ลูกหมูทำราคาพุ่ง แห่แย่งซื้อไปเลี้ยงจนไม่พอขาย ส.ผู้เลี้ยงสุกรชี้ โรคระบาดทำหายจากวงจรเกินครึ่ง!

แย่งซื้อไปเลี้ยง! ลูกหมูราคาพุ่ง ไม่พอขาย เจ้าของฟาร์มบ่นอุบ ราคาอาหารกลับพุ่งตาม ทั้งที่เมื่อก่อนนานๆ จะขึ้นครั้งนึง ต้องเอาไว้เลี้ยงแม่พันธุ์ -นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยปัญหาอหิวาต์แอฟริการะบาดตั้งแต่ปี 62 ทำหมูหายจากวงจรเกินครึ่ง

ถือป็นช่วงโอกาสทองของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หลังราคาหมูแพง ทำให้มีผู้ต้องการซื้อลูกสุกรไปขุนขายเนื้อจำนวนมาก ขณะที่ต้นทุนค่าเลี้ยงก็เพิ่มสูง โดยเฉพาะค่าอาหารที่ปรับขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดวันที่ 10 ม.ค.65 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสุกรบ้านเกาะปราง หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง นายประยวด สุขดำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสุกรบ้านเกาะปราง กล่าวว่า ในกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 20 คน โดยกระจายกันเลี้ยง ในส่วนของตนมีแม่พันธุ์อยู่ 10 ตัว ขณะนี้มีลูกสุกร อายุ 40 วัน 14 ตัว ซึ่งมีคนจองทั้งหมดแล้ว โดยจำหน่ายในราคาตัวละ 2,500 บาท

ก่อนหน้านี้เคยจำหน่ายในราคาตัวละ 2,000 บาท ซึ่งคนที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการจะเอาไปเลี้ยงขุน เพื่อส่งขายเป็นสุกรชำแหละ ขณะนี้ราคาสูงมาก ทำให้ขณะนี้ลูกสุกรมีไม่พอจำหน่าย เพราะความต้องการสูงมากขึ้นกว่า 40% โดยมีบางคนที่ต้องการเลี้ยงมาสอบถามอยู่ตลอดเวลาว่า แม่สุกรจะตกลูกอีกเมื่อไร เพราะต้องการซื้อ

ทั้งนี้ แม่สุกรเมื่อผสมพันธุ์แล้วใช้เวลาประมาณ 4 เดือน หรือประมาณ 114-119 วัน ก็จะตกลูก หลังจากนั้นประมาณ 45 วัน ก็สามารถขายเป็นลูกสุกรได้ แต่ส่วนตัวก็จะต้องเก็บไว้บางส่วน เพื่อจะนำไปขุนเอง และเมื่อขุนได้ขนาด จะถูกนำไปส่งให้กับพ่อค้าเขียงหมู ซึ่งจะเป็นผู้ที่นำอาหารหมูมาขายให้แก่เกษตรกร และจะรับซื้อลูกสุกรขุนที่พวกตนเลี้ยงกลับไปทั้งหมด ทำให้เกษตรกรไม่ต้องมีปัญหาเรื่องของการตลาด แถมช่วงนี้ยังทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา จนล่าสุดถึงกิโลกรัมละ 90 บาทแล้ว ซึ่งไม่เคยมีราคาที่ดีเช่นนี้มาก่อนเลย ซึ่งขณะนี้มีสุกรขุนอยู่ในฟาร์มจำนวน 50 ตัว รอทยอยส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมู

