คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : สนทนากับพระราม ‘ความทุกข์ของเทพ ความรักของหญิง’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งได้รับเชิญไปพูดคุยในงานเสวนาที่จัดโดยศูนย์เอเชียใต้ศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กับหัวข้อที่น่าสนใจมากๆ คือ “สีดาราม ความทุกข์ของเทพ ความรักของหญิง”

หัวข้อนี้มีผู้ผลักดันสำคัญคือท่านศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ซึ่งท่านเป็นแฟนตัวยงของซีรีย์อินเดีย “สีดาราม ศึกรักมหาลงกา”

แต่อาจารย์ไม่ปล่อยให้การชมซีรี่ส์นี้เป็นเพียงความบันเทิง ทว่า ทำให้เกิดข้อวิเคราะห์หลายอย่าง

และยังมีมุมน่าสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์มาเพิ่มเติม คือท่านอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด ด้วย

เป็นงานเสวนาเรื่องรามายณะที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่ผมเคยฟัง

ฟังไปก็จุกในอกด้วยความซาบซึ้งใจ ที่จริงคนไปพูดอย่างผมกลับรู้สึกเหมือนได้กลายเป็นนักศึกษาในห้องเรียนของอาจารย์สุวรรณาอีกครั้ง

ต้องยอมศิโรราบต่อความรู้ และการวิเคราะห์อันลึกซึ้งทว่างดงามของอาจารย์อย่างแท้จริง

 

หัวข้อเสวนากำเนิดจากซีรี่ส์รามายณะที่สร้างขึ้นใหม่สไตล์บอลลีวู้ด ซึ่งผมดูบ้างไม่ได้ดูบ้าง ทว่า ช่วยกลับทำให้เราย้อนไปขบคิดถึงรามายณะฉบับคัมภีร์ทั้งหลายได้อย่างลุ่มลึกขึ้น

เสร็จงานผมเดินไปบอกอาจารย์ว่า ฟังเทศน์รามายณะมาหลายหน ไม่เคยมีครั้งใดรู้สึก “อิ่ม” เช่นนี้มาก่อน ทั้งที่ก็คุยกันในมิติทางวิชาการ

อาจารย์แซวกลับมาว่า แหมเธอเปรียบบทวิเคราะห์ของฉันเป็นบทเทศน์ทางศาสนาเชียว ผมก็ตอบไปว่า ก็อาจารย์ทำให้รู้จัก “พระเจ้า” ของฮินดูลึกซึ้งขนาดนี้

จึงอยากนำข้อวิเคราะห์เท่าที่ผมพอจะจำได้ในการเสวนาวันนั้นมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านครับ

ความผิดพลาดใดย่อมเป็นของผมโดยแท้

 

สิ่งสำคัญที่อาจารย์สุวรรณาทำคือการสร้าง “บทสนทนา” กับตัวบทหรือตัวละครที่เราจะวิเคราะห์ ผมคิดว่านี่เป็นวิธีการที่สำคัญที่อาจารย์ทำมาตลอด เช่นเดียวกับที่อาจารย์เคยทำกับตัวบทของคัมภีร์ขงจื่อ

การสนทนากับตัวบท ในความเข้าใจของผม หมายถึง เราไม่ปล่อยให้ตัวบทเกิดความหมายที่แข็งทื่อตายตัวและรับเพียงความหมายเดียวนั้นมาใช้ ทว่า เข้าไปตีความจากหลากหลายมุมมอง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ “จินตนาการ” เข้าไปร่วมสำรวจตัวบทนั้นๆ ด้วย ซึ่งอาจทำให้เราได้เห็น “สิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้” อีกมาก

สิ่งที่อาจารย์สุวรรณาสนทนากับรามายณะฉบับซีรี่ส์ “สีดาราม” คือการเข้าไปพบ “ปมขัดแย้ง” “ความรัก” และ “ความทุกข์” ทั้งหลายที่ปรากฏในเรื่อง ผ่านตัวละครที่สำคัญคือสีดาและพระราม

อาจารย์เห็นว่า พระรามนั้นไม่ได้เจอแค่ศึกใหญ่เดียว คือสงครามระหว่างอโยธยากับลงกาเท่านั้น แต่ศึกใหญ่หลายครั้งทั้งก่อนและหลังสงครามนั้น คือการเผชิญความท้าทายต่างๆ ในชีวิต เช่น ความไม่ต้องการจะครองราชย์ แต่ไม่อาจหลีกหนีหน้าที่ต่อบรรพกษัตริย์ เป็นต้น

