กัญชา : “ประยุทธ์” สั่งเดินหน้าปลดล็อกให้สำเร็จ แต่ภาคประชาชนค้านถอดบัญชี

‘ประยุทธ์’ สั่งเดินหน้า ทำเรื่องปลดล็อกกัญชาให้สำเร็จ ‘อนุทิน’ ยัน ไม่ขัดอนุสัญญายูเอ็น อย.เร่งดันร่าง พ.ร.บ. ปลูกที่บ้านเพื่อรักษา เปิดช่องนันทนาการพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ จิตแพทย์-เภสัชฯ ภาคประชาชน ค้านถอนจากบัญชียาเสพติด

ภายหลังจากที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเห็นชอบร่างประกาศรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่ปลดล็อกกัญชากัญชงออกจากยาเสพติด ซึ่งจะมีการเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) พิจารณาวันที่ 25 ม.ค.นี้ ซึ่งหากปลดออกจากยาเสพติดแล้ว จะมีการออกกฎหมายควบคุมกัญชากัญชงในฐานะที่ไม่ใช่ยาเสพติดแทนเหมือนบุหรี่และสุรา

วันที่ 24 ม.ค.65 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 10 หมวด 52 มาตรา ประเด็นสำคัญ คือเรามองกัญชากัญชงเป็นเรื่องพืชสมุนไพร และพืชเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยต้องการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในเชิงการแพทย์ ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย นำต้นพืชกัญชากัญชงและสารสกัดไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งยา เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีการควบคุมไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ห้ามใช้ในคนอายุน้อยกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร แต่หากมีโรค ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถพิจารณาจ่ายได้ นอกจากนี้ ยังห้ามการใช้แบบนันทนาการ เว้นแต่ในพื้นที่ที่คณะกรรมการกัญชากัญชงกำหนด หรือพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะออกมาเป็นกฎกระทรวงในภายหลัง

นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ในเรื่องการปลูกนั้น หากปลูกใช้ในครัวเรือนที่ดูแลสุขภาพตนเอง หรือหมอแผนไทย หมอพื้นบ้านใช้ปรุงยา ให้ใช้การจดแจ้งการปลูกในพื้นที่ในจังหวัด ซึ่งจะมีความง่ายและสะดวกกว่าขออนุญาต แต่หากปลูกในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมจะต้องขออนุญาต คือเลขาธิการ อย. และผู้ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ อย. ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี เช่นเดียวกับการแปรรูปและการสกัดต้องขออนุญาต โดยเลขาธิการ อย.หรือผู้ได้รับมอบหมาย มีอายุ 3 ปีเช่นกัน

สำหรับการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ให้ขออนุญาตหรือจดแจ้งตามกฎหมายที่ควบคุมผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งตอนเป็นยาเสพติดอยู่ก็อนุมัติไปแล้ว เช่น เครื่องสำอาง 456 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 31 รายการ อาหาร 14 รายการ เป็นต้น หากปลดล็อกตรงนี้คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 15,770 ล้านบาท ในปี 2568 เพราะประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในร่างพ.ร.บ.มีมาตราหนึ่งกำหนดเรื่องของการส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมพืชกัญชากัญชง โดย อย.มีหน้าที่ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการนำกัญชากัญชงมาใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและครัวเรือน

เมื่อถามถึงการกำหนดอายุ 20 ปีสูงไปหรือไม่ และจำกัดในเรื่องใด เช่น การซื้อขาย การผลิต หรือการครอบครองด้วยหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า เราพิจารณาสอดคล้องกับกฎหมายบุหรี่ เหล้า และกระท่อม ที่กำหนดอายุประมาณ 20 ปี คือ บรรลุนิติภาวะที่น่าจะมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ ซึ่งในเรื่องของการผลิต สกัด นำเข้า ส่งออก ขาย โฆษณา ผู้รับอนุญาตต้องอายุมากกว่า 20 ปีอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาต้องรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชร่วมกับหน่วยงานรัฐ

แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถขอในฐานะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลได้ ซึ่งบุคคลธรรมดาต้องบรรลุนิติภาวะ การปลูกคนจดแจ้งก็ต้องบรรลุนิติภาวะคือ 20 ปี ส่วนการนำไปใช้ ไปขายต่างๆ ก็กำหนดที่อายุดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ไม่มีเรื่องการครอบครอง เพราะไม่ใช่ยาเสพติด นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังไม่ห้ามเรื่องการส่งเสริมการขายแบบบุหรี่และเหล้า เนื่องจากเราต้องการส่งเสริมเรื่องของสมุนไพรและเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า จะทราบได้อย่างไรว่า หากขอจดแจ้งปลูกที่บ้านแล้วจะไม่นำไปใช้นันทนาการ นพ.ไพศาล กล่าวว่า การปลูกในครัวเรือนเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง จะกำหนดเรื่องปริมาณพื้นที่ในกฎกระทรวง ส่วนจะนำไปใช้อย่างไร เนื่องจากใช้ในบ้านก็จะไม่ทราบ อยู่ที่บุคคลนั้นมีวิจารญาณว่าจะใช้ทำอะไร แต่เรามีเรื่องของการจดแจ้งในจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งตามปกติก็จะสุ่มตรวจให้ใช้ตามที่จดแจ้ง

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.กำหนดบทลงโทษไว้ หากปลูกโดยไม่จดแจ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท กรณีใช้นันทนาการมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือกรณีส่งออก นำเข้า ขาย โดยไม่ได้รับอนุญาตก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่สูงที่สุด

เมื่อถามถึงการเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ให้ใช้นันทนาการได้ นันทนาการพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ กล่าวว่า เรื่องพื้นที่ที่ดู ร่างจะบอกว่าถ้าเป็นพื้นที่เฉพาะ การอนุญาตก็จะทำได้ง่าย การควบคุม อายุ ต่างๆ จะจำกัดเหมือนเข้าไป เรากำหนดว่าต้องออกกฎกระทรวงที่เพิ่มเติมเข้ามา บางส่วนคือประโยชน์ ไม่ใช่นันทนาการอะไรที่นั่นเลย ดูแลเรื่องสุขภาพใช้ประโยชน์ได้ เรื่องอนุสัญญาระหว่างประเทศ การควบคุมที่มีอยู่ ร่างพ.ร.บ. ก็ไม่ได้ผิด แต่อันนี้ชัดเจนมีหน่วยที่ดูแลชัดเจน คือ อย.แต่ต้องประสานหน่วยอื่นในการตาม

เมื่อถามว่า นันทนาการตามกฎหมายตีความว่าอย่างไร หมายถึงการสูบหรือไม่ และเหตุใดต้องเว้นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้ นพ.ไพศาล กล่าวว่า นันทนาการก็คือการนำไปใช้เพื่อความเพลิดเพลิน ส่วนการเว้นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้จริงๆ มีตั้งแต่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 แล้ว ส่วนที่กำหนดในร่างฉบับนี้ก็เพื่อรองรับอนาคต เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลง การจะมาแก้ พ.ร.บ.นั้นเป็นเรื่องยาก จึงเปิดกว้างๆ เอาไว้ ซึ่งอาจจะไม่ต้องมีการกำหนดพื้นที่ก็ได้

แต่หากกำหนดพื้นที่ก็ต้องออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำประชาพิจารณ์ ผ่าน ครม. และผ่านกฎฤษฎีกา ถึงประกาศใช้ และต้องเป็นการใช้อย่างปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ การเว้นเรื่องนี้ไว้ก็เพราะเรามีภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือแผนไทย หรือแม้แต่การช่วยเลิกยาเสพติดที่อาจจะใช้ตัวอื่นมาแทนเพื่อลดอันตรายจากการเลิกยา ก็เอาคอนเซ็ปต์เรื่องเหล่านี้มาวางเป้นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้

