ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : โกมล้านนา

ขอบคุณภาพประกอบจาก chiangmainews (ที่มา https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/844036/)

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า โกมล้านนา

โกม หรือ โคม ในภาษาไทยกลางหมายถึง ตะเกียง หรือเครื่องตามไฟที่มีกำบังลมโปร่งแสง อาจทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมแปดเหลี่ยมทรงกลม หรือทรงอื่น มีที่หิ้วหรือแขวนตามที่ต่างๆ ทั้งเพื่อให้แสงสว่าง และ/หรือเป็นเครื่องบูชาสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น แขวนบูชาพระพุทธรูปแขวนไว้ในศาสนสถาน และสถานที่สำคัญในงานพิธีต่างๆ ในประเพณีพิธีกรรมของคนล้านนาที่ปฏิบัติสืบต่อเนื่องมาช้านาน และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและภูมิศาสตร์ โดยทั่วไปนิยมปฏิบัติในวันยี่เป็ง หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง

ประเภทของโคมล้านนามี 4 ประเภท

คือ 

 

1. โคมถือ หรือโคมหูกระต่าย

หมายถึง โคมที่มีกำบังทำด้วยกระดาษสี มีลักษณะคล้ายหูกระต่าย จุดเทียนข้างใน

พุทธศาสนิกชนถือไปปักไว้บริเวรรอบๆ โบสถ์ วิหาร หรือสถานที่มีงานพิธีกรรม

ถ้าหากใช้ในงานสมโภชก็จะทำขึ้นเพื่อความสวยงาม เป็นรูปกลีบบัวปักไว้ข้างเวที ประดับประดาให้สวยงาม

มี 2 แบบ คือ–โคมที่มีกำบังทำด้วยกระดาษ สีลักษณะคล้ายหูกระต่าย จะมีด้ามไม้ใช้ถือและโคมที่มีลักษณะคล้ายกลีบบัว

จะมีด้ามไม้ใช้ถือคล้ายๆ เป็นก้านดอกบัว

 

2. โคมลอย

หมายถึง ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดแล้วปล่อยให้ลอยไปในอากาศ

รูปร่าง และขนาดของโคมลอยเป็นรูปถุงวงกลมก้นใหญ่ปากแคบกว้างราว 75 เซนติเมตร

ตัวโคมสูงขนาด 1.15-1.50 เมตร ทำด้วยกระดาษว่าว หุ้มเป็นรูปทรงกลม คล้ายลูกฟุตบอล หรือลูกบอลขนาดใหญ่

ใช้กระดาษว่าวต่อๆ กันเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 50 แผ่นขึ้นไป

ใช้จุดเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์อันเป็นที่บรรจุพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีจอ

ปล่อยในเวลากลางวันเรียกว่า “ว่าว” โดยใช้การรมควันเข้าไปในตัวโคมลอย หรือว่าว เรื่อยๆ จนพองตัวมีความดันสูงขึ้นจนดึงมือแล้วปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า

โคมลอยใช้ปล่อยตอนกลางคืน จะใช้ท่อนไม้พันด้ายก้อนกลมๆ ชุบด้วยน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้จนชุ่มแล้วทำที่แขวน ติดกับโคมลอยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และลอยไปตามกระแสลม

แต่โคมลอยที่ปล่อยกลางคืนนี้เป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นมาก บางครั้งผ้าที่ชุบน้ำมันไม่หมด ปรากฏว่าถ้าตกลงมาก่อนจะไหม้บ้านเรือน หรือบริเวณที่แห้งจัดเกิดไฟไหม้

ดังนั้น โคมลอยที่ใช้ปล่อยกลางคืนจึงขาดความนิยมไป ปัจจุบันใช้ไม้พันผ้าชุบน้ำมันยางเป็นการใช้กระดาษบางๆ ชุบน้ำมันก๊าดตรงกลางโคมแล้วรมควัน เชื้อไฟจะไหม้หมดก่อนที่โคมจะตกลงมา

 

3.โคมแขวนเป็นโคมบูชาพระมีหลายรูปแบบ รูปทรง

เช่น โคมบาตรพระ โคมดาว โคมตะกร้า โคมต้องห้อยพู่ โคมพระอาทิตย์ โคมธรรมจักรซึ่งหมายถึง “ความแจ้งในธรรม” จะใช้ในงานยี่เป็งหรือวันตั้งธรรม (หลวง) มหาชาติเวสสันดรชาดก

ใช้แขวนไว้ในโบสถ์ บนศาลาในวิหาร หรือทำค้างไม้ไผ่ทำชักรอกแขวนข้างโบสถ์ วิหารเป็นพุทธบูชา สวยงาม สว่างไสว

หรือใช้ตกแต่งบ้านเรือน เพื่อบูชาเทพารักษ์ผู้รักษาสถานที่ อาคารบ้านเรือน

 

4.โคมผัด คำว่า “ผัด” แปลว่า หมุนหรือเวียนไปรอบ

ดังนั้น โคมผัดคือโคมที่มีลักษณะหมุนไปรอบๆ หรือเวียนไปรอบๆ โดยจะตัดกระดาษเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของ หรือรูป 12 ราศี

การที่ทำให้โคมหมุนเกิดรูปภาพหรือเงาสะท้อนที่โคมเมื่อจุดไฟในโคมก็จะเกิดอากาศร้อนลอยสูงขึ้น อากาศเย็นจะเวียนเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดเป็นกระแสอากาศเบาๆ พัดให้โคมหมุนไปรอบๆ ทำให้ตัวโคมที่ติดรูปภาพต่างๆ หมุนไปเกิดการสะท้อนของภาพไปตกอยู่ที่ตัวโคมซึ่งเป็นฉากอยู่ทำให้เกิดความสวยงาม

เป็นโคมที่ต้องทำด้วยความละเอียด และประณีตอย่างมาก

โคมเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของล้านนา ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่สืบต่อจนถึงปัจจุบัน และใช้ในงานประเพณียี่เป็ง เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้า คืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง

ถือว่าเมื่อได้กระทำเช่นนี้แล้ว แสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ดำเนินชีวิตเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป

 

โกมล้านนายี่เป็งแจ้งงามยามเมื่อคืน

แปลว่า โคมล้านนายี่เป็งสว่างสวยงามยามกลางคืน