ปริศนาโบราณคดี : พระอุปคุต VS พระบัวเข็ม ตกลงองค์เดียวกัน หรือคนละองค์? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปรากฏการณ์เรื่องการบูชา “พระอุปคุต” ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในรอบ 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เฉพาะเพียงแค่ในวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น แต่ยังพบว่าค่อยๆ แพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวในลักษณะทัวร์จาริกแสวงบุญ (เช่น ชลบุรี ขอนแก่น ฯลฯ) หรือเป็นย่านรอยตะเข็บพรมแดนที่มีแรงงานต่างด้าวชาวอาเซียนที่หลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก (เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสาคร ฯลฯ) ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีความนิยมในการบูชาพระอุปคุตเป็นทุนเดิมมาอยู่ก่อนแล้วจากประเทศของตน

เรื่องราวของพระอุปคุตถือว่ามีสีสัน เพราะสามารถจุดชนวนคำถามตามมาอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะในประเด็นที่เชื่อมโยงไปกับพระพุทธปฏิมารูปแบบหนึ่งซึ่งชาวล้านนาเรียกกันว่า “พระบัวเข็ม”

บ้างก็ว่า พระบัวเข็ม เป็นปางหนึ่งของพระอุปคุต

บ้างก็ว่า ภาษาล้านนาเรียกพระอุปคุตว่า พระบัวเข็ม ส่วนชาวพม่าเรียก อุปคุต แท้จริงก็คือองค์เดียวกัน

แต่ก็มีบางท่านบอกว่า พระบัวเข็มไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระอุปคุต เพราะพระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ ทว่าพระบัวเข็มเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้าต่างหาก เพียงแค่อยู่ใต้สะดือทะเลเหมือนกัน จึงมีใบบัวปรกเศียร แต่แท้จริงแล้วเป็นคนละองค์กัน

การไขปริศนาเรื่องความเหมือน-ความต่างระหว่าง “พระอุปคุต” กับ “พระบัวเข็ม” คงต้องเริ่มต้นที่การศึกษาเรื่อง “พระอุปคุต” ให้ถ่องแท้เสียก่อน จึงจะสามารถตอบคำถามโจทย์ที่ตั้งไว้ว่า

ตกลงแล้ว พระอุปคุต กับ พระบัวเข็ม คือองค์เดียวกัน หรือคนละองค์กันแน่?

 

หลายร้อยปริศนาต่อการรับรู้เรื่องพระอุปคุต

อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีประติมากรรมรูปเคารพใดที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อการรับรู้ของผู้คนในแง่ความทรงจำที่แตกต่างได้อย่างหลากหลายมิติ จนถึงขนาดเกิดความสับสนและสร้างความสงสัยได้มากมายเท่ากับ “พระอุปคุต” นี้อีกแล้ว ดังเช่นประเด็นคำถามเหล่านี้ที่ได้ยินค่อนข้างบ่อย

ทำไมพระอุปคุตต้องอาศัยอยู่ใต้สะดือทะเล?

พระอุปคุตเกี่ยวข้องอะไรกับประเพณีลอยกระทง?

พระอุปคุตเกิดในยุคพุทธกาล หรือหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน?

ทำไมพระอุปคุตต้องนั่งท่าเอียงศีรษะ ทำท่าจกบาตร?

ทำไมพระอุปคุตต้องขึ้นจากบาดาลมาเดินบิณฑบาตในคืนเพ็ญวันพุธ (ชาวเหนือเรียก “เป็งปุ๊ด”) ทำไมไม่เป็นวันอื่น

พระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่จริงหรือไม่ในปัจจุบันนี้?

คาถาการบูชาพระอุปคุตมีว่าอย่างไร ทำไมบางตำราสั้น ยาว ไม่เท่ากัน?

พระอุปคุตเป็นของไทยหรือพม่า หากเป็นของไทย มีขึ้นเฉพาะในวัฒนธรรมล้านนาหรือเปล่า แล้วภูมิภาคอื่นๆ มาหยิบยืมเอาไป?

การบูชาพระอุปคุตทำไปเพื่อสิ่งใด แค่อัญเชิญท่านขึ้นมาปราบพญามารในงานปอยหลวง ในงานบุญใหญ่ เท่านั้นหรือ นอกจากจุดเด่นในด้านปราบมารแล้ว ท่านยังเป็นพระอรหันต์ที่มีความเป็นเลิศในด้านใดอีก เช่น ความร่ำรวย โชคลาภ?

