‘ไม่อินเดีย’ ในท่ารำหลักของโนราและนาฏศิลป์ไทย / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘ไม่อินเดีย’ ในท่ารำหลักของโนราและนาฏศิลป์ไทย

 

“โนราได้ท่ารำจากอินเดีย” แพร่หลายในเอกสารทางการของกระทรวงวัฒนธรรมและคำสอนของครูบาอาจารย์ปัจจุบันทางนาฏศิลป์ในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่สืบเนื่องจากตำราเก่าว่า “นาฏศิลป์ไทยได้ต้นแบบท่ารำจากอินเดีย” อันมีต้นตอความคลาดเคลื่อนจากแนวคิดแบบอาณานิคมเมื่อ 100 ปีที่แล้วเรื่อง “อุษาคเนย์อาณานิคมรับอารยธรรมอินเดีย”

อาณานิคมอินเดีย

ศ.ยอร์ช เซเดส์ (นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส) ค้นคว้าเรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งแพร่หลายทั่วโลก ชื่อ Indianized States of Southeast Asia (อุษาคเนย์อาณานิคมรับอารยธรรมอินเดีย) มีเนื้อความสำคัญสรุปว่าอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยดั้งเดิมเป็นป่าดงไร้อารยธรรม ต่อมาได้ตกเป็นอาณานิคมของอินเดียแล้วรับอารยธรรมอินเดีย ทำให้อุษาคเนย์เจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองมีวัฒนธรรมสืบเนื่องมา

ชนชั้นนำสยามสมัย 100 ปีที่ผ่านมาพากันรับแนวคิดเรื่องอุษาคเนย์เป็นอาณานิคมอินเดีย แล้วนำไปปรับใช้อธิบายเรื่องนาฏศิลป์ไทยว่า “ท่ารำของนาฏศิลป์ไทยได้รับแบบแผนจากนาฏศิลป์อินเดีย” หรืออีกนัยหนึ่ง “นาฏศิลป์อินเดียเป็นต้นแบบท่ารำของนาฏศิลป์ไทย”

ครูบาอาจารย์ปัจจุบันทางนาฏศิลป์ไทย “ท่องจำ” คำอธิบายเป็นมรดกตกทอดของชนชั้นนำสยามเรื่องนาฏศิลป์ไทย แล้วยกทั้งดุ้นใช้สอนทั่วไปในสถานศึกษาทั่วประเทศที่มีการเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทยนับตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้โดยไม่มีวิจัยศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

 

ไม่อาณานิคมอินเดีย

ราว 50 ปีมานี้ นักวิชาการนานาชาติรวมทั้งนักวิชาการไทยทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ได้ศึกษาค้นคว้าแล้ววิจัยพบข้อมูลตรงข้ามแนวคิดของ ศ.ยอร์ช เซเดส์ ว่า อุษาคเนย์ดั้งเดิมไม่เคยเป็นอาณานิคมอินเดีย และนอกจากนั้นยังพบหลักฐานจำนวนมากยืนยันสอดคล้องกันว่าอุษาคเนย์เป็นบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐขนาดเล็กที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเกี่ยวกับถลุงและหล่อหลอมโลหะสำริดนานนับพันปี ก่อนรู้จักและรับวัฒนธรรมอินเดีย (ดูในหนังสือ เหล็ก “โลหปฏิวัติ” เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 11-12)

ท่าฟ้อนระบำรำเต้นเป็นลายเส้นบนเครื่องมือสำริดมีอายุ 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบอย่างเป็นระบบในแหล่งโบราณคดีอุษาคเนย์ แสดงลีลาท่าทางอย่างมีแบบแผนแข็งแรงมากแล้วก่อนติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอินเดีย ลีลาท่าทางเหล่านั้นสืบเนื่องจนทุกวันนี้มีในโขนละครโนราและอื่นๆ ดังนั้น นักปราชญ์อินเดียจึงชี้ว่าท่ารำอุษาคเนย์ไม่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์อินเดีย

“ท่าฟ้อนรำศิวนาฏราชที่หน้าปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และที่ปราสาทอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในดินแดนไทยและดินแดนกัมพูชา ล้วนแสดงลีลาแตกต่างจากท่ารำของอินเดีย แต่เป็นท่าฟ้อนรำของท้องถิ่น ดังที่ปรากฏอยู่กับท่าฟ้อนรำของบรรดานางอัปสรทั้งที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน” [จากหนังสือ ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เรียบเรียงจากบทความของ Kamaleswar Bhattacharya เรื่อง “Les Religions Brahmaniques dans L’Ancien Cambodge d’apr?s L’?pigraphie et L’Iconographie” คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2516]

ส่วนนักปราชญ์ไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยืนยันว่าฟ้อนรำอินเดียแตกต่างจากนาฏศิลป์ไทย

“การฟ้อนรำในนาฏศิลป์อินเดียนั้น แตกต่างกับการฟ้อนรำของผืนแผ่นดินใหญ่ภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีลักษณะแตกต่างกับการฟ้อนรำไทยมากทั้งในจังหวะซึ่งคล่องแคล่วว่องไวรวดเร็วกว่าของไทย และการใช้อวัยวะต่างๆ ซึ่งดูออกจะหนักหน่วงและเด็ดขาดกว่าการใช้อวัยวะในการฟ้อนรำไทย ท่ารำต่างๆ ของอินเดียในสมัยก่อนซึ่งปรากฏเป็นตำรับตำรานั้น หากจะพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าไม่มีความคล้ายคลึงกับท่ารำของไทย” [จากหนังสือ นาฏศิลป์ไทย โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ธนาคารกรุงเทพ จัดพิมพ์ พ.ศ.2526]

 

