‘สุรเชษฐ์’ นัด กทม. แจงโครงการ ‘คลองช่องนนทรี’ ยกสอง 13 ธ.ค. วอน “อัศวิน” มาตอบเอง

ยังคลุมเครือ! ‘สุรเชษฐ์’ นัด กทม. แจงโครงการ ‘คลองช่องนนทรี’ ยกสอง 13 ธ.ค. วางกรอบ 7 คำถาม แนะรอบหน้าตอบให้ชัด เตรียมข้อมูลให้พร้อม ฝากถึง ‘อัศวิน’ ควรมาตอบ กมธ.ด้วยตัวเอง ด้านนักวิชาการผังเมืองจัดหนัก ไม่คุ้มค่า ถ้าเป็น ‘วิทยานิพนธ์’ ให้ตกตั้งแต่เสนอหัวข้อ

เมื่อวานนี้ (29 พ.ย.64) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน อนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เชิญ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง กรณีเร่งรีบจัดทำโครงการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณ 980 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของ กทม. 80 ล้านบาท เพื่อทำเฟสแรกเพื่อให้เสร็จก่อนคริสต์มาส 25 ธันวาคม 2564 นี้ ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่ากรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา​ และ นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กทม.มาเป็นผู้ตอบคำถามแทน
.
ในช่วงของการซักถาม ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ UddC กล่าวว่า ขอพูดทั้งในฐานะนักวิชาการและคนในพื้นที่ซึ่งสามารถเดินไปถึงโครงการคลองช่องนนทรีได้ในระยะเดินออกไปซื้อส้มตำ ตั้งแต่รับฟังข่าวการเปิดตัวโครงการผ่านหนังสือพิมพ์เป็นต้นมา ทั้ง กทม.และสำนักงานเขตสาธร ไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์หรือแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงการลงมือก่อสร้างเลย

ทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จากข้อมูลที่ได้รับ โครงการนี้มีงบประมาณที่สูงมากและมีการเร่งรัดให้เสร็จในปีหน้า ในฐานะนักวิชาการผังเมืองที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลถึงหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง ที่สำคัญเพื่อให้การใช้ภาษีของประชาชนยามยากลำบากแบบนี้คุมค่าเป็นประโยชน์กับเมืองที่สุด
.
“โครงการนี้ถูกนำไปเทียบกับคลองชองเกชอน ประเทศเกาหลีใต้ ตามการประชาสัมพันธ์ของ กทม. แต่สิ่งที่อยากให้ทาง กทม. ตอบ กมธ. กลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรคือ งบประมาณ 980 ล้านบาท มียุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเมืองบ้าง อย่างการพูดถึงคลองชองเกชอนซึ่งเป็นระดับตำนานของโลก ความสำเร็จของเขาไม่ใช่แค่นิทานหรือแค่การถอนทางด่วน แต่เป็นความกล้าหาญเพื่อปรับปรุงคลองให้เข้ากับใจกลางเมืองที่กำลังเสื่อมโทรม โดยมีการหารือกับประชาชนมากกว่า 4,200 ครั้ง นี่คือการดำเนินโครงการที่มีความซับซ้อนและตั้งอยู่กลางเมือง จุดร่วมกันระหว่างสองโครงการนี้คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่กับการตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่มุมอื่นที่เหลือเราต้องการข้อมูลว่าเหมือนกันอย่างไรบ้าง”
.
ทั้งนี้ ผศ.ดร.นิรมล ยังได้ตั้งคำถามต่อโครงการอีกหลายข้อเช่น โครงการนี้ประชาชนได้มีส่วนร่วมวางแผนอย่างไรบ้าง มีใครรับผิดชอบในการตอบคำถามประชาชน การเป็นแก้มลิงระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมจะเป็นอย่างไรเพราะในการออกแบบที่ต้องหล่อน้ำไว้ตลอดเวลา รวมถึงเรื่องการบำบัดนำเสียจะทำอย่างไร
.
“คลองช่องนนทรีเน่าเสียมาก มีค่า BOD สูง 10-20 มิลลิกรัมต่อลิตร เรียกว่าแบบแตะแล้วอาจเสียชีวิตได้จะทำให้ค่า BOD เหลือ 2-3 มิลลิกรัมต่อลิตร คือแตะได้อย่างปลอดภัยแบบชองเกชอนได้อย่างไร เพราะการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำมีคุณภาพนั้นมีราคา ต้องมีการคำนวนวางแผน มีงบประมาณ มีงานระบบ คลองชองเกชอน ใช้เงินปีละ 260 ล้านบาท เพื่อนำปริมาณน้ำจากแม่น้ำเข้ามาเข้ามาในปริมาณเท่ากับ 37.5 น้ำในสวนร้อยปีในทุกวัน รวมถึงแหล่งน้ำใต้ดินและแหล่งอื่นเพื่อสร้างความไหลเวียนของน้ำ งบประมาณ 980 ล้านบาท ทำแบบนี้ได้หรือ ได้คำนวนวางแผนใช้งบทั้งเพื่อก่อสร้างและดูแลรักษาระยะยาวอย่างไร มีเงินขนาดกรุงโซลสำหรับคลองนี้หรือไม่”
.
นอกจากนี้ ผศ.ดร.นิรมล ยังกล่าวต่อไปว่า การใช้งบภาครัฐได้คิดเรื่องประโยชน์จากการลงทุนครั้งนี้แค่ไหน การที่คลองชองเกชอนเป็นระดับตำนานได้ก็เพราะความจริงจังจริงใจ ตรงไปตรงมา เขาอยากให้เกิดขึ้นจริง ประชาชนจึงมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นถึง 4,200 ครั้ง และจะขอถามคำถามที่ กทม.ต้องตอบเพิ่มอีก 3 ข้อ ข้อแรกวัตถุประสงค์การเป็นสวนสาธารณะของโครงการสามารถออกแบบให้ทุกกลุ่มเข้าไปใช้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร เพราะข้อมูลในบริษัทออกแบบกำหนดให้มีทางเดินข้าม 17 จุด แต่ก็บอกว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อความเหมาะสม เมื่อยังไม่เสร็จ ทำไมต้องรีบสร้าง อยากให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการศึกษา ว่าประชาชนจะไปใช้สวนโดยไม่กระทบการจราจรไม่ติดขัดได้อย่างไร
.
คำถามที่สอง คือ โครงการคลองช่องนนทรี ตั้งบนพื้นที่แนวรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงที่สอง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และแนวรถไฟฟ้าจะวิ่งข้างคลองนี้ โดยบริษัทที่รับผิดชอบออกแบบเสนอให้ไม่มีการปักเสาลงในคลอง ดังนั้น เมื่อดำเนินการสร้างรถไฟฟ้าสายเทาแล้วจะต้องมีการรื้อสวน 980 ล้านออกไปด้วยหรือไม่ ทำไมไม่รอให้เสร็จก่อนแล้วค่อยทำสวน
.
คำถามที่สาม การเป็นสวนสาธารณะถือเป็นบริการด้านสุขภาพที่มีหลักการออกแบบสากลอยู่ คือที่ตั้งต้องเข้าถึงโดยประชาชนทุกกลุ่มโดยง่าย ต้องมีอากาศดี มีขนาดเพียงพอ บนหลักการนี้ คลองตั้งบนถนนนราธิวาสที่มีรถหนาแน่นสูง 300,000-400,000 คันทั้งวัน นอกจากข้ามไปใช้ได้ยากแล้ว อากาศในสวนจะเต็มไปกลิ่นคลองเน่าและควันพิษจากมลภาวะรถยนตร์

