ไข่เกลือ / ท่าอากาศยานต่างความคิด : อนุสรณ์ ติปยานนท์

อนุสรณ์ ติปยานนท์

[email protected]

 

ไข่เกลือ

 

“เจ้าสิเคยกินไข่เกลือบ่?”

สารภาพว่าตอนแรกที่ได้ยินประโยคนั้น ผมไพล่ไปนึกถึงคำพูดที่ได้ยินกันในวงสนทนาทั่วไปแถบนี้ที่ว่า “เจ้าสิเชื่อในพญานาคบ่?”

ช่วงปลายปีในขณะที่ผู้คนเก็บข้าวของ ยื่นใบลาพักร้อน (ทั้งที่ควรเป็นการลาพักหน้าหนาว) คนต่างจังหวัดเตรียมตัวกลับบ้านเยี่ยมญาติมิตร คนกรุงเทพฯ กดเบอร์โทรศัพท์จองร้านอาหารสำหรับคืนส่งท้ายแห่งปี

ผมกับมิตรสหายสองคนกับรถกลางเก่ากลางใหม่หนึ่งคันออกร่อนเร่ไปทั่วภาคอีสานเพื่อเก็บตัวอย่างเกลือดินหรือเกลือสินเธาว์ตามจังหวัดต่างๆ มาเพื่อจัดแสดงนิทรรศการในปีที่จะมาถึง

ร่อนเร่ออกจากชัยภูมิอันเป็นถิ่นพำนัก เกลือแถบละหาร อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ คือสถานที่แรกที่พวกเราไปเยือน

ระหว่างทางนาข้าวที่เก็บเกี่ยวไปแล้วทิ้งซากตอข้าวให้เห็นเป็นระยะ นาข้าวเหล่านี้แห้งผากรอฝนใหม่จะมาถึงเพื่อทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง

ดินแดนอีสานเป็นดินแดนที่หลายที่ทำได้แต่ข้าวนาปี น้ำท่านั้นหายาก จะมาทำนาปรังเหมือนภาคกลางนั้นอย่าหมาย

เคยมีนักการเมืองบางคนดำริจะทำคลองส่งน้ำจากแม่น้ำโขงให้เข้าถึงทุกจังหวัดเพื่อการทำนาปรัง แต่ทว่าโครงการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น

จนแม้แต่ผู้ดำริก็ล่วงลับจากโลกนี้ไปพร้อมกับโครงการในฝัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงน่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าอีสานไปไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

บทกวีของนายผี หรืออัศนี พลจันทร ที่ได้ยินกันทั่วไปว่า “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย” อาจจะไม่ตรงความจริงเท่าใดนัก ที่ถูกน่าจะเป็นว่า “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำยังมีเกลือ” น่าจะถูกต้องกว่า

เพราะเมื่อหมดฝน ในท่ามกลางความแห้งผากของผืนดิน สิ่งที่ผุดบังเกิดให้ได้เห็นนั้นได้แก่ “เกลือ” เกล็ดขาวๆ ผุดขึ้นมาหน้าดิน บ่งบอกถึงเทศกาลทำเกลือ เกลือดินหรือเกลือขี้ทาหรือเกลือกะทา คือสิ่งที่เป็นสินทรัพย์ในดินแดนแถบนี้มาช้านาน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าลึกลงไปใต้ดินของพื้นดินอีสานมีน้ำเค็มจำนวนมากไหลรินอยู่

อีสานที่เห็นว่าแห้งแล้งนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นท้องทะเล

และแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่เกลือที่รอวันผุดขึ้นมาอวดตนเองเหนือผืนดินของอีสานก็ยังทำเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปร

 

แหล่งผลิตเกลือเก่าแก่ของอีสานที่บัดนี้ผู้ไปเยือนก็ยังเห็นเกลือจำนวนมากตามหน้าดินคือบริเวณ “บ่อพันขัน” อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด

ตัวบ่อพันขันนั้นเป็นบ่อน้ำที่มีน้ำผุดขึ้นตลอดเวลา ขนาดไม่ใหญ่มากนัก ทว่าคุณสมบัติพิเศษของบ่อพันขันคือเป็นบ่อน้ำที่จืดสนิทท่ามกลางดินเค็มจำนวนมาก

การมีแหล่งน้ำจืดสำหรับช่วยในการละลายเกลือจากหน้าดินก่อนเอาไปต้ม ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งต้มเกลือสำคัญ

เกลือบ่อพันขันมีความสำคัญเพราะใช้แลกเปลี่ยนกับอาณาจักรขอมที่มีปลามากมายแต่ขาดเกลือ การทำปลาแดกนั้นจำเป็นต้องมีเกลือ อาณาจักรขอมจะยิ่งใหญ่ปานใดก็ต้องพึ่งพาเกลือ การรุกรานเข้ามาครอบครองดินแดนที่มีเกลือส่วนใหญ่ในอีสานทั้งพิมายและอีกหลายที่จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

โรงต้มเกลือที่บ้านละหารนั้นเป็นเพิงไม้ เสาโย้เย้ สาเหตุที่ทรุดโทรมเพราะพอหมดหน้าต้มเกลือในเดือนพฤษภาคมเมื่อฝนแรกมาถึงนั้น อาคารเหล่านี้ก็ถูกละเลยไป

หญิงชราผู้หนึ่งที่บอกกับเราว่านางยึดอาชีพต้มเกลือมาทั้งชีวิตคือผู้อยู่อาศัยในอาคารหลังนี้

บทสนทนาของเราเกิดขึ้นท่ามกลางไอเกลือที่ลอยขึ้นจากกระบะต้มเกลือ

เหล็กนั้นใช้ก่อสร้างอาคารแถบนี้ไม่ได้ ความเค็มของเกลือทำให้เหล็กเป็นสนิมในเวลาอันรวดเร็ว เกลือมีคุณสมบัติที่ดุร้ายเช่นนั้น มันทำให้อากาศรอบๆ แห้งผาก เกลือดูดความชื้น

เสื้อผ้าในบริเวณนี้ซักตากแล้วแห้งโดยเร็วก็จริง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไม่ดูแล ไม่นานนักสภาพแห้งกรอบจนหมดสภาพของเสื้อผ้าเหล่านั้นเพราะฤทธิ์เกลือก็จะเป็นไป

“อาชีพต้มเกลือไม่มีใครอยากทำแล้วตอนนี้ มันทั้งเหนื่อยทั้งร้อน ขูดเกลือมาใส่รางเกลือก็ต้องใช้แรง ตักน้ำมาใส่รางเกลือก็ต้องใช้แรง กรองน้ำเอาออกมาต้มก็ต้องคอยคนให้เกลือออกมาดี ไหนจะต้องเอามากรอกใส่ถุง มานอนเฝ้าอีก เด็กรุ่นใหม่ที่เขามีอย่างอื่นทำเขาก็ไม่มาทำเกลือแล้ว เขาไปหาอย่างอื่นทำสบายกว่า”

ลำบากยากเย็นกันขนาดนี้แล้ว ทำไมยังมีคนสมัครใจต้มเกลือกันอยู่อีก

คำถามที่ว่านี้ทำให้ต้องย้อนกลับไปเรื่องราวข้างต้น นอกจากดินแดนอีสานหลายพื้นที่จะไม่สามารถทำนาปรังได้แล้ว ยังมีดินแดนอีสานอีกมากที่อย่าว่าแต่นาปรัง นาปีก็ยากจะทำสำเร็จ

ดังนั้น การต้มเกลือเอาไปแลกข้าวจึงเป็นสิ่งที่มีมาช้านาน ที่ไหนเป็นนาข้าวย่อมไม่ใช่นาเกลือ ที่ไหนที่ต้มเกลือย่อมปลูกข้าวไม่ได้