ถามย้ำว่า การเปิดช่องตรงนี้เพราะมองเห็นประโยชน์ของการนันทนาการหรือไม่ และมีโมเดลที่จะทำเหมือนต่างประเทศที่มีร้านคาเฟ่ที่ใช้นันทนาการหรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า อย่างที่บอกว่าเรามองว่าในชิงประโยชน์ของพืชสมุนไพรและเศรษฐกิจ แต่เรายังห้ามเรื่องนันทนาการ ส่วนการมีพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ก็เผื่ออนาคตแต่ก็ต้องดูว่าจะพิจารณาใช้ในเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งเราไม่ได้เอาวัฒนธรรมที่อื่นมากำหนด แต่เราอาจจะหารูปแบบที่มีประโยชน์มาประยุกต์ได้ เช่น ในเรื่องของแผนไทย ภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องเสนอและประชาพิจารณ์ เพื่อกำหนดเป็นกฎกระทรวง

เมื่อถามถึงกรณีการสกัดแล้วทีเอชซีเกิน 0.2% เข้าข่ายเป็นยาเสพติดต้องดำเนินการอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า ร่างนี้ไม่เกี่ยวกับร่างประกาศรายชื่อยาเสพติด ซึ่งเราร่างกฎหมายนี้ไว้อยู่ก่อนแล้ว เราดึงเรื่องของกัญชากัญชงทั้งหมดมาไว้ในร่างกฎหมายนี้ ซึ่งการสกัดก็ต้องมาขออนุญาตตามปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ดูว่าเกินหรือไม่เกิน 0.2%

ส่วนสารสกัดที่ได้ไม่ว่าจะเกินหรือไม่ก็ต้องไปดูในเรื่องของการผลิตที่ต้องขออนุญาตผลิตก็ต้องเป็นไปตามสุตรที่ขออนุญาต หากสูตรที่ขอต้องใช้ทีเอชซีเกิน 0.2% แต่ได้รับอนุญาตก็เอาสารสกัดที่ได้ไปใช้ตามสเปคที่กำหนดไว้ เพราะอย่างที่บอกว่าเกิน 0.2% เป็นยาเสพติดแต่ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้

ถามต่อว่า การออกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่มีเรื่องเว้นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เพราะมีเรื่องของการเมืองหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เราเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง อย่างที่บอกว่าเรามองเรื่องของพืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจ ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองหรือไม่

ถามว่า การออกร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า จากนี้ก็จะเร่งประชาพิจารณ์โดยเร็วที่สุด ภายในเดือน ก.พ.ได้ก็ยิ่งดี เมื่อประชาพิจารณ์แล้วอาจปรับร่างเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ.เห็นชอบ ก็เสนอเข้าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอ ครม. และไปคณะกรรมกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อออกกฎหมาย

รัฐบาลเดินหน้า-ภาคสังคมค้าน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอเรื่องการปลอดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด และ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปปส. ให้การสนับสนุนร่างประกาศกำหนดชื่อยาเสพติด ที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีมติแล้ว ซึ่งคณะกรรมการปปส. จะประชุมพิจารณา วันที่ 25 มค.นี้

หลังจาก นายอนุทิน กล่าวจบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการปปส. ตั้งข้อสังเกตว่า การถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด จะขัดกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ของสหประชาชาติ ซึ่งนายอนุทิน ได้ชี้แจงว่า อนุสัญญาเดี่ยวฯ ไม่ได้บังคับว่าต้องให้กัญชาเป็นยาเสพติด แต่ต้องมีมาตรการควบคุม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอร่างพรบ.พืชกัญชา พืชกัญชง เป็นมาตรการควบคุมการผลิตและการใช้กัญชา ในทางที่เป็นโทษต่อประชาชน และเยาวชน

รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องอนุสัญญาเดี่ยว เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เอาไว้ก่อน ขอให้ทำเรื่องกัญชาให้สำเร็จ ตามนโยบายรัฐบาล

ขณะที่ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “มองรอบด้าน : ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือที่จะตัดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด”

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศศก. กล่าวว่า ตนไม่คัดค้านที่จะให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะปลดกัญชาออกจากยาเสพติดทั้งหมด เพราะปัจจุบันยังมีรายงานผู้ที่ได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้กัญชาโดยรวมอยู่ โดยเฉพาะสาร THC ที่มีผลกระทบต่อการทำงานหลายระบบในร่างกายโดยเฉพาะสมอง ที่น่ากังวลคือปัญหาโรคจิต อาการทางจิต ไบโพลาร์ กัญชาจะทำให้มีอาการกำเริบได้

