วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : โอมิครอนและวัคซีน เมื่อย่างเข้าสามขวบปีของโควิด (ตอนที่ 1)

สัปดาห์นี้ เพื่อน ๆ ถามผมว่าคิดอย่างไรกับโอมิครอน เมืองไทยจะเป็นอย่างไร

ผมเป็นคนสนใจจังหวะของธรรมชาติโดยเฉพาะฤดูกาล อยู่หาดใหญ่มาเกือบชั่วชีวิต ตอนเย็นวันไหนว่างจะเฝ้าดูดาวพระศุกร์ทางทิศตะวันตก ตอนเช้าวันไหนออกไปวิ่งแต่เช้ามืดจะดูดาวพระศุกร์ทางทิศตะวันออก จักรราศีบนท้องฟ้าที่ผมชอบที่สุด คือ กรกฎ หรือ แมงป่อง กลุ่มดาวเรียงตัวอย่างงามสง่า (graceful curve) ส่วนหัวเหมือนหัวลูกศร ตรงหัวใจหรืออกของแมงป่อง มีดวงดาวสีแดงเด่นหนึ่งดวง เขาว่าเป็นคู่แข่งของดาวอังคาร และส่วนหางแมงป่องงอคล้ายตะขอมีปลายหางกระดกเหมือนเข็มพิษของแมงป่องเด่นอยู่บนท้องฟ้าใน กรกฎา-สิงหา ซึ่งท้องฟ้ายามเช้าสดใสจนกระทั่งใกล้ฟ้าสาง กลุ่มดาวเปลี่ยนไปตามจักรราศี ฤดูกาลก็เปลี่ยนไป พืชพันธุ์ผู้คนก็สลับสับเปลี่ยนเข้ามาในชีวิต

ตอนเที่ยงพักกินข้าว ผมชอบเทียบวันที่ในปฏิทินกับตวามยาวของเงาแดด วันที่เงาแดดตอนเที่ยงสั้นที่สุดคือวันที่เรียกว่า equinox คือ กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

Equinox เดือนมีนาคมใบยางที่ร่วงไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เริ่มผลิออกเต็มต้น แคฝรั่งและศรีตรังเริ่มจับฝัก ฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตกตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ

Equinox เดือนกันยายน ฝนฟ้าคะนองออกรอบ หางไต้ฝุ่น ผ่านเวียดนาม เข้าลาวและไทยอีสานและภาคเหนือ แมลงเม่าเริ่มบินออกมาเล่นไฟในตอนกลางคืน เตรียมรับฤดูฝนของภาคใต้

ผมดูกราฟโควิดของโลกแล้วก็เห็นว่าการระบาดก็เป็นวัฎจักรเหมือนกัน แต่จังหวะหมุนเวียนเพียงราว ๆ 4 เดือน ยอดสูงสุดครั้งที่แล้วอยู่ที่เดือนสิงหาคม ยอดถัดไปดูเหมือนจะราวเดือนนี้คือธันวาหรือไม่ก็เดือนหน้า ถ้าเป็นไปตามจังหวะเดิม ต้นปีหน้ายอดโควิดจะค่อย ๆ ลด แล้วกลับเพิ่มอีกในเดือนเมษายน

แน่นอนสายพันธุ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไปเรื่อยในแต่ละช่วง จากอู่ฮั่นเป็นแอลฟ่า (อังกฤษ) แล้วก็เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งแต่ละครั้ง นักไวรัสจะมาเตือนว่า สายพันธุ์ใหม่ ๆ ติดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมทั้งนั้น สายพันธุ์อังกฤษ แรงกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น สายพันธุ์อินเดียแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ แต่ในทิ่สุดก็ทำยอดรายงานแต่ละยอดต่างกันไม่มาก ทีนี้จะมีตัวละครใหม่ คือ สายพันธุ์โอมิคอน เขาก็ว่าติดง่ายแรงสุด ๆ อีกเหมือนกัน ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะทำยอดได้ต่างจากรุ่นพี่หรือเปล่า ผมเดาว่าไม่ต่างมากนัก

 

ยอดคลื่นโควิดที่ผ่านมาส่วนใหญ่สะท้อนภาพโลกตะวันตกมากกว่าเอเซีย ทั้งยุโรปและอเมริกาเป็นบ้านที่ดีของโควิดตลอดสองปืที่ผ่านมา สหรัฐมีช่วงพักสั้น ๆ ตอนเปลี่ยนประธานาธิบดี หลังจากนั้นก็ไม่ได้หยุด ส่วนสหราชอาณาจักรเป็นฐานที่มั่นส้องสุมกำลังพลของโควิด ทั้ง ๆ ที่ประเทศตะวันตกมีเทคโนโลยีร้อยแปด ผลิตและส่งออกวัคซีนไปขายทั่วโลกก็เอาชนะโควิดไม่ได้