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมไปถึงคำถามยากๆ แบบเจาะลึกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นคำถามที่แม้แต่เหล่านักโบราณคดีที่ชอบเล่นของยากก็มิอาจไขปริศนาได้กระจ่างหมดทุกข้อ เช่น

พระอุปคุตสามารถปราบพญามารได้อย่างไร ท่านเอาอิทธิฤทธิ์มาจากไหน?

ในอินเดียมีการทำประติมากรรมรูปพระอุปคุตหรือไม่ หากมีชิ้นที่เก่าสุดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่เท่าไหร่?

การตักบาตรของพระอุปคุตในคืน “เป็งปุ๊ด” จะขัดแย้งกับพระวินัยสงฆ์หรือเปล่า?

ในเมื่อพระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ และหากพระบัวเข็มเป็นปางหนึ่งของพระอุปคุตจริง ไฉนพระบัวเข็มจึงมีพุทธลักษณะละม้ายคล้ายกับรูปเคารพของพระพุทธเจ้า?

ในอุษาคเนย์มีชาติพันธุ์ใดบ้างที่ให้ความเคารพนับถือพระอุปคุต และช่วงเวลาที่ชาติพันธุ์นั้นๆ นับถือพระอุปคุต พวกเขานับถือพระพุทธศาสนานิกายอะไร (ทั้งนิกายหลัก และนิกายย่อย) ที่กำลังรุ่งเรืองแบ่งบาน?

การทำประติมากรรมรูปพระอุปคุต และพระบัวเข็ม แต่ละชิ้นที่เก่าสุดมีขึ้นเมื่อไหร่ในแผ่นดินสยาม เก่าถึงยุคทวารวดีไหม?

การรับรู้เรื่องราวของ “พระบัวเข็ม” ของชาวสยามรัตนโกสินทร์ กับชาวล้านนา เหมือนหรือต่างกัน เข้าใจตรงกันไหม?

พระอุปคุตเกี่ยวข้องอะไรหรือเปล่า กับพระสังกัจจายน์ และพระควัมปติ คือดูแล้วละม้ายว่าน่าจะเป็นพระอรหันต์ในกลุ่ม Fat Monk?

พระอุปคุตเข้ามาได้รับความนิยมแทนที่ การหายไปของพระสังกัจจายน์ และพระควัมปติ หรือเช่นไร?

ฯลฯ

 

“พระมหาอุปคุปต์” ในการรับรู้ของชาวล้านนา

ในเมื่อผู้เขียนตั้งคำถามขึ้นมาเองอย่างมากมาย คือพยายามคิดแทนคนช่างสงสัยทุกกลุ่ม ว่าแต่ละคนย่อมต้องมีคำถามค้างคาใจเกี่ยวกับพระอุปคุตอย่างน้อยไม่คำถามใดก็คำถามหนึ่ง หรืออาจจะหลายคำถาม

ผู้เขียนก็จักพยายามตอบคำถามเหล่านั้นให้ครอบคลุมกับปรัศนีที่ตัวเองสร้างขึ้น อย่างลงลึกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน

ในเบื้องแรกนี้ ขอนำเสนอ “ภาพลักษณ์” หรือการรับรู้เรื่องราวของพระอุปคุตในวัฒนธรรมล้านนา ที่เข้าใจและจดจำต่อๆ กันมา ในทำนองมุขปาฐะ หรือคำเล่าแบบปากต่อปาก ดังนี้

ชาวล้านนา เรียกชื่อพระอุปคุตสองแบบ คือ “พระอุปคุต” ตามที่เราได้ยินกัน แต่บางครั้งคนรุ่นก่อนกลับเรียกว่า “พระมหาอุปคุปต์”

ประเด็นนี้ความน่าสนใจไม่ใช่การเพิ่มคำว่า “มหา” เข้ามา แต่เป็นคำถามที่ว่าทำไมจึงแผลงตัว “คุต” ไปเป็น “คุปต์” ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีคำอธิบายต่อท้ายจากเอกสารสมุดข่อยหรือปั๊บสาของล้านนา ทำให้ผู้เขียนต้องตรวจสอบเทียบเคียงที่มาของชื่อ “อุปคุต” กับ “อุปคุปต์” ในเอกสารฉบับอื่น

