On History : วิ่งมาราธอนมาจากการประกาศชัยชนะ แต่การวิ่งทนของคนดังในไทย คือการประกาศความล้มเหลว? / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
Painting of Pheidippides as he gave word of the Greek victory over Persia at the Battle of Marathon to the people of Athens. — Luc-Olivier Merson (1869) / From Wikipedia

 

 

วิ่งมาราธอนมาจากการประกาศชัยชนะ

แต่การวิ่งทนของคนดังในไทย

คือการประกาศความล้มเหลว?

 

ว่ากันว่า ประวัติของอะไรที่เรียกว่า การ “วิ่งแข่ง” นั้น เชื่อมโยงอยู่กับเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพวกกรีกโบราณ นั่นก็คือเรื่องของชายคนที่ชื่อว่า “ฟิดิปปิเดส” (Pheidippides)

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นในสงครามครั้งใหญ่ระหว่างพวกกรีกกับราชวงศ์อาคิมินีด แห่งเปอร์เซีย เมื่อระหว่าง 492-490 ปีก่อนคริสตกาล จนสุดท้ายพวกกรีกก็ได้รับชัยชนะที่เมืองมาราธอน (Marathon)

แต่โลกเมื่อหลายพันปีที่แล้วยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารทางไกลอย่างโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตนะครับ ดังนั้น การส่งข่าวดีอย่างนี้ก็จึงต้องใช้ “ผู้ส่งสาร” วิ่งไปบอกข่าวที่ศูนย์กลางของชาวกรีกอย่างเมืองเอเธนส์

ฟิดิปปิเดสจึงต้องวิ่งโดยไม่หยุดพักเป็นระยะทางราว 40-42 กิโลเมตร จากเมืองมาราธอน จนถึงเอเธนส์ เพื่อที่จะไปกล่าวคำว่า “สวัสดี พวกเราชนะแล้ว” ก่อนที่จะล้มพับแล้วสิ้นชีวิตลงตรงนั้นด้วยความเหนื่อยในพลันนั้นเอง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่ชื่อของเมืองมาราธอน จะกลายเป็นชื่อของการแข่งขันวิ่งระยะไกล ในเมื่อมีตำนานอันชวนสลดหดหู่ของพ่อหนุ่มฟิดิปปิเดส เพราะสงครามในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ในชื่อของ “สงครามแห่งเมืองมาราธอน” (The Battle of Marathon) อยู่ในโลกตะวันตก

 

แต่อันที่จริงแล้ว ตำนานที่ว่าด้วยชัยชนะที่เมืองมาราธอนนั้น เอกสารของพวกกรีกก็ไม่ได้บันทึกเอาไว้ตรงกันเสียหมด

ตัวอย่างเช่น ในหนังสือ The Histories ของผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์โลกอย่างเฮโรโดตุส (Herodotus, 484-425 ปีก่อนคริสตกาล) นั้นระบุว่า ฟิดิปปิเดสไม่ได้วิ่งเพื่อไปส่งข่าวเรื่องชัยชนะของพวกกรีกที่เมืองมาราธอน

แต่เขาวิ่งจากเมืองเอเธนส์เพื่อไปขอความช่วยเหลือจากพวกสปาร์ตันให้มาช่วยรบกับพวกเปอร์เซีย ซึ่งก็ว่ากันว่า ระยะทางนั้นไกลถึง 240 กิโลเมตร แต่เขาสามารถวิ่งถึงได้ภายในวันเดียว แถมยังมีชีวิตอยู่อย่างปลอดโปร่งชิลๆ ต่อไปอีกด้วยต่างหาก

ในขณะที่เรื่องราวอันสุดแสนจะโรแมนติกของนักวิ่งที่ต้องสิ้นชีวิตลงเพราะการส่งข่าวชัยชนะที่เมืองมาราธอน จะปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานที่ชื่อว่า On the Glory of Athens ของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกอย่างพลูทาร์ก (Plutarch, ค.ศ.46-120)

แต่ชื่อของนักวิ่งที่ตายนั้นยังไม่ใช่ฟิดิปปิเดสอยู่นั่นเอง เพราะพลูทาร์กได้ระบุชื่อนักวิ่งเอาไว้ว่า เธอร์สิปปุส (Thersippus) หรืออูเคลส (Eukles) ต่างหาก

หลังจากยุคของพลูทาร์ก ก็ได้มีกวีควบตำแหน่งนักวาทศิลป์ช่างเสียดสี ชาวอัสสิเรียนอย่างลูเชียน แห่งซาโมซาตา (Lucian of Samosata) อย่าง A Slip of the Tongue in Greeting ที่เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2

และก็เป็นลูเชียนคนนี้นี่เองที่ยกตำแหน่งพระเอกที่ตายเพราะการส่งสาร เรื่องชัยชนะที่เมืองมาราธอน ให้กับฟิดิปปิเดส

แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่า ลูเชียนเขาเป็นกวี ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ การที่เขาจะสับสนว่า นักวิ่งที่ส่งสารชัยชนะของพวกกรีกที่เมืองมาราธอนเป็นฟิดิปปิเดสแทนนั้น จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากอะไรนัก และก็ด้วยความที่บทกวีของลูเชียนน่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่างานประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นของพลูทาร์ก หรือเฮโรโดตุสนี่แหละ ที่ทำให้คนในยุคหลังเข้าใจว่า ฟิดิปปิเดสคือนักวิ่งที่ส่งสารจนตายในหน้าที่ไปกันหมด

 

ยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการนำงานของลูเชียนขึ้นมาแปลใหม่ ซึ่งนั่นก็ทำให้เรื่องของฟิดิปปิเดสกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง จนกระทั่งกวีชื่อดังชาวเมืองผู้ดีในยุคนั้นอย่างโรเบิร์ต บราวนิ่ง (Robert Browning, ค.ศ.1812-1889) ได้นำเอาเรื่องราวอันแสนสะเทือนใจและโรแมนติกตามอย่างที่นิยมกันในสมัยนั้นของฟิดิปปิเดส มาร้อยเรียงขึ้นจนกลายเป็นบทกวีใหม่ เมื่อเรือน ค.ศ.1879 ซึ่งก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก

และก็เป็นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เองเช่นกัน ที่ได้เริ่มมีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ.1896 ที่ประเทศกรีซ

ดังนั้น ถ้าผู้จัดจะนำเอาคำว่า “มาราธอน” มาใช้ในการวิ่งแข่งทางไกลก็ไม่น่าจะแปลกอะไรเลยสักนิด เพราะแม้แต่ชื่อ “โอลิมปิก” เองก็ยังเป็นชื่อของการจัดแข่งขันกีฬาของพวกกรีกโบราณ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทพปกรณัมของพวกเขาอย่างแยกกันไม่ค่อยจะขาด

และถึงแม้ว่าการวิ่งระยะไกลที่เรียกว่า การวิ่งมาราธอน ในโลกยุคสมัยใหม่นั้น จะไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยกับเรื่องของเมืองมาราธอน ที่เป็นเรื่องของการวิ่งเพื่อส่งสารในช่วงสงคราม (ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม)

แถมการแข่งขันวิ่งระยะไกลในการแข่งขันโอลิมปิกพวกกรีกยุคคลาสสิคนั้น ยังมีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะว่า “โดโลโคส” (dolochos, สันนิษฐานว่าเทียบได้กับการวิ่ง 1,500 เมตร หรือ 5,000 เมตร) ไม่ได้ใกล้เคียงกับชื่อ “มาราธอน” อย่างในปัจจุบันเลยสักนิด เพราะก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การวิ่งมาราธอนนั้นคือการวิ่งระยะไกล หรือการวิ่งทนไปเสียแล้ว

แต่การวิ่งทน อย่างที่เรียกว่าการวิ่งมาราธอนในโลกสมัยใหม่นั้น ก็ไม่ได้ทำไปเพื่อการแข่งขันเท่านั้นหรอกนะครับ หลายครั้งก็เป็นไปเพื่อการอื่นๆ ได้ด้วย

 

ตัวอย่างเช่น ดาราฮอลลีวู้ดมาดดิบอย่างเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Edward Norton) วิ่งเพื่อนำเงินไปสมทบทุนให้กับ Maasai Widerness Conservation Trust ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือชนเผ่ามาไซ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก (แน่นอนว่า นอร์ตันไม่ใช่มาจากภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก และยิ่งไม่ใช่ชนเผ่ามาไซ)

ในขณะที่ไรอัน เรย์โนลด์ส (Ryan Reynolds) นักแสดงผู้รับบทซูเปอร์ฮีโร่สุดกวนอย่างเดดพูล (Deadpool) วิ่งเพื่อเป็นการอุทิศให้แก่พ่อผู้จากไปด้วยโรคพาร์กินสันของเขา

