มาสด้า ‘CX-30’ โฉมใหม่-ราคาเดิม ‘โตโยต้า’ ท้าทั่วโลก-เขย่าตลาด ‘อีวี’ / ยานยนต์ สุดสัปดาห์ : สันติ จิรพรพนิต

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์

สันติ จิรพรพนิต

[email protected]

มาสด้า ‘CX-30’ โฉมใหม่-ราคาเดิม

‘โตโยต้า’ ท้าทั่วโลก-เขย่าตลาด ‘อีวี’

 

เดินหน้าเอาจริงเอาจังกับตลาดเอสยูวี อย่างต่อเนื่องสำหรับค่าย “มาสด้า” ล่าสุดปรับโฉม “CX-30” โดยเพิ่มออปชั่นเข้ามาเต็มสูบ และที่น่าเร้าใจมากไปอีกคือยืนราคาเดิม เริ่มต้นไม่ถึง 1 ล้านบาท

CX-30 เป็นรถรุ่นที่สร้างชื่อให้มาสด้าอย่างมาก เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2019 ส่งออกไปขายหลายประเทศ กวาดรางวัลมาเพียบ อาทิ รางวัล Golden Steering Wheel Award 2019 ประเภท Compact SUV, รางวัล RedDot Award 2020, รางวัล Design Trophy 2020 ประเภท SUV และประเภท Champion of all Classes จากประเทศเยอรมนี

ส่วนในไทยเองก็ไม่ธรรมดาเพราะคว้าตำแหน่ง “Thailand Car of The Year 2020” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย

ความเจ๋งของรางวัลนี้คือใช้การลงคะแนนของผู้สื่อข่าวสายรถยนต์ ที่เคยทดสอบรถยนต์เกือบทุกรุ่นในประเทศ คัดเลือกรถที่จำหน่ายในปีนั้นๆ เพียงหนึ่งเดียว โดยไม่สนใจว่าจะอยู่เซ็กเมนต์ไหน หรือมาจากประเทศไหน

เรียกว่าหากไม่ใช่รถที่ครบเครื่อง และคุ้มค่าจริงๆ ยากที่จะได้รับรางวัลนี้

ออกแบบตามแนวคิด Kodo : Soul of Motion ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสุนทรียศาสตร์แบบญี่ปุ่น ที่เน้นความเรียบง่ายแต่งดงาม

โชว์เส้นสายที่เรียบง่ายแต่โฉบเฉี่ยว รุ่นใหม่นี้เพิ่มไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่เวลากลางวัน LED Signature ระบบปรับองศาไฟหน้าตามการเลี้ยวของรถ AFS

ไฟท้ายแบบ LED Signature

ระบบเซ็นเซอร์กะระยะด้านหน้าและด้านหลัง, กล้องมองหลัง

เพิ่มความเร็วสูงสุดของระบบควบคุมความเร็วและพวงมาลัยตามรถคันหน้า CTS ให้สามารถทำงานได้ถึง 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

ส่วนภายในออกแบบที่พิถีพิถันเสมือนงานทำมือ คัดสรรเลือกใช้เฉพาะวัสดุเกรดพรีเมียม พัฒนาภายใต้ปรัชญา HMI (Human-Machine Interface) จัดวางฟังก์ชั่นการใช้งานในตำแหน่งศูนย์กลาง

รุ่นใหม่เพิ่มระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Sports Paddle Shift

แผงหน้าปัดและมาตรวัดดิจิตอล แบบ TFT LCD พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบสี ขนาด 7 นิ้ว

หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบสีบนกระจกหน้า Windshield Active Driving Display

หน้าจอสี แบบ Widescreen ขนาด 8.8 นิ้ว ที่ควบคุมด้วยปุ่มควบคุมอัจฉริยะ Center Commander พร้อมมอบความโดดเด่นที่เหนือระดับด้วยระบบเสียงคุณภาพสูงจาก Bose? รอบทิศทาง พร้อมลำโพง 12 ตำแหน่ง ให้มาจุใจสุดในเซ็กเมนต์

เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 10 ทิศทาง พร้อมระบบบันทึกตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง คอนโซลกลางและที่วางแขนด้านหน้าที่กว้างสบายรองรับช่อง USB และมีช่องเก็บของขนาดใหญ่

พนักพิงเบาะหลังสามารถแยกพับ 60:40 อิสระจากกัน เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง และใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ

 

ขุมพลังเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 165 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 213 นิวตัน-เมตร ทำงานควบคู่กับเกียร์อัตโนมัติสกายแอคทีฟ 6 สปีด

ประหยัดน้ำมันสูงสุด 15.4 กิโลเมตรต่อลิตร และรองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E85 มาพร้อมเกียร์อัตโนมัติสกายแอคทีฟ 6 สปีด

มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย แตกต่างกันที่ออปชั่น

เริ่มจากรุ่น 2.0 C อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและอุปกรณ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยพื้นฐานที่ครบครัน อาทิ ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์แบบ LED และไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่เวลากลางวัน (Daytime Running Lamp) แบบ LED Signature, ไฟท้ายแบบ LED Signature, ล้ออัลลอย ขนาด 16 นิ้ว

หน้าจอ Center Display ขนาด 8.8 นิ้ว พร้อมปุ่มควบคุมอัจฉริยะ Center Commander, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ Dual Zone พร้อมช่องแอร์ด้านหลัง

ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง, ระบบเซ็นเซอร์กะระยะด้านหลัง, กล้องมองหลัง และระบบ i-Activsense 3 ระบบ

ราคา 989,000 บาท

รุ่น 2.0 S อุปกรณ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น ล้ออัลลอย 18 นิ้ว, ระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Sports Paddle Shift, ประตูท้ายเปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า และระบบเซ็นเซอร์กะระยะด้านหน้า ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้มากยิ่งขึ้น (หมายเหตุ : เพิ่มเติมจากรุ่น 2.0 C)

ราคา 1,099,000 บาท

และรุ่น 2.0 SP เด่นเหนือระดับรวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและอุปกรณ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับพรีเมียม อาทิ หลังคาซันรูฟแบบไฟฟ้า, ระบบเสียง BOSE รอบทิศทาง พร้อมลำโพง 12 ตำแหน่ง ระบบแสดงภาพ 360 องศารอบทิศทาง และระบบ i-Activsense มากถึง 11 ระบบ

ราคา 1,199,000 บาท

มีให้เลือก 7 สี พร้อมสีใหม่ “บรอนซ์ แพลตทินั่ม ควอตซ์” (Platinum Quartz)

 

ปิดท้ายฉบับนี้ด้วยความเคลื่อนไหวในแวดวงยานยนต์ไทย ก่อนอื่นไปดูยอดขายรถยนต์ในปี 2564

มียอดขายรวมทั้งสิ้น 760,000 คัน ลดลง 4.2% จากปีก่อน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 251,800 คัน ลดลง 8.4% และรถเพื่อการพาณิชย์ 507,319 คัน ลดลง 1.9%

เป็นผลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า

เรียกว่าหลุดเป้าจากต้นปีที่ทุกค่ายเชื่อว่าปี 2564 ยอดขายรถต้องกระเตื้องขึ้น เพราะในปี 2563 ย่ำแย่สาหัสไปตามๆ กันกับการมาเยือนของโควิดในระลอกแรก

อีกประเด็นที่น่าสนใจยกให้การประกาศวิสัยทัศน์ของ “โตโยต้า” ฉลอง 60 ปี การเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย พร้อมงวางแผนออกรถรุ่นใหม่มาเขย่าตลาดไทยและทั่วโลก

โดยเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” ที่เป็นเทรนด์มาแรงยากจะยั้บยั้งได้

โตโยต้าวางแผนส่งรถอีวีประมาณ 30 รุ่นเขย่าตลาดทั่วโลก ผ่าน 3 แบรนด์ใหญ่ของค่ายคือโตโยต้า เลกซัส และน้องใหม่ “bZ”

วางเป้าภายในปี 2030 จะกวาดยอดขายรถอีวีทั่วโลกได้สูงถึง 3.5 ล้านคัน

โตโยต้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบทั้ง 30 รุ่น ภายในปี 2573 โดยรวมไปถึงรถซีรีส์ bZ จำนวน 5 โมเดล

รุ่นที่จะเข้ามาทำตลาดในไทยคาดว่าจะเป็น “bZ4X” รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ

พร้อมกันนี้ตั้งหน้าตั้งตารอความชัดเจนของรัฐบาลไทยกรณีแพ็กเกจสนับสนุนรถอีวี เพราะปล่อยข่าวออกมาพักใหญ่

แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังตกลงกันไม่สะเด็ดน้ำเสียที