ปริศนาโบราณคดี : พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี

กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (2)

 

จะว่าไปแล้ว “พระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่น” นี้ยังถือว่าโชคดีกว่าพระพุทธรูปหลายๆ องค์ที่ส่วนใหญ่ไม่มีทั้ง “จารึก” และ “ตำนาน” หรือบางองค์มีแต่ตำนานไม่มีจารึก

กล่าวคือ พระศีลาเจ้าเป็นพระพุทธรูปที่มีทั้ง “จารึก” และ “ตำนาน” ให้นักวิชาการพอคลำทางได้บ้าง แม้ว่าทั้งจารึกและตำนานที่ปรากฏกับพระศีลาเจ้าองค์นี้จักไม่ได้ช่วยไขปริศนาที่เราสงสัยกันแต่อย่างใดเลย ในข้อที่ว่า

ทำไมพระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคิรี ศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์ปาละจึงเข้ามาประดิษฐานในเมืองเชียงใหม่ก็ตามที

เรามาเจาะลึกในมิติของ “จารึก” กันก่อน พบว่ามีจารึกที่เกี่ยวข้องกับพระศีลาเจ้าองค์นี้มากอยู่ถึง 3 ส่วน

ส่วนแรก ได้แก่ คาถาภาษาสันสกฤตที่เขียนกำกับล้อมรอบพระเศียรที่ฉากหลังแผ่นนูนสูง

ส่วนที่สอง ได้แก่ จารึกที่ด้านหลังบัลลังก์องค์พระพุทธรูป ทำขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละยุคฟื้นฟูล้านนา ระบุศักราช พ.ศ.2333

ส่วนที่สาม ได้แก่ จารึกใหม่อีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำขึ้นประกอบการสร้างพระศีลาเจ้าจำลองระหว่างปี 2465-2467

พระพุทธรูปนูนสูงปางทรมานช้างนาฬาคิรี ศิลปะปาละในอินเดีย มีตัวอักษรเทวนาครี ภาษาสันสกฤต เขียนจารึกคาถา “เย ธรฺมา”

คาถา “เย ธฺมมาฯ”

ใช่นิยมแค่อินเดียใต้

อินเดียเหนือก็มี

คาถาหัวใจคำสอนพุทธศาสนาบทที่เรียกย่อๆ ว่า “เย ธฺมมาฯ” (อ่าน เยธัมมา) นั้น มาจากบทเต็มๆ ยาวๆ ว่า “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ”

แปลเป็นใจความว่า “นี่คือสัจธรรม ทุกสิ่งย่อมเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าทรงเทศนาถึงเหตุ และความดับของสิ่งเหล่านั้น”

เป็นธรรมะที่พระสารีบุตร (หรือพราหมณ์อุปติสสะ) ได้รับฟังคำสอนจากพระอัสสชิ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จนทำให้พราหม์อุปติสสะได้ดวงตาเห็นธรรม

ต่อมาโศลก “เย ธมฺมาฯ” ได้กลายเป็นคาถาสำคัญในระดับ “หัวใจพระพุทธศาสนา” ที่นายช่างศิลปกรรมฝ่ายเถรวาทช่วง พ.ศ.700-1300 นิยมนำมาใช้จารตามฐานพระพุทธรูป ด้านหลังพระพิมพ์ หรือเขียนบนธรรมจักร เป็นต้น

พบมากในกลุ่มพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในศิลปะอินเดียภาคใต้ที่ใช้ตัวอักษรปัลลวะ และสืบต่อมาจากยุคหลังปัลลวะที่ใช้ภาษาบาลี โดยพระพุทธรูปกลุ่มนี้ยังเผยแพร่เข้ามาในแผ่นดินสยามยุคสุวรรณภูมิ และยุคทวารวดีจำนวนมาก

ส่วนในวัฒนธรรมอินเดียเหนือ ก็พบการใช้คาถา “เย ธมฺมาฯ” นี้บ้างเช่นกัน กำหนดอายุได้ระหว่างปี 1450-1550 แต่พบไม่มากนัก เป็นการรับเอาอิทธิพลมาจากอินเดียใต้มาใช้ เว้นแต่ตัวอักษรที่ใช้นั้นเปลี่ยนเป็นอักษรเทวนาครี (สืบทอดจากตระกูลอักษรพราหมี) แทน ไม่ได้ใช้อักษรปัลลวะ

พระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่นองค์ที่ดิฉันกำลังวิเคราะห์นี้ มีการใช้อักษรเทวนาครีแบบอินเดียเหนือเขียนคำจารึกที่ฉากหลังล้อมพระเศียรพระพุทธรูปว่า “เย ธรฺมาฯ” เช่นเดียวกัน แต่เป็นภาษาสันสกฤต ดังนี้

“เย ธรฺมา เหตุปรฺภวา เตษำ เหตุตํ ตถาคโต

เตษาญฺจโย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ”

อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ถอดความจารึกคาถา “เย ธรฺมา” ภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี จากพระพุทธรูปแปดปางศิลปะปาลาที่พบในกรุพระปรางค์ อยุธยา

เนื่องจากคำจารึกตัวอักษรเทวนาครีว่าด้วยคาถา “เย ธรฺมา” ของพระศีลาเจ้านั้น ไม่สามารถถ่ายภาพได้ในระยะไกล จำเป็นต้องใช้ศิลปกรรมชิ้นอื่นที่เห็นตัวอักขระชัดๆ มานำเสนอแทน นั่นคือภาพพระพุทธรูปศิลานูนสูงปางทรมานช้างนาฬาคิรี ศิลปะปาละในประเทศอินเดีย

อักษรเทวนาครีในแผ่นดินล้านนา

การพบอักษรเทวนาครีที่ฉากหลังพระศีลาเจ้า ที่มีรูปแบบตัวอักษรรุ่นเก่าราวพุทธศตวรรษที่ 15-ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 16 บนแผ่นดินล้านนาเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง

ถือเป็นอักษรเทวนาครีเพียงไม่กี่ชิ้นที่พบในแผ่นดินล้านนา อีกชิ้นหนึ่งที่เคยพบคือ บนพระพิมพ์ดินเผาสมัยหริภุญไชย (องค์ที่ชำรุดพระเศียรขาด มีพระเจดีย์แบบพุทธคยารายล้อมองค์พระประธาน เรียกว่าพระพิมพ์ประทับใต้ซุ้มพุทธคยา ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน) องค์นี้พบอักษรเทวนาครีภาษาสันสกฤตที่ปีกสองข้างของพระพิมพ์ในตำแหน่งใต้พระเจดีย์ ต่อเชื่อมกับส่วนใต้ฐานบัลลังก์ตอนล่าง

อาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรุณาอ่านถอดความอักษรเทวนาครีที่จารึกบนพระพิมพ์รุ่นพุทธคยาชิ้นนี้ได้ความว่า เป็นคาถา “เย ธรฺมา เหตุปรฺภวา” ที่ใช้ภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการพบตัวอักษรเทวนาครีที่ใช้เขียนจารึกอีกชิ้นหนึ่ง ปรากฏอยู่บนแผ่นรอยพระพุทธบาทฝังมุก ซึ่งพระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้นในปี 2020 ปีที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่แปดของโลก (ตามความเข้าใจของคนล้านนายุคนั้น) สร้างถวายแด่พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์หลวง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่บนชั้นสองของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

ส่วนอื่นๆ ที่เป็นจารึกทั้งหมดบนรอยพระพุทธบาทฝังมุกชิ้นนี้ ล้วนใช้อักษรธัมม์ล้านนาทั้งสิ้น ยกเว้นมีอยู่ 1 จุด ที่เขียนว่า “อกนิทธพรหม” (ที่ถูกตามคัมภีร์จักรวาลทีปนีใช้ว่า “อกนิษฐ์พรหม”) พบว่าใช้อักษร “เทวนาครี” จำหลัก

จุดดังกล่าว อยู่บริเวณตอนกลางบนของรอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่ระหว่างซุ้มวิมานขนาดเล็กๆ สองซุ้ม (คล้ายโคมปราสาท หรือโคมป่อง) เหนือเศียรเทวดาที่ทำท่ายกมือขวาขึ้น (เราจะเห็นเป็นมือซ้าย) รองรับการผลิบานของดอกไม้ ในที่นี้มีรูปลักษณ์คล้ายดอกโบตั๋น ซึ่งสมัยพระเจ้าติโลกราชรับอิทธิพลศิลปะจีนเข้ามาใช้เป็นงานประดับลวดลายศิลปะ

ดร.ฮันส์ เพนธ์ เขียนบทความเรื่อง “พระพุทธบาทที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่” ตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2522 ท่านได้เรียกรูปแบบอักษรที่พบหนึ่งเดียวบนแผ่นรอยพระบาทฝังมุกนี้ว่า “ตัวอักษรเบงกาลีโบราณ”

โดย ดร.ฮันส์ เพนธ์ เองก็ไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ของผู้ให้จาร (พระเจ้าติโลกราช) หรือนายช่างผู้สร้าง ว่าเหตุไรจึงต้องใช้รูปแบบตัวอักษรเบงกาลีโบราณเช่นนี้เฉพาะจุดที่กำลังอธิบายถึง “พรหมโลกชั้นที่ 16 ซึ่งมีชื่อว่า อกนิฏฐาพรหม” เพียงจุดเดียวเท่านั้น

การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “อักษรเทวนาครี” ที่พบในรอยพระพุทธบาทฝังมุกชิ้นนี้ ผู้อ่านอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดิฉันเขียนไว้เพื่อปูพื้นสำหรับการหยิบข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อในสัปดาห์หน้า

พระพิมพ์ทรงพุทธคยา ศิลปะหริภุญไชย พบคาถาจารึก “เย ธรฺมา” อักษรเทวนาครี ภาษาสันสกฤต

