“ทวี” ชี้น่าห่วง “ประยุทธ์” ให้ท้ายคุกคาม “แอมเนสตี้” สะท้อนภาวะสิทธิมนุษยชนไทยตกต่ำขั้นสุด

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์กระแสขวาสุดโต่งกับความตกต่ำของสิทธิมนุษยชนในไทย หลังมวลชนขวาสุดโต่งออกมารวมตัวขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และท่าทีเชิงสนับสนุนของรัฐบาลที่ออกมารับลูกใช้กลไกรัฐหาทางจัดการองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเททศชื่อดังระดับโลกอย่างเปิดเผยว่า

ท่าทีนายกรัฐมนตรีที่เห็นดีเห็นงามกับการคุกคาม “แอมเนสตี้” ที่เป็นองค์กรปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยและทั่วโลก ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เป็นเรื่องที่น่าห่วงและกังวลเป็นอย่างยิ่ง
.
สิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ กรณีที่สื่อสารมวลชนเผยแพร่ข่าวว่า นายกรัฐมนตรี เผยกำลังตรวจสอบเบื้องหลัง “แอมเนสตี้” มองให้ร้ายประเทศไทย
.
แสดงถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทยออกมาให้ท้ายและดีเห็นงาม จนส่งผลถึงการคุกคามและการไล่ล่าองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่าง “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” (Amnesty International Thailand) ที่มีออฟฟิศในประเทศไทย โดยอ้างว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ทั้ง ๆ ที่แอมเนสตี้ทำงานส่งสริมความรู้ความเข้าใจ และการรณรงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
.
ทั้งที่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ลำดับที่ 55 และยังเป็นหนึ่ง ใน 48 ประเทศแรกที่เข้าร่วมรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อมาได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาหลัก ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ถือเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของทุกคน
.
แอมเนสตี้ เป็นองค์กรที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2520 จากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และรางวัลสหประชาชาติในสาขาสิทธิมนุษยชน ในปี พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องบุคคลและองค์กรที่ได้ทำผลงานโดดเด่นในการส่งเสริมและคุ้มครองของสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในเครื่องมือสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ของสหประชาชาติ
.
ท่าทีของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและกังวลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่จะตกต่ำไม่เพียงภายในประเทศไทยและในเวทีนานาชาติด้วย
.
ส่วนตัวได้มีโอกาสรับเชิญแสดงความคิดเห็นตามคำเชิญของ แอมเนสตี้ ประเทศไทย หลายครั้ง ล่าสุดได้ร่วมจัด เสวนาทาง Clubhouse วันที่ 13 ก.ย. 64 หัวข้อ .“จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!” ในวันดังกล่าว ผมได้ร่วมแสดงทัศนะไว้ ดังนี้

ขอแสดงความดีใจกับประชาชน ที่ผลักดันมานานให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ (ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ) สมัยที่ตนเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อช่วงปี 2552 – 2554 และเป็นประธานศึกษากฎหมายฉบับนี้ เราพยายามให้ยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร ให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม ในกรณีต่าง ๆ เช่น ตากใบ หรือกรือเซะ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประชาชนยังคลางแคลงใจ เราจึงตั้งคณะที่นำทุกภาคส่วนเข้ามา เพราะความยุติธรรมถ้วนหน้าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
.
กระบวนการกฎหมายเดิมระบุว่าต้องพบศพ พบตัว หรือพบกระดูกหรือชิ้นส่วนที่พิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนจึงจะดำเนินคดีได้ แม้ว่าคุณสัณหวรรณบอกว่าร่างมีความไม่สมบูรณ์หลายประการ แต่ร่างของกระทรวงยุติธรรมมีมาตรา 6 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะขัง ลักพา หรือกระทำการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพทางร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธ ซึ่งทุกคนจะปฏิเสธหมดว่าไม่ได้กระทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ของคนที่ถูกจับไปอยู่ในการคุ้มครองตามอำนาจกฎหมายของรัฐ ถือว่ากระทำผิดให้บุคคลสูญหาย เช่น กรณีบิลลี่ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัวไปก็จะมีภาระการพิสูจน์ โดยหากบอกว่าไม่สูญหายก็ต้องนำตัวมาให้ได้
.
