“จาตุรนต์” ตามหาหมูเจอแต่ฟาร์มร้าง เหตุตายจากโรคระบาด จี้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดแก้ไขแทนปกปิด

เมื่อวานนี้ (10 มกราคม 2565) เฟซบุ๊กแฟนเพจของจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่สำรวจฟาร์มเลี้ยงหมูใน 3 อำเภอของจ.ฉะเชิงเทรา แต่สภาพที่เห็นกลับมีแต่ฟาร์มถูกทิ้งร้าง ไม่มีหมูในเล้าซักตัว โดยกล่าวว่า
ภารกิจตามหาหมูถูก…ภารกิจล้มเหลว!!!
.
หมูจะราคาแพงไปอีกนานถ้ารัฐยังไม่เริ่ม..🐷 กล้าเปิดเผยข้อเท็จจริง
🐷 ปูพรมการตรวจ
🐷 ถ้าพบเชื้อห้ามเคลื่อนย้าย ห้ามจำหน่าย ห้ามนำมาใช้
🐷 ชดเชยเยียวยาให้เพียงพอไม่ให้ผู้เลี้ยงขาดทุน
🐷 ลงทุนศึกษาผลิตวัคซีนร่วมกับประเทศอื่น ๆ
🐷

ทำให้เกษตรกรรายเล็กรายน้อยกลับมายืนได้อีกครั้ง

วันนี้ผมและทีมงานวางแผนว่าจะไปเยี่ยมฟาร์มหมูเพื่อไปดูหมู และถ้ามีเวลาเหลือก็อาจไปดูฟาร์มที่ร้างด้วย แต่ปรากฏว่าวันนี้ไป 3 อำเภอในจ.ฉะเชิงเทรา เจอแต่ฟาร์มร้างไม่มีหมูเหลือสักตัว หมูตายไปหมดแล้ว บางฟาร์มเลี้ยงไว้ 4,000-5,000 ตัว ก็ทยอยตายไปอย่างรวดเร็ววันละหลายสิบหลายร้อยตัว จนตายหมดฟาร์ม เสียหายไปมากกว่า 20 ล้านบาท และหลายที่ก็เสียหายหลายล้าน

ค่าชดเชยที่ได้รับจากรัฐอย่างมากก็ล้านกว่าบาท แต่บางที่ได้เพียงแค่แสนเดียว ทำให้บางแห่งเลือกที่จะไม่รับความช่วยเหลือ เพราะคิดว่าความเสียหายเหล่านี้มันเกินเยียวยาไปแล้ว

สรุปว่าผมได้เจอหมูตัวเป็นๆ หรือไม่? ที่จริงก็พอมีหมูหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เพื่อป้องกันโรคระบาดจึงไม่สมควรที่เราจะเข้าไปชมในฟาร์ม ส่วนหมูที่ผมได้เห็นวันนี้เป็นเพียงหมูที่รอดตายตกค้างมาจากฟาร์มที่เกิดโรคระบาดเพียงไม่กี่ตัว ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าหมูหายไปมากกว่า 80-90% และไม่ได้เป็นแค่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา แต่พบในหลายจังหวัดทั้งนครปฐมและราชบุรี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

ฟังจากทั้งเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามปัญหามาโดยตลอด

พบว่าเริ่มจากการที่รัฐบาลไม่ยอมรับว่ามีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF และเลือกที่จะปิดบังข้อมูล ทั้งที่เกษตรกรเองเขาดูจากอาการและการไม่มีวัคซีนรักษาเขาก็รู้กันว่าหมูของเขาเป็นอะไร และล่าสุดกรณีที่ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ออกมายืนยัน รวมถึงต่างประเทศที่นำเข้าหมูจากไทยก็ตรวจพบเชื้อ AFS เช่นเดียวกัน แสดงว่ามีการปิดบังข้อมูลกันมานานเป็นปีแล้ว

ถามเจ้าของฟาร์มหมูก็ยังไม่คิดที่จะเริ่มเลี้ยงใหม่ เพราะอาจเจอโรคระบาดอีกที่ยังไม่มีทางรักษา รัฐก็ไม่ให้ความช่วยเหลือ และเสี่ยงที่จะขาดทุน หรือถ้าจะไปหาลูกหมูตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นการเลี้ยงหมูล็อตใหม่ก็คงไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ และจะทำให้แนวโน้มหมูจะแพงขึ้นอีก และเราจะไม่มีหมูกินไปอีกนาน

