อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (6)

ภาพถ่ายของเธอคงถูกตีพิมพ์รอบแล้วรอบเล่า

ภาพถ่ายของเธอคงถูกตีพิมพ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ภาพถ่ายของเธอคงถูกตีพิมพ์ไปอีกแสนนาน

นั่นเป็นเพราะว่าภาพถ่ายนั้นของเธอบ่งบอกทุกอย่างในตัวเธอ

บ่งบอกทุกอย่างในตัวของ โยชิโกะ คาวาชิม่า

บ่งบอกทุกอย่างในตัวของ อ้ายชิง เจียวหลอ เสียนอี๋ (Aisin Gioro Xianyu)-เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์แมนจู

วันที่เธอถ่ายภาพนี้ โยชิโกะ คาวาชิม่า คงมีความสุขอย่างยิ่ง

เธอคงนั่งลงอย่างช้าๆ จัดท่าจัดทาง เพ่งมองไปที่กล้อง ฟังเสียงพูดคุยของช่างภาพ ฟังเสียงกลักฟิล์มเลื่อนไปมา

แต่เมื่อภาพนี้ถูกเผยแพร่รอบแล้วรอบเล่าและถูกนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการกล่าวหาว่าเธอคือผู้ทรยศแผ่นดิน โยชิโกะ คาวาชิม่า อาจไม่อยากให้วันนั้นเกิดขึ้นเลยก็เป็นได้

หากจะเลือกลบภาพสักภาพจากความทรงจำ เธอคงเลือกขอให้ภาพภาพนี้หายสาบสูญไปจากโลกเป็นแน่

หนังสือพิมพ์อาซาฮี-Asahi กรอบบ่ายของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1933 ตีพิมพ์ภาพถ่ายของหญิงสาววัย 26 ปี นาม โยชิโกะ คาวาชิม่า ในชุดเครื่องแบบทหารญี่ปุ่นเต็มยศ ทั้งหมวกที่ปกปิดเส้นผมของเธอ รองเท้าบู๊ตที่ปกปิดท่อนขาเรียวงามของเธอ

ใบหน้าของเธอสงบนิ่ง ร่างกายของเธอเอนอยู่บนเก้าอี้ มือสองข้างของเธอวางลงบนดาบซามูไรยาว บ่งบอกถึงการพร้อมเข้าสู่สนามรบ

โปรยหัวของข่าวชี้แจงว่านี่คือภาพของ “หญิงงามในเครื่องแบบของทหารนาม โยชิโกะ คาวาชิม่า”

ส่วนข้อความถัดมานั้นบอกว่า “เธอกลับเข้ามาคุมหน่วยรักษาความสงบภายในที่เยเฮ จากวีรกรรมสำคัญของเธอในอดีต เธอย่อมสามารถนำหน่วยที่จะปราบปรามเหล่าโจรร้ายได้แน่นอน”

หลังจากภารกิจสำคัญในการนำพระมเหสีหว่านหรงไปยังแมนจูเรียจากเทียนสินได้เป็นผลสำเร็จในปี 1931 บทบาทของ โยชิโกะ คาวาชิม่า ในการสงครามจีน-ญี่ปุ่น นั้นไม่ปรากฏชัด แต่การแสดงตัวอีกครั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้เกิดคำร่ำลือว่า “ตอนนี้เธอพร้อมแล้วที่จะปรากฏตัวเข้าทำงานสำคัญ”

งานสำคัญครานี้คือการขจัดอำนาจของขุนศึก ถัง ยู่หลิน-Tang Yulin ที่กำลังรีดนาทาเร้นประชาชนจีนในเยเฮ อันเป็นดินแดนที่อยู่ทางตะวันตกของแมนจูเรียและทางตะวันออกของมองโกเลีย

ภารกิจสำคัญครั้งนี้มาพร้อมกับสมญานามใหม่ว่าผู้บังคับบัญชา จิ๋น บีฮุย-Jin Bihui คำว่าจิ๋นนั้นเป็นแซ่สกุลของราชวงศ์แมนจูของเธอ ส่วนคำว่า บีฮุย นั้นแปลว่า หยกที่ส่งประกาย

 