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยที่ตนเรียนโรงเรียนนายร้อย มีวิชาอาชญาวิทยา ศึกษาตั้งแต่ยุคตั้งเดิมของยุโรป ความผิดที่เป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผลการกระทำจะถูกลงโทษโดยการทรมาน เช่น กรณีกาลิเลโอ ที่บอกว่าพระอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลกอย่างที่ศาสนาบอก ตุลาการศาสนาจึงบังคับให้เปลี่ยนความคิดเห็น และถูกลงโทษจนตาบอด และเสียชีวิตในคุก การตีความกฎหมายโดยใช้ความเห็นส่วนตัวหรือมีอคติ จึงมีมาหลายร้อยปีแล้ว การบัญญัติกฎหมาย [ตามแนวทางของอาชญาวิทยา] จึงเสนอ 8 ประเด็น
.
1) กฎหมายต้องเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ต้องคุ้มครองประชาชน และเป็นที่พึ่งของประชาชน
.
2) อาชญากรรมต้องเป็นภัยต่อสังคม ไม่ใช่ต่อความรู้สึกหรือความมั่นคงของคนใดคนหนึ่ง
.
3) การป้องกันอาชญากรรมสำคัญกว่าการลงโทษอาชญากร กฎหมายจึงต้องออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
.
4) การกล่าวหาทางลับ การทรมาน ทารุณกรรม และประหารชีวิต ควรยกเลิก
.
5)!การลงโทษมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งผู้ประกอบอาชญากรรม และป้องกันการล้างแค้น
.
6) การกำหนดโทษจำคุก ถือว่าเหมาะสม แต่ก็ต้องเหมาะกับผู้ถูกลงโทษ สำคัญที่สุดคือเรือนจำต้องถูกสุขลักษณะ น่าอยู่ ไม่ใช่เอามาเป็นสถานที่ทรมาน
.
7)การลงโทษ ถ้ารุนแรงเกินไป อย่างกรณีการซ้อมทรมาน หวังจะได้สิ่งหนึ่งก็จะไปเกิดอีกสิ่งหนึ่งแทน เช่น การฆ่าคนเพื่อจะหาว่าใครลักทรัพย์
.
8)การบัญญัติกฎหมาย เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องกระทำโดยคนที่มาจากประชาชนที่ปราดเปรื่อง ปัจจุบันมีการก้าวล่วงให้องค์กรตุลาการมาบัญญัติกฎหมายแทน
.
กฎหมายฉบับนี้ เราควรต้องส่งเสริม ผลักดัน อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อย จะถูกมองว่ามีความด้อยค่าในความเป็นมนุษย์ จึงจะถูกละเมิด ดังนั้นถ้าผลักดันให้ผ่านจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก
.