ศิวนาฏราช คือ พระอีศวรฟ้อนรำ หลักฐานสำคัญจากประติมากรรมทำท่านาฏราชของพระศิวะที่พบหลายแห่งในกัมพูชาและไทย ยืนยันว่านาฏศิลป์อินเดียไม่มีพลังเหนือฟ้อนระบำรำเต้นของไทยและอุษาคเนย์ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นแบบแผนแน่นหนานานหลายพันปีก่อนติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอินเดีย

นาฏราชแบบอินเดีย ช่างอินเดียทำประติมากรรมแสดงท่ารำเร่งรัด, เร่าร้อน, รวดเร็ว, รุนแรง (ภาพศิวนาฏราช ประติมากรรมสำริด ศิลปะอินเดียแบบทมิฬ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส)

อุษาคเนย์ไม่รับนาฏศิลป์อินเดีย

นาฏศิลป์และดนตรีของไทยได้แบบแผนจากอินเดีย เป็นสิ่งที่ทางการไทยอ้างนิทานอินเดียใช้ครอบงำการศึกษาไทยนานนับร้อยปีมาแล้ว (ขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง) ทั้งๆ ไม่จริงตามนั้น เพราะไม่พบหลักฐานวิชาการสนับสนุน

นาฏศิลป์อินเดียไม่มีอิทธิพลเหนือฟ้อนระบำรำเต้นในท้องถิ่นอุษาคเนย์ที่มีนับพันปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรู้จักแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอินเดีย

ฟ้อนระบำรำเต้นในราชสำนักท้องถิ่นอุษาคเนย์และไทย ถ้าจะมีอิทธิพลอยู่บ้างจากนาฏศิลป์อินเดียก็เฉพาะท่ารำศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับศาสนา ซึ่งไม่เคลื่อนไหว และในทางนาฏศิลป์เรียก “ท่านิ่ง” หรือ “ท่าตาย” (เช่น ท่าแมงมุมชักใยของโนรา)ไม่ส่งผลต่อฟ้อนระบำรำเต้นที่เรียกต่อมาว่านาฏศิลป์อุษาคเนย์และนาฏศิลป์ไทย โดยเฉพาะท่ารำหลักของโนรา

ราชสำนักท้องถิ่นอุษาคเนย์รู้จักดีในนาฏศิลป์อินเดีย จึงพบหลักฐานโบราณคดีบ้าง แต่ไม่มากนัก และไม่มีอิทธิพลเหนือนาฏศิลป์อุษาคเนย์ ได้แก่ ข้อความพรรณนาในจารึกจำนวนหนึ่ง, ประติมากรรมลอยตัวทำด้วยโลหะ และปูนปั้นประดับศาสนสถานพุทธและพราหมณ์ฮินดู แต่ทำเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ไม่ได้รับจริง จึงไม่มีท่ารำหลักใช้ลีลานาฏศิลป์อินเดีย

มีงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่อง ที่ให้รายละเอียดหลักฐานโบราณคดีว่าอุษาคเนย์และไทยไม่รับนาฏศิลป์อินเดีย ได้แก่

(1.) การศึกษาท่ารำและนาฏลักษณ์ที่ปรากฏในงานประติมากรรม ณ ปราสาทพิมาย โดยนายลักษมณ์ บุญเรือง วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2547

(2.) ศึกษาเปรียบเทียบท่ารำนาฏศิลป์ไทยกับนาฏศิลป์กัมพูชา จากหลักฐานโบราณคดี โดยนายดุสิตธร งามยิ่ง วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2552

นาฏราชแบบอุษาคเนย์ “ไม่อินเดีย” ช่างอุษาคเนย์สลักหินทรายแสดงท่าฟ้อนรำเนิบช้าด้วยสามัญลักษณะ ยืด-ยุบ มีย่อเข่า ถ่างขา กางแขน และนิ้วเรียวยาวเหนือธรรมชาติคล้ายสวมเล็บปลอมตามประเพณีท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง ซึ่งทั้งหมดล้วนแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนาฏศิลป์อินเดีย (ภาพศิวนาฏราช ฝีมือช่างลุ่มน้ำมูล ราว พ.ศ.1650 สลักบนหน้าบันปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์) — หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณละเอียดกว่านี้มีในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ สํานักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์เสร็จแล้ว สั่งซื้อที่ www.facebook.com/ituibooks หรือโทรศัพท์ 08-8919-4516

 

นาฏศิลป์ไทยปัจจุบัน

ครูอาจารย์ที่สอนนาฏศิลป์ไทยปัจจุบันไม่สันทัดการค้นคว้าวิจัยวิชาการซึ่งเป็นธรรมดา ย่อมตามไม่ทันความก้าวหน้าทางวิชาการทั้งด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีและด้านนาฏศิลป์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน

แต่ครูบาอาจารย์ที่สอนนาฏศิลป์ไทยไม่ควรด่วนสรุปแล้วใช้ “อำนาจรวมศูนย์” ตัดสินว่าข้อมูลความรู้ที่ตน “ท่องจำ” มาเป็นสิ่งถูกต้องอย่างสัจธรรม ทั้งๆ หาหลักฐานมายืนยันมิได้ แล้ว “บูลลี่” ข้อมูลความรู้ฝ่ายตรงข้ามว่าผิดหมดทั้งๆ เต็มไปด้วยข้อมูลหลักฐานแข็งแรงสนับสนุน

ขอแนะนำครูบาอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ไทยปัจจุบันตั้งหลักใหม่ด้วยการยอมรับความจริงว่าตามไม่ทันงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ที่ก้าวหน้าจน “ไม่เหมือนเดิม” แล้วเริ่มใหม่ด้วยการทักท้วงและถกเถียงอย่างไมตรีถ้อยทีถ้อยอาศัยปรึกษาหารือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างคนเท่ากัน