เป็นตำรวจปวดหัวใจ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

เป็นตำรวจปวดหัวใจ

 

ถ้าไม่ใช่ด้วยเหตุชะตากรรมผลักไส เชื่อว่าก่อนที่จะมาเป็นตำรวจนั้น หลายๆ คนคงจะมี “แรงบันดาลใจ” ซึ่งเปรียบเสมือนไฟที่ลุกโชนอยู่ข้างใน เร่าร้อนและมีพลังชักนำไปสู่จุดหมาย

เช่น บางคนอยากเป็นตำรวจเพราะครั้งยังเด็กเคยเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควรของคนที่เป็นตำรวจ หรือบางครอบครัว พ่อ-แม่เคยถูกโจรผู้ร้ายปล้นชิงประทุษร้าย สร้างความเจ็บช้ำ มีรอยด่างในใจ หรือบางคนถูกคุกคามจากนักเลงหัวไม้และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ได้พบได้เห็นความไม่ยุติธรรม “แรงบันดาลใจ” จึงจุดไฟในตัวให้อยากเป็นตำรวจ จะได้ผดุงความยุติธรรม

ในความฝันอันสูงส่งนั้นแม้เสี่ยงภัยแต่ก็สุขใจที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องสุจริตชน กำราบปราบปรามเหล่าผู้ร้าย

แต่เมื่อได้เป็นตำรวจเข้าจริงๆ โลกแห่งความฝันของหลายคนก็พลันมลายหายไปสิ้น คงเหลือแต่ “โลกที่เป็นจริง”

การเป็นตำรวจยากกว่าที่คิด!

ไม่ใช่เหนื่อยกายเหนื่อยใจหรือปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงอันตราย แต่ในโลกของตำรวจสลับซับซ้อนและยอกย้อนอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยด้วยแล้ว ต้องปิดปาก คอยรับคำสั่งอย่างเดียว ก้มหน้าก้มตารับใช้ แม้ด้านหนึ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดว่าเป็น “ภารกิจ” แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ “เพื่อนาย” นั้น หลายกรณี-ไม่มีขอบเขต กระทั่งบางยุคมี “ผู้บังคับบัญชาระดับสูง” บางคนซึ่งเชี่ยวชาญงานสอบสวนต้องเตือนสติตำรวจที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาว่า “อย่าตามใจนาย” แต่ “ให้ทำตามกฎหมาย” เพราะตอนจบคนที่ติดคุกไม่ใช่ “นาย”

ส่วนการเป็นตำรวจ “ชั้นสัญญาบัตร” นั้นตั้งแต่วันแรกที่ติดยศ “ร้อยตำรวจตรี” ต้องรู้จักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ วางเฉย หลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง ทำตัวให้กลมกลืน ทั้งยังต้องคอยสอดส่ายหา “สังกัด”

ตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่ไม่มี “นาย” คุ้มหัวจะดักดาน ยากที่จะเจริญก้าวหน้า

หรือเป็นตำรวจสัญญาบัตร แต่มีรุ่นไม่มีเพื่อนก็เหมือนแกะดำ

อนิจจา! ทำไมวงการตำรวจไทยถึงเป็นเช่นนั้น

 

ในบ้านเมืองที่ไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม “ตำรวจ” ไม่อาจเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

ในประเทศไทยตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา คณะรัฐประหารให้โอนย้ายทหารมาเป็นตำรวจกันมาก เช่น พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ พ.ต.ทม จิตวิมล ร.อ.ต่อศักดิ์ ยมนาค

“เผ่า” เริ่มจากนั่งเก้าอี้ผู้ช่วยอธิบดี, รองอธิบดี แล้วก็ขึ้นเป็น “อธิบดีตำรวจ” ในอึดใจเดียวเป็นเจ้าของสโลแกน “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”

นั่นแล้วแต่ตำรวจจะประพฤติและตีความ!