นั่นคือ คัมภีร์เรื่อง “อโศกาวทาน” เป็นปกรณ์ภาษาสันสกฤต ที่เขียนขึ้นในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ได้กล่าวถึงชื่อบิดาของพระอุปคุต ซึ่งเป็นพ่อค้าน้ำหอม (เกิดในวรรณแพศย์) มีนามว่า “คุปตะ” มีบุตรชาย 3 คนคือ อัศวคุปต์ ธนคุปต์ และอุปคุปต์

เห็นได้ว่ารากศัพท์นามเดิมของ อุปคุต นั้น ที่ถูกต้องคือ อุปคุปต์ ตามเอกสารที่ปรากฏในปั๊บสาใบลานโบราณของชาวล้านนา หรือที่ในศัพท์ทางวิชาการภาษาอังกฤษเขียนว่า Upagupta

ต่อมาการออกเสียงชื่อ พระอุปคุปต์ หรือพระมหาอุปคุปต์ (คำว่า “มหา” ที่แทรกเข้ามา หมายถึง พระอุปคุต มหาเถระ) ได้เพี้ยนหรือแปลงไปตามแต่ละท้องถิ่น ในวัฒนธรรมพม่า ไทใหญ่ เรียกว่า “อุปาโก” – Upago ส่วนชาวล้านนาออกเสียง เป็นอุปคุต

ตามหลักสัทศาสตร์ของภาษาล้านนา แม่กด สามารถใช้แทน แม่กบ ได้บางคำ เช่นคำว่า “หีบธรรม” ชาวล้านนาออกเสียงเป็น “หีดธรรม” ในขณะที่แม่กบ ก็สามารถใช้แทนแม่กกได้ เช่น “สักหมึก (ดำ)” ออกเสียงเป็น “สับหมึก”

ในปั๊บสาของชาวล้านนายังได้กล่าวถึง พระอุปคุต ต่อไปอีกว่า

“เป็นพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ สถานที่อาศัยคือในโลหะปราสาทสมุทรใต้สะดือทะเล ต่อมาเสด็จขึ้นมาบนโลกมนุษย์ครั้งแรกตามคำอัญเชิญของพระเจ้าอโศกมหาราช ตอนที่พระองค์กำลังเตรียมจะจัดงานพิธีฉลองพระบรมธาตุเจดีย์จำนวนแปดหมื่นสี่พันหลัง

ปรากฏว่ามีพญามารมารบกวนทำให้งานฉลองครั้งนั้นยุ่งยากปั่นป่วน ไม่เป็นที่สงบ มีผู้กราบบังคมทูลพระเจ้าอโศกมหาราชว่า มีผู้มีบุญญาธิการเพียงรูปเดียวที่จะสามารถปราบพญามารได้ เพราะบุคคลผู้นั้นมีบุญญาบารมีสูงมากเป็นถึงพระอรหันต์ที่ได้รับคำพยากรณ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี แต่พระอุปคุตยังคงจําศีลอยู่ในโลหะปราสาทที่ท่านเนรมิตขึ้นใต้สะดือทะเล

พระเจ้าอโศกมหาราชจึงตัดสินใจทำพิธีนิมนต์พระอุปคุตให้ขึ้นมาช่วยเหลือ โดยพระอุปคุตจะออกมาบิณฑบาตบนโลกมนุษย์เฉพาะในวันพุธกลางคืนเดือนเพ็ญช่วงกลางเดือนเท่านั้น เมื่อพระอุปคุตขึ้นมาแล้วท่านได้มาช่วยมัดพญามารไว้ไม่ให้ออกไปรบกวน งานบุญงานฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอโศกมหาราชจึงดำเนินไปได้อย่างสงบจนเสร็จงานเป็นเวลาเดือนหนึ่งจากนั้นได้ปล่อยพญามารไป”

เอาแค่นี้ก่อน เพราะจากข้อความที่คัดมาให้อ่าน ก็เต็มไปด้วยคำถามร้อยแปดพันเก้า อาทิ

โลหะปราสาทใต้สะดือทะเลอยู่ที่ไหน? และที่บอกว่า พระอุปคุตได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าจะได้เป็นพระอรหันต์นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสกับใคร เมื่อไหร่ และในยุคพุทธกาลนั้น พระอุปคุตเคยเสวยพระชาติเป็นใคร?