แม้ภูมิสถาปนิกจะพยายามออกแบบด้วยการให้มีต้นไม้กรองควันพิษเป็นบัฟฟฟอร์ แต่คลองกว้างแค่ 15 เมตร ขนาบด้วยถนนจะพอหรือไม่ เพราะขนาดสวนลุมพินีที่ใหญ่กว่ามากก็ยังตรวจจับมลภาวะได้ต้องเข้าไปลึกๆจึงจะไม่มี คำถามก็คือทำไมจึงริเริ่มเลือกทำสวนสาธารณะบนสถานที่เสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนเช่นนี้ โครงการนี้ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์คงตกตั้งแต่หัวข้อไม่มีทางรอดไปถึงดีเฟนด์แน่นอน
.
ต่อมา นายจิระเดช รอง ผอ. สำนักการโยธา กทม เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์โครงการว่า จัดทำเพื่อเป็นต้นแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นจุดพักผ่อน ปรับจักรยาน ออกกำลังกาย การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ดีขึ้นตามแผนเแม่บทกรุงเทพ 20 ปี
.
“เราไม่ได้อยากไปเทียบกับคลองชองเกชอน พอดีชื่อมันคล้องจองก็เป็นไฮไลท์นิดนึง แต่กายภาพเทียบกันไม่ได้ คลองชองเกชอนมีระดับสูงต่ำ แต่กรุงเทพมีลักษณะพื้นที่ราบลุ่มและสูงเหนือกว่าระดับน้ำทะเลเล็กน้อย ขุดลึกก็ไม่ได้เพราะดินจะสไลด์ลงมา คลองนี้ไม่ได้ลึกมีแต่เลน การสร้างเสาค้ำจะทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้นทำให้ขุดได้ลึกอีกเมตรครึ่งตรงนี้จะเพิ่มความลึกและบรรจุน้ำได้มากขึ้น น้ำจะใสขึ้น ”
.
สำหรับเรื่องความปลอดภัยและการสร้างทางข้ามในจุดใด นายจิระเดช กล่าวว่า กำลังศึกษา ที่ระบุว่ามี 17 จุดเป็นการกำหนดปริมาณงานในสัญญา แต่การบริหารสัญญาจะเบิกเงินตามหน่วยที่มีการสร้างจริง ซึ่งจะกำหนดตามความเหมาะสมต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการจราจร และเมื่อทำจริงทางข้ามอาจจะเหลือ 5 หรือ 7 จุดก็ได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าสวนสามารถเข้าได้หลายทาง เช่น จากสกายวอร์ค หรือลงจากบีอาร์ที ผู้พิการและสูงอายุจะจัดทำทางม้าลายคนเดินข้าม เพื่อการออกแบบสำหรับทุกคน มีการออกแบบสัญญาณไฟจราจรโดยไม่กระทบกับการจราจรมากนัก แต่กำลังอยู่ในช่วงการศึกษา
.
สำหรับคำถามที่ว่าคลองช่องนนทรียังมีฟังก์ชั่นเป็นแก้มลิงระบายน้ำท่วมหรือไม่ นายสมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ ระบุว่า จะยังคงใช้เป็นแก้มลิง โดยจะมีการคุมระดับน้ำให้คงที่ตลอด เพื่อให้รับน้ำฝนได้ ที่ผ่านมาพอหน้าแล้ง มองเห็นเลน ก็ส่งกลิ่นเหม็น ก็จะเอาน้ำที่บำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำเสียช่องนนทรีมาระบายไว้ตรงนี้
.
หลังได้รับฟังคำชี้แจง ผศ.ดร. นิรมล โต้ว่า วิธีการใช้งานสวนนี้เหมือนต้องตะเกียกตะกายไปใช้เพื่อไปนั่งดมฝุ่น อยากให้นั่งรถเมล์ไปดูสวนธารณะลานเรือโบราณยานนาวาที่ กทม. ปรับปรุงพื้นที่เกาะกลางไว้เสร็จแล้ว เพราะคงมีไอเดียคล้ายกันกับโครงการคลองช่องนนทรี มีจุดเช็คอินออกแบบไว้เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงคนไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้เลย โครงการแบบนี้คนในพื้นที่มองออกว่า มันคือความสูญเปล่า เท่าที่ฟังต้องมาจากทางบีทีเอส ไม่งั้นก็ต้องข้ามสะพานลอยไป เพราะถ้าจะใช้การข้ามระดับพื้นดินก็จะกลับไปที่ปัญหาเดิมเรื่องว่าจะทำให้รถติดหรือไม่

สุดท้ายแล้วโครงการนี้จึงเหมือนวัวพันหลัก จะเป็นแก้มลิงหรือไม่ก็ตอบได้ไม่ชัด การเข้าไปใช้ก็ยากมาก หรือข้ามไปสำเร็จแล้วถามว่าจะนั่งได้นานแค่ไหน ทั้งฝุ่นควัน ทั้งความร้อน เคยอ่านในประชาสัมพันธ์บอกว่าอยากให้คนทำงานสีลมตอนเที่ยงไปนั่งกินกาแฟกลางถนน ต้องบอกว่า คิดเป็นนิยายฟิคชั่น จึงอยากให้นักออกแบบมาเดินถนนกันบ้าง ไม่ใช่ออกแบบในจินตนาการของตัวเอง ถ้าพนักงานออฟฟิศมีเวลาสักชั่วโมง เขาไม่เลือกมานั่งกลางถนนตากฝุ่นแบบนี้ เขาคงไปนั่งทานกาแฟที่ห้างรับแอร์เย็นๆดีกว่า นี่คือคำถามว่า ความคุ้มค่าของงบประมาณจะเกิดประโยน์จริงหรือเปล่า
.
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคำถามจาก กมธ. ที่ยังไม่ได้คำตอบชัดเจน เช่น สุดท้ายแล้วเรื่องทางข้ามเป็นเรื่องการทำไปก่อนแล้วค่อยออกแบบตาม ยังไม่มีตัวแบบของการเดินข้ามไปสู่ตัวสวนอย่างเหมาะสมแม้โครงการเฟสแรกซึ่งจะต้องเสร็จใน ธ.ค.นี้แล้วก็ตาม ,การเดินเข้าออกจากบีอาร์ทีจะทำอย่างไรเพราะเป็นระบบปิด ถ้าเปิดให้คนจากสวนเข้าสถานีบีอาร์ทีก็ใช้บริการโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการได้ ,

