ของดีมีอยู่ : กาพย์รถไฟหลวง / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ขออนุญาตเริ่มต้นงานเขียนประจำสัปดาห์นี้ ด้วยเนื้อหาส่วนต้นๆ จาก “กาพย์รถไฟหลวง” ซึ่งประพันธ์โดย “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์” (จันทร์ สิริจนฺโท, 2400-2475) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสฯ และหนึ่งในกำลังสำคัญผู้ช่วยลงหลักปักฐานคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่ภาคอีสาน ความว่า

 

“อยากขอลองแต่งกลอนแต่งกาพย์                     ให้สุภาพฟังเล่นหมวนหู

บ่มีครูแต่งไปดื้อๆ                                        บ่ได้ซื้อความคิดของไผ

ทางรถไฟอุบลโคราช                                    ของปลาดแต่ก่อนบ่มี

มันเหลือดีอุบลกรุงเทพฯ                                มันเปนเขตร์ทางยืดทางยาว

เดิรตามคราวเถิงเดือนจึงฮอด                          รถไปทอดบ่เถิงสองวัน

อัศจรรย์มันเร็วมันแล่น                                  ตั้งหากแหม่นค่าจ้างบ่แพง

ขึ้นรถแดงชั้นสามขนาด                                 สิบสองบาทกรุงเทพฯ อุบล

ฝูงคนเฮาหาเงินเตรียมไว้                               ยามใกล้ๆ งานใหญ่กรุงศรี

บ่ต้องหนีขึ้นรถไปเบิ่ง                                   จัดได้เพิ่งเงินบาทเงินแบงก์

รถบ่แพงไปดูให้ได้                                       พระบาทไท้ตนยอดกรุงศรี

พระเคยมีงานหลวงบ่ขาด                              อย่าประมาทมันหม่วนเหลือใจ

ทางรถไฟหลายสายมาจอด                            มารวมฮอดกรุงเทพฯ ทุกสาย

ปริยายทางรถบอกไว้                                   ทางทิศใต้แหลมมะลายู

มันน่าดูทางยาวหลายแยก                             ทางไปแตกใกล้เมืองนคร

รถมันจรสองวันถึงเขตร์                                นามวิเศษประดังเบซา

คณนาชั้นสามขนาด                                    ยี่สิบเจ็ดบาทขี่ได้สุดทาง

บอกสายกลางทางไปเชียงใหม่                        เปนทางใหญ่ทางยืดทางยาว

นับตามคราวรถเดิรคืนเศษ                            ควรสังเกตุค่ารถชั้นสาม

บ่ต้องถามเสียสิบเก้าบาท                              เปนขนาดแต่ต้นถึงปลาย

อีกหนึ่งสายปราจิณสุดเขตร์                           ฝรั่งเศสสุดเขตร์ต่อกัน

บ่เต็มวันพอเย็นก็ฮอด                                 รถมาจอดพอตาวันแดง

ค่าบ่แพงตีตั๋วหกบาท                                  เปนขนาดแต่ต้นเถิงปลาย

จักขยายสายเมืองโคราช                              ไปบ่ขาดเถิงเมืองอุบล

อนุสนธิ์บอกเปนระยะ                                 จำไว้นะชื่อสถานี

จำให้ดีที่รวมกรุงเทพฯ                                นามวิเศษชื่อหัวหำโพง

ที่โอดโถงสถานีใหญ่                                   สร้างขึ้นใหม่ทั้งกว้างทั้งยาว

ถือปูนขาวมุงบนแหม่นแก้ว                          งามเลิศแล้วหน้าต่างประตู

เปนหน้าดูทุกหนทุกแห่ง                             เขาช่างแต่งห้องที่ทำการ

แต่งสถานห้องไว้รับแขก                             ห้องแปลกๆ เขาขายกาแฟ

มีลับแลของขายเกลื่อนกลาด                       ตั้งตลาดขายเข้าขายปลา

ขายทั้งยาแก้โรคต่างๆ                               ขายทุกอย่างปุกหมึกปากกา

มีเหลือตาของกินของใช้                             มีบ่ไฮ้ผ้าแผ่นแพรใบ

ผู้ใดไปจักเห็นสู่มื้อ                                   บ่ยากซื้อชมเล่นชื่นใจ

เปนคนไทยคนจีนคนแขก                          หน้าแปลกนั่งซื้อนั่งขาย

เขาทั้งหลายแต่งตัวสะอาด                         เขาฉลาดหาเงินหาทอง”

 

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส ภาพจาก www.108prageji.com

นึกถึงบทประพันธ์ชิ้นนี้ขึ้นมา เมื่อได้รับทราบข่าวที่รัฐบาลจะยกเลิกการเดินรถไฟเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง ซึ่งเท่ากับว่าสถานีกลางแห่งใหม่ “แห่งเดียว” ของกรุงเทพฯ จะย้ายไปตั้งอยู่ตรงบางซื่อ

ด้านหนึ่ง บทกวีของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์อาจมีเนื้อหาโรแมนติก สำหรับคนที่โหยหาอดีตซึ่งกำลังจะสูญสลายไป หรือเป็นหลักฐานชั้นต้นน่าสนใจ สำหรับคนที่ตระหนักถึง “ปัญหาหัวลำโพง” ผ่านมุมมองเรื่องการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์

แต่อีกด้าน งานเขียนของพระมหาเถระอีสาน ก็มีความเชื่อมโยงกับแนวทางการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรุ่นใหม่ อาทิ “อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” ซึ่งชี้ว่าการ “ปิดหัวลำโพง” นั้นคิดถึงแง่มุมเรื่องการเดินทางของผู้คนในสังคมหรือการคมนาคมน้อยเกินไป

ทว่าหันไปให้ความสำคัญกับการนำที่ดินของการรถไฟฯ ไปพัฒนาเพื่อแสวงหารายได้เชิงพาณิชย์ ผ่านคำสวยหรู เช่น “Mixed Used Development” แทนที่จะมุ่งเน้นหารายได้จากการพัฒนาการเดินรถไฟ ให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการได้โดยง่าย

 

สาระที่ปรากฏในเนื้อหาส่วนแรกๆ ของ “กาพย์รถไฟหลวง” คือ การกล่าวถึง “กระบวนการสร้างชาติสยามสมัยใหม่” ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านการก่อกำเนิดระบบคมนาคมอันทันสมัย ที่เชื่อมร้อยประชากรทั่วทุกภาคของประเทศเข้าหากัน ผ่านการให้บริการรถไฟในราคาไม่แพง

หน้าที่สำคัญลำดับแรกสุดของ “รถไฟหลวง” ในทัศนะ “เจ้าคุณจันทร์” จึงอยู่ที่การอำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้แก่การเดินทางของประชาชน

ถัดจากหน้าที่หลักดังกล่าวแล้ว พระสงฆ์ชาวอุบลราชธานี ซึ่งเข้ามาได้ดิบได้ดีเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสีในกรุงเทพฯ จึงค่อยบรรยายถึงความคึกคักของร้านค้าพาณิชย์ในสถานีหัวลำโพง อันถือเป็น “ผลประโยชน์โดยอ้อม” หรือผลพลอยได้ จากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง

นี่คือสปิริตหรือแก่นแกนความคิดที่หายไปจากวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน ก่อนการยุติบทบาทลงของสถานีรถไฟหัวลำโพงเสียอีก