จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (จบ) สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่ง (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (จบ)

สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่ง (ต่อ)

 

บทกวีของเขามีเนื้อหาวิจารณ์และสะท้อนภาพสังคมจีนขณะนั้น เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างเจ้าที่ดินกับผู้ยากไร้ ในขณะที่ซูซื่อหรือที่มักใช้ชื่อในผลงานของตนว่า ซูตงพอ มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกับหวังอันสือ เขาไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปของหวังอันสือ แต่ทั้งสองกลับเป็นมิตรที่มีอารมณ์ขันและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน

มหากวีทั้งสี่นี้ได้สร้างผลงานเอาไว้ไม่น้อย และเป็นที่กล่าวขาน สืบทอด และศึกษากันมาจนถึงปัจจุบัน

หากตัดประเด็นค่านิยมการรัดเท้าในหมู่หญิงจีน ภาพรวมโดยทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนในยุคนี้นับว่าเป็นไปด้วยดี คือมีความสงบสุขและเสรีพอสมควร เป็นชีวิตที่มีความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและมีการเรียนรู้อยู่เสมอ

เป็นชีวิตในท่ามกลางที่พักอาศัยที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความเป็นตัวของตัวเอง มีกิจกรรมความบันเทิง มีอิสระในการเดินทาง และมีสุขภาพที่ดี ภายใต้กรอบของวัฒนธรรมขงจื่อที่มั่นคงในยุคนี้

 

ความลงท้าย

การล่มสลายของราชวงศ์ถังใน ค.ศ.907 มิได้นำจีนไปสู่ราชวงศ์ใหม่ในทันทีทันใด ทั้งนี้เพราะมรดกตกทอดในเรื่องข้าหลวงทหารที่สืบทอดมายาวนานยังคงเป็นปัญหา เพราะเมื่อถังล่มสลายลงแล้วบรรดาข้าหลวงทหารต่างตั้งตนเป็นใหญ่ สถานการณ์นี้ดำรงยาวนานถึง 72 ปีจนทำให้จีนมิอาจมุ่งสู่เอกภาพที่สมบูรณ์ได้

เป็น 72 ปีของยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ ยุคแห่งความแตกแยกนี้ยังคงมีชนชาติที่มิใช่จีนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอีกเช่นเคย แต่กระนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งยุคนี้ก็จบลงโดยมีราชวงศ์ซ่งเข้ามาแทนที่

อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ซ่งยังคงมีภูมิหลังเป็นข้าหลวงทหาร ที่ต่างออกไปคือ เมื่อถึงคราวต้องบริหารประเทศแล้ว ราชวงศ์นี้กลับมิได้บริหารด้วยวิธีแบบทหาร แต่บริหารโดยให้ความสำคัญกับกิจการพลเรือนมากกว่ากิจการทหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ลัทธิขงจื่อจึงเข้ามามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง

และเป็นการเข้ามาอย่างโดดเด่นด้วยการปฏิรูปลัทธินี้ขึ้นมาใหม่จนถูกเรียกว่า ลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism)

ยุคนี้จึงเป็นยุคที่บัณฑิตสำนักขงจื่อมีอิทธิพลสูงมาก การปฏิรูปในยุคนี้จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมจีนอีกครั้งหนึ่ง

 

แม้การปฏิรูปดังกล่าวจะได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่จีนอีกครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับภัยคุกคามที่มาจากชนชาติอื่น ชนชาติเหล่านี้มีถิ่นฐานอยู่ตลอดแนวชายแดนด้านเหนือของจีน อันประกอบไปด้วยชนชาติคีตัน ทังกุต หนี่ว์เจิน และมองโกล

ชนชาติทั้งสี่สามารถสร้างจักรวรรดิขึ้นได้ และตั้งราชวงศ์ขึ้นมาเป็นราชวงศ์เหลียว เซี่ย จิน และหยวน ตามลำดับ

ชนชาติทั้งสี่นี้แม้จะมีวัฒนธรรมเดิมเป็นของตนเอง แต่ตอนที่ตั้งตนเป็นใหญ่ต่างก็รับเอาความเป็นจีนมาใช้ในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของตน

จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันในชั้นหลังว่า จีนานุวัตร (sinicization) ภัยคุกคามจากสี่ชนชาตินี้ทำให้เห็นนโยบายรอมชอมของจีน มากกว่านโยบายเผชิญหน้าแล้วทำศึก

