เรื่องเรือดำน้ำ/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เรื่องเรือดำน้ำ

 

ปลายปีที่แล้ว เมียนมากลายเป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศแรกที่ได้รับมอบเรือดำน้ำผลิตในจีน

การนี้ จีนได้ทำเหนือกว่ารัสเซียที่พยายามป้อนฝูงเรือดำน้ำให้เมียนมา

เรื่องนี้มีข้อพิจารณา ได้แก่ การแข่งขันระหว่างจีนกับรัสเซีย เมียนมา ภูมิรัฐศาสตร์

แล้วเราควรกลับมามองที่ไทยอีกด้วย

 

การแข่งขันระหว่างจีนกับรัสเซีย

เมื่อจีนเปลี่ยนย้ายเรือดำน้ำผลิตในจีน UMS Minye Kyaw Htin ให้กองทัพเรือเมียนมา นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 เมียนมาเสาะหากองเรือดำน้ำเพื่อให้เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม

แต่การจัดซื้อของเมียนมามีข้อจำกัด เนื่องจากประเด็นสิทธิมนุษยชน สหภาพยุโรปได้ห้ามค้าอาวุธแก่เมียนมา

ดังนั้น เมียนมาจึงไม่ได้เรือดำน้ำจากเยอรมนี ฝรั่งเศสและสวีเดน

ด้วยเหตุผลเดียวกัน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีไม่ได้เสนอเรือดำน้ำของตนแก่เมียนมา

แต่ไม่มีผลต่อจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ขายอาวุธอันดับ 1 และ 2 แก่เมียนมาอยู่แล้ว

ตุลาคม 2020 รัสเซียอนุญาตอินเดียเปลี่ยนโอนเรือดำน้ำผลิตในรัสเซียรุ่น Kilo ให้กองทัพเรือเมียนมา

เรือดำน้ำลำนี้ใช้ในกองทัพเรืออินเดียมา 32 ปี แต่ตบแต่งใหม่ก่อนขายให้เมียนมา

อินเดียไม่ได้สร้างเรือดำน้ำเพื่อขายส่งออก การขายครั้งนี้เป็นผลประโยชน์ของทั้งอินเดียและรัสเซีย

เมียนมาซื้อกองเรือจากอินเดียโดยใช้เครดิต อันเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งด้านความผูกพันความมั่นคงกับเมียนมา เพื่อใช้คานอิทธิพลจีน

สำหรับรัสเซีย เรือดำน้ำใช้แล้ว ให้กองทัพเรืออินเดียมีประโยชน์ด้านการฝึกฝนให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีรัสเซีย

แนวคิดรัสเซียหวังว่าจะนำไปสู่การซื้อกองเรือใหม่จากรัสเซีย

หลังจากนั้นไม่นาน เมียนมาเริ่มเจรจากับรัสเซียเพื่อซื้อ หนึ่งกองเรือหรือมากกว่านั้น เรือดำน้ำรุ่น Varshavyanka อ้างว่าเหนือรุ่น Kilo เวียดนามใช้เรือรุ่นนี้ปฏิบัติการแล้ว 6 ลำ ใช้ขัดขวางความน่ากลัวของจีนในทะเลจีนใต้

รัสเซียกระตือรือร้นขายกองเรือให้เมียนมา ทำการลดราคาให้แก่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่สุดเวียดนาม เพื่อช่วงชิงกับจีนที่เป็นประเทศผู้ขายอาวุธอันดับ 1 ให้เมียนมา

จุดมุ่งหมายของรัสเซียคือ การค้าขายล้วนๆ จีนกำลังผลักไปที่ภูมิรัฐศาสตร์ รักษาอิทธิพลเหนือนายพลเมียนมา

เมื่ออินเดียเปลี่ยนย้ายเรือดำน้ำของตนให้เมียนมาเมื่อปี 2020 จีนได้กลิ่นดีลนี้ หากดูจาก Global Times สื่อของรัฐบาลจีนเรียกการขายนี้ว่า เป็นการยั่วยุและทำแต้มให้เรือดำน้ำปลดระวางและล้าสมัย แต่เรือดำน้ำเมียนมาที่เพิ่งได้จากจีน ก็ไม่ได้ดีกว่าในแง่ประสิทธิภาพ อาจแย่กว่าอีก

Minye Kyaw Htin คือเรือดำน้ำรุ่น 035 B Ming-Class สร้างที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ต้นทศวรรษ 2000 เรือดำน้ำรุ่น Ming ผันแปลงจากเรือดำน้ำของสหภาพโซเวียตยุค 1950 เรือดำน้ำรุ่น Romeo กองเรือกองทัพประชาชนปลดแอกของจีน สูญเสียเรือดำน้ำรุ่น 035B ในอุบัติเหตุในทะเลเหลืองปี 2003 สูญเสียลูกเรือทั้งหมด 70 นาย

ตอนนี้จีนกำลังลดเรือดำน้ำรุ่น Ming ออกไป จีนพอใจรุ่นที่พัฒนามากกว่า ปี 2016 จีนกระจายเรือดำน้ำแบบ 035 Gs 2 ลำ และขายไปให้กองทัพเรือบังกลาเทศด้วยราคา 203 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนเปลี่ยนโอนเรือให้เมียนมา จีนได้ปรับคุณภาพเรือ Minye Kyaw Htin แต่ไม่แน่ใจว่า จีนขายหรือให้ฟรีเรือดำน้ำแก่เมียนมา

