เก็บทรงไม่อยู่! “ประยุทธ์” ลั่นไม่ยอมแพ้กลางที่ประชุม ศบศ. ก่อนเปิดเพลง “อย่ายอมแพ้”

“ประยุทธ์” ลั่นกลางที่ประชุม ศบศ.ผมไม่ยอมแพ้ ทำงานเพื่อชาติและประชาชน” ปล่อยมุขเปิดเพลงอ้อม สุนิสา “อย่ายอมแพ้”

วันที่ 21 ม.ค. 2565 เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยใช้เวลาการประชุมประมาณ 2 ขั่วโมง 15 นาที โดยภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยกล่าวกับสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดีซึ่งผิดกับวานนี้ว่า “ สวัสดีจ้ะ เดี๋ยวรอฟังจาก press release (เอกสารข่าว) มีแต่เรื่องดีๆทั้งนั้นแหละ”

ทั้งนี้รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในช่วงท้ายก่อนจบการประชุม ศบศ. นายกรัฐมนตรีได้เปิดเพลง “เพลงอย่ายอมแพ้”ของ อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ นักร้องชื่อดังในอดีต จากโทรศัพท์มือถือ พร้อมบอกกับที่ประชุมว่า “ผมไม่ยอมแพ้อยู่แล้ว เพลงเป็นเรื่องการให้กำลังใจทุกคนที่ร่วมทำงานไม่แพ้ต่อปัญหาอุปสรรค เช่นเดียวกับนายกฯไม่เคยยอมแพ้ ทำงานเพื่อชาติและประชาชน”

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการและนักวิเคราะห์ชื่อดัง ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานที่ประชุม จู่ๆคว้าโทรศัพท์มือถือแล้วเปิดเพลงกลางที่ประชุมแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย พร้อมระบุว่า

ประยุทธ์ปลุกใจสู้ธรรมนัส เปิดคลิปพร้อมร้องเพลง ‘อย่ายอมแพ้’ กลางที่ประชุม “ธนกร” ระบุประยุทธ์ “ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรค ทำงานเพื่อชาติและประชาชน หลังเปิดเพลง ‘อ้อม สุนิสา’ กลางวงประชุม กล่อมรัฐมนตรี ‘ขออย่ายอมแพ้’”

ทั้งนี้ การเปิดเพลงอย่ายอมแพ้ของพล.อ. ประยุทธ์ครั้งนี้ คาดว่า ต้องการแสดงความชัดเจนของตัวเองในการที่จะเดินหน้าทำงานในหน้าที่ต่อ แม้จะเกิดวิกฤติทางการเมืองโดยเฉพาะความขัดเเย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 20 ม.ค. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรค พปชร.ปล่อยคลิปเปิดใจหลังถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ พร้อม ส.ส. 20 คน ว่ายังนอนหลับสบาย แต่เป็นห่วงเพื่อน ส.ส. ในพรรคว่าใครจะดูแล เพราะที่ผ่านมาตนและ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นคนสนับสนุนดูแล ส.ส. ในการลงพื้นที่ และการที่ตนเป็นคนพูดตรงไปตรงมา อาจทำให้คนบางคนไม่ชอบ และไม่ยอมรับความจริง จึงตัดสินใจแยกกันอยู่ดีกว่า โดยจะไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ที่มีการเตรียมการมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งจะมีการเซอร์ไพรส์ ด้วย

ไม่เพียงความขัดแย้งภายในพรรคหลักของรัฐบาลเท่านั้น ยังมีปัญหาความชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ถดถอยลงอย่างหนักท่ามกลางความนิยมในสาธารณชนตกต่ำจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศตั้งแต่เป็นผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.จนมานั่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 62 และวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่แก้ไขปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจอย่างล่าช้า ทำให้ฝ่ายค้านและประชาชนเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง