จากเขมรถึงเมียนมา การถ่ายผ่านเกมการเมือง/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

จากเขมรถึงเมียนมา

การถ่ายผ่านเกมการเมือง

 

แต่ไหนแต่ไรสมเด็จฮุน เซน ไม่เคยไปไหนในวันนี้เลย คือวันที่ “ปรามปีมะกะรา”

แต่จู่ๆ วันที่ 7 มกราคม เขาก็ไปเยือนเนปิดอว์เพื่อพบกับผู้นำรัฐประหารสหภาพเมียนมา-พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย

และกลายเป็นวันที่ “เจ็ดมกราฯ” ที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละปีนั้น จะมีพิธีเปิดสะพาน สมโภชน์ถนน และการเฉลิมฉลองพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ที่ตามมาอย่างยิ่งใหญ่

แต่สมเด็จฮุน เซน กลับมีหมายไปเมียนมาในฐานะประธานอาเซียนและข้ออ้างภารกิจเพื่อสันติภาพ

ช่างเป็นแคมเปญอันสุดพิเศษ แต่ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นหลังจากเขาประกาศวางตัวลูกชาย-พลโทฮุน มาเนต เป็นแคนดิเดตทางการเมือง

และนั่นคือจุดที่ฉันหันมาสนใจในความกระตือรือร้นของฮุน เซน ต่อการเป็นประธานอาเซียนรอบนี้

แรกเลย ฉันก็คิดว่า ทำไมสมเด็จฮุน เซน ยิ่งใช้เวลายาวนานกว่าจะแต่งตั้งลูกชายคนโตให้รับตำแหน่งนี้? หรือจำเป็นต้องรอความเห็นชอบจากหน่วยเหนืออีกที?

หน่วยเหนือ-ฮาสิ โลกใบนี้ ยังมีในระบอบแปลกๆ ที่แทรกด้วยการเมืองระหว่าง “ภาคี” โดยเฉพาะระหว่างเวียดนาม-กัมพูชาในภาค “สังคมนิยม” ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุค 80 และหลายฝ่ายก็เชื่อกันมาตลอดว่าเขาอยู่ภายใต้อาณัติของฮานอย

หลักฐานก็คือการทำรัฐประหารเงียบ/สำงัดภายในพรรคกองทัพประชาชนถึง 2 ครั้ง คือรัฐประหาร “แปน โสวัน” และ “จัน ซี” พ้นจากอำนาจ ซึ่งมีฮานอยกับมอสโกอยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของฮุน เซน ยังมีที่มาจากแบ๊กอัพทางการเมืองและเลือกตั้งอีกหลายครั้งโดยคำกล่าวหาจากฝ่ายค้าน

มรดก “เจ็ดมกราฯ” จึงเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนที่ตระกูลฮุนแบกรับตลอดมา ถึงขนาดสื่อใต้ดินพากันล้อเลียนฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของเขาว่าเป็นทายาทอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ญวน และนับสิบปีแล้วที่มาเนตถูกล้อเลียนด้วยเรื่องนี้ จนแม้แต่สัม รังสี ยังเห็นใจ

แล้วฮุน มาเนต หรือไม่? ที่เป็นจุดอ่อนของฮุน เซน?

ig@mani_hun

ดังนั้น จู่ๆ ต้นปีนี้ ไม่พิธีการวันที่ “เจ็ดมกราฯ”

ไม่เพียงแต่ถูกกลบข่าวด้วยการเดินทางไปเมียนมา เขายังสร้างกระแสความสนใจต่อชาวโลกอย่างไม่หวั่นทีท่าการต่อต้านที่ตามมา

หรือนี่คือการทำให้วันที่ 7 มกราฯ หายไปจากความสนใจในกัมพูชา?

ใช่แต่จะมีทีท่าอุ้มมิน อ่อง ลาย เท่านั้น แต่ด้านหนึ่งยังกระเตงลูกชายนายพลของตัวเองด้วยการตัดสัมพันธ์กับ “ภาคี” ชีวิตตน นั่นคือ วันที่ “เจ็ดมกราฯ” และ “พรรคประชาชนกัมพูชา” ที่เปรียบเสมือนเป็นบิดาทางการเมืองเพื่อเซ่นแก่ฮุน มาเนต ที่เป็นลูกในไส้

ก็คิดเอาเองว่า ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากแคมเปญนี้ อาเซียน, จีน, มิน อ่อง ลาย หรือสมาชิกตระกูลฮุน?

ตามไทม์ไลน์ฮุน เซน พ่อพุ่งเข้าชนนี้ ทันทีก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการวางตัว “ฮุน เซน เบอร์สอง” ที่เป็นทายาทตัวเอง ในที่นี้ การตัดขาดจากฮานอยคือความจำเป็นอย่างมาก และเป็นที่ทราบกันดีว่า สมาชิกถาวร (อาจินไตรย์) อาจไม่สบอารมณ์กับฮุน เซน แต่เพราะฮานอยปกป้องไว้

ig@mani_hun

แต่สำหรับการ “เทพรรค” หนนี้ เป็นคำตอบชัดเจนว่า ฮุน มาเนต จะเป็นแคนดิเดตอิสระ หรืออย่างน้อยก็คนในพรรคที่ “คมโตร” ยอมรับ แม้แต่ฮุน มานี ที่ทำงานร่วมพรรคมาหลายปี เป็นที่ทราบกันดีว่าเขาไม่สู้จะเข้าพวกกับพรรคของพ่อ

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฮุน มาเนต จะอยู่ได้!