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดสู่ตำแหน่งแบบฉับพลันเช่นนี้ย่อมก็ให้เกิดคำถามโดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่เพศหญิงถูกจำกัดพื้นที่ไม่น้อย

คำถามสำคัญคือว่าตำแหน่งใหญ่เช่นนี้สมควรใช้บุคคลที่มีความสามารถมากว่านี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อความในข่าวได้แก้ต่างแทนเธอว่า “เราควรปล่อยให้เธอแสดงฝีมือก่อนและดูผลที่ได้รับ ตอนนี้ความคาดหวังที่ต่อเธอดูจะมากเกินไป”

ความคาดหวังนั้นมีมากเนื่องจากเวลาขณะนั้นกองทัพญี่ปุ่นได้ทำการรุกคืบไปในประเทศจีนอย่างต่อเนื่องหลังจากที่สามารถตั้งแมนจูกัวเป็นที่มั่นสำคัญได้ และเหล่าโจรร้ายที่เป็นภัยต่อกองทัพญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ใครอื่นเลยนอกจากกลุ่มชาวจีนรักชาติที่ต้องการขับไล่ญี่ปุ่นให้พ้นดินแดนของตนเอง

ภารกิจของโยชิโกะในการต่อสู้กับพวกขุนศึกและพวกต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อปีก่อนถูกนำมาอ้างเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเธอ

กันยายน ปี 1932 ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่อูลุนบูเยอในเขตมองโกล โยชิโกะได้ทำหน้าที่สำคัญทั้งในด้านของผู้ให้คำปรึกษาและผู้ปฏิบัติการในการต่อกรกับ ซู บิงเวน-Su Bingwen นายทุนขุนศึกคนสำคัญของจีนที่จับชาวญี่ปุ่นเป็นตัวประกันในครั้งนั้น

ซู บิงเวน นั้นเดิมทีเป็นขุนศึกที่ฝักใฝ่กับกองทัพกวางต่ง แต่เขาก็เป็นเช่นขุนศึกทั่วไปที่พร้อมจะพลิกด้านเมื่อสบโอกาสในการแสวงหาลาภยศ และทรัพย์สมบัติ

ซูเกิดในปี 1892 สำเร็จการศึกษาด้านทหารในปี 1914 และเข้าเป็นทหารในกองทัพจีนในอีกสองปีต่อมา

เขาร่วมรบกับกองทัพในฟูเจี้ยนก่อนจะถูกส่งตัวขึ้นเหนือเข้าประจำการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในเวลาต่อมา

หลังจากญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองแมนจูเรียหรือที่รู้จักกันในนามว่าปฏิบัติการมุกเด็น ซู ผู้มีอำนาจในย่านนั้นกลับวางเฉย

เขาปล่อย นายพลมา ชางซาน-Ma Zhanshan นายพลจีนเชื้อสายมุสลิม ผู้ดูแลพื้นที่บริเวณนั้นให้ทำศึกกับกองทัพกวางต่งอย่างโดดเดี่ยว

แต่แล้วในเดือนกันยายน ปี 1932 ในขณะที่ญี่ปุ่นเร่งสร้างทางรถไฟจากแมนจูกัวลงมาทางใต้ ซู ก็พลิกบทบาทตนเองด้วยการจับชาวญี่ปุ่นที่มีหน้าที่คุมงานก่อสร้างและดูแลการเดินรถไฟกว่าสองร้อยคนเป็นตัวประกันและเรียกค่าสินบนจากรัฐบาลญี่ปุ่น

ช่วงเวลานั้นเอง นายพลมา ชางซาน ที่แตกทัพมาจากทางเหนือได้เดินทางเข้าสมทบกับซู และกลายเป็นกองกำลังสำคัญในการต่อต้านญี่ปุ่นโดยมีพลเมืองและประชาชนชาวจีนเข้าร่วมอย่างมากมาย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กองทัพกวางต่งไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ ช่วงเวลาจากเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนั้น ญี่ปุ่นระดมกองทหารจำนวนกว่าสามหมื่นนายพร้อมด้วยทหารมองโกลภายใต้การดูแลของญี่ปุ่นอีก 4,500 นาย เข้าโจมตีเขตที่มั่นของซู และนายพลมา ที่ชีฉีเฮอ

