เปิดทัศนะคนข่าว มอง พรบ.จริยธรรมสื่อยังไง

หลังจากใช้เวลาจัดทำตั้งแต่เป็นฉบับจากสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.)ในยุครัฐบาลทหาร คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผ่านรับฟังความเห็น นานถึง 5 ปี ในที่สุด ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ผ่านความเห็นชอบในคณะรัฐมนตรีเมื่อ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาต่อไป

ตามรายงานของบีบีซีไทย เนื้อหาใน พรบ.ดังกล่าว จำนวน 45 มาตรา ประกอบด้วย

  1. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสิทธิปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนโดยมิให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา
  3. ตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” มีอำนาจและหน้าที่จดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน คุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนในการเสนอข่าวและความคิดเห็นพร้อมด้วยมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน กำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพให้เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายปีจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท
  4. ตั้ง “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ประกอบด้วย กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คณะกรรมการฯ มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนและพิจารณาการขอจดแจ้ง-เพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

โดยข้อสังเกตต่อพรบ.นี้คือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เคยลงดาบลงโทษถึงขั้นจอดำกับสำนักข่าวบางช่องที่นำเสนอข่าวแตกต่างจากสิ่งที่ต่างจากรัฐบาลต้องการ โดยอ้างนำเสนอเนื้อหาความขัดแย้งหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ในห้วงการเมืองยุคเผด็จการทหาร คสช.

อีกข้อหนึ่งคือ สื่อมวลชนในนิยามของพรบ.จริยธรรมสื่อนี้ ได้ครอบคลุมไปถึงนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) รวมถึงผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creator) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ยูทูปเบอร์ หรือไม่

และอีกข้อสังเกตหนึ่งคือ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ตั้งแต่ผู้ทรงคุณวุฒิไปถึงกรรมการโดยตำแหน่งนี้ มีที่มาที่ไปยึดโยงกับประชาชนและบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อหรือไม่

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “จริยธรรม” (Morality) เอง ยังคงมีข้อถกเถียงทั้งในแง่ปรัชญา ฐานความเชื่อทางศาสนา บรรทัดฐานทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายจนยากจะกำหนดตายตัวหรืออีกทั้งเป็นเรื่องของอัตวิสัยของปัจเจกบุคคลที่ยึดถือ ซึ่งต่างจากผู้ชี้ขาดทางศีลธรรมว่าอะไร “ควร” หรือ “ไม่ควร” จากสถาบันทางสังคมและการเมือง

แม้จะมีเสียงสนับสนุนจากองค์กรวิชาชีพสื่อก็ตาม แต่สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเมื่อ 17 มกราคมที่ผ่านมา แสดงข้อกังวลต่อ สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อฯ โดยระบุว่า

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ระบุเหตุผลในบันทึกหลักการและเหตุผลว่า “สมควรกำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรอง และกำหนดให้มีการส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนเพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม”

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ กำหนดให้มีองค์กรชื่อ ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน พร้อมกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมนั้น โดยกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะประกอบด้วยตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อในปัจจุบัน 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านต่างๆ อีก 5 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา พร้อมกับผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อีก 1 คน รวม 11 คน

นักวิชาชีพและนักวิชาการสื่อมวลชน ดังรายนามท้ายจดหมายเปิดผนึก ได้พิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าวสารของสื่อมวลชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน จึงควรมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งสื่อมวลชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงเสียก่อน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา จึงมีขอเรียกร้องร่วมกันดังต่อไปนี้

1.ขอให้รัฐสภา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปก่อน จนกว่าจะเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้โดยทั่วกัน

2.ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน จากสื่อมวลชนที่มีสังกัดและสื่อภาคพลเมือง ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ว่าจำเป็นจะต้องมีร่างกฎหมายเช่นนี้ออกมาหรือไม่ พร้อมจัดทำข้อคำนึงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตามกระบวนการรัฐสภาต่อไป

พร้อมกันนี้ขอแสดงความกังวลต่อเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนี้

