ปริศนาโบราณคดี : พระอุปคุต VS พระบัวเข็ม ตกลงองค์เดียวกัน หรือคนละองค์? (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คัมภีร์ที่กล่าวถึงพระอุปคุตฝ่ายวรรณคดีสันสกฤต

วรรณคดีสันสกฤต เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาฝ่ายอุตตรนิกาย หรือนิกายที่เผยแผ่ขึ้นมาทางเหนือของชมพูทวีป เรียกว่าฝ่ายอาจาริยวาท หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “นิกายมหายาน”

ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาที่ใช้ในหมู่ชนวรรณะสูงของอินเดียโบราณ วรรณคดีสันสกฤตจึงเน้นความเก่งกล้าสามารถในวีรกรรมของกษัตริย์ เทพเจ้า และแม้แต่เรื่องราวทางพุทธศาสนาก็มักรจนาในลักษณะประชันขันแข่งกับศาสดาของศาสนาพราหมณ์

เรื่องราวของพระอุปคุตในวรรณคดีสันสกฤต ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ 2 เรื่อง ได้แก่ อวทาน-ศตก และอโศกาวทาน

อวทาน-ศตก (อ่าน อวทาน ศะตะกะ) หมายถึง “อวทาน 100 เรื่อง” นักปรัชญาศาสนาถือว่าเป็นคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุด แต่งขึ้นในอินเดียก่อน พ.ศ.500

เนื้อหาของ อวทาน-ศตก หมวดที่ 1-99 กล่าวถึงการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ เพื่อให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ตอนสุดท้ายคือเรื่องที่ 100 ชื่อว่า “สังคีติอวทาน” ได้มีการกล่าวถึงพระอุปคุต ว่ามีบทบาทในการถวายคำอธิบายแก่พระเจ้าอโศกมหาราช ในส่วนที่แทรกกับตอนพระเจ้าอโศกตรัสถามว่า เพราะกรรมอันใดจึงส่งผลให้ชายหนุ่มนาม “สุนทระ” มีรูปโฉมงามกว่าพระโอรสของพระองค์นาม “เจ้าชายกุณาละ”

ในสังคีติเรื่องนี้ ไม่ได้อธิบายบทบาทด้านปาฏิหาริย์ของพระอุปคุตในแง่มุมที่คนไทยรู้จักแต่อย่างใด บอกแต่เพียงว่า พระอุปคุตมีสถานะเป็น “พระอาจารย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช” มีคุณูปการในแง่ที่ทำให้พระเจ้าอโศกเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพราหมณ์มาเป็นพุทธศาสนิกชน

คัมภีร์สันสกฤตเล่มสำคัญที่ให้รายละเอียดของพระอุปคุตค่อนข้างมากคือ “อโศกาวทาน” เขียนโดย “พระคันถรจนาจารย์” ชาวแคว้นกาศมีระ ของอินเดียเหนือ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 5 จัดเป็นอวทาน 1 ใน 4 อวทานของ “คัมภีร์ทิพยาวทาน” ที่นำเสนอเรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราช อวทานทั้ง 4 ประกอบด้วย

1 ปศุปรทานวทาน อวทานนี้กล่าวถึงการที่พระอุปคุตโน้มน้าวพระทัยอันโหดร้ายของพระเจ้าอโศกมหาราช ให้หันมาเลื่อมใสในพุทธศาสนา

2 วีตาโศกาวทาน เกี่ยวกับประวัติพระกนิษฐภาดา (น้องเขย) ของพระเจ้าอโศกมหาราช

3 กุณาลวทาน อวทานนี้มีหลายเรื่อง อาทิ เกี่ยวกับเจ้าชายกุณาละ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช และตอนที่พระอุปคุตนำพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จธรรมยาตราสังเวชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น สถานที่ประสูติ เป็นต้น

4 อโศกาวทาน เป็นอวทานที่กล่าวถึงช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระเจ้าอโศกมหาราช