ส่วนคนดังฮอลลีวู้ดคนอื่นๆ ก็มีวิ่งเพื่อสุขภาพ เอาชนะหรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง ในขณะที่อแมนดา อัลเลน (Amanda Allen) แชมป์ครอสฟิตสาวชาวออสเตรเลีย วิ่งเพื่อรณรงค์ให้คนเลิกคิดที่จะฆ่าตัวตายจากภาวะการซึมเศร้าอย่างที่เธอเคยเป็นมาก่อน

กรณีที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้คือ การวิ่งของนอร์ตัน ที่วิ่งเพื่อช่วยเหลือองค์กรที่ดูแลชาวมาไซ ซึ่งในปี พ.ศ.2552 ที่เขาวิ่งเพื่อระดมทุนพร้อมกันกับชาวมาไซอีก 3 คนนั้น ก็เป็นนอร์ตันเองนั่นแหละ ที่นั่งเก้าอี้ประธานขององค์กรแห่งนี้อยู่

แต่การวิ่งของนอร์ตันในครั้งนั้น มีที่มาจากการที่เมื่อปี พ.ศ.2551 พื้นที่แถบแอฟริกาตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นแถบมาไซมารา (Maasai Mara) ทางตอนใต้ของประเทศเคนยา หรือดินแดนทางตอนเหนือของประเทศแทนซาเนียนั้น ต่างก็แห้งแล้ง เพราะฝนไม่ตกลงมาเสียจนไม่มีน้ำพอจะใช้อุปโภค บริโภค ไม่ว่าจะกับคน หรือสัตว์ จนทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มตายทั้งของมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงตามมา

จึงทำให้ชาวมาไซบางส่วนได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิ Greenforce ที่ทำงานช่วยเหลือชาวเผ่ามาไซ ซึ่งแนะนำให้พวกเขามาวิ่งในงาน London Marathon 2008 (แน่นอนว่า จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน) เพื่อระดมทุนสร้างเขื่อน เพราะทางมูลนิธิ Greenforce นั้นได้สำรวจพบว่ามีน้ำใต้ดินอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับชุมชนของชาวมาไซกลุ่มนั้น

แน่นอนว่า การระดมทุนจากการวิ่งเมื่อปี 2551 ของชาวมาไซ ซึ่งมาช่วยกันวิ่งรวม 6 ชีวิต ในงาน London Marathon 2008 ในครั้งนั้นยังระดมเงินทุนได้ไม่เพียงพอ

ปีต่อมา นอร์ตันในฐานะประธานองค์กร Maasai Widerness Conservation Trust จึงมาช่วยกันวิ่งอีกสักรอบเพื่อระดมทุนสร้างเขื่อน เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของชาวมาไซ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในป่าของประเทศยากจน อย่างแทนซาเนีย และเคนยา (ในกรณีของการวิ่งทั้งสองครั้งนั้น เป็นชาวมาไซในประเทศแทนซาเนีย)

ดังนั้น ชาวมาไซจึงดูจะโชคดีกว่าชาวไทยอยู่หน่อย ที่พวกเขาไประดมทุนจากสังคมอื่นที่ร่ำรวยกว่าพวกเขาได้

ในขณะที่การวิ่งทนในระยะทางไกล อย่างที่พอจะเรียกได้ว่า เป็นการวิ่งมาราธอนของคนดังบางคนในประเทศไทยนั้น เป็นการระดมทุนจากผู้คนในสังคมเดียวกันเอง ที่กระเป๋าสตางค์ของผู้คนในสังคมส่วนใหญ่นั้นแฟบเสียจนชวนให้ทดท้อ

แต่กลับต้องมาเจียดเงินมาเยียวยาผู้ไม่มีโอกาสทางการศึกษาบ้าง การรักษาพยาบาลบ้าง ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล มากกว่าการให้ใครออกมาสวมหน้ากากของนักบุญ

ถ้าการวิ่งของฟิดิปปิเดสคือการวิ่งเพื่อประกาศชัยชนะของชนชาวกรีก การวิ่งทนระยะไกลของใครบางคนในประเทศนี้ ก็คงจะเป็นการประกาศถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศ และดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ของอำนาจที่ปกครองแห่งนี้อยู่นั่นเอง