1.การจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน : มาตรา 5 ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะรับรองเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็น “ตามจริยธรรมสื่อมวลชน” แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งที่ผ่านมาคำว่า หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” และ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” มักถูกรัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ในทางจำกัดเสรีภาพตลอดมา จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

2.ผลประโยชน์ทับซ้อน : มาตราที่ 8 และ 9 ของร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดแหล่งรายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่ามาจาก 7 ช่องทาง รวมถึงจากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม, เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินที่ได้รับการจัดสรรโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่ต่ำกว่าปีละ 25 ล้านบาท ขณะที่หลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ เช่นนี้แล้ว สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะการันตีความเป็นอิสระจากภาครัฐได้อย่างไร หากมีแหล่งรายได้มาจากรัฐเสียเอง

3.ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม : คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในวงจำกัด ได้แก่

1.คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มิใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

2.คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

3.คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

4.ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ด้านสื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ 1 คน

5.ผู้แทนสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน

6.ผู้แทนสภาทนายความ จำนวน 1 คน

  1. ผู้แทนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จำนวน 1 คน

โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหานี้ ไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญ อาทิ เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของประเทศ, กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน, พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นบทบาทให้คุณให้โทษต่อสมาชิกและวงการสื่อมวลชน

นอกจากนี้เมื่อคัดเลือกมาแล้วก็ไม่มีกลไกเอื้อให้สมาชิกมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งที่มีวาระดำรงตำแหน่งได้ถึง 4 ปี และเป็นติดต่อกันได้ 2 สมัย รวม 8 ปี ทำให้เกิดข้อกังวลว่า กลุ่มบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกโดยวงจำกัดเช่นนี้จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพและปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้จริงหรือไม่

DemAll ได้ระบุตอนท้ายว่า กลไกการกำกับดูแลสื่อมวลชนจะออกมาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องการฉันทามติจากสังคม ไม่ใช่เฉพาะจากแวดวงสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยถูกคาดหวังให้ตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจของภาครัฐ จึงควรปิดช่องทางที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นอิสระของวงการสื่อมวลชน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศที่แท้จริง

หลากทัศนะ ทั้งหนุน-ให้ชะลอไปก่อน

มงคล บางประภา ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวระหว่างร่วมเสวนาร่างพรบ.ดังกล่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ (19 มกราคม 2565) ว่า

เราถือว่า [ร่าง] โอเค ใช้ได้”

มงคลกล่าวว่า งบ 25 ล้านต่อปีจากรัฐที่จะอุดหนุน ‘สภาวิชาชีพสื่อ’ จะเป็นแบบผูกมัดภายใต้ร่างกฎหมาย คล้ายไทยพีบีเอส จึงไม่ต้องห่วงว่าจะถูกรัฐแทรกแทรง… “แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหลับหูหลับตาสนับสนุน” และบอกว่าอาจถูกแก้ในอนาคต

มงคลยืนยันว่า บุคคลอาวุโสในวงการสมาคมสื่ออย่างชวรงค์ (ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ) และมานิต มีส่วนปรึกษาร่วมกับรัฐบาลในเรื่องนี้ ร่างฯเน้นการโปรโมท “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” และเรื่องนี้มีความคิดริเริ่มตั้งแต่สมัยร๊ฐบาลอภิสิทธิ์ เพียงแต่ทำสำเร็จ… และผ่าน ครม.อาทิตย์ที่แล้ว ครม.อนุมัติเร็ว

ด้านประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช ได้ให้ความเห็นต่อร่างพรบ.ว่า

1) ยืนยันในหลักการว่าไม่ควรเอารัฐมาเกี่ยวข้องออกเป็นกฎหมายและพึ่งเงินรัฐ เพราะเสี่ยงถูกแทรกแทรง ทุกรัฐบาลต้องการควบคุมลดข่าวเชิงวิพากษ์รัฐบาลเสมอ ไม่ว่ารัฐบาลไหน

