อุซามะฮ์ บิน ลาดิน : จากวีรบุรุษสู่ผู้ก่อการร้าย (1)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อุซามะฮ์ บิน ลาดิน

: จากวีรบุรุษสู่ผู้ก่อการร้าย (1)

 

Binladin Group กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปในโลกอาหรับและโลกมุสลิมในฐานะบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีตลาดสำคัญอยู่ในประเทศอาหรับ

และเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่าบริษัทดังกล่าวยังรับผิดชอบการดูแลสาธารณูปโภคในมหามัสญิดสองแห่งในประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีความสำคัญของศาสนาอิสลามอย่างยิ่ง

นั่นคือมัสญิดหะรอมและมัสญิดมะฮ์ดีนะฮ์

พรมที่ปูในมัสญิด ถังบรรจุน้ำซัมซัมซึ่งเป็นบ่อน้ำสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม ล้วนเป็นการบริการที่มาจากบริษัทของบิน ลาดิน หรือ Binladin Group ทั้งสิ้น

บริษัทนี้มีคนงานถึงหมื่นคน มีสาขาทั่วทั้งคาบสมุทรอาหรับและทั่วทุกภูมิภาคในโลกนี้

ที่นับเป็นเกียรติประวัติของบริษัทก็คือ การรับเหมาก่อสร้างพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียในเมืองญิดดะฮ์ (เจดดา)

ผลงานของบริษัทอันประณีตบรรจง สร้างความพอพระทัยให้กษัตริย์ฟัยซ็อล (Fayzal) อย่างยิ่ง พระองค์ถึงกับแต่งตั้งมุฮัมมัด บิน ลาดิน ซึ่งเป็นบิดาของอุสามะฮ์ บิน ลาดิน และเป็นเจ้าของบริษัทบิน ลาดิน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพระมหากษัตริย์

ด้วยเหตุนี้กิจการของบริษัทจึงส่งผลให้แก่ความร่ำรวยของวงศ์ตระกูลอย่างมากมาย ตัวบิน ลาดิน เองเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากบิดาให้ดูแลกิจการของบริษัทด้วยวงเงินถึง 3 ล้านปอนด์สเตอลิง

 

บิน ลาดิน เป็นบุตรคนที่ 17 ของวงศ์ตระกูล เขาเกิดในปี 1957 ที่นครริยาฏ (ริยาด) ซาอุดีอาระเบีย โดยพฤกษาแห่งวงศ์ตระกูลของเขาสืบเชื้อสายมาจากเยเมนใต้ เป็นบุตรของภรรยาคนที่ 11 ที่เป็นชาวปาเลสไตน์ (บางรายงานบอกว่าเป็นชาวซีเรีย)

อาจจะเนื่องจากการมีมารดาเป็นชาวปาเลสไตน์นี่เองที่ทำให้บิน ลาดิน มีความผูกพันกับชาวปาเลสไตน์ในเขตยึดครองอย่างมาก

เขาจบการศึกษาด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยคิงอับดุลอาซิส ณ เมืองญิดดะฮ์ ในขณะที่บางรายงานกล่าวว่าเขาจบที่มหาวิทยาลัยริยาฏ

ความร่ำรวยของครอบครัวและของตนเองไม่ได้ทำให้บิน ลาดิน ตกอยู่ภายใต้อบายมุข และลุ่มหลงกับสตรีเพศหรือแหล่งบันเทิงแต่อย่างใด

ในขณะที่แหล่งข่าวจากตะวันตกมักจะบอกว่าเขามีชีวิตในวัยหนุ่มอย่างเสเพลในกรุงเบรุตเมืองหลวงของเลบานอน

แต่สำหรับชาวอาหรับแล้ว บิน ลาดิน เป็นบุคคลที่มีจิตใจสาธารณะอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่มีใจกุศล แต่งกายแบบอาหรับและเดินตามรอยเท้าของท่านศาสดามุฮัมมัดแห่งอิสลามอย่างเคร่งครัด

