฐประหาร และทักษิณ ชินวัตร เป็น legacy ที่สำคัญ และโดดเด่นของพรรค

พรรคก้าวไกลมีจุดยืนคือประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ รัฐประหาร จุดขายที่โดดเด่นของก้าวไกล คือ คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นพรรคที่ทำการเมืองใหม่ ไม่ประนีประนอม (สู้ไปกราบไป) แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ขุดรากถอนโคนปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐประหาร ในคลิปหาเสียงของเพชร ถึงกับบอกว่า เสื้อแดงอย่าให้ใครมาหลอกอีก (คิดเป็นอื่นไม่ได้ ว่าใครคนนั้นคือ เพื่อไทย)

ส่วนพรรคกล้านั้นเสนอตัวมาเป็นทางเลือกของคนที่ยังสนับสนุนอดีต กปปส. ที่มองว่าปัญหาของประเทศคือพลังประชารัฐ ไม่ใช่ประยุทธ์

ผลคะแนนที่ออกมาก็น่าสนใจมาก นั่นคือ เพื่อไทยชนะ

แต่พรรคกล้ากับพรรคก้าวไกล ที่อยู่คนละขั้วการเมืองกัน ได้คะแนนเสียงสูสี หายใจรดต้นคออย่างถึงที่สุด ส่วนพลังประชารัฐกลับแพ้หลุดลุ่ย คะแนนร่วงจากหลักหมื่นเหลือหลักพัน อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

พรรคพลังประชารัฐอาจจะอธิบายว่า มีคนนอนหลับทับสิทธิ์ และคนเหล่านั้นอาจเป็นคนที่เคยเลือกพลังประชารัฐ แต่ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะมันก็เท่ากับว่า คุณไม่น่าสนใจพอที่จะทำให้เขาออกจากบ้านมาโหวตให้คุณอีกต่อไป

ดังนั้น จึงค่อนข้างชัดเจนว่า สำหรับชาวหลักสี่ (ซึ่งยังเร็วเกินกว่าจะบอกว่า คือตัวแทนความรู้สึกของคนไทยส่วนหนึ่งที่ไม่น้อย) ผิดหวังอย่างยิ่งกับการบริหารงานของรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ เรียกได้ว่า ร่วงทั้งระดับพรรค ร่วงทั้งระดับตัวบุคคล ไม่มีใครรู้สึกอยากเทคะแนนสงสารให้ภรรยาของสิระในฐานะ “ผู้ถูกกระทำทางการเมือง”

ส่วนชัยชนะของสุรชาติ พรรคเพื่อไทย เป็นผลที่อยู่ตรงกันข้ามกับพลังประชารัฐ นั่นคือ มีทั้งคะแนนนิยมตัวบุคคล อันเกิดจากการลงพื้นที่สม่ำเสมอของสุรชาติ บวกกับคะแนนเสียงของคนที่ต้องการส่งสัญญาณว่า พอกันทีการรัฐประหาร พอกันทีประยุทธ์

และคะแนนเสียงของคนที่เชื่อมั่นในความสามารถของพรรคเพื่อไทยในเรื่อง “ปากท้อง”

 

แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ คะแนนที่สูสีกันของพรรคกล้ากับพรรคก้าวไกล เพราะนี่ก็เป็นอีกขั้วตรงกันข้ามทางอุดมการณ์ทางการเมือง นั่นคือ

– เป็นพรรคที่ขายความเป็นรุ่นใหม่ทั้งคู่

– พรรคกล้าเป็นทางเลือกของคนสนับสนุนประยุทธ์ ที่ไม่เอาพลังประชารัฐ แต่เอา ปชป.หรือไม่ ไม่แน่ใจ ส่วนพรรคก้าวไกลเป็นทางเลือกของคนรักประชาธิปไตยที่ไม่เอาทักษิณ

ดังนั้น โจทย์ของการเลือกตั้งใหญ่ในสมัยหน้า (ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง)

พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีเพื่อไทยและก้าวไกล : สองพรรคนี้เป็นคู่แข่งกัน พรรคเพื่อไทยขายนโยบายปากท้อง ส่วนก้าวไกลขายนโยบายสู้ไปไม่กราบ สร้างประชาธิปไตยที่ “แท้” แก้ปัญหาโครงสร้างการเมืองไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ

พรรคที่มีโปรไฟล์ประชาธิปไตยจากหัวหน้าพรรค แต่ยังต้องรอดูรายชื่อแคนดิเดตของพรรค : ไทยสร้างไทย

พรรคที่ไม่มี “ยี่ห้อ” ประชาธิปไตยเลย : พลังประชารัฐ, ไทยภักดี, สร้างอนาคตไทย (ผู้ก่อตั้งเป็นชุดเดียวกับพลังประชารัฐ) ประชาธิปัตย์ และพรรคกล้า

พรรคที่พร้อมไปร่วมรัฐบาลกับฝ่ายไหนก็ได้ : ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา

พรรคตัวแปร : พรรคเศรษฐกิจไทย นำโดยธรรมนัส

 

เมื่อดูอย่างนี้แล้ว การเลือกตั้งใหญ่ของไทยน่าติดตามมาก และก็น่าสนใจต่อไปอีกว่า พรรคพลังประชารัฐจะยังเป็นพรรคทรงอิทธิพล เป็นพรรคใหญ่ คู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทยหรือไม่?

หรือพรรคก้าวไกล กับเพื่อไทย จะเป็นพรรคพันธมิตร หรือพรรคคู่แข่งกันอย่างเต็มรูปแบบ (ถึงขั้นไม่อาจจับมือกันเป็นรัฐบาล? เพราะอุดมการณ์หลักไม่ตรงกัน?)

ที่แน่ๆ ในปีกของพรรคที่เคยสมสู่กับการรัฐประหาร หรือมีสมาชิกที่เคยสมสู่กับการรัฐประหาร อาจจะกลายเป็นพันธมิตรร่วมที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุดหรือไม่? นั่นคือ พลังประชารัฐ, ปชป., กล้า, ไทยภักดี, สร้างอนาคตไทย และพรรคการเมืองที่พร้อมอยู่กับใครก็ได้ที่เป็นรัฐบาล คือ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา

นี่คือคณิตศาสตร์การเลือกตั้งกับความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และนั่นหมายถึงอนาคตของเราทุกคน