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกษตรกรรู้สึกกังวลก็คือ ราคาอาหารหมูที่ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ครั้งละ 10 บาทต่อกระสอบ รวมประมาณ 4 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และล่าสุดที่ปรับขึ้นก็คือ เมื่อช่วงต้นปี 2565 ต่างไปจากเมื่อก่อนที่นานๆ ราคาอาหารหมูจะปรับขึ้นสักครั้ง โดยทางผู้ผลิตอ้างว่าเกิดจากวัตถุดิบขาดแคลน ทั้งนี้ ราคาอาหารจะมีทั้งหมด 5 ขนาด เริ่มจากขนาดเล็กจะแพงสุด ไปจนถึงสุกรขุนจนส่งขายได้ โดยมีราคากระสอบละ 790 บาท, 700 บาท, 570 บาท, 500 บาท และ 480 บาท ทำให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้นมาประมาณ 30% โดยสุกร 1 ตัว กินอาหารประมาณ 7 กระสอบ เพราะแม้ตนจะไม่ต้องซื้อลูกสุกร แต่ต้องเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ขยายพันธุ์เอาลูก จึงต้องแบกรับค่าอาหารที่แพงขึ้น

หายจากวงจรเศรษฐกิจเกินครึ่ง

ด้านนายโสภณ พรหมแก้ว นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า 2-3 ปี ที่ผ่านมากำลังการผลิตถดถอยเพราะแม่สุกรได้รับความเสียหายมาก และลูกสุกร ก็หายไปจากการผลิต จึงทำให้สุกรมีจำนวนไม่พอเพียงในการส่งเข้าตลาด ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดไม่ใช่เฉพาะภาคใต้แต่เป็นทั้งประเทศ

ดังนั้นในที่ประชุมสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้เราสรุปกันว่า เราจะไม่ขึ้นราคาสุกรมีชีวิต โดยจะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน กก.ละ110 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อนไปมากกว่านี้ เพราะไม่อยากเป็นโจทย์ของสังคมว่า หมูแพงแล้วไข่แพงไก่แพงตามไปด้วย เพราะสาเหตุมาจากสุกรราคาสูงขึ้น ส่วนปัจจัยที่ 2 คือโรคระบาด คนในวงจรการผลิตก็ได้รับความเสียหาย บางรายต้องเลิกเลี้ยงไป

โอกาสนี้ตนคิดว่าในภาพรวมของการประชุมใหญ่ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรต่อไป ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะกลับมาปกติ และที่สำคัญต้องไม่ให้ภาครัฐนำสุกรจากต่างประเทศเข้ามา หากนำเข้ามาต้องเปิดเผยจำนวน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคไม่เดือดร้อน

“เราก็ได้มีการพูดคุยกันนะครับว่าในส่วนของสุกรขุนที่ที่มีชีวิตตอนนี้มันต้องมีการสับเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของนครศรีธรรมราชภาคใต้ นำขึ้นไปสู่ภาคกลาง 7,500 ตัว โดยมีของบริษัทซีพี 4,000 ตัว เบทาโกร 3,500 ตัว เพื่อจะไปทดแทนในส่วนที่เยียวยาผู้บริโภคในส่วนของภาคกลาง

คือในลักษณะอย่างนี้นะครับเราต้องฟื้นฟูเกษตรกรขึ้นมา พี่น้องที่เคยเลี้ยงหมูที่หายไปจากวงจรต้องกลับมาโดยรอช่วงเวลา ให้มีการปรับเรื่องของวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่ซ้ำซ้อนอย่าให้เกิดความเสียหาย” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช ระบุ

นายโสภณ กล่าวต่อว่า หากภาครัฐจำเป็นต้องนำหมูจากต่างประเทศเข้ามา ภาครัฐก็ต้องจ่ายเงินเยียวยาหรือสนับสนุนผู้เลี้ยงรายย่อยให้กลับเข้ามา ภาคใต้มีเกษตรกรเดิมถึง 20,000 ราย ซึ่งหายไปพอสมควร ตนเชื่อว่าเกษตรกรภาคใต้อยากกลับมา หวังว่าภาครัฐควรรับฟังประเด็นที่นำเสนอไป

ทั้งนี้ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการพูดถึงเรื่องปัญหาโรคระบาด เอเอสเอฟ ซึ่งผู้เลี้ยงประสบมาตั้งแต่เดือนเมษายน 62 ทำให้แม่สุกรหายไปจากวงจรจาก 1,100,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ลูกสุกร 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว ซึ่งโอกาสที่หมูในประเทศจะเหลือแค่ 20% เป็นไปได้ หากเปิดประเทศคงไม่พอแน่นอน