ความตกลง ‘อาร์เซป’ กับประเทศไทย/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ความตกลง ‘อาร์เซป’

กับประเทศไทย

 

ตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ความตกลงทางการค้าและการลงทุนที่ใหญ่โตและมีนัยสำคัญอย่าง “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (The Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ความตกลงอาร์เซป มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

“อาร์เซป” ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงที่ “ใหญ่ที่สุดในโลก” ไม่ว่าจะในแง่ของการครอบคลุมพื้นที่ซึ่งมีประชากรอยู่มหาศาลถึง 2,200 ล้านคน หรือในแง่ของมูลค่าผลผลิตรวมของทั้งกลุ่ม ซึ่งเกินกว่า 25 ล้านล้านดอลลาร์

คิดเป็นสัดส่วนราว 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งจำนวนประชากรโลก และขนาดของเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลก

หลักการง่ายๆ ของอาร์เซป ก็คือ การกำจัดอุปสรรคการค้าทางภาษี ด้วยการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากร ระหว่างสมาชิกด้วยกันลงราว 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอื้อให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างกันในหมู่สมาชิกมากขึ้นกว่าเดิม เปิดช่องให้มีการไหลเวียนของบุคลากร แรงงาน และเทคโนโลยี ภายในกลุ่มชาติสมาชิกให้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น

อาร์เซปประกอบด้วยชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ชาติ บวกกับอีก 5 ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตอย่างจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

 

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ลงความเห็นตรงกันว่า ชาติสมาชิกอาร์เซปทั้งหลายจะได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกันทางการค้าครั้งนี้มหาศาล ทำให้แต่ละประเทศนอกจากจะสามารถสร้างความหลากหลายให้กับผลผลิตของตัวเองและมีตลาดรองรับสินค้าที่ผลิตได้หลากหลายมากขึ้นแล้ว ยังจะกลายเป็นแรงผลักดันมหาศาลให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้อีกด้วย

ซ่ง ฉิงรุ่น รองศาสตราจารย์จากสำนักเอเชียศึกษา ของมหาวิทยาลัยการต่างประเทศศึกษาในกรุงปักกิ่ง บอกว่า แม้โดยตัวอาร์เซปเองจะมีความสำคัญยิ่ง แต่ความสำคัญของอาร์เซปยิ่งทวีสูงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการต่างๆ ทางด้านการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายผู้คนข้ามแดน ถูกดิสรัปต์ จนปั่นป่วนจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

เขาเชื่อด้วยว่า อาร์เซปจะช่วยให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกรวมตัวกันเป็นหนึ่ง เสริมความแข็งแกร่งให้กันและกัน จนสามารถต่อต้านผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดซึ่งยังคงป่วนโลกไม่เลิกอยู่จนถึงบัดนี้ได้

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เมื่อเร็วๆ นี้ ทำนายว่า อาร์เซปจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิดสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลในทำนองเดียวกันไปทั่วโลก

“หากขั้นตอนทุกอย่างถูกนำไปปฏิบัติใช้ตามกำหนด ภายในปี 2030 เราประมาณว่า อาร์เซปจะทำให้รายได้ประชาชาติของสมาชิกเพิ่มขึ้นราว 0.6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทั้งภูมิภาคมีรายได้เพิ่มมากขึ้นคิดเป็นมูลค่า 245,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นภายในภูมิภาคถึง 2.8 ล้านตำแหน่ง” เอดีบีระบุ

เจีย ตู้เฉียง นักวิจัยจากสถาบันแห่งชาติเพื่อยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในสังกัดสำนักสังคมศาสตร์จีน เชื่อว่า อาร์เซปจะช่วยเร่งให้เกิดบูรณาการด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้นมากมายมหาศาล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นระหว่างชาติสมาชิก

อาร์เซปจะเร่งรัดให้เกิด “ชุมชนระดับภูมิภาค” ที่ “มีอนาคตร่วมกัน” ให้เกิดขึ้นจริงได้เร็วขึ้น เจียเชื่อเช่นนั้น

 

สถาบันวิชาการเพื่อการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีน เคยทำวิจัยว่าด้วยผลกระทบของอาร์เซปเผยแพร่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่า อาร์เซปจะส่งผลให้การส่งออกของภูมิภาคเพิ่มขึ้นราว 857,100 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าเพิ่มขึ้น 983,700 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2035 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18.3 เปอร์เซ็นต์ และ 9.63 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

การลงทุนในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 1.47 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงปี 2035 อาร์เซปจะดันให้การค้าของทั้งโลกขยายตัวขึ้น 2.91 เปอร์เซ็นต์ จีดีพีของทั้งโลกเพิ่มขึ้น 0.12 เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า อาเซียนจะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากอาร์เซปสูงสุด เพราะจะทำให้จีดีพีของอาเซียนทั้งภูมิภาคขยายตัวขึ้น 4.47 เปอร์เซ็นต์ในปี 2035

จีดีพีของกัมพูชาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพราะอาร์เซปมากที่สุดถึง 7.98 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วยฟิลิปปินส์ 7.04 เปอร์เซ็นต์ ถัดมาจะเป็นไทย ที่อาร์เซปจะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.38 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงเป็นเวียดนามที่จะได้เห็นจีดีพีเพิ่มขึ้น 6.33 เปอร์เซ็นต์

เพียงแค่แต่ละประเทศต้องเตรียมตัวให้พร้อม และฉกฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นจากการอุบัติขึ้นของอาร์เซปให้ได้อย่างเต็มที่เท่านั้นเอง