ซึ่งระยะหลังมานี้ เป็นที่รู้กันดีว่า สมเด็จฮุน เซน กลายเป็นคนแก่ที่ชอบ “ทิ้ง” โดยเฉพาะการรื้อถอนทำลายโครงสร้างเดิมๆ แต่เพิ่มเติมคือ “สถาปนา” สิ่งใหม่ๆ หนึ่งในนั้น คือการรื้อซากอาคารฐานทัพเรือเก่าของสหรัฐที่อ่าวเรียม-กำโปด!

ส่วนกรณีปฏิรูปพรรคนั้น เช่นกัน ไม่มีใครคิดว่า ฮุน เซน จะกล้า “เท” พรรคที่สร้างและ “เจ็ดมกราฯ” สัญลักษณ์แห่งอำนาจตลอดมา 40 ปีที่คู่เคียงกันมา และใครต่างทราบดีว่าฮุน เซน เป็นผู้รู้คุณคน

แต่วันนี้ การ “ปฏิวัติ” พรรคเก่าแก่ของตนเพื่อสร้างฐานการเมืองใหม่ให้ลูกชาย โดยไม่ว่าจะเสี่ยงเกินไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้นาวาลำนี้ล่องลอยต่อไป มีแต่จะทำให้ฮุน มาเนต และฮุน มานี ลำบากใจในเชิงบริหาร

ซึ่งที่ผ่านมา สมเด็จฮุน เซน นั้นเก่งมากในด้าน “ด้อยค่า” สัญลักษณ์ของเวลา อาทิ “23 ตุลาคม” วันรัฐธรรมนูญตามข้อตกลง “เขมร 4 ฝ่าย” ที่กรุงปารีส ผ่านมา 20 ปี ได้กลายเป็นวันที่เลือนหายไปความทรงจำของผู้คน

ความจัดเจนและหลักเหลี่ยมที่แหลมคมของฮุน เซน ยังทำเอาผู้นำอาเซียนหลายคนพึงเรียนรู้แต่ไม่มีใครสู้เขาได้ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ต้องใช้เวลารอคอยมาแรมปี

และบ่งบอกว่า สมเด็จฮุน เซน ปรารถนาอารยะที่จะหลุดพ้นจากเวียดนามมาแรมปี

ig@mani_hun

พลโทฮุน มาเนต และเอกอุดมฮุน มานี ช่างโชคดีกระไร ที่เป็นทายาทผู้เยี่ยมยุทธ์ทางการเมือง

ทุกวันนี้ “สามหนุ่มตระกูลฮุน” ฮุน มาเนต, ฮุน มานิต และฮุน มานี ล้วนแต่นั่งแท่นผู้นำ “ฮุนรุ่นที่ 2” ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่

ทว่า ภายใต้เงาบิดาที่ภาพลักษณ์ “ใกล้ชิด” กับรัฐอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งปักกิ่งและฮานอยในอดีตจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะสลัดหลุดได้

แต่บิดาของเขาก็เป็นพ่อมดที่ “เล่นแร่แปรธาตุ” ได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะการ “ดีด” ตัวเองออกมาในวันที่ปักกิ่งให้ความสำคัญต่อระบอบฮุนเซนมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์สาขา 2 ของดาวแดงแห่งฮานอยที่เป็นเหมือน “โครงสร้าง” การเมืองเก่าอันอาจเป็นอุปสรรคต่อทายาทของตน

และมันก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องล้าง “ชนักปักหลัง” ของเขาแบกมานานด้วยน้ำมือของตัวเอง ก่อนที่จะสร้าง “องคาพยพใหม่” ที่เป็นอิสระให้แก่ทายาทตระกูลฮุนที่มีขุมกำลังทั้งด้านความมั่นคงและมวลชนฐานราก

การทิ้งทุ่นพรรคเก่าจึงเท่ากับประกาศว่า นี่คือการเมืองใหม่ของระบอบฮุนเซนแห่งทศวรรษหน้า และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมสมเด็จฮุน เซน จะต้องล้มระบอบเก่าของตน

สำหรับการสถาปนาระบอบใหม่ภายใต้แบรนด์เก่า ที่มี “ทายาทตระกูลฮุน” เดินเกม บนฐานรากอันแข็งแรงและปราศจากการอยู่ใต้อาณัติ (อย่างมากเกินไป) ต่อฝ่ายหนึ่ง

ig@mani_hun

นอกจากจะ “สลัดหลุด” จากบุญคุณการเมืองที่ตอบแทนยาวนานซึ่งไม่ต่างจากภัยคุกคามต่อทายาทการเมืองนี้ การแบรนดิ่งพรรคใหม่ยังทำให้แม้แต่คู่แข่งสัม รังสี มีท่าทีที่หวาดหวั่นในการเผชิญหน้าต่อฮุน มาเนต ที่ไม่มีบาดแผลเหวอะหวะเหมือนบิดา

และตอนนี้ ความได้เปรียบในการ “รีแบรนดิ่ง” ผู้ท้าชิงคนหน้าใหม่ของพรรคฮุนทไมนี้ ยังเข้ากันดีกับวิถีใหม่ทางการเมืองกัมพูชา

โดยเฉพาะการปรับปรุงภาพลักษณ์ด้านลบของสมเด็จฮุน เซน ยิ่งเพิ่มความนิยมในการถ่ายโอนอำนาจจากตนสู่ลูกชาย เสียยิ่งกว่ามืออาชีพ

ใครล่ะจะนึกว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ “reused” แบรนด์ตัวเองที่เป็นแต้มต่อของตนนี้

สมเด็จฮุน เซน ยัง “เฮียนทะเวอ” ดึงตัวละครอย่างมิน อ่อง ลาย ที่มีภาพลักษณ์เลวร้ายมาร่วมแสดง

เป็น “กลเกม” ที่เหมือนจะซับซ้อน แต่เดาพล็อตไม่ยาก

cr : Samdech Hun Sen Cambodian Prime Minister