ดูประเทศจน ๆ ในอาฟริกา ลาตินอเมริกาและเอเซียให้ดี สถานการณ์ตรงกันข้าม องค์การอนามัยโลกกลัวนักหนาว่าประเทศยากจนจะถึงแก่หายนะจากโควิด ซึ่งก็ถูกบ้าง แต่ถูกไม่หมด

โควิดลุยอาฟริกาและลาตินอเมริกาไปสามรอบ ลุยเอเซียโดยเฉพาะในอนุทวีปและอาเซียนได้สองรอบเท่านั้น จากนั้นก็เเงียบไป

ตอนนี้ประเทศอินเดียและอินโดนีเซียปลอดภัยจากโควิดมากกว่าประเทศไทยและมาเลเซียซึ่งโควิดไม่ยอมสะเด็ดน้ำซะที ส่วนสิงคโปร์ที่คนไทยชื่นชมมาก ฉีดวัคซีนในอัตราที่ครอบคลุมได้มากกว่าชาติอื่นในโลก แล้วไง… ทุกวันนี้ยังมีผู้ป่วยใหม่วันละพันกว่า เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว ยังถือว่าไม่ปลอดภัยจากโควิดมาก ๆ ใครไม่เคยฉีดวัคซีนอย่าหลงเข้าไปสิงคโปร์นะครับ

เขียนไปเขียนมา ก็ชักจะซ้ำเดิม ซึ่งขัดกับความคิดของคนส่วนใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะจำนวนด้วยหลักฐานในระดับประชากรโลกที่ว่าวัคซีนที่มนุษย์ผลิตมา ไม่ได้เก่งกว่าความสามารถตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ปรับตัว (species) ให้อยู่รอดจากโรคร้าย โดยเฉพาะมนุษย์ยากจน ส่วนที่อ่อนแอก็ตายไป พวกเดนตายที่เหลือเป็นคนส่วนใหญ่ในโลก ปลอดภัยจากโควิดมากกว่ากลุ่มร่ำรวยที่ฉีดวัคซีน

ความรู้ของมนุษย์ที่แชร์กันไปกันมา นับว่าน้อยนิด เมื่อเทียบกับความไม่รู้

แต่ความรู้ขายได้ ความไม่รู้ขายไม่ได้ ความรู้ทำให้เกิดวิธีวินิจฉัยทั้ง RT-PCR ขายได้ทีละเป็นพันบาท และ ATK ตรวจทีละเป็นร้อยบาท ประเทศเราที่สาธารณสุขก้าวหน้าสู้ไม่อั้น คงจะหมดไปเฉพาะค่าตรวจกี่พันกี่หมื่นล้านแล้วก็ไม่รู้ นอกจากรู้จริงแล้ว ยังมีความรู้ที่ไม่ว่าจริงหรือเปล่าก็ขายได้ด้วย และเราหมดเงินไปอีกมาก คือ ยาต้านไวรัส ทั้งยาฝรั่ง และสมุนไพรไทย ที่ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่าเจ๋งจริง พวกนี้ขายได้ก็รวยได้ทั้งนั้น

คุยเรื่องอื่นสนุก ๆ ดีกว่าคอยกระแนะกระแหน แกว่งเท้าหาเสี้ยนก่อศัตรู

 

เล่นกับคำว่า “โอมิครอน” ดีกว่า
คำว่า “โอ” เดาเล่น ๆ ว่าเป็นคำอุทานอ้าปากวงกลม ๆ ส่วนคำว่า มิครอน ก็คือ ไมครอน (micron) หรือ ไมโคร (micron) หรือหนึ่งล้าน ซึ่งหมายความว่า เล็ก ๆ

โอมิครอน ก็คือตัวโอเล็กในอักษรกรีก

ส่วน โอ ตัวใหญ่ คนกรีกเขาเรียกว่า โอเมก้า คงจำได้ว่า คำว่า mega แปลว่าใหญ่ อย่างเช่นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แถวบางนา ซึ่งผมไม่เคยไปสักที

ทางคณิตศาสตร์ micro คือหนึ่งในล้าน mega ก็คือหนึ่งล้าน เวลาเขียนย่อทางคอมพิวเตอร์ใช้ตัว M ใหญ่ตัวเดียว เช่น MB คือ megabyte MW คือ megawatt