“เจ้ามีเกลือ ข้อยมีข้าว เอามาแลกกันจึงเกิดขึ้น” อัตราส่วนการแลกก็ไม่ซับซ้อน ข้าวหนึ่งถังแลกเกลือหนึ่งถัง อัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง

หมู่บ้านใดที่ยากจะทำนาจึงต้มเกลือเอาไว้แลกข้าวตลอดปี

 

ออกจากจังหวัดชัยภูมิ เราผ่านเข้าจังหวัดขอนแก่น บ่อเกลือบ่อกระถินที่บ้านไผ่เป็นบ่อเกลือใหญ่ แต่เวลาของเรานั้นไม่เพียงพอ เราต้องการไปบ่อเกลือร้างที่ใหญ่ที่สุดในอีสานที่อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม หลายสิบปีก่อน

บรบือไม่ได้ขึ้นชื่อเฉพาะแห้ว แต่เกลือจากที่นี่อยู่ในทุกครัวเรือน การค้นพบแหล่งเกลือขนาดใหญ่ ทำให้จำนวนผู้ผลิตเกลือเพิ่มจากหนึ่งเป็นสองเป็นสาม

มีการดูดน้ำใต้ดินขึ้นมาทำนาเกลือกันอย่างมหาศาลจนนำไปสู่คำลือและข่าวลือว่าถ้าไม่หยุดผลิตเกลือในวิธีการเช่นนี้ ไม่ช้านาน แผ่นดินบรบือจะยุบตัวลงจนกลายเป็นดินแดนใต้น้ำไม่ต่างจากหนองหารในตำนาน

อีกทั้งน้ำเสียที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมเกลือเริ่มส่งผลต่อนาข้าวในบริเวณใกล้เคียง

จนในที่สุดรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ออกคำสั่งห้ามการทำเกลือแบบอุตสาหกรรมในบรบืออย่างเด็ดขาด

พวกเราไปถึงหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เคยเป็นบ่อเกลือในอดีตกลางอำเภอบรบือ

ในวันนี้หนองน้ำดังกล่าวดูสงบเงียบ ไร้ผู้คน มีชาวบ้านสองสามคนลงไปดำยิงปลาในหนอง

ร่องรอยของเกลือยังคงมีให้เห็นรอบๆ หน้าดินรอบหนองน้ำมีเกลือผุดขึ้นมาให้เห็นโดยทั่วไป

เราถ่ายรูปตะวันแสงสุดท้ายที่หล่นลงเหนือหนองน้ำเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นดินแดนผลิตเกลือขนาดใหญ่

ทว่าหลักฐานอีกชิ้นกลับเดินทางมาในเวลาอันใกล้ ชาวบ้านยิงปลานิลตัวใหญ่ตัวหนึ่งขึ้นได้จากหนองน้ำ

ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหากปลานิลตัวนั้นจะไม่มีเกล็ดเป็นสีเขียวมรกตไม่ต่างจากปลาที่ถูกแต้มสีโดยใครบางคน

“ปลาในหนองเป็นแบบนี้หมด ชาวบ้านเขาก็ว่ามันเกิดจากสารเคมีตกค้างสมัยทำเกลือ เขาเลยไม่มาจับกัน แต่ลุงไม่กลัว ก็ดีไปอีกแบบไม่มีใครมาแย่งเราหากิน ได้ตัวหนึ่งก็กินได้หลายมื้อทีเดียว” ชายวัยอาวุโสผู้ได้ปลากล่าว

ไม่มีใครในหมู่เราที่มีความรู้ด้านเคมีพอจะบอกว่ามันเกิดจากอะไร แม้สีของเกล็ดปลาจะสวย แต่มันก็มาพร้อมกับความหวั่นใจ

บางทีมันอาจเป็นเพียงแค่ผลกระทบตกค้างของเกลือ หรือบางทีอาจเป็นผลจากสารเคมีที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกลือ

เราได้แต่อวยพรให้ชายผู้นั้นโชคดี อย่างน้อยการอิ่มท้องในช่วงที่วัตถุดิบทำอาหารทุกอย่างแพงจนซื้อหาไม่ไหวอาจเป็นความสุขของเขาแล้ว