ทั้งนี้จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ของคณะกรรมการบริหารเครือข่ายวิชาการยาเสพติด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พบคนไทยอายุ 12 ปีขึ้นไปมีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 3.5-3.6 เท่าจากปี 2559 หลังการอนุญาตให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ สอดคล้องกับข้อมูลของ ศศก.ที่พบว่ามีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการกว่า 1 ล้านคนถือว่าสูงมาก ขณะที่ต่างประเทศทำการมอนิเตอร์มา 10 ปี พบว่ามีการใช้ THC ในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อันตรายจากสาร THC มีตั้งแต่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองสั่งการช้าลง เซื่องซึม การตัดสินใจช้าลง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนและจากการทำงานที่ใช้เครื่องจักร และยังไปเพิ่มโดปามีนในสมองบางส่วนส่งผลเกิดอาการคล้ายโรคจิต เห็นภาพหลอน หวาดระแวง เป็นต้น หากปลดล็อคทุกอย่างเสี่ยงที่จะมีการใช้ในทางที่ผิดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เช่นเป็นสูตรผสมสารเสพติดอื่น ๆ

โดยเฉพาะการใช้ในกลุ่มวัยรุ่นอย่างต่อเนื่องพบว่าจะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ (IQ) ลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งค่อนข้างอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ รายงานในต่างประเทศพบว่าการใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ สารในกัญชา เช่น CBD มีการทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคหลายชนิดมาก โดยไปยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ทำลายยาอื่นโดยเฉพาะยายับยั้งการแข็งตัวของเลือด จะมีโอกาสเพิ่มอาการข้างเคียงจากเลือดหยุดไหลยากได้

“ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่การจะปลดออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตนยังไม่เห็นด้วย ต้องคิดให้รอบคอบเพื่อเป็นการคุ้มครองคนไทยโดยรวมจริง ๆ การคุมสารสกัด THC ไม่ให้เกิน 0.2% ถามว่าในชีวิตจริงหน่วยงานใดจะสามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมทั้งประเทศ” รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี กล่าว

ส่วน ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า THC ในกัญชามีผลทำให้เกิดโรคจิตและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคจิตเรื้อรังอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณมาก ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคจิตเภทเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างมาก ส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียนหรือประกอบอาชีพได้อีกต่อไป มักต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากญาติและสังคมไปตลอดชีวิต การรักษาโรคจิตเภทก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ดังนั้นการเกิดโรคจิตจากการใช้กัญชาจึงเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ สำหรับการเผยแพร่ข่าวสารว่า สารสกัดกัญชาช่วยรักษาโรคจิตได้นั้น ตนขอชี้แจงว่า เรายังมีข้อมูลน้อยเกินกว่าที่จะนำสารสกัด CBD ในการรักษาโรคจิต สำหรับสารสกัด THC นอกจากไม่พบว่ามีประโยชน์กับโรคจิตเภทแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยโรคจิตมีอาการเลวลงอีกด้วย โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นด้วยกับการนำพืชและผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่พืชหรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี THC เกิน 0.2% ก็ยังควรถูกควบคุมการผลิตและใช้อยู่ โดยอาจนำแนวทางบริหารจัดการยาเสพติดที่มีการนำมาใช้ทางการแพทย์อยู่แล้ว เช่น มอร์ฟีน เมธาโดน มาใช้กับพืชและผลิตภัณฑ์กัญชา

คุณวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ กล่าวว่า แม้การใช้กัญชาทางการแพทย์จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยบางโรค แต่การเสพตัวกัญชาเองก่อให้เกิดผลกระทบมากมายทั้งต่อตัวผู้ใช้ ครอบครัวและสังคมโดยรวมมากมาย และกล่าวสรุปในนามตัวแทนภาคีเครือข่ายว่า

“เราเห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ขอคณะกรรมการ ปปส. ให้ชะลอการตัดกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการรับฟังความรอบด้านและมีกฎหมายและแผนในการควบคุมผลกระทบที่ชัดเจน”