อวทานทั้ง 4 ไม่นิยมเรียก “คัมภีร์ทิพยาวทาน” แต่เรียกโดยรวมว่า “อโศกาวทาน” แต่ละอวทานมีเรื่องราวของพระอุปคุตแทรกอยู่เป็นช่วงๆ มีการกล่าวย้อนถึงอดีตชาติของพระอุปคุตอีกด้วย

 

จากพญาวานรผู้ได้รับพุทธพยากรณ์
สู่บุตรพ่อค้าน้ำหอม ลูกศิษย์สายพระอานนท์

ในอโศกาวทาน พระอุปคุตถูกระบุว่า เป็นบุคคลที่ได้รับการพยากรณ์โดยสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันหรือพระโคตมะ ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้า หลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว จะมีคนขายน้ำหอมชื่อ “คุปตะ” บุตรของเขานามว่า “อุปคุปต์” (คุปต์ เป็นภาษาสันสกฤต ในขณะที่ภาษาบาลี และภาษาล้านนาใช้ คุต / คุตต ในที่นี้จะใช้คำว่า “อุปคุต” แทน) จะได้เป็น “พระอนุพุทธ”

พระอนุพุทธ หมายถึงพระอรหันต์ที่มีพุทธานุภาพใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า เพียงแต่ปราศจากมหาปุริสลักษณะ 32 ประการอย่างพระพุทธเจ้า (เช่น ฝ่าพระบาท ฝ่าพระหัตถ์มีรูปธรรมจักร มีอุณาโลมหรือกลุ่มขนคิ้วหว่างกลางพระนลาฏ เป็นต้น)

พระอนุพุทธอุปคุต ผู้นี้ จะทำงานพุทธกิจสืบสานต่อจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการปราบพญามาร และช่วยให้ภิกษุจำนวนมากเอาชนะกิเลสมารจนเข้าถึงอรหัตผล

คำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าเรื่องพระอนุพุทธอุปคุตนี้ พระองค์ทรงตรัสไว้แก่พระอานนท์ ณ เมืองมถุรา ซึ่งในยุคพุทธกาลขณะนั้น พระอุปคุตยังเสวยชาติเป็นพญาวานรตนหนึ่งอยู่แถวไหล่เขาอุรุมุณฑะ คอยอุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง (พระปัจเจกพุทธเจ้าหมายถึง ผู้ตรัสรู้ด้วยตนเองแต่ไม่มีวิชาอนุศาสน์ ไม่สามารถตรัสสอนบุคคลใดให้บรรลุธรรมได้)

ต่อมาพระสาวกรูปหนึ่งผู้เป็นศิษย์เอกของพระอานนท์ นาม “พระศาณกวาสินเถระ” ผู้นี้เองในรุ่นถัดมาได้กลายมาเป็นผู้เชื่อมโยงเรื่องราว ในฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่พระอุปคุต

และสถานที่บวชของพระอุปคุตก็คือวัดบนภูเขาอุรุมุณฑะ สถานที่แห่งเดิมเหมือนยุคที่พระอุปคุตเคยเสวยชาติเป็นพญาวานร ซึ่งวัดนี้สร้างโดยพระศาณกวาสินเถระ

 

การตัดหูตัดจมูก นางวาสวทัตตา
อุปมาดั่งนางสำมนักขาในรามเกียรติ์

ในคัมภีร์อโศกาวทาน ยังได้ระบุว่ามีนางคณิกาหรือหญิงโสเภณีนครนางหนึ่ง ผู้หลงใหลในตัวพระอุปคุตก่อนที่จะบวช ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ไม่พบในคัมภีร์ฝ่ายบาลี

คณิกานางนั้นมีนามว่า “วาสวทัตตา” ซึ่งสาวใช้ของนางได้ไปซื้อน้ำหอมจากนายวาณิชอุปคุต แล้วกลับมาเพ้อพร่ำรำพันถึงรูปโฉมโนมพรรณ ความใจดี มีเสน่ห์ ฉลาดเฉลียว สุภาพ น่ารัก ของพ่อค้าหนุ่มให้นายหญิงฟัง

