โฆษกกมธ.พัฒนาการเมือง เหน็บ ‘รายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนในไทย’ ไม่ตรงสถานการณ์จริง

โฆษกกมธ.พัฒนาการเมือง เหน็บ ‘รายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนในไทย’ ไม่ตรงสถานการณ์จริง แนะ ควรให้สภาฯ ให้ความเห็นก่อนเสนอ UNHCR

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า กมธ.ได้พิจารณารายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ โดยมีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าร่วมประชุม

ซึ่งผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้กลไก UPR ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (รายงาน UPR) เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกประเทศได้ทบทวนตนเองในด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน โดยการนำเสนอรายงาน ประเทศที่ถูกทบทวนจะต้องตอบข้อซักถามจากประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยได้เสนอรายงานในรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการให้ความเห็นทั้งคำชมและข้อเสนอแนะ เช่น คำชมเชยในการจัดการโควิด-19 สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนข้อเสนอแนะ เช่น ให้มีการผลักดันเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่ององค์กรภาคประชาสังคม มีการพัฒนาแผนด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ส่วนประเด็นการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ถูกหยิบยกมาพูดคุยในเรื่องการบังคับใช้ การฟ้อง การอุทธรณ์ สิทธิในการประกันตัว และกลไกรองรับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งกมธ.มีความเห็นว่าในการดำเนินการหลายเรื่องทำได้ดีและมีความก้าวหน้า แต่บางเรื่องยังมีข้อห่วงใยโดยเฉพาะการรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ตรงกับสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งในประเทศไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำข้อเสนอมีตั้งแต่ปี 2554 และ ปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีสภาฯ ดังนั้น ในปี 2564 ควรจะมีกลไกที่โยงกับสภาฯ เช่น การให้สภาให้ความเห็นชอบต่อรายงานก่อนนำเสนอต่อ UNHCR หรือการใช้กลไกอื่นของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติไปประกอบการพิจารณารายงาน รวมถึงมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อเสนอแนะในรอบ 3 และขอให้เผยแพร่รายงาน UPR ฉบับภาษาไทยก่อนการเสนอรายงานครั้งต่อไป

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กมธ.ยังมีการพิจารณาศึกษาหลักเสรีภาพทางวิชาการ กรณีปัญหาการอ้างอิงในวิทยานิพนธ์เป็นเหตุให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยได้เชิญนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาฯ เข้าร่วมประชุม แต่เนื่องจากผู้ชี้แจงติดภารกิจ กมธ.จึงมีมติให้เชิญเข้าร่วมประชุมในครั้งต่อไป