และในวันที่ 3 ธันวาคม ญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองฐานทัพของทั้งสองได้

วันรุ่งขึ้นทั้งซูและนายพลมา หลบหนีเข้าไปในเขตปกครองของรัสเซียเป็นผลสำเร็จ

ส่วนกองกำลังของพวกเขานั้นถูกวาดต้อนกลับไปเยเฮ

 

แม้จะได้ชัยชนะในที่สุด แต่การถูกท้าทายอำนาจเช่นนี้ไม่เป็นผลดีเลยต่อการประโคมโหมโฆษณาเพื่อดึงดูดชาวญี่ปุ่นให้มาตั้งรกรากอยู่ในแมนจูกัว

กองทัพญี่ปุ่นพิจารณาแล้วไม่เห็นมีทางใดดีกว่าการใช้โยชิโกะเป็นภาพลักษณ์เพื่อดึงดูดใจสื่อทั้งหลายเพื่อกลบข่าวร้ายในเเมนจูกัว

ตลอดปี 1933 ไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น เราจะได้รับรู้เรื่องราวของโยชิโกะอย่างไม่ขาดสาย

สมญานามใหม่ของเธอคือ โจน ออฟ อาร์ก แห่งแมนจูกัวที่มีชัยเหนือพวกโจรร้ายที่บ่อนทำลายดินแดน

นายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า “เธอจะขับเครื่องบินไปทั่วดินแดนแมนจูเรียทางตอนเหนือ สอดส่องไปทุกแห่งหน เข้าร่วมรบในทุกพื้นที่ เธอช่างกล้าหาญไม่ต่างจากวีรสตรี โจน ออฟ อาร์ก ในอดีตเลย”

การสร้างเรื่องเล่าเช่นนี้ขยายความขึ้นแทบทุกขณะ

จนในที่สุดก็กลายเป็นเธอผู้ที่เจรจาขอให้ ซู บิงเวน ยอมแพ้ โดยเธอได้กระโดดร่มลงเพียงลำพังยังฐานทัพของ ซู บิงเวน

ตำนานที่ว่าถูกเสริมด้วยภาพถ่ายของเธอภายใต้หมวกนักบินที่ชีฉีเฮอ

แม้จะรู้ดีว่าเรื่องราวเหล่านั้นไม่เป็นความจริง แต่การจะคอยออกมาโต้แย้งหรือชี้แจงให้ทุกอย่างตรงไปตรงมาตามความจริงก็ดูจะพ้นกำลังเธอ

ในช่วงของการไต่สอนอาชญากรของประเทศ โยชิโกะเล่าว่า หน้าที่ของเธอยามนั้นคือการดูแลให้ดินแดนแมนจูกัวอันเป็นบ้านเกิดของเธออยู่รอดปลอดภัยและตั้งมั่นได้เท่านั้นเอง

การยืมมือกองทัพกวางต่งเพื่อการนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เธอเล่าว่าเธอต้องการกระโดดร่มไปเจรจากับ ซู บิงเวน จริงๆ เพื่อต่อรองให้ซูยอมรับการมีอยู่ของดินแดนแมนจูกัว หากแต่หลังการฝึกกระโดดร่มหลายต่อหลายครั้งที่ไม่ประสบความสำเร็จและสภาพอากาศอันหนาวเย็นที่ไม่อำนวย เธอได้ล้มเลิกความคิดนั้นในที่สุด แต่กระนั้นตำนานที่ว่าก็หาได้ล้มเลิกตามไปด้วย

เรื่องราวกล้าหาญของเธอที่ยอมกระโดดร่มลงในดินแดนที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ถึงสี่สิบองศากลายเป็นเรื่องราวที่พูดถึงกันโดยทั่วไป

 

เหตุการณ์ที่ว่านำมาสู่ภาพถ่ายภาพนี้ ภาพของหญิงสาวในชุดเครื่องแบบทหารเต็มยศที่พร้อมสำหรับปฏิบัติการสำคัญทางทิศตะวันตกของแมนจูเรียที่เยเฮ ดินแดนแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงดินแดนกันชนระหว่างแมนจูกัวกับจีนเท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นที่ทำรายได้มหาศาลให้กับกองทัพกวางต่งอีกด้วย

