คำ ผกา | ประชาธิปไตยไม่มา ปัญญาไม่เกิด

คำ ผกา

จากข่าวตำรวจขี่ดูคาติชนหมอที่ข้ามถนนบนทางม้าลายจนเสียชีวิต ทำให้ประเด็นรถ ถนน และคนเดินเท้ากลับมาเป็นประเด็นในสังคมไทยอีกครั้ง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผู้เสียชีวิตเป็นหมอ เป็นผู้หญิง และอายุยังน้อยมาก ผู้คนในสังคมย่อมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลยที่ผู้หญิงซึ่งน่าจะมีอนาคตสดใสเรืองรองเป็นที่รักของครอบครัว และเพื่อทั้งยังเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของสังคมต้องเสียชีวิตไปด้วยอุบัติเหตุที่ไม่น่าให้อภัย

อีกทั้งเป็นอุบัติเหตุที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก หากเราคิดว่านั่นคือทางม้าลาย

สำหรับฉันมันก็ไม่แฟร์กับใครทั้งนั้นไม่ว่าผู้ที่ถูกชนจะเป็นใคร จะเป็นหมอ หรือไม่เป็นหมอ จะเป็นใครเพศไหน อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร จะมีอนาคตหรือไม่มีอนาคตก็ไม่สมควรต้องมาตายมาเจ็บด้วยเรื่องแบบนี้

จากเรื่องนี้หลายคนก็อาจย้อนนึกไปถึงเคสแพรวา รวมไปถึงเคสนายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ ที่ถูกลูกมหาเศรษฐีขับรถชนจนเสียชีวิต

ข่าว “คนโดนรถชนตาย” ในประเทศไทยจึงเริ่มต้นด้วยตำแหน่งแห่งที่ของผู้ชน และผู้ถูกชน ด้วยเสมอ

เช่น กรณีแพรวา เป็น sentiment ว่าด้วยเด็กสาวไฮโซ แปลว่า สปอยล์ แปลว่า อภิสิทธิ์ชน แปลว่า มีโอกาส “ลอยนวลพ้นผิด” vs ผู้โดยสารในรถตู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง และเป็นกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนของความขยันหมั่นเพียร บากบั่น กว่าจะเรียนจบ มีงานทำ กลายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว และต้องมาจบชีวิตลงด้วยความประมาทของเด็กสาวไฮโซ

กรณีของจ่าตำรวจทองหล่อ ที่ถูกลูกมหาเศรษฐีขับรถซูเปอร์คาร์ ชนไม่ชนเปล่า ลากไปไกลจนเสียชีวิต แล้วยังมีมหากายพ์ เอา “บ่าว” ในบ้านมาสมอ้างรับผิดแทน

คดียืดเยื้อไปหลายปี ไม่มีใครทำอะไรได้ ก็ทำให้เราเห็นอีกว่า ในลำดับชั้นแห่งการเป็นมาเฟียของสังคมไทยนั้น เหนือกว่าตำรวจยังมี “พ่อค้า”

และคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุจึงไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุด้วยตัวของมันเอง เพราะมันทำให้คนเสพข่าวอย่างเราต้องสนใจเรื่อง “การเมือง” มากกว่าปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน

จนมาถึงเรื่องตำรวจเด็กขับดูคาติชนจักษุแพทย์ เหนือกว่าประเด็นอุบัติเหตุคือจุดอ้างอิงว่าด้วย “ใครเป็นใคร” ในสังคมไทย ระหว่างตำรวจ คฝ. กับจักษุแพทย์

ตํารวจ/คฝ. ในการรับรู้ของสังคมไทย ถ้าจะให้แทนที่ด้วยสี ก็ใส่สีดำไปได้เลย

ส่วนจักษุแพทย์นั้นถ้าจะให้แทนที่ด้วยสี ก็แทนที่ได้ด้วยสีขาวบริสุทธ์ ยังไม่นับการขี่บิ๊กไบก์และการข้ามถนนตรงทางม้าลาย และกลไกแบบไทยๆ ก็ทำให้สัญญะและตำแหน่งแห่งที่นี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อตำรวจผู้นั้นไปบวชพร้อมบิดา ราวกับว่า การบวชจะช่วยลบล้างการกระทำผิดตามกฎหมายนั้นได้ หรือมองอย่างนักสังคมวิทยาก็ต้องบอกว่า การบวชเป็นไปเพื่อลดแรงกดดันหรือการลงฑัณฑ์ทางสังคม