ส่วนเงินอุดหนุนปีละ 25 ล้าน จากรัฐนั้น มันไม่มีเงินใดได้เปล่าจริงๆหรอก “There’s no such thing as a free lunch.” (“ไม่มีอาหารเที่ยงฟรีในโลก”)

2) หน้าที่ของสื่อคือตรวจสอบรัฐ ตรวจสอบผู้มีอำนาจ และองคาพยพต่างๆในสังคม ไม่ใช่ให้รัฐมาควบคุมกำกับดูแลผ่านองค์กรที่เป็นร่างทรง มา ‘จัดระเบียบ’ สื่อ

3) นิยามคำว่า “จริยธรรม” “หน้าที่ประชาชนไทย” และ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ที่สภาฯมีหน้าที่กำหนด มีปัญหามาก ลื่นไหลกำกวม ตีความและถูกนำไปใช้แบบผิดๆได้ เรื่องนี้จะกระทบ 20% ของสื่อ ที่ต้องการผลักดันพรมแดนการเซนเซอร์ ไม่ว่าเรื่องข่าวและความเห็นเกี่ยวกับการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์หรือแม้กระทั่งต่อต้าน เรื่อง ม.112 เรื่องข้อเสนอยกเลิกโทษประหารชีวิต เรื่องปกครองตนเองในปาตานีและการรายงานแบบเห็นอกเห็นใจเป็นต้น เหล่านี้อาจถูกตีตราว่าไร้จริยธรรม ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อหน้าที่พลเมือง

ปัญหาคือแม้ปัจจุบัน การเซนเซอร์ตนเองของสื่อเรื่องสถาบันกษัตริย์ เพราะ ม112 ก็มากอย่างไม่รู้จักพอเพียงอยู่แล้ว ผมอยากเห็นสมาคมฯนักข่าวทำการศึกษาเรื่องการเซนเซอร์ตนเองต่อข่าวเกี่ยวกับสถาบันฯ และผลกระทบต่อสังคม

5) ในการอ้างว่าประเทศอื่นเขาก็มีสภาแบบนี้ ควรยกตัวอย่างประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมาก ไม่ใช่พม่า ตีมอร์หรืออินโดนีเซีย แล้วดูว่าเป็นไง

6) ไม่มีสมาคมสื่อใดที่จะพูดแทนเรื่องนักข่าวทั้งประเทศได้ นี่คือปัญหาเรื่อง representation (การเป็นตัวแทน) จึงขอให้จัด public hearing และให้นักข่าวที่ไม่ใช่สมาคมบรรดาสมาคมสื่อต่างๆ และประชาชนเข้าร่วมด้วย เพราะพวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้โดยตรงทั้งในแง่ของสิทธิในการเข้าถึงข่าวข้อมูลอันหลากหลายที่อาจถูกกระทบในอนาคตเพราะอาจถูกตีตราว่าเป็นข่าวหรือข้อมูลที่ขัด ‘จริยธรรม’ ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชนไทย’ หรือขัดต่อ ‘หน้าที่อันดีของประชาชน’

และถ้าต้องการความชอบธรรม ผมเสนอให้จัดการโหวตโดยผู้ประกอบอาชีพสื่อทุกคนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ ก่อนที่บรรดาสมาคมสื่อจะตีเนียนอ้างว่ากระทำในนามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งแผ่นดิน

ขณะที่ วศินี พบูประภาพ นักข่าวภาคสนามคลื่นลูกใหม่จาก WorkpointToday ได้ให้ข้อสังเกตว่า มีส่วนโดยเฉพาะเรื่อง “จริยธรรม” น่าจะเป็นตัวกำหนดหลักในกฎหมาย และยังมีส่วนสำคัญอื่นๆ แต่ไม่ถูกเน้นเป็นลักษณะหัวข้อเช่น ที่มารายได้ หน้าที่คณะกรรมการ จริงๆที่ต้องเน้นมากกว่าเรื่องจริยธรรม เช่น การเข้าเป็นสมาชิกสภา จะส่งผลอะไรต่อสถานะของสื่อ