ทำให้นึกถึงกรณีไข้หวัดนกในอดีต

ก่อนที่ผมจะเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ก็พบว่ามีการปกปิดข้อมูลและไปตกลงกับเกษตรกรว่าจะชดเชยให้แต่ขอให้ปิดข่าวไว้ ทำให้ไม่มีวิธีดูแลอย่างเหมาะสมจนแพร่ระบาดไปมาก รัฐต้องเสียค่าชดเชยไป 4-5 พันล้านบาท

ภายใน 6 เดือน – 1ปี เรามาจัดระบบใหม่และทำกันอย่างเปิดเผย มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูและมีการตรวจทั่วประเทศ ไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย และให้ไก่ที่ยังไม่ติดโรคได้อยู่อย่างปลอดภัย ทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

กรณีของอหิวาต์แอฟริกาก็คล้ายกันคือปิดบังข้อมูลจนเสียหายยับเยิน จะทำให้กลับมาสู่สภาวะปกติรัฐต้องเข้มงวดเรื่องการห้ามเคลื่อนย้าย ห้ามจำหน่าย ห้ามบริโภค ห้ามเอามาใช้ มีมาตรการในการป้องกันนำเชื้อเข้าและออกจากพื้นที่ ระดมตรวจ สนับสนุนเครื่องมือการตรวจ และเมื่อเจอการติดเชื้อก็ขีดรัศมีจำกัดวง ที่สำคัญมาตรการเหล่านี้จะทำแล้วได้ผลมีประสิทธิภาพรัฐบาลต้องให้การชดเชยค่าเสียหายอย่างเพียงพอwม่ให้ผู้เลี้ยงขาดทุนจึงจะได้รับความร่วมมือ

ที่สำคัญที่ผมคิดว่าต้องทำคือสนับสนุนในการค้นหาวิจัยวัคซีนในการรักษา รัฐบาลต้องเอานักวิชาการเก่งๆไปศึกษาร่วมกับประเทศอื่นหรือร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำระดับโลกไปเลย เพราะว่าหมูตอนที่มีมากๆ มีประมาณ 22 ล้านตัวต่อปี ซึ่งหมายถึงเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 2แสนล้าน ดังนั้นถ้าจะต้องชดเชยและใช้เงินกันเป็นหลายพันล้านหมื่นล้านไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพื่อสามารถควบคุมสถานการณ์หรือวิจัยวัคซีนให้ได้

รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดไม่ใช่ปกปิด ไม่ใช่กลบเกลื่อน เพราะตอนนี้รัฐบาลอาจกลัวว่าจะกระทบการส่งออกของผู้ส่งออกรายใหญ่ๆ แต่อันนั้นเทียบกับเกษตรกรส่วนใหญ่แล้วมันเทียบกันไม่ได้ เพราะปัญหาใหญ่มากก็คือการล้มไปของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายเล็ก กลางหรือค่อนข้างใหญ่ ที่ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ เพราะบริษัทใหญ่จริงๆเขามีเทคโนโลยีสูง ป้องกันโรคได้ดีกว่า แล้วก็ควบคุมราคาอาหารสัตว์ได้ซึ่งได้เปรียบมาก จากที่เมื่อก่อนมีผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศประมาณ 270,000 ราย แต่เดี๋ยวนี้เหลือ 7-8 หมื่นราย ถ้ามาดูในช่วงที่มีโรคระบาดนี้ก็น่าจะลดลงไปอีกมาก

หมายความว่าเราทำให้คนที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้เลี้ยงหมูรายเล็กรายน้อย ล้มแล้วล้มเลยไม่สามารถกลับมาสู่อาชีพนี้ได้อีก การค้าหมูก็จะผูกขาดอยู่ที่ธุรกิจรายใหญ่ทั้งหมด

การแก้ไขปัญหาหมูของรัฐเวลานี้ที่เน้นการควบคุมราคาก็เท่ากับไปทำให้เขาไม่มีโอกาสได้กำไรเลย ตัดโอกาสคนที่คิดจะกลับมาเลี้ยง และจะนำไปสู่ปัญหาต้องนำเข้าหมูจากต่างประเทศกันยกใหญ่ ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่เป็นประเทศมีศักยภาพทางการเกษตร

เราควรเป็นประเทศที่มีหมูมากพอ ราคาไม่แพงเกินไป และสามารถส่งออกหมูทั้งเนื้อหมูและเนื้อหมูแปรรูปออกไปต่างประเทศ และถึงขั้นที่เป็นผู้ส่งออกขนาดใหญ่ก็ยังทำได้ รัฐจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและยุทธศาตร์ไม่ว่าจะต้องทำไปอีก 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี ก็ต้องลงมือทำ