นักปฏิบัติการทางสังคม ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยปรากฏการณ์ศิลปะ Olafur Eliasson / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

นักปฏิบัติการทางสังคม

ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง

ด้วยปรากฏการณ์ศิลปะ Olafur Eliasson

 

เล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะติดๆ กันมาหลายตอนแล้ว

ในตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องศิลปินร่วมสมัยที่น่าสนใจกันบ้าง

คราวนี้เป็นคิวของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญอีกคนในโลกศิลปะ

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

โอลาฟัวร์ เอลีย์เออซัน (Olafur Eliasson)

ศิลปินร่วมสมัยชาวไอซ์แลนด์-เดนมาร์ก ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่สร้างประสบการณ์อันแปลกใหม่ให้แก่ผู้ชม

เขาเป็นสมาชิกของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Social Practice (ปฏิบัติการทางสังคม) ที่มุ่งเน้นในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนสังคมผ่านกระบวนการสร้างสรรค์แขนงต่างๆ

เขาเป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ปลุกให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรม ชุมชน หรือแม้แต่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ด้วยความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ขึ้น ผ่านผลงานของเขาที่ตั้งคำถามกับผู้ชม ว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์ทางสังคมในโลกปัจจุบันได้อย่างไร

ด้วยบทบาทของนักเคลื่อนไหวทางสังคมในโลกศิลปะ เขาท้าทายให้โลกศิลปะลดการหมกมุ่นกับประเด็นส่วนตัวและหันมาใส่ใจกับประเด็นที่เป็นสากลอย่าง เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการสร้างอนาคตที่ดีกว่าเพื่อคนรุ่นหลัง

 

เอลีย์เออซันมุ่งมั่นที่จะทำลายขอบเขตและค่านิยมเดิมๆ ของโลกศิลปะ ด้วยการสร้างผลงานศิลปะอันเหนือความคาดหมายและมีอะไรมากไปกว่าคุณค่าทางสุนทรียะแบบเดิม ด้วยการเปลี่ยนประสบการณ์อันเรียบง่ายธรรมดา ให้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จับใจผู้คนได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

เขามองว่าความคาดไม่ถึงเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้คนขยายขอบเขตทางความคิดและความรู้สึกออกจากกรอบเดิมๆ ไปสู่พรมแดนใหม่ๆ และเชิญชวนให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า “การแทรกแซงอันจำเป็นยิ่งทางสังคม” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการตั้งคำถาม และการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิด อันจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

เขานำเสนอผลงานที่หลุดไปจากกรอบเดิมๆ ของศิลปะ เพื่อท้าทายผู้ชมเกี่ยวกับความเข้าใจและการมองโลกที่เราอาศัยอยู่ เขาพยายามกระตุ้นให้ผู้คนก้าวออกจากพื้นที่อันคับแคบจำเจเดิมๆ และโอบรับประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยการเชื่อมโยงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ

ด้วยการใช้วัตถุ, สสาร หรือองค์ประกอบในสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ตามธรรมชาติอย่าง แสง, น้ำ, อากาศ หรือแม้แต่อุณหภูมิ มาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่สร้างประสบการณ์อันแปลกใหม่ให้แก่ผู้ชม

โดยจำลองสภาพแวดล้อมหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีที่เกิดจากความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา

เพื่อขับเน้นให้เห็นถึงความน่ามหัศจรรย์ที่แฝงอยู่ในปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญที่เราพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

The weather project (2003) ภาพโดยTate Photography (Andrew Dunkley & Marcus Leith), https://bit.ly/32quyFA

ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเขาคือ The weather project (2003-2004) หรือที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “พระอาทิตย์เทียม” ศิลปะจัดวางอันอลังการตระการตา ที่ผสมผสานศิลปะ, วิทยาศาสตร์ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อยกระดับประสบการณ์ธรรมดาสามัญที่ผู้ชมเคยคุ้นให้กลายเป็นอะไรที่น่าตื่นตาสุดขั้ว

โดยเขาเปลี่ยนพื้นที่ภายในอาคารแสดงงาน Turbine Hall ขนาด 1,000 ตารางเมตร ของหอศิลป์เทตโมเดิร์น (Tate Modern) ลอนดอน ให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมจำลองของห้วงเวลาขณะพระอาทิตย์กำลังตกดิน