เขาได้นำกองทุนที่บิดาสะสมเอาไว้มาสนับสนุนการปกป้องประเทศมุสลิมถึง 12 ล้านดอลลาร์ริยัล (1 ริยัลในเวลานั้นมีค่าราว 7-8 บาท) โดยครอบครัวของเขาเองให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

 

ท่ามกลางความร่ำรวยและชีวิตที่สุขสบาย บิน ลาดิน กลับมีลักษณะแตกต่างไปจากเด็กหนุ่มในครอบครัวของชาวอาหรับร่ำรวยที่ชอบการใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อในดินแดนต่างๆ ทั้งในโลกอาหรับ ยุโรปและสหรัฐ แต่บิน ลาดิน กลับมีชีวิตแตกต่างไปจากคนหนุ่มเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง

เขากระโจนเข้าสู่การเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามมาตั้งแต่ปี 1974 โดยเข้าร่วมสงครามปกป้องผืนแผ่นดิน (ญิฮาด) ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเยเมนใต้เป็นเบื้องต้น และเมื่อคุ้นชินกับสงครามดังกล่าว เขาก็ได้เข้าร่วมทำญิฮาดกับนักรบศาสนา (มุญาฮิดีน) ในอัฟกานิสถานเพื่อร่วมขับไล่โซเวียต โดยเริ่มต้นทำสงครามจรยุทธ์ในปี 1979

แรงบันดาลใจที่มีส่วนผลักดันชีวิตของบิน ลาดิน นั้นมาจากครูผู้ล่วงลับไปแล้วชาวปาเลสไตน์ของเขาคืออับดุลลอฮ์ อัซซัม ผู้ฝึกปรือและสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้ให้แก่เขาด้วยการจัดตั้งสำนักงานมุญาฮิดีนขึ้นในเมืองเปชาวาร์ของปากีสถาน และสร้างค่ายฝึกคนหนุ่มขึ้นที่เมืองชิดดา โดยมีจุดมุ่งหมายในการฝึกการยุทธ์ให้แก่ชาวอาหรับ ตัวเขาเองได้ทำการสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเหล่านักรบทั้งหลาย และให้การสนับสนุนเงินทุนในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำสงคราม

กล่าวกันว่าเขาได้ใช้จ่ายเงินให้กับมุญาฮิดีนถึงเดือนละไม่น้อยกว่า 1 ล้านรูปีปากีสถาน รวมทั้งมอบเงินให้กับผู้คนของอัฟกานิสถานและโลกอาหรับจำนวนมาก โดยคนเหล่านี้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและเรียกเขาว่าอะตออุลลอฮ์ หรือของขวัญจากอัลลอฮ์ คนในอัฟกานิสถานเองจำนวนไม่น้อย รวมทั้งชาวมุสลิมในประเทศไทยทั้งภาคกลางและภาคใต้ของไทยที่ตั้งชื่อบุตรหลานของตนเองว่าอุสามะฮ์ สำหรับชาวมุสลิมในประเทศไทย นอกจากชื่ออุสามะฮ์แล้ว พวกเขายังนิยมตั้งชื่อบุตรหลานว่าก็อซซาฟีย์ (กัดดาฟี) และซัดดัมอีกด้วย

ที่น่าสนใจก็คือตัวของเขาเองได้เรียนรู้การต่อสู้แบบจรยทุธ์และการหลบหลีกศัตรูมาจากหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐ ช่วงต่อมาหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐได้จัดตั้งหน่วยฝึกฝนทางภาคพื้นดินขึ้นเพื่อติดอาวุธคนหนุ่มให้ต่อสู้ในสงครามจรยุทธ์กับโซเวียต

 

บิน ลาดิน ซึ่งมาจากครอบครัวแห่งราชอาณาจักรสะอูด กลายเป็นนักเรียนระดับ VIP ของ CIA เขาทำสงครามต่อต้านโซเวียตจากจุดยืนทางศาสนา ต่อต้านฝ่ายซ้ายอย่างต่อเนื่อง