ในสังคมชาวพุทธแบบไทยๆ การบวชเป็นการสำแดงให้โลกรู้ว่า สำนึกผิด และต้องการการดับการยกโทษ โดยอ้างว่าบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล บวชเพื่อขอขมา หรือบวชเพื่อมิให้ตนเองต้องแบกรับความรู้สึกผิดจนเกินไป (ในกรณีที่รู้สึก)

บ้างที่เชื่อเรื่องกรรม-เวร ก็อาจบวชเพื่อไถ่เวรถอนกรรมตามความเชื่อ

ในทุกมิติทางวัฒนธรรม และการเมืองเรื่อง “คนไม่เท่ากัน” ในบ้านป่าเมืองเถื่อนที่เรียกว่าประเทศไทยนี้ ก็จะทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับอุบัติหตุบนท้องถนน กลายเป็นเรื่อง “คนดี” vs “คนเลว” และเช่นเดียวกันกับทุกปัญหาในประเทศไทยที่เกือบทุกคนจะมีข้อสรุปเดิมๆ คือ

“ประเทศไทยดีทุกอย่างยกเว้นมีคนไทยอยู่” ราวกับคนไทยเป็นชาติพันธุ์ กรรมพันธุ์ ดีเอ็นเอพิเศษแห่งการเป็นชนชาติที่เห็นแก่ตัว ไร้วินัย ละโมบ ดีแต่เอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง

(ทั้งๆ ที่คนชน และคนถูกชน รวมทั้งคนที่ก่นด่าก็เป็นคนไทยกันทั้งนั้น)

ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็จะจบลงที่กฎหมายไม่ถูกบังคับใช้จริง คนทำผิดไม่ถูกลงโทษ คนเห็นแก่ตัวไม่ทำตามกฎจราจร ต้องถูกลงโทษให้หนักที่สุด รวมไปถึงแคมเปญรณรงค์สร้างจิตสำนึกใหม่ให้คนไทยเป็นคนมีวินัย เคารพกฎจราจร และใช้รถใช้ถนนอย่างมี “น้ำใจ”

พูดง่ายๆ คือ วิธีแก้ปัญหาอุบัติเหตุในประเทศไทยนั้นเน้นเรื่องการเปลี่ยนคนเลวให้เป็นคนดี เพราะทุกปัญหาทึ่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากคน “ไม่ดี” หรือเกิดจากสันดานคนล้วนๆ

ฉันก็ยอมรับว่า สันดานคนก็เป็นส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่นอกจากสันดานคนแล้ว มันมีปัจจัยอื่นๆ อยู่ด้วย และเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคลน้อยมาก

ฉันเริ่มจากเรื่องที่ง่ายที่สุดก่อน

 

หนึ่ง ถ้าเรามีระบบขนส่งมวลชนที่ดี สะอาด สะดวก ปลอดภัย ราคาสมเหตุสมผล และคำว่า ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ไม่ได้หมายถึงรถเมล์เท่านั้น แต่หมายถึงรถเมล์ รถราง รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เรือ ทุกระบบเชื่อมต่อกันได้ – เอาแค่นี้ก่อน

เพียงเท่านี้ คนไทยก็จะขับรถ หรือใช้รถส่วนตัวน้อยลง เอาชีวิตมาเสี่ยงกับมอเตอร์ไซค์น้อยลง และอุบัติเหตุก็น้อยลง

ในช่วงเทศกาลคนก็จะเดินทางด้วยรถไฟทั้งความเร็วปกติ ความเร็วปานกลาง ความเร็วสูง แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละคน เพียงเท่านี้ก็ลดปริมาณอุบัติเหตุลงได้มาก