The weather project (2003) ภาพโดย Olafur Eliasson, https://bit.ly/32quyFA

ด้วยการใช้โคมไฟครึ่งวงกลมขนาดยักษ์ที่ทำจากหลอดไฟความถี่เดียว (Monofrequency bulb) จำนวน 200 ดวง ปิดทับด้วยแผ่นโปร่งแสง, โคมไฟครึ่งวงกลมที่ว่านี้จะทำมุมสะท้อนกับแผ่นอะลูมิเนียมบุกระจกเงาที่ติดบนเพดานจนกลายเป็นดวงไฟทรงกลมรูปดวงอาทิตย์จำลองขนาดมหึมา เปล่งประกายแสงเรืองรองฝ่าม่านหมอกเทียมที่ดูคล้ายเมฆปกคลุมทั่วห้องแสดงงาน

ในขณะที่ผู้ชมสามารถชมงานตามอัธยาศัย บ้างก็ยืนแหงนมองดวงอาทิตย์จำลอง บ้างก็นอนเอกเขนกมองดวงอาทิตย์เทียม หรือเงาของตัวเองที่สะท้อนจากเพดานจนดูเหมือนจุดเล็กๆ ท่ามกลางทะเลแสงสีส้มตัดม่านหมอก

The weather project (2003) ภาพโดย Olafur Eliasson, https://bit.ly/32quyFA

ด้วยการนำดวงอาทิตย์จากพื้นที่กลางแจ้งเข้ามาใส่ไว้ในพื้นที่ร่ม ผลงานชิ้นนี้ของเขากระตุ้นให้ผู้ชมหวนกลับไประลึกถึงความงามอันน่าอัศจรรย์ของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พวกเขาประสบพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่อาจมองข้ามไปเพราะความคุ้นเคยจนชินชา

การที่ผลงานชิ้นนี้ดึงดูดผู้ชมได้ถึง 2 ล้านคน ตลอดระยะเวลาการแสดงงาน ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าภารกิจของเอลีย์เออซันในการโน้มน้าวให้ผู้คนแต่ละคนหันกลับมาเชื่อมต่อกับโลกรอบๆ ตัวอีกครั้ง (จากที่เคยหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเองจนลืมพิจารณาดูรอบข้าง) นั้นประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

 

New York City Waterfalls (2008) ภาพโดย Julienne Schaer / Public Art Fund, https://bit.ly/3qtegUc

ถึงแม้ The weather project จะสร้างชื่อเสียงท่วมท้นและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนทางหอศิลป์เทตโมเดิร์นขอให้เขาขยายเวลาการแสดงผลงานต่อไปอีก แต่เอลีย์เออซันกลับปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุที่เขาไม่อยากให้ประสบการณ์ทางศิลปะของเขากลายเป็นโชว์ปาหี่ขายความบันเทิงในสายตาสื่อมวลชนไปแทน

หรือผลงานที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเอลีย์เออซันอีกชิ้นอย่าง New York City Waterfalls (2008) ประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ที่กองทุนศิลปะสาธารณะแห่งนิวยอร์ก (New York City’s Public Art Fund) มอบหมายให้เขาสร้างขึ้น เพื่อสร้างบทสนทนากับพื้นที่เมืองนิวยอร์ก โดยเอลีย์เออซันต้องการสร้างโครงสร้างที่ตอบสนองต่อขนาดอันมหึมาของเมืองนิวยอร์ก

New York City Waterfalls (2008) ภาพโดย Julienne Schaer / Public Art Fund, https://bit.ly/3qtegUc

เขาเลือกที่จะสร้างน้ำตก อันเป็นสัญลักษณ์อันปลอบประโลมและผ่อนคลายของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งสามารถส่งมอบความรู้สึกอันสงบสุขเยือกเย็นให้กับมหานครอันแสนสับสนวุ่นวายแห่งนี้ได้

ประติมากรรมจัดวางชั่วคราวที่ประกอบด้วยน้ำตกจำลองสี่แห่ง สร้างขึ้นบนพื้นที่เฉพาะเจาะจงในแม่น้ำอีสต์ นิวยอร์ก

New York City Waterfalls (2008) ภาพโดย Rochelle Steiner / Public Art Fund, https://bit.ly/3qtegUc