 

จากมหาสารคามมุ่งตรงสู่ร้อยเอ็ด เราต้องการไปดูบ่อเกลือที่หนองซอ อำเภอจตุรพักตรพิมาน การไปถึงที่นั่นในเวลาฟ้ามืดหมายถึงความผิดหวัง แต่ความผิดหวังยังไม่สิ้นเท่ากับที่นี่ไม่มีการทำเกลืออีกต่อไปแล้ว

“ถนนสี่เลนที่เพิ่งขยายมันแล่นเข้าไปในบ่อเกลือเลย ตากับยายที่แกทำเกลืออยู่รายท้ายๆ ของที่นี่เลยจำต้องเลิก” เจ้าของร้านชำที่เราแวะถามทางให้คำตอบ

“ไปหาแกก็ไม่รู้แกจะอยู่ไหม ค่ำมืดแกจะไปทำงานที่ไหนหรือไม่ก็ไม่รู้ได้” ประโยคถัดมาดูจะยิ่งสำทับความสิ้นหวังหากจะไม่มีสร้อยต่อของมัน

“แต่ถ้าอยากได้เกลือ อยากชิมเกลือ ก็ยังพอมีนะ ปีก่อนซื้อไว้จากแกเยอะอยู่ เกลือที่แกต้มมันเอามาเฮ็ดปลาแดกแซบดีกว่าเกลือที่ไหนทั้งหมด”

รออยู่ชั่วครู่ ผู้เป็นบุตรชายของเจ้าของร้านก็นำเกลือมาให้เรา สีน้ำตาลของเกลือที่ต่างจากสีขาวสะอาดอ้านของเกลือทั่วไปบ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างผืนดินแถบนี้กับเกลือที่อยู่เบื้องใต้มัน

น่าเสียดายที่นับจากนี้เกลือจากแหล่งนี้จะหลงเหลือเพียงตำนาน

ค่ำคืนนั้น เรานอนพักที่จังหวัดยโสธร เมืองยศสุนทรในอดีต

เกลือที่บ้านหนองเทา นาแก อำเภอคำเขื่อนแก้ว คือเป้าหมายต่อไปของเรา เมื่อเราไปถึงที่นั่นในตอนเช้าตรู่

อากาศยามเช้าสดชื่นเหมาะกับการเดินออกกำลังกาย แต่สำหรับผู้คนที่นั่น การออกกำลังกายของพวกเขาคือการเดินหาฟืนจากไม้ที่ล้มอยู่ทั่วไปเอามาต้มเกลือ

หากเกลือที่หนองซอจะมีสีคล้ำ เกลือที่หนองเทายิ่งมีสีเทาสมชื่อ ยื่นเกลือดังกล่าวให้ใครสักคนบนโต๊ะอาหาร ผู้ยื่นคงพบกับสีหน้าที่แสดงความประหลาดใจเป็นแน่

แต่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับโลกของเกลือ เกลือนั้นมีสีที่หลากหลาย เรามีเกลือสีชมพูจากหิมาลัยไปจนถึงเกลือภูเขาไฟสีดำจากบาหลี

ดังนั้น เกลือสีเทาจากบ้านหนองเทาจึงไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในโลกของเกลือ

 

ปัญหาของการต้มเกลือจากดินในปัจจุบันไม่เพียงแต่มันเป็นงานหนัก ปัญหาอีกข้อคือการขาดไม้อันเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ

ป่าที่ลดปริมาณน้อยถอยลงไปจนถึงขนาดของไม้ที่ไม่ได้ขนาดมากพอสำหรับการต้มเกลือที่กินเวลานาน จะขยับไปใช้ถ่านกระสอบราคาของเกลือที่ไม่เกินกิโลกรัมละสิบบาท (บางที่อยู่เพียงสามถึงห้าบาทด้วยซ้ำไป) ก็ดูจะไม่เอื้อให้กระทำเช่นนั้น