แต่พฤติกรรมของตำรวจในยุค “เผ่า” ไม่ใช่ตัวแบบ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

คณะรัฐประหารโอนย้ายทหารมาเพื่อให้คุมตำรวจและใช้ตำรวจเป็น “เขี้ยวเล็บ” ในการกำจัดฝ่ายตรงกันข้าม

ตำรวจที่รับใช้การเมืองในยุคนั้นจึงใช้ “กฎหมาย” จับกุมคุมขังคน กับใช้ “อาวุธปืน” สังหารศัตรูทางการเมือง

จะรู้ตัวกันหรือไม่ก็ตาม ทหารในประเทศไทยยึดอำนาจการปกครองด้วยการก่อรัฐประหารเฉลี่ย 6 ปีต่อ 1 ครั้ง องค์กรตำรวจตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจรัฐที่มาจากการรัฐประหาร ตำรวจเคยชินกับ “การรับใช้” ผู้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่าคำนึงถึงความยุติธรรมที่ประชาชนมีความคาดหวัง

คำว่า “คนดี” ของตำรวจจึงไม่สำคัญเท่า “คนของใคร”

คำว่า “คนเก่ง” ไม่สำคัญเท่ากับการยืนอยู่ฝ่ายไหน

ถ้าเลือกยืนอยู่กับคณะรัฐประหารในแต่ละยุคก็จะเจริญก้าวหน้า

ระบบแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจจึงเอาดีไม่ได้ แม้จะเคยมีความพยายามวางรากฐานโดยหยิบยืมแนวคิดระบบการแต่งตั้งโยกย้ายมาจากตุลาการ จนก่อเกิด “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” แต่ระบบนั้นก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน

 

ในโลกที่เป็นจริง ตั้งแต่ติดยศ “ร้อยตำรวจตรี” ชีวิตการเป็นตำรวจก็เริ่มเต็มไปด้วยการดิ้นรนขวนขวาย การวิ่งเต้นเพื่ออยู่รอดและเติบโต

สังคมตำรวจสอนให้ทะเยอทะยาน มีสัมผัสที่จับความเคลื่อนไหวรอบกายได้อย่างว่องไว ถึงจะมีรุ่นมีพี่เพื่อนน้องก็ต้องเหลียวหน้าแลหลังระมัดระวัง

สิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน

การแต่งตั้งโยกย้ายไม่มีคำว่า พี่ เพื่อน น้อง การเหยียบไหล่ข้ามหัวกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะหนาวยิ่งกว่าถ้ามีการ “ขายเก้าอี้” ซึ่งเคยมีนายบางคนเลวร้ายถึงขั้น “ตั้งราคา” กันตั้งแต่การเปลี่ยนงานของตำรวจชั้นประทวน

ถ้าการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนแน่นอน ไม่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตำรวจก็จะไม่หลุดออกจากวงจรแห่งความชั่วร้าย ถึงแม้การสมยอมกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเก้าอี้ จะทำให้การซื้อ-ขายตำแหน่งตำรวจไม่ฉาวโฉ่ แต่การซื้อ-ขายเก้าอี้นำไปสู่ปัญหาใหญ่คือ ตำรวจมุ่งแต่จะแสวงหาผลประโยชน์จนในหัวมีแต่ตัวเลข

ดำรงตนในความยุติธรรม ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ปราบปรามคนชั่ว อภิบาลคนดี ยิ่งพินิจพิเคราะห์ที่ปลูกฝังท่องจำกันมายิ่งปวดร้าว จะเป็นตำรวจไปทำไม เป็นตำรวจของใคร ยิ่งโตขึ้น ยิ่งนานวัน ยิ่งสวนทางกับอุดมคติตำรวจ

จะบอกว่ากว่าร้อยปีที่ถือกำเนิดขึ้นก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ถ้าไม่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย

 

องค์กรตำรวจไทยกำลัง “ล้าหลัง” อย่างมาก ทั้งยังไม่มีความกล้าพอที่ลุกขึ้นมาพัฒนาปรับปรุง

งานตำรวจถดถอยทุกด้านตั้งแต่การป้องกันปราบปราม งานสอบสวน งานสืบสวน

ประชาชนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ภาพลักษณ์ตำรวจไทยในวันนี้ไม่ได้มีความเก่งกล้าสามารถปราบเหล่าร้ายหรือผู้ที่มีฤทธิ์ เป็นได้ก็แต่เพียงเครื่องมือของ “รัฐ” ซึ่งมีที่มาฉ้อฉล

“รัฐ” ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยย่อมเป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปตำรวจ!?!!