นักวิทยาศาสตร์มักใช้ตัวอักษรกรีกสำหรับเรียงลำดับ แอลฟ่า เบต้า เธต้า เดลต้า เมื่อเป็นภาษาละติน คงจะชอบตัดให้สั้น เหมือนคนไทย ก็ลดพยางค์ อา เบ เซ เด ส่วนอังกฤษเป็นชาติพันธุ์ไกลจากอารยธรรมของเสียงเพี้ยนไปเป็น เอ บี ซี ดี ภาษาบาลีสันสกฤต ก็ต้นตอตระกูลอินโดยุโรป ก็ เรียงลำดับเป็น เอก (เห็นไหมว่าคล้ายกับเอ) โท (อันนี้เหมือน duo ในละติน) และตรี (เห็นไหมว่าออกเสียงคล้ายกับซี หรือ เธต้า) เรียนไปเรียนมาจนจบมหาวิทยาลัย เพิ่งจะรู้ว่าภาษาที่เรียนตอนชั้นอนุบาลก็ไม่แตกต่างจากภาษาที่ทำปริญญาเอกมากนัก

ตัวโอเป็นตัวอักษรลำดับที่ 15 ในภาษายุโรป (ทั้งกรีกและละติน) นักวิทยาศาสตร์ใช้เรียกอะไรก็ตามที่เป็นลำดับที่สิบห้า เจ้าสายพันธุ์โอมิครอนของโควิดนี่ องค์การอนามัยเป็นคนตั้งให้ อาจจะ แปลว่าตอนนี้เรากำลังเจอกับโควิดลำดับสำคัญที่สิบห้าแล้ว

นอกจากโอมิครอนหมายถึงลำดับที่สิบห้าแล้ว เจ้าตัวกลม ๆ นี้ยังมีความหมายถึงความว่างเปล่า คือ สุญญตา หรือ ค่า ศูนย์ หรือ zero คือไม่มีค่าอะไรอยู่นั้นเลยทั้งบวกและลบ ภาษาอีสานบอกว่า บ่มีหยัง ภาษาจีนแต้จิ๋วบอกว่า บ่อมิไก๊

ไม่แน่นะครับ สักพักหนึ่ง อาจจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้น แล้วไป ๆ มา ๆ จะเป็นว่าเจ้าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มันอาจจะเป็น โอ หรือ ศูนย์ คือไม่ก่อปัญหามากนักก็ได้

 

ลองดูอย่างกรณีปัญหา Y2K หรือ the Millennium Bug ของคอมพิวเตอร์ในช่วงต่อระหว่างปี 1999 กับ ปี 2000 สิครับ ก่อนหน้านั้นสามสิบปี โปรแกรมเมอร์ใช้รหัสวันที่โดยตัวเลขของปีเพียง 2 หลักซึ่งเป็นเลขท้าย เช่น ปี 1950 จะเก็บค่าเพียง 50 เพื่อประหยัดหน่วยความจำซึ่งสมัยนั้นยังแพงอยู่ เมื่อจากวันที่ 31 ธันวาคม 1999 เป็นปีใหม่ คือ 1 มกราคม 2000 เลขปีจะลดลงไปถึง 99 คือมันจะกลายเป็นค่า 00 ไป ระบบจะลวนไปทั่วโลก โปรแกรมส่วนใหญ่เขียนไปแล้วด้วยรหัสเลขปีเพียงสองหลักเป็นจำนวนมาก จะแก้ไขอย่างไรก็จะไม่ทัน

แต่แล้วก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร โลกก็ไม่แตก คอมพิวเตอร์ก็ใช้กันต่อเนื่องมาอย่างไม่มีปัญหา

ผมก็เลยคิดว่า โอมิครอน มันอาจจะเป็นศูนย์ คือ มีผลน้อย มากกว่าเป็น โอเมก้า หรือ โอมายก้อด ซึ่งแสดงว่าสร้างความเสียหายมาก

แหะ ๆ อย่าเชื่อผมมากไปนะครับ ผมบอกว่าความรู้ขายได้ ทั้งรู้จริงและรู้ไม่จริง ส่วนความไม่รู้น่าจะขายไม่ได้ เราพยายามหาความรู้ต่อไปดีกว่า จะได้มีเรื่องมีราวไปขายไปเม้าท์กัน ความจริงเรื่องที่ผมจะคุยต่อทุกคนก็รู้กันจากสื่อต่าง ๆ อยู่แล้ว ผมคงขายอะไรไม่ได้ ที่อาจจะขายและเม้าท์ได้ คือ ความสงสัยต่อที่เราคิดว่ารู้

อ่านตอนต่อไปนะครับ