ไม่เพียงเท่านั้น เราทุกคนรู้ว่าในต่างจังหวัด เด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย เด็ก ปวช. ปวส. ส่วนใหญ่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรียนหนังสือ เป็นระยะทางที่ค่อนข้างไกล บ้างข้ามอำเภอกันหลายอำเภอ

มีไม่น้อยต้องขี่บนถนนทางหลวงเบียดกับสิบล้อ หกล้อ และพวกเขามีความเสี่ยงที่จะก่ออุบัติเหตุ และได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต พิการจากอุบัติเหตุ สูงมาก

ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับคนดี-คนเลว คนมีวินัย-คนไม่มีวินัย

เกี่ยวกับ “ความบกพร่อง” ของรัฐล้วนๆ ที่ไม่สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยๆ เมื่อใช้รถส่วนตัวน้อยก็จะสัมพันธ์กับข้อต่อไปเรื่องวิศวกรรมการจราจร

สอง เราคุ้นเคยกับคำว่าโค้งร้อยศพ แยกอาถรรพ์ ฯลฯ รวมทั้งศาลศักดิ์ศิทธิ์ต่างๆ ตามจุดที่เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ

สิ่งแรกที่เราต้องฉุกคิดคือ ถ้าตรงนี้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ แปลว่ามันไม่ใช่ความผิดของคนใช้รถแล้ว แต่เป็นความผิดของการออกแบบถนน โค้งหักศอก ไฟที่สว่างไม่พอ สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน ป้ายที่ไม่บอก ไม่เตือน ไม่สื่อสาร

พูดง่ายๆ ว่า ไม่มีอะไรที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเป็นหลัก

และประเทศไทยมีชื่อเสียในเรื่องของการออกแบบถนนอย่างไม่ปลอดภัยนี้อย่างยิ่ง

ทว่ามันเป็นปัญหาโลกแตก ที่ต่อให้เรามีวิศวกรเก่งแค่ไหนก็แก้ไม่ได้ ถ้าไม่แก้ที่โครงสร้างรัฐราชการไทยที่ทำให้ถนนประเทศไทยมีเจ้าภาพหลายหน่วย หลายกระทรวง หลายองค์กร ทั้งกรมทางหลวง รสพ. อบต. เทศบาล กทม. ไปจนถึงประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม

ทำให้การบูรณาการ การออกแบบถนนให้ปลอดภัย เป็นเนื้อเดียวกันไปทั้งประเทศไม่เคยเกิดขึ้นจริง

 

สาม เราไม่เคยมีคอนเซ็ปต์เรื่อง Right of Way นั่นคือ สิทธิที่จะสัญจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัญจรด้วยการเดิน

การออกแบบเมืองของเรา หรือจะพูดได้ว่า เมืองของเราไม่เคยได้รับการออกแบบมาบนพื้นฐานความคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของ “เส้นทางการเดินทาง” ถนนทุกสายต้องเชื่อมต่อกัน ซอยต้องทะลุถึงกัน คนต้องสามารถ “เดิน” ไปไหนต่อไหนได้โดยปราศจากอุปสรรค

ถ้าหากเราเชื่อเช่นนั้น เราต้องรักการเดินมากพอที่จะกดดันให้รัฐต้องทำทางเดินที่ไม่ใช่ทางเท้าเท่านั้น

แต่ก็นั่นแหละ แม้แต่ “ทางเท้า” ที่ถูกต้อง เราก็แทบไม่เคยเห็นในประเทศนี้

และเจ้ากรรม ทางเท้าที่ดีมากๆ อย่างเช่นใน กทม.นั้นมักจะเป็นทางเท้าในย่านที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกิน ย่านที่มีโรงแรมหกดาว มีคอนโดฯ ห้องละร้อยล้านบาทขึ้นไป ที่มีทั้งรถไฟฟ้า และทางเท้าอันกว้างขวางโก้หร่าน

ให้ประชากรแถบนั้นจูงหมามาเดินเล่นชิลๆ

สี่เราอยู่ในสังคมที่ไม่เชื่อเรื่องทางจักรยาน ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะทุกเส้นทางของทางจักรยานที่ถูกสร้างมาในประเทศไทย ถูกสร้างมาเพื่อทำให้คนไม่เชื่อว่าเราปั่นจักรยานได้จริงในชีวิตประจำวัน (ยอกย้อนไหม?)