จนนายหญิงสั่งให้สาวใช้ไปบอกพ่อค้าน้ำหอมผู้นั้นว่า ปกติแล้วราคาค่าตัวของนางต้องไม่ต่ำกว่า 500 กหาปณะ (เอกสารบางเล่มใช้หน่วย ตำลึงทอง) แต่สำหรับนายวาณิชอุปคุตผู้นี้ นางยินดีให้เสพสุขฟรีโดยไม่รับเงินแม้แต่กหาปณะเดียว เมื่อข่าวรู้ถึงหูนายวาณิชอุปคุต เขาฝากบอกสาวใช้ว่า “ยังไม่ถึงเวลาไปพบ”

ต่อมา นางวาสวทัตตา ขณะที่กำลังให้บริการบุตรนายช่างผู้หนึ่งในโรงโสเภณีนครของนาง สาวใช้มาแจ้งข่าวสำคัญว่า มีพ่อค้ารายหนึ่งจับม้าป่าได้ถึง 500 ตัว มีความปรารถนาที่จะเสพสุขกับนางในคืนนั้น นางวาสวทัตตาเกิดความโลภ ชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าคงได้รับค่าตัวจากพ่อค้าม้าในราคาที่แพงกว่าบุตรนายช่าง นางกับพ่อค้าม้าจึงช่วยกันฆ่าบุตรนายช่าง โดยเอาศพไปหมกในกองขยะ (เอกสารเขียนกองกุมฝอย)

ต่อมาญาติผู้ตายได้มาฟ้องร้องต่อพระราชา พระราชาสั่งให้ราชบุรุษนำนางวาสวทัตตา ไปลงโทษด้วยกฎมณเฑียรบาลอันแสนหฤโหดในยุคนั้น ด้วยการตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูก เสีย แล้วนำร่างไปทิ้งไว้แถวป่าช้าใกล้เชิงตะกอน

เมื่อนายวาณิชอุปคุตทราบข่าว จึงเดินทางไปพบนางที่สุสานแห่งนั้น โดยที่นางเองให้รู้สึกอับอายที่อยู่ในสภาพร่างกายจมกองเลือดหาความน่าพิสมัยมิได้ จึงถามอุปคุตหนุ่มว่า

“ก่อนนี้เมื่อรูปโฉมเรายังงาม เราประสงค์จะพบท่าน ไฉนท่านจึงไม่มาพบเรา”

อุปคุตหนุ่มตอบว่า

“เมื่อเรือนร่างของนางยังถูกห่อหุ้มด้วยอาภรณ์อันวิจิตร ผู้ประสงค์ออกจากวัฏสงสารก็ไม่ควรไปพบนางขณะนั้น แต่ ณ บัดนี้ ข้าได้เห็นสภาพที่แท้จริงของนาง ได้เห็นโครงกระดูกอันน่าโสโครก ที่คลุกเคล้าไปด้วยความทุกข์โศก สมควรที่ข้าและนางควรก้าวข้ามให้พ้นนาวาแห่งตัณหานี้”

ขณะที่นายวาณิชอุปคุตเทศน์สอนนางคณิกา เขาเองได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี (ทั้งที่ยังไม่ได้บวช) ส่วนนางวาสวทัตตาก็บรรลุธรรมขั้นโสดาบันด้วยเช่นกัน

สิ่งที่น่าขบคิดในวรรณคดีอโศกาวทานตอนนี้คือ เราจะเห็นร่องรอยของรามายณะปรากฏอยู่ นั่นคือตัวละครหนึ่งชื่อนางสำมนักขา (ผู้เป็นน้องสาวของทศกัณฐ์ และมีภัสดาชื่อชิวหา) มีฉากเด็ดตอนโดนพระลักษมณ์ตัดหูตัดจมูกด้วยเช่นกัน โทษฐานที่ไปเที่ยวป่าและเกิดกามกิเลสหลงรักพระราม ใช้เล่ห์กลเข้าไปยั่วยวนเกี้ยวพาราสีพระรามถึงอาศรม และเมื่อเห็นนางสีดาก็พยายามจับนางสีดาฆ่าด้วยวิธีต่างๆ