“ต้องอ่าน 2 ชั้นนะ ว่ากฎหมายนั้นให้เหตุผลยังไง กับอีกชั้นว่านำไปสู่อะไร เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่สุดคือจริยธรรมที่เน้น แต่ต้องอ่านทุกข้อซึ่งน่ากังวล จากการได้คุยกับสำนักข่าวแห่งหนึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าต้องรณรงค์ใน 5 ส่วน (จดหมายเปิดผนึกของ DemAll)” วศินี กล่าว

เมื่อถามถึงการใช้กฎหมายในทางปฏิบัตินั้น วศินี กล่าวว่า จากงานศึกษาของชวรงค์ ก่อนที่กฎหมายจะออกมา เป็นการศึกษาของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไปสำรวจมาหลายแบบอย่างสมาคมสื่อของประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะมีขนาดใหญ่มาก เพราะกระบวนการกำกับที่รัฐไม่ควรยุ่ง ซึ่งการกำกับดูแลสื่อไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นสิ่งที่ควรมี แต่ใครเป็นผู้กำกับดูแล

ถ้ามองในแง่การตลาด สังคมจะเป็นคนกำกับสื่อ หรือถ้าเป็นรัฐที่กำกับสื่ออย่างจีน แต่ในสแกนดิเนเวียที่ไม่ไว้ใจระบบกลไกตลาด ก็ให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ก็เอาตัวนี้มา มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน เพราะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เสรีภาพสื่อและการเมืองแบบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งสูง ทำให้กฎหมายได้ผล

เรายืมรูปแบบมาแต่ว่า ไม่ใช่แค่หลักปฏิบัติ แม้แต่โครงสร้างในตัวร่างพรบ.นี้ก็ไม่เหมือนกัน เช่น ความมีส่วนร่วมของสมาชิกสภา คนที่จะสรรหาคัดเลือก ถ้าอ่านให้ดี กฎหมายนี้คือการให้ตั้งองค์กร เป็นสภา แต่สภาไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนหลัก แต่เป็นคณะกรรมการที่กำกับสภาอีกที ซึ่งมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง คือ การออกข้อปฏิบัติสื่อที่จะมาคลุมคนในสภา และเป็นข้อปฏิบัติกลางที่ตักเตือนสื่อที่เป็นสมาชิก ถ้าไม่ทำตามก็ขับออก

แต่ว่ากระบวนการสรรหา ไม่ได้ยึงโยงว่าใครเป็นสมาชิกสภา ยกมือโหวตว่าใครเป็นกรรมการตรงนี้ แต่สิ่งเกิดขึ้น กฎหมายตัวนี้ เขียนให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการตัวนี้อีกที ซึ่งมีคณบดีของมหาวิทยาลัยรัฐ ราชภัฏ เอกชน สภาทนายความ ตัวแทนสหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคและกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งก็ต้องดูแลที่มาของแต่ละคนด้วย

“คำถามคือ ทำไมต้องตั้งคณะกรรมการเหล่านี้ มาสรรหาอีกที ทั้งที่รูปแบบสภา แบบเดียวกับ ส.ส.คนที่โหวตคณะกรรมการของสภา ก็ต้องเป็นสมาชิกสภา รู้สึกว่าเป็นวงจำกัดมาก ไม่สามารถแสดงความเป็นตัวแทนสมาชิกสภา หรือแสดงตัวแทนก็สังคม รวมสภาทนายความเองก็มีข้อกังขาในเรื่อง ทำไมถึงมีแต่ผู้ชายหมด หรือการที่อยู่ในสภาทนายความ ก็โดนทนายความวิจารณ์อีกว่าไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของพวกเขาได้” วศินี กล่าว

นอกจากนี้ วศินี กล่าวว่า ก็โยงความเป็นตัวแทนนี้ด้วยว่า คนที่จะมาออกหลักปฏิบัตินี้ ไม่ได้มาจากกระบวนการที่สะท้อนมีส่วนร่วม ฉะนั้นหลักปฏิบัติสื่อนี้ออกมาแบบมีส่วนร่วมได้หรือ