ผู้นำรัฐประหารเมียนมา มิน อ่อง ลาย ชื่นชอบอาวุธที่สร้างโดยรัสเซีย เขาเผยให้เห็นความชอบอาวุธที่ผลิตในรัสเซียมากกว่าอุปกรณ์ที่ผลิตในจีน เพราะคุณภาพดีกว่าและเพราะเขาไม่ต้องการกลายเป็นพึ่งพาจีนมากเกินไป

แต่สำหรับจีน จีนดำเนินการจริงจังกับกองทัพเรือเมียนมาเพื่อในวันข้างหน้า ซึ่งจีนเสนอให้บางอย่างที่ดีกว่าเรือดำน้ำ Ming มือสอง

ช่องทางสำหรับจีนคือ เสนอแก่นายพลเมียนมา โดยส่งออกเรือดำน้ำรุ่นล่าสุด รุ่น Yuan แบบ 041 ใช้ดีเซลเป็นพลังขับเคลื่อน

 

ไทย

สถานะและข้อมูลเรือดำน้ำ

จีนก็ เล่นซ้ำ เรื่องเรือดำน้ำกับไทย ปี 2017 จีนเสนอเรือดำน้ำรุ่น Yuan ขายให้ไทยมูลค่า 1.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ รัสเซียได้พยายามขายเรือดำน้ำให้กับไทย แต่เสียโอกาสให้กับจีน ซึ่งเสนอขายให้ไทย 3 ลำ ในราคา 2 ลำ รวมทั้งระบบต่อสู้ตอร์ปิโด การฝึกซ้อม อุปกรณ์ที่นอน เงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอร์ปิโดแบบใจกว้าง

เรือดำน้ำลำที่ 1 อยู่ระหว่างการสร้างที่เมืองอู่ฮั่น และกำหนดส่งเรือปี 2023 (พ.ศ.2566) การจ่ายเงินสำหรับเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 มีการเจรจาใหม่เมื่อปี 2564 เนื่องจากเศรษฐกิจย่ำแย่เพราะโรคระบาดโควิด-19 แต่เป้าหมายของไทยยังคงต้องมีเรือดำน้ำ 3 ลำใช้ปฎิบัติการในปี 2026 (พ.ศ.2569)

แนววิเคราะห์เรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำเพื่อ ฝ่ายความมั่นคงไทย มีหลายประการ เช่น ควรนำข้อมูลการแข่งขันการขายเรือดำน้ำและอาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่างจีนและรัสเซียประกอบ พร้อมทั้งการขายอาวุธของสหรัฐอเมริกามาประกอบด้วย

หากไทยจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำ ทำไมเราไม่พิจารณาเรื่องข้อถกเถียงเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของเรือดำน้ำแบบที่ผู้นำเมียนมาใคร่ควร เราต้องทำเรื่อง แหกตา เรือดำน้ำมือสองในภูมิภาคนี้ที่เกิดขึ้นจริงๆ มากกว่า 2 ทศวรรษ ฝ่ายความมั่นคงไทยให้ความกระจ่างได้ไหม

น่าสนใจบทบาทด้านความมั่นคงของจีนพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ ปลายทศวรรษ 1990 ช่วงถอยห่างเอเชียของสหรัฐอเมริกา เราจะเห็นการ แทนที่ ด้วยนโยบายความมั่นคงจีนในภูมิภาค อันเปลี่ยนแปลงจากด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากยุคอุดมการณ์ทางการเมืองคอมมิวนิสต์ การสนับสนุนรัฐบาลนิยมจีน การขายและให้ฟรีอาวุธที่ใช้รบในสงครามการเมืองในอินโดจีน ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จากนั้น ด้านความมั่นคงของจีน เป็นการก้าวสู่การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางทหาร ผ่านโรงเรียนเสนาธิการทหาร มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหลักสูตรผ่าน Think Tank

สู่ล่าสุดโรงเรียนผลิตทหารจีนที่เปิดรับนักเรียนทหารต่างชาติ ทั้งหมดนี้มีผลต่อ ระบบคิด นโยบายด้านความมั่นคง อันนี้ไม่นับโต๊ะจีน และเหมาไถ

เท่าที่ผมทราบ ด้านความมั่นคง ช่วงสมัยหนึ่ง เราเชื่อว่าไทยมีฐานคิดและระบบคิดแนวอเมริกันหลายรูปแบบ แล้วยุคสมัยนี้ ฐานคิดและระบบคิดด้านความมั่นคงแนวจีนครอบครองอยู่

ดังนั้น ประเด็นจึงหาใช่แค่จัดซื้อจัดจ้างอาวุธและยุทโธปกรณ์

แต่เป็นแนวนโยบายความมั่นคงทั้งหมด

ทำไมชนชั้นนำทางนโยบายไม่หวาดระแวงการครอบงำความมั่นคงของไทย แบบที่ผู้นำทหารเมียนมาหวาดหวั่นบ้างหรือ

นี่เป็นคำถามต่อผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง

หากไทยมีเรือดำน้ำ ไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำจำนวนมากเท่ากับเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อมีแล้ว ไทยจะมีความมั่นคง แล้วเราต้องมีเครื่องบินรบอีกกี่ลำ ไทยจึงจะมั่นคง

หากย้อนไปดูเรื่องเรือดำน้ำจีนและรัสเซีย ไม่ว่าเราจะซื้อเรือดำน้ำของจีน รัสเซีย หรือสหรัฐอเมริกา คนร่ำรวยคือพ่อค้า

ส่วนอีกฝ่าย เรื่องนำคือภูมิรัฐศาสตร์ ภายใต้ระบบของเขา

คิดให้รอบด้านด้วยครับ