ทำให้สุดท้ายต้องถูกพระลักษมณ์จับนางสำมนักขาตัดหูตัดจมูก แล้วพูดสอนเรื่อง “โทษของความงามที่ห่อหุ้มกายเนื้อ”

เห็นได้ว่านัยของการตัดหูตัดจมูก “สตรี” ผู้ใช้มายายั่วยวนมหาบุรุษที่ต้องการก้าวพ้นจากกองกิเลส ไม่ว่าในศาสนาฮินดู (รามเกียรติ์) และศาสนาพุทธ (ผ่านเรื่องราวของพระอุปคุต) ล้วนลงเอยด้วยผลลัพท์เดียวกัน

ทั้งนางสำมนักขา และนางวาสวทัตตา ล้วนเป็นตัวแทนของ “ธิดาพญามาร” ทั้งสิ้น

 

การผุดจากสะดือทะเลของพระอุปคุต
อุปไมยดั่งการอวตารของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์?

ย้อนกลับมามองเรื่องราวของพระอุปคุตฝ่ายคัมภีร์ภาษาบาลี ที่กล่าวถึงในสัปดาห์ที่แล้ว เห็นว่าไม่ปรากฏเรื่องราวของนางคณิกาวสาวทัตตาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธิดาพญามารฝ่ายสันสกฤตแต่อย่างใด

การปราบมารของพระอุปคุตในคัมภีร์ฝ่ายภาษาบาลี กลับเน้นการผูกเรื่องราวให้พระอุปคุตมีความยิ่งใหญ่กว่า คือทรงศีลอยู่ใต้สะดือทะเลกลางเกษียรสมุทร (เกษียร หรือกษีร แปลว่าน้ำนม เกษียรสมุทร หมายถึงทำเลน้ำนมหรือน้ำอมฤตทิพย์ที่ได้มาจากการกวนของนาคสองฝ่ายคือฝ่ายเทพและอสูร ตามตำนานของฮินดู)

แล้วยามใดก็ตามที่โลกระส่ำระสายต้องการความช่วยเหลือให้พระอุปคุตช่วยปราบพญามาร พระอุปคุตก็จะผุดขึ้นมาตามที่ได้รับนิมนต์นั้น ไม่ได้ต่างอะไรไปจากเรื่อง วิษณุอนันตศายิน หรือพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

การบรรทมสินธุ์ของพระนารายณ์นั้น ตามคัมภีร์วราหปุราณะ กล่าวว่าคือการบรรทมในช่วงขณะที่พระพรหมกำลังสร้างโลก และหากมนุษยโลกกำลังมีภัยพิบัติเดือดร้อนจากพญามาร พระนารายณ์จักอวตารขึ้นมาปราบโลกเข็ญทันที ในปางต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ปาง

ปางสุดท้ายของการอวตารคือ อวตารมาเป็น “พระพุทธเจ้า” เท่ากับว่าใครนับถือศาสนาพุทธ หากพูดแบบภาษาสมัยใหม่ ก็คือ “ติ่งหนึ่ง” ของการยอมรับนับถือศาสนาฮินดูไปโดยปริยายนั่นเอง

กระบวนการ “พราหมณ์ข่มพุทธ” ได้รับการตอบโต้จาก “พุทธข่มพราหมณ์” หรือ “พุทธแข่งพราหมณ์” เป็นระยะๆ แบบเนียนๆ อันเป็นภาพสะท้อนของการต่อสู้กันระหว่างโลกพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทกับศาสนาฮินดู ด้วยการช่วงชิงพื้นที่จากศรัทธามหาชนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมาอย่างหนักหน่วง

อย่างน้อยที่สุด ก็ปรากฏร่องรอยที่ตกค้างมาสู่เรื่องราวของ “นางพญามาร” คือสำมนักขา กับวาสวทัตตา และ “ผู้ปราบมาร” คือพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ กับพระอุปคุตจำศีลใต้สะดือทะเล