การรอมชอมดังกล่าวกระทำไปในนามของสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพที่มีราคาเมื่อจีนต้องจ่ายบรรณาการรายปีให้แก่ชนชาติเหล่านี้ ถึงแม้บางครั้งจะไม่เรียกสิ่งที่จ่ายนี้ว่าบรรณาการก็ตาม

การรอมชอมเช่นนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์กระแสหลักในจีนเห็นเป็นเรื่องอัปยศ

 

แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้สันติภาพที่ว่าจะมีราคาที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่จีนได้กลับคืนในรูปของการค้า หรืองบประมาณในการทำศึก พบว่า รายได้จากการค้าหรือการพัฒนาเศรษฐกิจสูงกว่าราคาบรรณาการที่จ่ายไป

การรอมชอมจึงไม่เพียงจะเป็นนโยบายที่ไม่พึงถูกประณามเท่านั้น ตรงกันข้ามกลับเป็นนโยบายที่พึงทบทวนหรือศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อจีนต้องเจอกับภัยคุกคามจากชนชาติอื่นถึงสี่ชนชาติ ซ้ำแต่ละชนชาติยังมีฐานะเป็นจักรวรรดิอีกด้วย

ภัยคุกคามนี้เป็นภัยที่ราชวงศ์ในยุคก่อนหน้าไม่เคยประสบมาก่อน หรือไม่ก็ประสบแต่น้อยเมื่อเทียบกับซ่ง

 

นับเป็นเรื่องที่โชคไม่ดีสำหรับซ่งเมื่อต้องมาตั้งวงศ์ที่ดินแดนทางใต้ เพราะไม่เพียงภัยคุกคามจากชนชาติอื่นยังไม่หมดไปเท่านั้น หากยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอันเกิดจากยุคน้ำแข็งน้อยอีกด้วย

ภัยนี้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย เมื่อความหนาวเย็นได้ทำให้พื้นที่การเกษตรถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งจนมิอาจทำการผลิตได้ ถึงแม้ในที่สุดแล้วจีนจะยังคงรักษาตัวให้รอดมาได้

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดกับซ่งไม่ต่างกับราชวงศ์ก่อนหน้าก็คือ การเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของวงศานุวงศ์ที่เป็นราชชนนี จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์อ่อนแอก่อนที่จะล่มสลายลงใน ค.ศ.1279 เมื่อจีนถูกทัพมองโกลบุกเข้าโจมตีจนล่มสลาย

การล่มสลายของซ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ส่งผลสะเทือนทางอารมณ์ค่อนข้างสูง บันทึกฝ่ายจีนได้บรรยายถึงการถอยหนีของวงศานุวงศ์และเหล่าเสนามาตย์ ที่เมื่อไปถึงทางตันที่ชายฝั่งทะเลแล้วก็ตัดสินใจกระโจนลงน้ำไป ไม่เว้นแม้จักรพรรดิองค์น้อยที่เกาะหลังขุนนางผู้ซื่อสัตย์ที่กระโจนลงไปในทะเลเช่นกัน

จากนั้นทุกชีวิตที่อยู่ในท้องทะเลต่างก็สิ้นชีพไปทั้งหมด ราชวงศ์ซ่งจึงล่มสลายลงอย่างแท้จริง

 

การปกครองท่ามกลางภัยคุกคามจากชนชาติอื่นและจากธรรมชาติ จีนในยุคนี้ทำให้เห็นถึงระบบการบริหารที่ก้าวหน้าขึ้นจากยุคก่อนหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นที่มีความสมดุลกัน มีระบบการตรวจสอบที่ดี มีระบบ “หลีกเลี่ยง” ที่ป้องกันมิให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

ด้วยเหตุนี้ นโยบายภายในของซ่งจึงไปด้วยกันได้กับนโยบายรอมชอมที่มีกับชนชาติอื่น เมื่อพบว่า ราชวงศ์นี้มีการอภัยโทษสูงถึง 301 ครั้งตลอดการปกครองของตน มีการพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างโรงงานพลังน้ำ

แต่มีข้อดีก็มีข้อเสีย ข้อเสียเรื่องหนึ่งที่ทำให้ซ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในชั้นหลังก็คือ ค่านิยมการรัดเท้าของผู้หญิง ถูกสืบทอดมาจนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จีนล่มสลายลงใน ค.ศ.1911

โดยที่หากค่านิยมนี้ยังคงอยู่ก็หมายความว่า ก็คงเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อยถ้าหากหญิงชาติอื่นเห็นดีเห็นงามกับค่านิยมนี้ และนำค่านิยมนี้มายึดถือปฏิบัติด้วย