นอกจากนี้ยังมีความสวนทางกันระหว่างแนวคิดการสร้างโครงการรถไฟ้าสายสีเทากับโครงการคลองช่องนนทรี เพราะถ้าเกิดขึ้นก็ต้องลบสวนทิ้งหรือไม่ หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดระบบขนส่งมวลชนตามแนวถนนนราธิวาสพอสมควร เพราะนักออกแบบเสนอมาแบบหนึ่ง แต่แนวพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปอีกแบบหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ออกแบบมาขัดแย้งกันเองภายในหน่วยงาน รวมถึงยังคิดไม่จบทั้งโครงการแต่มาทำเป็นทอดๆไปก่อนก็เลยเกิดปัญหามาก

และยังมีคำถามว่าหากต้องการรักษาระดับน้ำในคลองไว้ตลอดเวลา น้ำขาดต้องเติม น้ำเกินต้องสูบออกมีระบบจัดการน้ำและงบประมาณซ่อมบำรุงเพียงพอหรือไม่เพราะจะต้องใช้ปั๊มน้ำอย่างหนักแทบตลอดเวลา
.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข้อสงสัยและคำถามจาก กมธ.เหลืออยู่อีกจำนวนมากจนการประชุมมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ ทำให้ นายสุรเชษฐ์ ย้ำว่า ต้องการคำตอบจาก กทม.ใน 7 คำถามหลัก ได้แก่ จุดประสงค์ของการดำเนินโครงการนี้คืออะไร, จะยังมีฟังก์ชันเป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมอยู่หรือไม่ ,ประชาชนจะเข้าถึงสวนอย่างปลอดภัยอย่างไรและจะให้เกิดความติดขัดของการจราจรหรือไม่ ,จะบำบัดน้ำเสียในคลองช่องนนทรีอย่างไร ,ทำไมถึงต้องเร่งรีบทำโครงการในช่วงใกล้จะเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ,ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ และการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสแค่ไหน

ทำไมถึงเป็นเจ้าเดียวกันหมดในการออกแบบโครงการพัฒนาภูมิทัศน์ของ กทม. ซึ่งบางคำถามได้ตอบแล้ว แต่ยังเหลืออีกหลายคำถามและบางคำถามเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานซึ่งต้องการข้อมูลมากกว่านี้ รวมถึงคิดว่า พล.ต.อ.อัศวิน ควรจะมาเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง จึงขอนัดประชุมเพื่อขอรับคำชี้แจงจาก กทม. ในเรื่องนี้อีกครั้ง ในวันที่ 13 ธ.ค. เพื่อให้ กทม.ตอบให้ชัดเจนขึ้น พร้อมกับมีข้อมูลตอบให้ตรงประเด็น โดยขอให้ตอบในทั้ง 7 ข้อ และคำถามตามข้อสังเกตของ ผศ.นิรมล มาล่วงหน้า เพื่อจะได้มีความชัดเจนและรวดเร็วขึ้นกว่านี้
.
ทั้งนี้ ทาง อนุ กมธ.ยังขอให้ กทม. เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอรายละเอียดส่งมาให้ ได้แก่ รายละเอียดงานระบบวิศวกรรม ทั้งแบบก่อสร้างและรายละเอียดการคำนวนแนวทางบำบัดน้ำและการดูแลรักษาระบบระยะยาว ระบบติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ,รายละเอียดการคำนวนระบบการจัดการน้ำในภาพรวมเพื่อประเมินว่าจะยังเป็นแก้มลิงได้อยู่หรือไม่, การทับซ้อนแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทาจะแก้ปัญหาอย่างไร และผลการศึกษาฝุ่นควันและมลภาวะของโครงการ