จารึกสมัยพระเจ้ากาวิละ

สร้างเสริมบัลลังก์พระศีลา

เมื่อเราพลิกพระศีลาเจ้าไปดูด้านหลัง พบว่ามีจารึกเขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนา (ตั๋วเมือง) เป็นการใช้ไม้สักสร้างเป็นกรอบล้อมองค์พระพุทธรูปไว้ พร้อมเพิ่มส่วนฐานบัลลังก์ให้สูงตามที่เราเห็น

คำจารึกนี้มีจำนวน 28 บรรทัด เนื้อหาโดยสังเขปกล่าวว่า

พ.ศ.2333 (จ.ศ.1152) ปีจอ มังราวิเชียรปราการเจ้า (หมายถึงพระเจ้ากาวิละ) พร้อมทั้งอัครราชชายา นางพญาหลวง มเหสีเวสิยาเรือนหลวง ราชภาติกะสองพระองค์ (หมายถึง เจ้าธัมมลังกา และเจ้าคำฝั้น น้องชายคนที่ 3 และ 6 ของพระเจ้ากาวิละ) ราชโอโรธา (ดร.ฮันส์ เพนธ์ และคณะผู้ปริวรรตจากสถาบันวิจัยสังคม มช. ทำหมายเหตุว่า น่าจะหมายถึงเหล่าสนม มากกว่าจะหมายถึงพระโอรส) พร้อมด้วยบรรดาขุนนางราชปุโรหิตทั้งหลายได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์ “พระพุทธพิมพารูปเจ้าองค์ประเสริฐ” พร้อมซุ้มบัลลังก์ทำด้วยไม้ลงรักปิดทอง

ตอนท้ายจารึก เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและสรรพสัตว์ทั้งมวล

จารึกหลักนี้ให้ข้อมูลแค่เพียงว่า ปี 2333 พระเจ้ากาวิละได้ทำซุ้มบัลลังก์เสริมความมั่นคงและความเป็นสง่าราศีให้แก่ “พระพุทธพิมพารูปเจ้าองค์ประเสริฐ” องค์หนึ่ง ไม่ได้ระบุคำว่า “พระศีลาเจ้า” ในจารึกแต่อย่างใด

ทั้งยังไม่ได้บอกที่มาที่ไปว่า พระเจ้ากาวิละได้พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคิรีองค์นี้มาจากไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

หากเราพิเคราะห์ถึงศักราชที่แปลงสร้างองค์บัลลังก์ให้แก่พระเจ้าศีลา พบว่าพระเจ้ากาวิละยังประทับอยู่ที่เวียงป่าซาง ลำพูน ยังไม่ได้ย้ายเข้ามาประทับในนครเชียงใหม่ปี พ.ศ.2339

อักษรเทวนาครีบนแผ่นรอยพระบาทฝังมุก เขียนว่า “อกนิทธพรหม” จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

พระศีลาเจ้าจำลองอีกองค์

ของหนานเตชะ-นางขันแก้ว

หนังสือประชุมจารึกล้านนาเล่มที่ 12 จารึกในจังหวัดเชียงใหม่ ภาค 4 จัดทำโดยสถาบันวิจัยสังคม มช. ปี 2550 นั้น หน้า 95-112 กล่าวถึง การสร้างพระพุทธศิลาจำลองด้วยการใช้ไม้แกะสลัก โดยหนานเตชะ (แพง) และนางขันแก้ว ปีที่สร้างระหว่าง พ.ศ.2465-2467

นัยยะสำคัญคือมีการทำจารึกด้านหลังกรอบไม้ พร้อมเรียกชื่อพระพุทธรูปศิลาของวัดเชียงมั่นที่ผู้สร้างตั้งใจจะกระทำการจำลองว่า “พระศิลาพิมพรูปเจ้า” คือยุคนี้มีการเรียกชื่อว่า “พระศีลา” แล้ว

“ใคร่สร้างและจำลองยังองค์แห่งพระสีลาพิมพรูปเจ้า อันพระมหากัสสปะอรหันต์ และพระญาอชาตศัตรู ได้สร้างมาแต่เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว…”

ข้อความในจารึกบนแผ่นไม้พระศีลาเจ้าจำลองแผ่นนี้เองกระมัง ที่ทำให้ทางวัดเชียงมั่นทำป้ายระบุว่า เชิญนมัสการพระพุทธรูปอายุ 2,500 ปี เหตุที่เนื้อความมีการเชื่อมโยงไปไกลถึงสมัยพระเจ้าอชาตศัตรูและพระมหากัสสปะในยุคพุทธกาล?

ปมปริศนาทั้งหมดทั้งมวล จะมาชำระสะสางกันต่อในฉบับหน้า

พระศีลาเจ้าจำลอง ทำด้วยไม้แกะสลักของหนานเตชะ และนางขันแก้ว ด้านหลังมีอักษรจารึกเรียกว่า “พระศีลา” ปัจจุบันอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาสวัดเชียงมั่น