คือ ทำทางจักรยานมาเพื่อให้คนเลิกคิดเรื่องปั่นจักรยาน และเชื่อว่า จักรยานไม่เหมาะกับเมืองไทย

จริงๆ แล้ว ประเทศไหนๆ ก็ปั่นจักรยานได้ ไม่เกี่ยวกับอากาศร้อน ฝนตก และทางจักรยานไม่ใช่ทางเพื่อจักรยาน แต่ทางจักรยานคือเส้นทางสัญจรปกติ แต่ถูกกันไว้เป็นเลนจักรยาน จากนั้นออกแบบเพิ่มให้รองรับจักรยาน เช่น ทางเท้าที่เรียบ ทางลาดขึ้น-ลง เชื่อมต่อกับจุดเปลี่ยนจุดตัดของถนน

การออกแบบถนนสำหรับรถยนต์ที่คิดเผื่อจักรยาน นั่นคือ ถนนออกแบบจำกัดความเร็วของรถยนต์โดยปริยาย การมีสี่แยกไฟแดงถี่ๆ การมีตรอกซอยทะลุถึงกันไปหมด เพื่อเป็นทางเลือกของการสัญจรของจักรยาน การทะลุทางเลียบคลอง แม่น้ำ

สิ่งที่ทำให้จักรยานชนะทุกอย่างคือ “ภาวะทะลุทะลวงทุกเส้นทางอย่างไร้ข้อจำกัด” นั่นไม่ได้แปลว่าทุกเส้นทางของจักรยานต้องโรยด้วยกลีบกุหลาบ

ในหลายประเทศ บางช่วงของทางจักรยานก็ชันมาก ขรุขระมาก หรือไปในถนนที่เล็กมาก หรือผ่านจุดไม่มีต้นไม้แดดร้อนมาก แต่ก็มีบางจุดที่ร่มรื่นมาก- นั่นคือ เป็นเส้นทางจักรยานที่อ้างอิงอยู่กับความจริง

และตัวเมืองก็มีต้นไม้มากพอที่จะสร้างความร่มรื่นได้เป็นส่วนใหญ่

ไม่ใช่อยู่ๆ มาสร้างทางจักรยานเฟกๆ ไม่สัมพันธ์กับอะไรที่เป็นชีวิตจริงเลย สร้างเสร็จคนก็ด่า จากนั้นก็บอกว่า จักรยานไม่เหมาะสำหรับประเทศไทย

เออ ประเทศไทยไม่เคยเหมาะกับอะไรที่ดีๆ เลย มีแต่เหี้ยเท่านั้นที่เหมาะกับเรา

ขอแค่นี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ขอแค่นี้หากมันเป็นไปได้จริง อุบัติเหตุของเราจะลดลง คนใช้รถน้อยลง คนเดินและปั่นจักรยานมากขึ้น มีสวนสาธารณะริมคลองให้คนเดิน ปั่นจักรยานมากขึ้น คนอารมณ์เย็นลง “น้ำใจ” ก็จะเกิดขึ้นเอง

สุดท้ายมันก็เรื่องเริ่มเดิมๆ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำน้อยลง ประเทศมีประชาธิปไตยจริงๆ คนมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ต่อรัฐ กฎหมายไม่ดิ้นไปดิ้นมา คนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมพึ่งได้ ตำรวจไม่ใช่มาเฟีย – สร้างอะไรแบบนี้ขึ้นมาได้ คนไทยก็จะมีอคติต่อกันน้อยลง อคติต่ออาชีพนั้นอาชีพนี้น้อยลง ตำรวจไม่เท่ากับสีดำ หมอไม่เท่ากับสีขาว เราจะอยู่กันด้วยเหตุผล ความจริงมากขึ้น ดราม่าน้อยลง สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือปัญญา

ตรงกันข้าม ตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคมที่ไม่มีอะไรเป็นหลักการให้จับต้องได้ ชีวิตเราก็จะเหลือแต่ดราม่ากับอวิชชาเท่านั้น