หลายท่านมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะมองแค่ตำรวจ แต่ต้องแยกว่า กระบวนยุติธรรมจะมีทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ มีผู้บังคับใช้กฎหมาย เรามีกฎหมายพิเศษโดยกอ.รมน. ทหารบังคับใช้กฎหมายได้ทั้งหมด คนดังกล่าวเราไม่ได้ฝึกปรือ เราพยายามจัดโครงสร้างของตำรวจ เราจัดโครงสร้างคนทั้งประเทศเป็นแบบทหาร แต่การบั งคับใช้กฎหมายของตำรวจต่างกับทหาร 4 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง ตำรวจปฏิบัติงานตามลำพัง ใช้วิจารณญาณมาก มีการตีความตามดุลยพินิจ แต่ทหารจะให้ทำตามคำสั่ง ถ้าได้กฎหมายนี้ต้องพัฒนาและฝึกอบรมตำรวจสายตรวจและสายสืบ เพราะเป็นส่วนที่ต้องเผชิญเหตุ การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งแบบทหาร อาจจะทำให้กระทำการเกินกว่าเหตุได้ สอง ตำรวจเป็นโครงสร้างแบบล่างขึ้นบน สาม ตำรวจเป็นคณะเล็ก และสี่ ตำรวจมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมตลอดเวลา ดังนั้นตำรวจอาจจะเป็นจำเลยเกินไป จึงออกมาในภาพที่เห็น ปีที่แล้วก็ยังมีคดีของจอร์จ ฟรอยด์ แต่เราก็ไม่ควรให้เกิดเหตุแบบนี้ กระดูกสันหลังของตำรวจคือสายตรวจ ส่วนเส้นเลือดคือสายสืบและตำรวจสืบสวน คนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพัฒนา กลับไปเน้นการสร้างโครงสร้างของลำดับยศสูง ๆ กฎหมายจะดีไม่ดี อยู่ที่ผู้บังคับใช้ ดังนั้นคนใช้กฎหมายนี้ต้องมีใจสัตย์ซื่อ
.
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 นี้ กฎหมายแรกคือหารแก้กฎหมายอาญา สองคือพ.ร.บ.ครู ซึ่งมีปัญหาเยอะ กลัวว่าจะพูดจนถึงค่ำก่อนจะมาถึงกฎหมายฉบับนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ ต้องขอบคุณคุณพรเพ็ญที่ยกคณะมาที่พรรคประชาชาติ พูดเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
.
เราอาจจะมองระบบของเมืองนอกให้ได้ตามหลักสากล แต่ต้องยอมรับว่าระบบในรัฐประหารช่วงหลัง ๆ กิจการตำรวจที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมถูกใช้จับกุม คุมขัง สอบสวน เพื่อข่มขู่ลงโทษ ไม่ให้บุคคลนั้น ๆ ไปสร้างความไม่สบายใจให้คนบางคน ตำรวจจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนายกที่คุมตำรวจอยู่ เมื่อนายกแจ้งความเองเรื่องหมิ่นประมาท ใครจะกล้าไม่จับ เรื่องนี้คิดว่าไม่เหมาะสม ถ้าจะนายกจะดำเนินคดีก็ควรใช้ศาล แต่กลับไปใช้ตำรวจที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ประชาชนจึงมองว่าตำรวจรับใช้ผู้มีอำนาจ
.
ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน อาจจะไม่เพียงพอ ควรขยายกรรมาธิการให้มากขึ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ผู้ได้รับผลกระทบควรได้มีส่วนในการทำกฎหมายฉบับนี้ ตนเองถือว่ากฎหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต้องมีเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ผ่านมาในกรณีเหล่านี้ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการสูญหาย แต่คณะทำงานประชุมกันว่าต้องหาตัว หาศพให้ได้ก่อน การลอยนวลพ้นผิดจึงมีอยู่ กฎหมายไทยจำนวนมากต้องจึงปฏิรูป โดยเฉพาะกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
.
อาชญากรรมไม่ใช่แค่ผู้กระทำผิด แต่ยังหมายถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบุคคลในกระบวนการยุติธรรม หากกฎหมายนั้นทำให้คนบางกลุ่มมีความสุข แต่ทำให้คนส่วนมากเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม กฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชน รัฐบาลหาเวลามานาน กลัวเข้าตัวผู้ออกกฎหมาย แต่ตอนนี้เป็นเสียงเรียกร้องของคนทั้งประเทศ”
.
ในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมาตรฐานมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความหมายกว้างขวางกว่า “สิทธิ” ตามกฎหมายรับรอง ซึ่งมีสิทธิบางประการถือเป็นสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่น และไม่มีใครสามารถพรากไปจากมนุษย์แต่ละคนได้ เช่น การบังคับสูญหาย หรือกรณีที่ผู้ยากไร้ไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอกับการยังชีพ แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดของใคร แต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น