ศึกใหญ่ที่สุดที่อาจยากยิ่งกว่ามหาสงครามระหว่างทศกัณฑ์กับพระองค์ คือศึกที่ต้องตัดสินใจว่า จะเนรเทศสีดาออกไปจากอโยธยาหรือไม่ กล่าวคือ นี่เป็นศึกแห่งความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกในพระทัยกับความต้องการของราษฎร

ใครจำเนื้อเรื่องรามายณะได้ คงคุ้นว่า พระรามเคยให้สีดาลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์หลังจากกลับจากศึกลงกา ครั้นครองราชย์แล้วมีชายซักผ้าด่าตีเมียซึ่งไปนอนค้างอ้างแรมบ้านอื่นกระทบกระเทียบถึงสีดา ชาวประชาก็พากันกังขาเรื่องนี้ พระรามจึงตัดสินใจเนรเทศสีดาออกจากเมือง

เรื่องนี้ทำให้คนอ่าน นักวรรณคดีวิจารณ์ และนักสิทธิสตรี ฯลฯ ด่าพระรามกันมานักต่อนัก ผมเองยอมรับว่า คิดคล้ายๆ กัน

นักการศาสนาของอินเดียโบราณพยายามแก้ปมเหล่านี้ โดยการปรับแต่งรามายณะฉบับอื่นๆ เช่น ในฉบับโคสวามีตุลสีทาสก็ตัดบางตอนออก บ้างก็สร้างคำอธิบายใหม่ว่า สีดาที่ลุยไฟนั้นคือ “สีดามายา” ไม่ใช่สีดาตัวจริง เป็นเพียงแต่ร่างเนรมิตอะไรทำนองนั้น ซึ่งผมว่าไม่ค่อยได้แก้ปมนี้เท่าใด

ทว่า การสนทนาของอาจารย์สุวรรณา สะท้อนให้เห็น “มิติอื่นๆ” ของพระราม โดยเฉพาะปมขัดแย้งภายในใจ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งระหว่าง ความรู้สึกส่วนตัว กับบทบาทหน้าที่

 

ปมขัดแย้งทางศีลธรรมหรือการเลือกที่ยากลำบากทางศีลธรรม (Moral dilemma) นี้ แต่เดิมเรามักคิดว่า มีอย่างชัดเจนเฉพาะในมหาภารตะ โดยเสนอจากเรื่องราวของอรชุน ที่เลือกไม่ได้ระหว่างการทำหน้าที่นักรบ กับความผูกพันกับญาติมิตรในมหาสงครามกุรุเกษตร

ทว่า อรชุนโชคดีกว่าพระรามนัก เพราะมี “เสียงของพระเจ้า” คือพระกฤษณะคอยเป็นที่ปรึกษาชี้นำอยู่ข้างๆ ไม่ว่าอรชุนจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่พระรามต้องเผชิญปมเหล่านี้เองอย่างโดดเดี่ยวครั้งแล้วครั้งเล่า

และไม่ว่าเลือกทางใด ราคาที่พระรามต้องจ่าย คือการแบกรับความทุกข์อย่างมหาศาลเอาไว้กับตัว ไม่ต่างกับสีดาซึ่งมีความทุกข์จากการเลือกของพระรามเช่นเดียวกัน

อาจารย์สุวรรณา ยังมองจากมิติของ “ความรัก” อาจารย์ท่านว่า ความรักของมหาบุรุษนั้นอาจมีมากมายหลายแบบ เช่น รักแบบส่วนตัว รักวงศ์ตระกูล ความรักปวงประชา ฯลฯ หญิงสาวผู้เป็นที่รักของมหาบุรุษจึงยากลำบาก เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างความรักในระดับส่วนตัว กับความรักตามอุดมคติและส่วนรวม ซึ่งมหาบุรุษมักเลือกอย่างหลัง

สตรีผู้เคียงข้างจึงต้องยอมสูญเสียความรักส่วนตัว เพื่อเปิดทางให้มหาบุรุษได้เลือกความรักในแบบที่ตนต้องการ

ทว่าที่จริงการทำแบบนั้นก็ด้วยพลังแห่งความรักส่วนตัวนั่นเอง

การเลือก “หน้าที่” ก็มิได้หมายความว่าจะอยู่เหนือความรู้สึกที่ตนมี

แต่การเลือกหน้าที่เท่ากับการเลือกที่จะโอบอุ้มความรู้สึกของตนไว้อีกนานแสนนาน

 

ความทุกข์ของเทพเป็นเช่นนี้ อาจารย์สุวรรณาท่านว่า ด้วยเหตุนี้ พระรามจึง “น่าเคารพ” มิใช่เพราะพระรามเข้มแข็งห้าวหาญ ทว่า แบกรับความทุกข์และความขัดแย้งของตนไว้ ด้วยการเผชิญความขัดแย้งในความรักหลากแบบ