เมื่อถามถึงสื่อที่ไม่มีสังกัดชัดเจนว่าสื่อพลเมืองนั้น วศินี กล่าวว่า งานศึกษาของชวรงค์ก็อธิบายนี้ด้วย พอถึงยุคนี้ก็ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าใครเป็นสื่อหรือไม่ใช่ แล้วจะเอาอะไรเป็นตัวกำกับ ถ้าเป็นยูทูปเบอร์ ทำตามจริยธรรมสื่อก็นับเป็นสื่อ ซึ่งตัวกฎหมายนี้ เรื่องจริยธรรม ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน จะสามารถยึดโยงได้หรือไม่ โดยเฉพาะในสภาวะการเมืองปัจจุบันที่ระดับเพดานต่างกัน

อย่างสื่อโดนกระสุนยาง ไปฟ้องศาล แล้วศาลบอกว่่าให้เราต้องไปพิสูจน์ว่า ได้ทำตามจรรยาบรรณสื่อไหม ในขณะเดียวกัน สื่อบอกว่ามีปลอกแขนและระมัดระวังตามสมควร แต่จะรับประกันได้ยังไง ย้อนกรณีถ้ำหลวง ที่มีหลักปฏิบัติของสื่อ แต่นั้นเป็นในกรณีการกู้ภัย ก็มีข้อกำหนดว่า ไม่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติงาน แล้วก็เอามายืนยันว่า เห็นไหม เพระไม่ได้ทำตามจรรยาบรรณสื่อ เห็นปัญหาไหมว่า จรรยาบรรณที่ออกมาจะปรับใช้เป็นมาตรฐานสากลหรือไม่

“และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 5 ที่ว่า สื่อจะนำเสนอข่าวโดยไม่ขัดต่อ หลักหน้าที่ของไทย หลักศีลธรรมอันดีของสังคม ทำให้รู้สึกว่า จรรยาบรรณที่ออกมาถูกตีความกว้างขวางเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐตีความหรือไม่  เพราะต้องยอมรับว่าสังคมนั้นวิวัฒน์ไปไกลกว่าการตีความจากเจ้าหน้าที่รัฐก้าวหนึ่งเสมอ หรือบางทีไม่ตีความ ทั้งที่สื่อขับเคลื่อนไปพร้อมกับสังคมตลอดเวลา สมมติว่า กรณีน้องไข่เน่า ถ้าถูกจำกัดด้วยศีลธรรมอันดี สังคมจะสามารถถกเถียงได้ยังไงว่า Sex content ถ้าไม่พูดในเชิงศีลธรรม จะพูดในมิติอื่นได้หรือเปล่า เท่ากับว่าอันนี้รายงานไม่ได้เลย” วศินี กล่าวและว่า

ที่ผ่านมา ถูกล้อมด้วยเส้นของแต่ละสำนักที่หลากหลาย อย่างสำนักหนึ่งทำเนื้อหาแนวเซ็กซี่ ซึ่งตอนนี้ใช้กรอบของแต่ละสำนักข่าว แต่ถ้าวันหนึ่งมีกรอบกลางขึ้นมา เราจะจัดการยังไง อาจดูเหมือนตีตนไปก่อนไข้ แต่ก็ขอมองแง่ร้ายก่อน อาจดูไม่เป็นธรรม แต่เรากังวลมาก เกรงไม่ใช่กฎแต่เป็นการแช่แข็ง ซึ่งน่ากังวล เพราะทุกวันนี้สังคมขยับเร็วมาก

วศินี กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ตัดสินใจผ่านกฎหมายอย่างรัฐสภาว่า ไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิก แต่ขอให้ชะลอออกไปก่อน เพราะนักข่าวที่อยู่ในสนาม น้อยคนรู้ว่ากำลังจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น เราไม่อยากสกัดกั้นแต่อยากให้ผ่านการดีเบตทุกแง่มุม เพื่อการเข้าสู่สภา ให้ส.ส. จะสามารถตัดสินใจว่าคนต้องการสิ่งนี้หรือยังไงกันแน่