เมื่อฝ่ายโซเวียตตัดสินใจส่งทหาร “นอกศาสนา” เข้าสู่อัฟกานิสถาน บิน ลาดิน ก็รู้ทันทีว่าเสียงเรียกให้เข้ามาในมาตภูมินี้มาถึงเขาแล้ว

เขาได้ย้ายเครือข่ายธุรกิจจากประเทศซาอุดีอาระเบียเข้าสู่อัฟกานิสถานพร้อมกับคนงานที่จงรักภักดีต่อเขา พร้อมกับเรียนรู้ศิลปะของการสร้างรัฐ

เขาเริ่มต้นซ่อมแซมเส้นทางทหารและตั้งฐานทัพเพื่อต่อต้านโซเวียตขึ้นมา โดยร่วมทีมกับอับดุลลอฮ์ อัซซัม (Abdullah Azam) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลองค์การของชาวปาเลสไตน์ที่เรียกว่าขบวนการภราดรภาพสุมลิม (Muslim Brotherhood) ด้วยการเกณฑ์คนหนุ่มมาจากทั่วโลกมุสลิม

นักหนังสือพิมพ์จากรัสเซีย Yerlan Dzhu Rabuyev ได้รำลึกถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า

“อาสาสมัครนับพันคน ส่วนใหญ่จากซาอุดีอาระเบีย แอลจีเรีย ปากีสถาน และอียิปต์ ต่างมารวมกันที่ค่ายฝึกใหม่” แห่งนี้

เมื่อโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989 ทำให้บิน ลาดิน มีกองกำลังอยู่ในขณะนั้นถึง 10,000 คน โดยไม่มีงานเร่งรีบใดๆ ให้กระทำ ด้วยเหตุนี้ ส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้จึงกลับไปบ้านของตน

บิน ลาดิน รู้ว่าหากเขาไม่จัดตั้งกองกำลังใดๆ ขึ้นมาการทำงานก็จะหมดความต่อเนื่องลงไป ด้วยเหตุนี้ เขาจึงทุ่มความสนใจไปที่การจัดตั้งองค์การอัลกออิดะฮ์ (Al-Qaida) อันหมายถึงฐานหรือ Base ในภาษาอังกฤษ ในปี 1988 หนึ่งปีก่อนการถอนทหารออกไปของโซเวียต

โดยองค์การดังกล่าวได้เจริญเติบโตขึ้นไปตามวันเวลา จนถึงเวลานี้อัล-กออิดะฮ์มีเครือข่ายอยู่ใน 50 ประเทศ

 

อาจกล่าวได้ว่า บิน ลาดิน ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นนักรบชั้นเยี่ยมที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA ในเวลาต่อมา กลับกลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ที่ทุกหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐต้องการตัวอันเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน แม้ว่าหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่จะยังไม่มีน้ำหนักพอเพียงที่จะกล่าวหาเขาได้ก็ตาม แต่เขาก็ได้ถูกพิพากษาให้เป็นผู้มีความผิดไปเรียบร้อยแล้ว

ในทางกลับกันคนที่ถูกไล่ล่าและต้องจบชีวิตลงจากปฏิบัติการของหน่วยซีลของสหรัฐอย่างบิน ลาดิน ได้แบ่งอันดับศัตรูของเขาไปตามลำดับ ดังนี้ 1.สหรัฐ 2.อิสราเอล และ 3.อินเดีย

จากงานของเขาที่ขยายไปในรอบ 2 ทศวรรษ บิน ลาดิน ได้ขยายเครือข่ายเข้าไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลกหลายแห่ง แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาหันกลับมาต่อต้านสหรัฐซึ่งเป็นผู้ฝึกฝนการรบให้เขานั้นอยู่ที่การเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่นของซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐและยอมให้ฐานทัพของสหรัฐเข้าประเทศซาอุดีอาระเบียในระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งไม่ยอมรับจุดยืนของสหรัฐที่อยู่เคียงข้างอิสราเอลอย่างไม่ตั้งคำถามใดๆ