อนาคตของเกลือต้มในอีสานจึงไม่เพียงแต่ไม่สดใสแต่ยังดูมืดมนหากผู้ที่จะอนุรักษ์มันไว้ยังมองไม่เห็นหนทางเกื้อกูลแบบยั่งยืนในด้านต่างๆ

เราตัดผ่านจากยโสธรไปมุกดาหารเพื่อเข้าสู่นครพนม เกลือที่บ้านป่ายุง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม คือที่หมายของเรา

การต้องหยุดรถถามทางหลายต่อหลายเที่ยวทำให้เราไปถึงบ่อเกลือในเวลาเย็นมากแล้ว ภาพที่เราพบเห็นจึงไม่ใช่การต้มเกลือ หากแต่เป็นภาพผู้คนหลายคนนั่งล้อมวงสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มรสโปรด ไปจนถึงการกินข้าวเหนียวในห่อที่เชื่อว่านำติดตัวมาแต่เช้า

“พักแล้ว พรุ่งนี้วันโกน วันถัดไปวันพระ จะหยุดต้มเกลือทั้งสองวัน ไม่รีบไปไหนใช่ไหม นั่งคุยกันก่อนได้” ชายผู้ดูเป็นหัวหน้าของทุกคนเอ่ยขึ้น

“เกลือของเราไม่ใช่การขูดหน้าดินไปใส่รางเกลือเหมือนที่อื่น แต่เราจะสูบน้ำเกลือจากใต้ดินมาต้มตรงๆ เลย”

พูดไม่ทันขาดคำ ชายผู้นั้นก็ลงมือโยกคันสูบน้ำทำให้น้ำทะลักไหลลงถังที่วางอยู่ พวกเราใช้นิ้วจิ้มน้ำในถังขึ้นสัมผัสรส มันเค็มถนัดใจในเบื้องแรกก่อนจะตามด้วยรสหวานในเวลาถัดมา

“บ่อเกลือเราถ้าจะดัง วันก่อนรัฐมนตรีก็มาที่นี่ เขามีเปิดงานเส้นทางเกลืออะไรสักอย่าง พวกเราก็มา เสร็จงานแล้วก็เลยทำเกลือกันต่อ ไม่มีอะไรพิเศษ ดีใจนะที่มีคนสนใจเกลือแบบนี้ หายาก ใครๆ ก็หนีไปกินเกลือขวดหมดแล้ว ว่าแต่เจ้าสิเคยกินไข่เกลือบ่?”

ไม่ต้องอยู่กับความสงสัยที่เนิ่นนาน ชายผู้นั้นล้วงมือลงไปในถังน้ำหยิบไข่เป็ดที่นอนอยู่ก้นถังมาให้พวกเราชิม

ไข่ขาวที่แข็งเป็นตัวให้รสชาติแบบเดียวไม่ต่างจากไข่เค็มทั่วไป

“น้ำเกลือที่สูบขึ้นมาถ้ามันเค็มมากไป เราก็แยกเอามาใส่ถังแบบนี้ เอาไข่เป็ดใส่ลงไป ทิ้งไว้สิบถึงสิบห้าวันก็ได้ไข่เกลือแล้ว”

นวัตกรรมด้านอาหารที่น่าตื่นเต้นเช่นนี้ทำให้แสงแดดและวันที่กำลังหมดลงของเรามีความหมาย

คำพูดที่ว่า “เจ้าสิเชื่อในพญานาคบ่ดูจะเปรียบเปรยได้ไม่ต่างกับคำว่าเจ้าสิเชื่อในพลังของเกลืออีสานบ่”

ไม่ต้องสงสัยเลย เราทุกคนเชื่อมั่นที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้เชื่อมั่นในมัน เชื่อมั่นในเกลืออีสานที่ปรากฏตนแทบทุกหนแห่ง แม้ว่ามันกำลังต่อสู้กับอนาคตอันไม่แน่นอนก็ตามที