โครงสร้างของน้ำตกจำลองแต่ละแห่ง ไม่เพียงเปิดเผยให้เห็นกลไกการทำงานของน้ำตกอย่างจงใจ หากแต่ยังเป็นองค์ประกอบอันสำคัญในผลงาน ที่ต้องการเผยให้เห็นข้อเท็จจริงเบื้องหลังมายาแห่งปรากฏการณ์ธรรมชาติ

เช่นเดียวกับผลงานอื่นๆ ของเอลีย์เออซัน ที่มักจะเผยให้เห็นกลไกหรือผู้คนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังเสมอ เพราะถึงแม้เขาจะสร้างความอัศจรรย์ใจให้ผู้ชม แต่เขาก็มักจะเปิดเผยให้เห็นว่าความน่าอัศจรรย์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรอยู่เสมอ

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของเขาในการเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนรับผิดชอบในการจัดการกับประสบการณ์ของตัวเองด้วยเช่นกัน

 

Green river (1998) นอกจากการสร้างปรากฏการณ์ธรรมชาติ เอลีย์เออซันยังทำผลงานกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ด้วยการย้อมแม่น้ำหลายเมืองให้กลายเป็นสีเขียวด้วยสีที่ไม่ก่อมลพิษและย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งนักชีววิทยาใช้ในการติดตามการไหลของกระแสน้ำ ผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว, ภาพโดย Olafur Eliasson https://bit.ly/3qyIdlH

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมในวงกว้าง ปฏิบัติการทางศิลปะของเอลีย์เออซันและมิตรสหายร่วมวงการผู้ทำงานศิลปะที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมอย่าง อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei), โธมัส เฮิร์สฮอร์น (Thomas Hirschhorn) และ ธีสเตอร์ เกตส์ (Theaster Gates) ต่างก็มีส่วนช่วยในการสร้างกระแสเคลื่อนไหว Social Practice ที่ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์, สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม

Ice watch (2014) ผลงานที่เอลีย์เออซันนำน้ำแข็ง 12 ก้อน จากธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์นำมาวางไว้ในจัตุรัสศาลาว่าการเมืองโคเปนเฮเกน และปล่อยให้ละลายลงไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก, ภาพโดย Anders Sune Berg, https://bit.ly/3mBmSH5

เอลีย์เออซันเชื่อว่าศิลปะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลก, ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และยังสามารถสร้างจิตสำนึกทางสังคม

ไม่เพียงกระตุ้นศักยภาพในการคิดเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการลงมือทำอีกด้วย

 

More-than-human songs (2021) ผลงานศิลปะจัดวางที่ทำขึ้นเพื่อสร้างความรื่นรมย์ให้แก่ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนเมืองใช้ร่วมกัน ด้วยวิธีการอันงดงามและเรียบง่ายจนคาดไม่ถึง อย่างการเลียนเสียงนกร้อง ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการซึมซับและสร้างบทสนทนากับรายละเอียดเล็กๆ น้อยของธรรมชาติในพื้นที่เมือง ที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้ามไป

ข่าวดีสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยก็คือ ตอนนี้ โอลาฟัวร์ เอลีย์เออซัน ได้เข้าร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021 ที่บ้านเราในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า

โดยนำเสนอผลงาน More-than-human songs (2021) ศิลปะจัดวางในรูปของระบบเสียงตามสาย ที่ติดตั้งในหมู่บ้าน 6 แห่งของอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

โดยกระจายเสียงร้องของนกประจำถิ่นพันธุ์ต่างๆ ที่ขับขานเสียงโดยนักเลียนเสียงนกท้องถิ่นอย่าง รณกร เทียนทองถาวร, วีนัส จั่นริ้ว และนกในท้องถิ่น ในเวลาเช้าและเย็น ตลอดเทศกาล

ใครมีโอกาสเดินทางไปโคราชก็แวะเวียนไปชมไปฟังผลงานชิ้นนี้ของเขากันได้ตามอัธยาศัย, เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของเทศกาล http://www.thailandbiennale.org/

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://olafureliasson.net/, https://bit.ly/3qwAOUc, https://bit.ly/3Joxpzh, https://bit.ly/3FBQRGq