ช่วงเวลานั้น โยชิโกะ มีคนรักคือ ทาดะ ฮายาโอะ-Tada Hayao นายทหารผู้ทรงอิทธิพลในแมนจูกัวและเชื่อได้ว่าเขาอยู่เบื้องหลังในการผลักดันเธอให้ได้รับตำแหน่งในครานี้

โยชิโกะเองก็ได้รับประโยชน์จากการคบหากับทาดะ เธอพูดกับน้องชายของเธอว่า “อย่าใส่ใจกับความสัมพันธ์ครั้งนี้เลย พี่เพียงแต่จะใช้ประโยชน์จากเขาเท่านั้น”

ทว่า ทาดะ หาใช่คนโง่ เขาเองก็ใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงของโยชิโกะ เช่นกัน

และเขานั้นพร้อมที่จะสลัดเธอทิ้งเมื่อไร้ประโยชน์

ในช่วงท้ายของสงคราม ทาดะนั้นอยู่ในกลุ่มคนที่วางแผนกำจัดและสังหารโยชิโกะด้วยซ้ำไป

กองพลที่โยชิโกะดูแลที่เยเฮนั้นอาจถือได้ว่าเป็นพวกเดนตายที่ไม่มีใครปรารถนา บางคนนิ้วขาด บางคนใบหูแหว่งวิ่นเพราะพิษหิมะอันหนาวเย็น ว่ากันว่าเธอเรียกองพลของเธอว่าหน่วยรบปีศาจหรืออสุรกาย

และเธอเองแทบจะไม่เคยสังสันทน์กับพวกเขาเลย ไม่มีรายงานแน่ชัดว่าเธอนำหน่วยรบเหล่านั้นอย่างไรหรือเธอมีอำนาจบังคับบัญชาที่แท้จริงหรือไม่

แต่เธอเองได้อ้างว่าถูกกระสุนปืนถึงสามครั้งในช่วงที่บัญชาการการรบที่เยเฮและทำให้เธอต้องพักรักษาตัวเป็นระยะ

มูรามัตสุ โชฟุ ผู้เขียนอัตชีวประวัติของเธอกล่าวว่า “มันแลดูเหมือนกองพลของเล่นสำหรับเธอเสียมากกว่า”

แต่ไม่ว่ากองพลของเธอจะเป็นเช่นไร การยึดเยเฮของกองทัพกวางต่งหาได้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเธอเลย ญี่ปุ่นใช้เวลาบุกเข้ายึดเยเฮไม่ถึงสองอาทิตย์ด้วยซ้ำไป ทั้งที่เส้นทางเข้าถึงเยเฮนั้นเต็มไปด้วยช่องเขาและหน้าผาชัน

เอ็ดการ์ สโนว์-Edgar Snow ผู้เขียนประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ถึงกับกล่าวเสียดสีว่า “แม้แต่กองลูกเสือที่มีดินปืนก็สามารถรับมือการบุกของกองทัพญี่ปุ่นได้ไม่ยากเย็นเลย การศึกที่เยเฮนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่น่าละอายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การรบของกองทัพจีน”

ขุนศึกของจีนที่ดูแลเยเฮนั้นได้แก่ นายพลถัง ยู่หลิน นักข่าวของนิตยสารไทม์ที่ได้พบกับนายพลถังก่อนความพ่ายแพ้นั้นบันทึกว่า ตัวนายพลถังโอ้อวดในความสามารถของเขาและเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นไม่มีทางจะกรีธาทัพมายึดครองเยเฮได้

“เราเชื่อมั่นว่าจะต้านญี่ปุ่นได้อย่างต่ำถึงหกเดือน”

ทว่า ในความเป็นจริง เยเฮตกเป็นของญี่ปุ่นในเวลาเพียงสิบเอ็ดวัน กองทัพกวางต่งรุกคืบหน้าได้ถึงวันละห้าสิบไมล์

ในช่วงท้ายๆ นายพลถัง ยู่หลิน ต้องหลบหนีไปในสภาพที่ประคองตนไม่อยู่จากฤทธิ์ของฝิ่น