สำหรับบิน ลาดิน อิสราเอลก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการตอบโต้อันเนื่องมาจากปฏิบัติการของขบวนการไซออนิสต์ (Zionism) ของชาวอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ และอินเดียอันเนื่องมาจากปัญหาแคชมีร หรือแคชเมียร์ (Kashmir) กล่าวกันว่าจนถึงเวลานี้ยังไม่มีกลุ่มจรยุทธ์ใดในปัจจุบันที่ขอบข่ายกว้างขวางเช่นนี้

ในชีวิตของเขาพบว่านอกจากเขาจะสนใจอุตสาหกรรมการก่อสร้างแล้ว บิน ลาดิน ยังให้ความสนใจการเมืองอิสลาม (Political Islam) ซึ่งความสนใจนี้ได้ก่อตัวขึ้นก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแปลงจากการเป็นนักอุตสาหกรรมการก่อสร้างไปสู่การปกป้องแนวทางอิสลามไปในที่สุด

 

ในปีหลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซียสิ้นสุดลง บิน ลาดิน เป็นคนที่เปลี่ยนไป เดือนมิถุนายน 1998 ตัวแทนจำนวน 100 คนจากประเทศอาหรับต่างๆ รวมทั้งที่มาจากโซมาเลีย อัฟกานิสถานและเคนยา ได้มารวมตัวกันในการประชุมสันนิบาตอาหรับทั่วโลกที่เมืองกอนดาฮาร์ ในประเทศอัฟกานิสถาน โดยบิน ลาดิน เป็นประธานในที่ประชุม

ต่อมา บิน ลาดิน ได้ตัดตัวเองออกจากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หลังจากซาอุดีอาระเบียตัดสินใจยอมให้ฐานทัพสหรัฐมาอยู่ในเขตแดนของตนอันเป็นเรื่องที่เขาลืมไม่ลง สำหรับเขาซาอุดีอาระเบียปัจจุบันนี้คือประเทศที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับชาวคริสต์และชาวยิว และสถานที่อันประเสริฐของอิสลามก็ถูกย่ำยี

เขาได้บอกกับนิตยสาร Time ว่า “หากว่าการแสดงถึงการญิฮาดต่อต้านชาวยิวและสหรัฐเป็นไปเพื่อจะปลดปล่อยมัสญิดอัลอักซอ (Al-Aqsa) และวิหารกะอ์บะฮ์ถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมก็ขอให้ประวัติศาสตร์เป็นพยานว่าข้าเป็นอาชญากร งานของเราก็คือการชี้นำและด้วยความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้าเราได้ทำเช่นนั้นแล้ว”

ในเวลานั้น บิน ลาดิน มีชื่อเสียงอยู่ในประเทศซูดาน อันเป็นสถานที่ที่เขาได้ฝึกฝนชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดให้มีอำนาจเพิ่มขึ้น ตัวเขาเองได้ลงทุนจากส่วนหนึ่งของทรัพย์สินในบริษัทก่อสร้างของเขาในซูดาน

นอกจากนี้ เขายังมีโรงงานหนังสัตว์และไร่ของตนเอง โดยส่งผลิตภัณฑ์ของเขาไปยังประเทศอิตาลี

ใช้รายได้จากวิสาหกิจเหล่านี้ไปกับการก่อสร้างศูนย์กลางการปฏิวัติตามแนวทางศาสนาให้กับทหารชาวอัฟกันที่ทำสงครามอยู่ในอัฟกานิสถาน

ในปี 1994 ซาอุดีอาระเบียได้ถอนสัญชาติของบิน ลาดิน ในขณะที่รัฐบาลซูดานขอให้เขาออกจากประเทศนี้ไปเสียในอีก 2 ปีต่อมา การที่เขาถูกเรียกร้องให้ออกจากประเทศซูดานนั้นอาจอธิบายจากความจริงได้ว่ารัฐบาลซูดานเกรงการปฏิบัติการที่เป็นการลงโทษจากซาอุดีอาระเบียหรืออียิปต์

ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมา บิน ลาดิน จึงมาตั้งรกรากในอัฟกานิสถานอันเป็นสถานที่ซึ่งเขาใช้เวลาในวัยหนุ่มทำสงครามกับโซเวียต