อาจารย์พูดถึงความน่าเคารพนี้แล้วก็นิ่งไปด้วยความซาบซึ้ง นั่นทำให้ผมเองก็จุกในอกบอกไม่ถูก

เสียงของสีดานั้นแสนเศร้าอยู่แล้ว และมีผู้เป็นปากเสียงให้สีดามากต่อมาก รวมทั้งอาจารย์สุวรรณาเองด้วย ทว่าเสียงของพระรามที่ผ่านการสนทนากับอาจารย์ในครานี้

เป็นเสียงใหม่ที่ผมเพิ่งได้ยิน และช่างกินใจเหลือประมาณ

 

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญในเรื่องที่ทำให้เรา “อิน” กับตำนานธรรมทางศาสนาเหล่านี้ได้ นอกจากความชาญฉลาดในการวางโครงเรื่องและบทสนทนาของตัวละครแล้ว ที่สำคัญคือการเห็น “มนุษยภาพ” ในเทพเจ้าอีกด้วย

เทพเจ้าระทมทุกข์ไม่ต่างจากมนุษย์ ผิดพลาดอย่างมนุษย์ มีหลายด้านหลากแง่มุมแบบมนุษย์ มนุษย์จึง “ร่วมทุกข์” กับเทพได้ และความทุกข์ของเทพนั้นสะท้อนความทุกข์ที่เรามีอย่างไม่ต่างกัน ซึ่งทำให้เทวตำนานผสานเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว และประสบการณ์แห่งความทุกข์ของแต่ละคน

รามายณะ จึงเป็นโศกนาฏกกรรม ที่สุดท้ายความพลัดพรากมีชัยเหนือทุกสิ่ง แต่เพราะโดยหลักปรัชญาของอินเดียเอง ย่อมจะมี “แสงสว่าง” รำไรแห่งความหวังส่องมาบ้าง นั่นคือการเชื่อว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “ปรากฏการณ์ ” อันเป็นมายา ทว่า มีสิ่งจริงแท้อยู่เบื้องหลัง

พระราม สีดาและทุกคนที่ทนทุกข์ ต่างกลับไปสู่ภาวะจริงแท้ คือ พระวิษณุเทพและพระลักษมีอันเรืองรองกับบริวารทั้งหลายได้พากันเสวยสุขในทิพยโลก หรือ “โลกอื่น” (other world)

เช่นเดียวกับเทวตำนานธรรมโหดร้ายอย่างมหาภารตะ ซึ่งในตอนจบของเรื่อง บรรดาผู้ที่ตายในสงคราม ต่างไปปรากฏบนสวรรค์ หยอกล้อเล่นสนุกอยู่บนนั้นทุกฝ่าย

ปรัชญาอันนี้เสนอว่า ชีวิตมนุษย์ก็ดุจกัน เป็นเพียง “นาฏกะ” หรือละครชั่วครู่ชั่วยาม เล่นๆ ไปรอวันที่จะพบความจริงแท้

ที่สำคัญการประสานเข้ากันระหว่าง “เรื่องเล่า” กับชีวิตของมนุษย์อย่างรามายณะนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมอินเดียอย่างเข้มข้น ซึ่งช่วยให้ผมเข้าใจต่อไปได้อีกว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของรามายณะจึงมิได้มีเพียงแค่เหตุผลด้านโบราณคดีและศาสนาอย่างที่ผมเคยนำเสนอเท่านั้น

แต่การประสานเข้ากันดังกล่าว คือความหมายของความศักดิ์สิทธิ์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาเริงรำอยู่ในประสบการณ์ของคนธรรมดาอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้วรรณกรรมมีความหมายขึ้นมา

 

ผมเพิ่งตระหนักว่า วรรณกรรมทางศาสนาของเอเชียหลายต่อหลายเรื่องที่อยู่ยั้งยืนยง ก็เพราะเสนอความขัดแย้งทางศีลธรรม ซึ่งเป็นประสบการณ์สำคัญของมนุษย์ ทว่าเรามิค่อยเห็นสิ่งนี้นัก

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์เดชรัตน์เสนอ คือ เหตุใดสังคมไทยซึ่งคุ้นเคยรามเกียรติ์มานาน มิอาจทำให้การเรียนการสอนเกี่ยวกับรามเกียรติ์หรือรามายณะ ไปสู่ประเด็นวิเคราะห์ความขัดแย้งทางศีลธรรม หรืออะไรที่มากกว่านั้น

ทว่า พยายามดำรงรักษาความศักดิ์สิทธิ์บางแบบเอาไว้ ซึ่งทำให้เราไม่อาจเข้าไป “สนทนา” กับรามายณะ อย่างที่ควรจะเป็น

ผมฟังแล้วก็ได้แต่สวดภาวนา “สีดาราม สีดาราม”